ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เว้นภาษีเขตเศรษฐกิจพิเศษ cluster สูงสุด 15 ปี ดันกม.แก้ปม ICAO ออกพ.ร.ก. 3 ฉบับรวด – ยังไม่ห้ามทำนา

ครม. เว้นภาษีเขตเศรษฐกิจพิเศษ cluster สูงสุด 15 ปี ดันกม.แก้ปม ICAO ออกพ.ร.ก. 3 ฉบับรวด – ยังไม่ห้ามทำนา

23 กันยายน 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ย้ำสรุปชื่อ “21 กรธ.-200 สปท.” หลังกลับจากยูเอ็น

พล.อ. ประยุทธ์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ความคืบหน้าในการสรรหากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวนไม่เกิน 21 คน และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวนไม่เกิน 200 คน ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาใคร ทั้งกรณีที่กระแสข่าวว่าจะตั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ หรือนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กรธ. เนื่องจากมีจำนวนมากจึงต้องมาพูดคุยกันอีกครั้งภายหลังตนเดินทางกลับจากร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการพูดคุยกันระหว่าง ครม. กับ คสช. เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสม ยืนยันว่าไม่กดดัน

สำหรับ กรธ. ส่วนใหญ่คงจะมาจากนักกฎหมาย เบื้องต้นมีสมัครเข้ามาแล้ว 20-30 คน ส่วนที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ระบุว่า สปท. จะมีโควตาทหารถึง 50 คน เป็นเพียงตัวเลขที่ตั้งไว้เฉยๆ เมื่อถึงเวลามีการเสนอมาตนจะเป็นคนเกลี่ยโควตาบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ให้เหมาะสม โดยจะมีพรรคการเมืองส่งคนเข้ามาบ้าง ส่วนพรรคการเมืองที่ไม่ส่งคนเข้ามา เมื่อถึงเวลาก็อย่ามาพูดว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ สปท. เพราะประชาชนทั้งประเทศเห็นแล้วว่าพอเปิดโอกาสให้ก็ไม่ส่งคนเข้ามาร่วม

“การทำงานของ กรธ. กับ สปท. ผมอยากให้มองที่ปลายทางมากกว่า ว่าจะทำให้ประเทศสงบสันติได้หรือไม่ ถ้าไปติตั้งแต่ต้นทางก็จะเจอทางตันไปไหนไม่ได้ มัวแต่มาเถียงกันว่าไก่กับไข่อะไรต้องเกิดก่อนกัน สุดท้ายไก่ก็เลยไม่ออกลูกเสียที”

ไม่เปิดเหมืองทองเพิ่มถ้ายังขัดแย้ง – ยังไม่สั่งงดปลูกข้าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า ที่ประชุมได้ทบทวนมาตรการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร เนื่องจากปริมาณน้ำขณะนี้มีอยู่จำกัด โดยน้ำในเขื่อนมีน้อยมากแค่ 20-30% เท่านั้น จึงต้องหาวิธีให้ปลูกพืชอย่างอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่า โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปร่วมกันจัดทำแผน เนื่องจากจะมีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

“ผมยังไม่อยากให้ใช้คำว่างดปลูกข้าวเพราะจะสร้างความตื่นตระหนก แต่อยากแนะนำว่าทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตร ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาไปตลอด”

นายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนยื่นหนังสือคัดค้านการขยายพื้นที่เหมืองทองคำใน 12 จังหวัด ว่า กำลังทบทวนอยู่ ขณะนี้มีปัญหาทั้งเรื่องแปลงเก่าและแปลงใหม่ โดยแปลงใหม่ก็ไม่ได้ต่อสัญญามาหลายปี นโยบายของตนหากยังมีความขัดแย้งอยู่ก็จะยังไม่เปิดเหมืองทองคำเพิ่มเติม จนกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย หากยังไม่เรียบร้อย ก็เปิดไม่ได้

แจงเหตุตั้ง “พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์” เป็นปลัด สปน.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางไทย-จีน ว่า มีการประชุมตัวแทนรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายทุกเดือน แต่ขณะนี้ยังเห็นไม่ตรงกันเรื่องเส้นทางและค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน หากยังมีปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้อยู่ก็ต้องรอ เพราะตนคงไปสั่งให้จีนทำตามที่ไทยต้องการไม่ได้

นายกฯ ยังกล่าวถึงการแต่งตั้ง พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ จากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มาเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ว่า เป็นการหมุนเวียนกันตามปกติ เพราะข้าราชการระดับผู้บริหาร ต้องทำงานบริหารได้หมดทุกกระทรวง ใช้วิธีการบริหารในการขับเคลื่อนงาน ไม่เช่นนั้นตนคงมายืนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ สิ่งสำคัญก็คือจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน และทำประโยชน์ให้กับหน่วยงานนั้นๆ ได้

ครม. เว้นภาษีเขต ศก.พิเศษ cluster สูงสุด 15 ปี

ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ร่วมแถลงผลการประชุม ครม. ถึงนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ cluster

นายสมคิดกล่าวว่า การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อจูงใจนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้มาลงทุน ปัจจุบันไทยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว 2 แห่ง หลังจากนี้จะเริ่มทำเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ cluster ซึ่งแนวคิดไม่ใช่แค่ให้มาตั้งบริษัทแล้วผลิต แต่เป็นการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งผู้ผลิตวัถตุดิบ ผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา โดยเมื่อออกมาแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษประเภทนี้ได้แล้ว ก็จะใช้มาตรการทางภาษีจูงใจให้คนเข้ามาลงทุน โดยจะเริ่มจากที่ที่มีอยู่ก่อน ได้แก่ อีสเทิร์นซีบอร์ดและมาบตาพุด โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ทำให้ cluster เหล่านี้มีความเข้มแข็ง

นางอรรชกากล่าวว่า ที่ประชุมได้กำหนดเขตเศรษฐกิจรูปแบบ cluster ไว้ 2 กลุ่มใหม่ คือ super cluster อยู่ใน 9 จังหวัด ที่มีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ food innopolis และ medical hub ซึ่งอีกมีเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต และ cluster อื่นๆ ได้แก่ สินค้าเกษตรแปรรูป สิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม ฯลฯ

การใช้สิทธิพิเศษแก่แต่ละ cluster จะมีทั้งรูปแบบ “ภาษี” และที่ “ไม่ใช่ภาษี” สำหรับ super cluster จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มอีก 5 ปี แต่สำหรับกิจการที่มีความสำคัญสูง กระทรวงการคลังอาจจะยกเว้นภาษีสูงสุดถึง 10-15 ปี นอกจากนี้ ยังมีการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และยังเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับนักวิจัยชั้นนำทั้งไทยและต่างชาติ ส่วนสิทธิพิเศษที่ไม่ใช่ภาษี จะมีการอนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ใช้ประกอบกิจการได้ รวมถึงพิจารณาถิ่นที่อยู่ถาวรแก่นักวิจัยชั้นนำนานาชาติ

ส่วน cluster อื่นๆ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี และลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มอีก 5 ปี ให้ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ส่วนสิทธิพิเศษที่ไม่ใช่ภาษี จะเหมือนกรณี super cluster

ไอซีที โยกงบ 3.7 พันล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรอรับ

นายอุตตมกล่าวว่า ภารกิจของไอซีทีคือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการพัฒนา โดยจะใช้งบจากโครงการพัฒนาระบบไร้สายเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์แบบพกพา จำนวน 3,755 ล้านบาท มาปรับใช้เพื่อพัฒนาส่วนอื่นๆ ของเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบ cluster ใน 6 โครงการหลัก ประกอบด้วย

  • ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ปรับศูนย์เรียนรู้ไอซีทีชุมชนเป็นศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน และเชื่อมโยงเครือข่ายกับสถานศึกษา
  • พัฒนาเมืองและพื้นที่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ super cluster โดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีและดิจิทัล เช่น จ.เชียงใหม่และภูเก็ต โดยจะเริ่มจากปรับปรุง จ.ภูเก็ตให้เป็น smart city เพื่อเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและการพัฒนาคุณภาพชีวิต
  • ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เช่น ใช้เทคโนโลยีในการศึกษา
  • ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนภาครัฐ (e-government) เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลของภาครัฐทั้งหมดมาบูรณาการในการบริหารของภาครัฐได้
  • พัฒนาบุคลากรทุนมนุษย์ให้มีความพร้อม เปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานให้สอดรับกับเทคโนโลยี
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะขยายเครือข่าย broadband ให้ครอบคลุมเข้าถึงทั่วประเทศ
580922อรรชกาสมคิดอุตตม
(จากซ้ายไปขวา) นางหิรัญญา สุวินัย เลขาธิการบีโอไอ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ และนายอุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นที่สำคัญ

แจงภัยแล้งดีขึ้น ออก 8 มาตรการช่วยเกษตรกร

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการรายงานสถานการณ์น้ำขณะนี้ มีปริมาณน้ำอยู่ในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยามี 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ลุ่มน้ำแม่กลองมี 4,350 ล้าน ลบ.ม. แหล่งน้ำทั่วประเทศอื่นๆ มี 7,800 ล้าน ลบ.ม. ทำให้พื้นที่เกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 10.7 ล้านไร่ อาจได้รับผลกระทบ แต่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ภายใน 2-3 สัปดาห์ จะมีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ทำให้จากเดิมที่เคยมีการพูดถึงมาตรการงดทำนา จะยังไม่มีการพูดถึงในเวลานี้ เพราะต้องประเมินสถานการณ์เป็นสัปดาห์ๆ ไป

อย่างไรก็ตาม มีการเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง 8 มาตรการ ให้ที่ประชุมรับทราบ อาทิ โซนนิ่งพื้นที่การเกษตรเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร, ชะลอการชำระหนี้สินของเกษตรกร, จ้างงานและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ฯลฯ เป็นต้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปหารือกันในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร

พาณิชย์แยกสต็อกข้าว 14 ล้านตัน ก่อนเทขายเพิ่ม

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลว่า จากช่วงเริ่มต้นที่มีสต็อกข้าวอยู่ถึง 18.7 ล้านตัน ถึงขณะนี้สามารถระบายไปได้แล้ว 4.3 ล้านตัน ส่วนข้าวที่เหลือยังอยู่ระหว่างการคัดแยกเกรด ระหว่างข้าวได้มาตรฐาน (เกรด P) ข้าวต่ำกว่ามาตรฐาน (เกรด A B C) และข้าวเสีย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการคัดแยกราว 1 เดือน เพื่อไม่ให้ข้าวเสียมาปะปะกับข้าวดี ก่อนสรุปตัวเลขเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาระบายข้าวต่อไป

วันเดียวกัน ที่ประชุมยังอนุมัติชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกข้าว ปีการผลิต 2558/2559 วงเงิน 385 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่คงเหลือจากการใช้งบแบบเดียวกันเมื่อปีก่อน ที่ตั้งไว้ที่ 927 ล้านบาท แต่กลับใช้ไปเพียง 116 ล้านบาท คงเหลือ 810 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายข้าวในตลาดค่อนข้างดีทำให้มีผู้มาร่วมโครงการน้อย

“ดาว์พงษ์” แจงนโยบายลดเวลาเรียนเลิกบ่ายสอง

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวชี้แจงนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่จะให้เลิกเรียนในเวลา 14.00 น. แต่หลังจากนั้นจะเป็นกิจกรรมที่เสริมทักษะให้กับเด็ก ไม่ใช่ปล่อยกลับบ้านอย่างที่หลายคนเป็นห่วง

สำหรับหลักการสำคัญของนโยบายดังกล่าว มี 4 เรื่อง ประกอบด้วย

  1. หลักสูตร จะมีการปรับปรุงเนื้อหาในแต่ละวิชา มีการจัดโครงสร้างเวลาการเรียนใหม่ ทั้งในระดับประถมศึกษา ที่จะลดเวลาเรียนในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 30-35 ชั่วโมง/สัปดาห์ ให้เหลือ 22 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพื่อนำเวลาที่เหลือมาพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ส่วนระดับมัธยมศึกษา จะลดเวลาเรียนจาก 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ ให้เหลือ 27 ชั่วโมง/สัปดาห์
  1. กระบวนการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษา จะเกี่ยวข้องกับครู รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ โดยจะจัด workshop ใน 6 พื้นที่ และตั้ง smart trainer เข้าไปฝึกอบรมครูให้มีความรู้ความเข้าใจถึงรายละเอียดสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ โดยรูปแบบการเรียนรู้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ head หรือ พฤติกรรม/วุฒิพิสัย heart หรือ จิตพิสัย และ hand หรือทักษะด้านต่างๆ โดยจะประสานกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาช่วยเติมเต็มการเรียนรู้ใน 3 ส่วนนี้
  1. วัดและประเมินผล จากที่ตรวจสอบเบื้องต้น นโยบายนี้จะไม่มีผลกระทบต่อกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ
  1. ทบทวนหลังปฏิบัติ ที่จะต้องดำเนินการทันทีหลังเปิดเทอม โรงเรียนไหนจะประสบความสำเร็จในการนำสิ่งเหล่านี้ไปขยายผลต่อ

เร่งกม. แก้ปมการบิน ICAO ไฟเขียว พ.ร.ก. 3 ฉบับรวด

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างกฎหมาย จำนวน 4 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบิน ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) แนะนำ ประกอบด้วย

– ร่าง พ.ร.ก.การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….

– ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 พ.ศ. ….

– ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. ….

– ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ….

โดยสาเหตุที่ร่างกฎหมาย 3 ใน 4 ฉบับต้องจัดทำเป็นร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งเมื่อ ครม. เห็นชอบ ก็จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายทันที แทนที่จะเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกครั้ง เพราะปัญหาเกี่ยวกับการบินเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข และเนื้อหาของร่าง พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับเป็นสิ่งที่ ICAO เสนอมาทั้งสิ้น หากทำเป็นร่าง พ.ร.บ. เมื่อเข้าสู่ สนช. ก็อาจจะถูกแก้ไขเนื้อหาบางส่วนได้ ซึ่ง ICAO อาจไม่ยอมรับ เมื่อนายกฯ ให้นโยบายว่าให้เอาจุดมุ่งหมายเป็นที่ตั้ง จึงต้องใช้วิธีออกเป็นร่าง พ.ร.ก. ซึ่งโดยศักดิ์และสิทธิ์ไม่ต่างจากร่าง พ.ร.บ.

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้หารือถึงการปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือน (บพ.) แต่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้หน่วยงานด้านสอบสวนและช่วยเหลือกรณีอากาศยานประสบอุบัติเหตุไปอยู่กับหน่วยงานใด เพราะ ICAO ติงว่าจะไม่สามารถไปอยู่กับกระทรวงคมนาคม (คค.) ได้ เนื่องจากจะทำให้งานตรวจสอบไปอยู่กับงานบริหาร จะไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ก็ไม่ได้ เพราะหากมีคดีความ อาจกลายเป็นกรณีตรวจสอบเองและยื่นดำเนินคดีเอง ก็มีข้อเสนอว่าให้ไปอยู่กับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอยู่แล้ว หรือจะไปอยู่กับกระทรวงกลาโหมดี เพราะเป็นหน่วยงานที่มีเครื่องบินอยู่ แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ นายกฯ จึงส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาข้อสรุปโดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการปรับโครงสร้าง บพ. จะแยกบทบาทในการกำกับดูแล (regulator) และการปฏิบัติงาน (operator) ออกจากกัน โดยตั้ง “สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ” ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการการบินพลเรือนของไทยทั้งหมด และตั้ง “กรมท่าอากาศยาน” ที่เป็นส่วนราชการ ทำหน้าที่จัดให้มีการดำเนินกิจการท่าอากาศยานให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเมื่อครบ 3 ปี จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะโอนภารกิจนี้ให้กับเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจดำเนินการแทนหรือไม่

ขณะที่หน่วยงานซึ่งกำกับดูแลในเชิงนโยบาย (policy) ด้านการบินพลเรือนของไทยโดยรวม ยังเป็นกระทรวงคมนาคม

อนุมัติ 2.9 พันล้าน พัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าท่าเรือแหลมฉบัง

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) วงเงิน 2,944 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรางรถไฟและใช้เครื่องมือยกขนชนิดปั้นจั่นเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane: RMG) คร่อมรางรถไฟ จำนวน 6 ราง ซึ่งจะใช้เวลาในการขนถ่ายตู้สินค้าจากขบวนรถไฟจากเดิม 2.30 ชั่วโมง/ขบวน เหลือเพียง 1 ชั่วโมง/ขบวน ทั้งนี้ จะมีการเก็บค่าภาระการยกตู้สินค้าแบบขั้นบันได โดยปีที่ 1-5 เก็บ 367 บาท/ตู้ ปีที่ 6-10 เก็บ 423 บาท/ตู้ และปีที่ 11 เป็นต้นไป เก็บ 470 บาท/ตู้

“แม้โครงการนี้จะมีผลตอบแทนทางการเงินไม่มากนัก แต่จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากมาย โดยเฉพาะการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการขนส่งสินค้า” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ของบกลางลุยโครงการขนาดเล็กแล้ว 1.9 หมื่นล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า จากกรณีที่ ครม. เคยเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งรัดโครงการลงทุนของภาครัฐขนาดเล็ก ที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้งบกลาง 2.4 หมื่นล้านบาท ล่าสุด นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้รายงานว่า มีการทำเรื่องของบกลางมาและผ่านการตรวจความพร้อมแล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท จึงเหลืองบที่จะดำเนินการ 5 พันล้านบาท นายกฯ จึงส่งให้ส่วนราชการเร่งเสนอขอใช้งบมาภายในวันที่ 24 กันยายน 2558 เพื่อที่จะนำเข้าพิจารณาใน ครม. วันที่ 30 กันยายน 2558

เพิ่มวงเงินโครงการเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน เป็น 5,000 ล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดเพิ่มมูลค่าของโครงการที่จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) พ.ศ. …. เพื่อขยายเพดานวงเงินโครงการลงทุน ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จากเดิมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท เป็นตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะหากต้องมาปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จะมีขั้นตอนให้ต้องปฏิบัติตามมากมาย ทั้งการนำเสนอเรื่องต่อ ครม. และการจัดทำประชาพิจารณ์

ร่างพ.ร.บ.แก้ปัญหาคุณแม่วัยใส

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่มีมากขึ้น โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้วัยรุ่นหมายถึงบุคคลที่มีอายุ 10-19 ปี โดยสถานศึกษาจะต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาต่อวัยรุ่นอย่างเหมาะสม พร้อมกับจัดตั้งคณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยมีนายกฯ หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมีตัวแทนจากวัยรุ่นเข้าร่วมคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทั้งนี้ ให้เสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขกฎหมายเดิมที่ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2544 แต่เนื่องจากที่ผ่านมาผู้เสียหายต่างไม่รู้ถึงสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนตามกฎหมายนี้ แม้กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จะขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อให้ช่วยแจ้งข้อมูลข่าวสาร จนมีผู้เสียหายเข้ามาร้องขอค่าตอบแทนตามกฎหมายนี้จำนวนหนึ่ง แต่ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน จึงต้องออกกฎหมายมาบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งผู้เสียหายทุกครั้งถึงสิทธิในการได้รับค่าตอบแทนตามกฎหมายนี้ ทั้งนี้ ให้เสนอที่ประชุม สนช. พิจารณาเพื่ออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย

เกษตรฯ ขอถอนมติ ครม. ตั้ง “อธิบดีกรมประมง” อ้างปัญหาเทคนิค

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เป็นปลัด สปน. คนใหม่ นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้เพิกถอนมติ ครม. ที่แต่งตั้งให้นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นอธิบดีกรมประมง และให้นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงเกษตรฯ เป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ โดย พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงว่า เหตุที่ขอเพิกถอนมติ ครม. ดังกล่าว มาจากเหตุผลทางเทคนิค