ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปิดบัญชี “ผลิตข้าวถุง 2.5 ล้านตัน” ทำรัฐขาดทุนโครงการจำนำข้าวเพิ่มอีก 3.7 หมื่นล้าน – โรงสีได้ไป 1.3 หมื่นล้าน

ปิดบัญชี “ผลิตข้าวถุง 2.5 ล้านตัน” ทำรัฐขาดทุนโครงการจำนำข้าวเพิ่มอีก 3.7 หมื่นล้าน – โรงสีได้ไป 1.3 หมื่นล้าน

23 กรกฎาคม 2013


หลังจากที่มีกระแสข่าวพบสารเคมีตกค้างในข้าวบรรจุถุง อันสืบเนื่องจากนโยบายตั้งราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาด ข้าวทุกเม็ดจึงหลั่งไหลเข้ามาจำนำกับรัฐบาล ขณะที่การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หลายฝ่ายเกิดความวิตกกังวัลว่า ข้าวเก่าจำนวนมากที่ตกค้างอยู่ในสต๊อกของรัฐบาลอาจจะเสื่อมคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภค

คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตข้าวถุงของบริษัทบริษัท เจียเม้ง
คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตข้าวถุงของบริษัทเจียเม้ง

วันที่ 16 กรกฎาคม 2556 นายชนินทร์ รุ่งแสง ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ และคณะฯ ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตข้าวถุงของบริษัทบริษัท เจียเม้ง จำกัด หนึ่งในบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ให้มาดำเนินการผลิตข้าวถุงตามนโยบายรัฐบาล

กระบวนการผลิตข้าวถุงมีปัญหาข้าวเน่าเสีย หรือพบสารเคมีตกค้าง ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวจริงหรือไม่ ดร.ประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจียเม้ง โรงงานเจียเม้ง ได้ชี้แจงกระบวนการผลิตข้าวถุงต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจฯ ว่า หลังจากที่เจียเม้งได้รับการคัดเลือกจาก อคส. ให้ทำการปรับปรุงคุณภาพข้าวบรรจุถุง ขั้นตอนแรก คือ เจียเม้งต้องไปเบิกข้าวสารขาว 5% จาก อคส. ก่อนทำการปรับปรุงคุณภาพข้าว เจียเม้งพบมอดเป็นจำนวนมากปนอยู่ในข้าวสาร มอดเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกมาจำนำกับรัฐบาลก็จะพบ “มอดข้าวเปลือก” มีลักษณะ “หัวทู่ๆ” จากนั้นเมื่อนำมาสีแปรสภาพเป็นข้าวสารจะพบ “มอดหัวแหลม”

ดร.ประพิศบรรยายวงจรชีวิตมอด1

ทุกบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจาก อคส. ให้บรรจุข้าวถุง จึงจำเป็นต้องใช้ “สารฟอสฟีส” หรือ “Aluminium Phosphide” ซึ่งเป็นยากำจัดมอดหัวแหลม โดยโรงสีจะนำสารดังกล่าวซึ่งมีสถานะเป็น “แก๊ส” มาอบ หรือรมยาเป็นเวลา 7 วัน และสารฟอสฟีสจะสลายตัวได้เองภายใน 5 วัน และก่อนที่เจียเม้งจะส่งข้าวถุงไปให้ อคส. จำหน่าย ได้ทำการสุ่มตรวจข้าวถุง แทบจะไม่พบว่ามีสารฟอสฟีสตกค้างในข้าวถุง หรือถ้าพบก็มีปริมาณไม่ถึง 10 CFU ซึ่งสารฟอสฟีสตัวนี้จะทำอันตรายต่อผู้บริโภคได้ต้องมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 CFU (จำนวนโคลิฟอร์มต่อ 1 ยูนิต)

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตถุงของคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจฯ ครั้งนี้ โดยเป็นไปตามคำเชิญของ อคส. ซึ่งมีการนัดหมายกันล่วงหน้า ผลคือ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจไม่พบสารตกค้าง หรือ ความผิดปกติใดๆ แต่การเยือนโรงงานผลิตข้าวถุงครั้งนี้ อคส. ได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษถึงความคืบหน้าของโครงการบรรจุข้าวถุงจำนวน 2.5 ล้านตัน ขายให้ประชาชนประมาณ 500 ล้านถุง (ถุงละ 5 กิโลกรัม)

นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รองผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า(อคส.)
นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รองผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า(อคส.)

ระหว่างที่นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รองผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) บรรยายที่มาและผลการดำเนินงานของโครงการบรรจุข้าวถุงของรัฐบาลอยู่นั้น คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจฯ พบว่า รัฐบาลขายข้าวให้กับ อคส. ในราคาที่ถูกมาก

ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2556 มีประเด็นถกเถียงกันระหว่างคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวเปลือกกับรัฐบาล โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ออกมาระบุว่า โครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร 17 โครงการ ขาดทุน 3.93 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 3 ฤดูกาลผลิต ขาดทุน 2.2 แสนล้านบาท ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลให้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจง “การคำนวณตัวเลขผลขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ยังไม่ได้นำข้าวสารอีก 2.9 ล้านตัน เข้าไปรวมคำนวณด้วย โดยข้าวสารจำนวนนี้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อคส. 2.5 ล้านตัน และส่วนที่เหลืออีก 4 แสนตัน ตกค้างอยู่ที่องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) และโกดังอื่นๆ ทำให้การประมาณการตัวเลขผลขาดทุนมีคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง”

ที่มาข้าวถุง

โครงการผลิตข้าวถุง 2.5 ล้านตัน เริ่มจากประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ครั้งที่ 2/2554 มีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 เบิกข้าวสาร 100,000 ตัน ไปบรรจุถุง โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมพารพิจารณาระบายข้าวสารเป็นผู้กำหนดราคาข้าวที่จะขายให้กับ อคส.

ต่อมา วันที่ 17 ตุลาคม 2554 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารครั้งที่ 2/2554 มีมติให้ขายข้าวขาว 5% (ข้าวในโครงการรับจำนำ) ให้กับ อคส. ราคา 13,750 บาท/ตัน จากนั้นกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายทำข้าวถุงธงฟ้าขายประชาชนไม่เกินถุงละ 70 บาท

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ครั้งที่ 2/2554 จึงมีมติปรับลดราคาข้าวสารที่จะขายให้กับ อคส. จากเดิมกำหนดที่ราคา 13,750 บาท/ตัน ปรับลดราคาลงเหลือ 7,625 บาทต่อตัน โดยให้ อคส. ไปเบิกข้าวจำนวน 50,000 ตัน ส่งให้บริษัทเอกชน ทำให้ต้นทุนข้าวสารก่อนบรรจุถุงลดลงเหลือ 38.125 บาทต่อถุง (5 กิโลกรัม)

เมื่อนำไปรวมกับต้นทุนค่าจ้างบรรจุถุงอีก 22.59-26 บาทต่อถุง ราคาต้นทุนข้าวถุง ณ หน้าโรงงานจะอยู่ที่ 60.715-64.125 บาทต่อถุง ถัดมา คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว มีมติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ให้ขายข้าวขาว 5% ส่วนที่เหลือ 50,000 ตัน ให้ อคส. ในราคา 7,625 บาทต่อตัน

จากนั้นรัฐบาลทยอยเบิกข้าวจากบัญชีสต๊อกส่งไปให้ อคส. ดำเนินการ วันที่ 2 มีนาคม 2555 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เห็นชอบให้ขายข้าวให้ อคส. อีก 100,000 ตัน เพื่อนำไปทำข้าวถุงตามโครงการ 1 ชุมชน 1 ธงฟ้า โดยล็อตนี้ขายให้ อคส. ในราคาพิเศษ 7,525.2 บาทต่อตัน ทำให้ต้นทุนข้าวสารก่อนบรรจุถุงอยู่ที่ 37.626 บาทต่อถุง วันที่ 30 พ.ค. 2555 ที่ประชุม กขช. ครั้งที่ 3 มีมติขายข้าวให้ อคส. 500,000 ตัน ในราคา 7,625 บาท และครั้งล่าสุดวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว มีมติขายข้าวอีก 1,800,000 ตัน ที่ราคา 7,625 บาทต่อตัน

ประมาณการผลขาดทุนโครงการผลิตข้าวถุง

รวม 4 ครั้ง รัฐบาลขายข้าวสารให้ อคส. จำนวน 2.5 ล้านตัน ในราคาเฉลี่ย 7,625 บาทต่อตัน ถ้าไม่นับกรณีการบริจาคข้าวแล้ว การระบายข้าวล็อตนี้ถือว่าขายถูกที่สุด หากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวฯ นำข้าวล็อตนี้เข้าไปคำนวณภายใต้สมมติฐานที่ว่า อคส. ขายข้าวถุงจนครบ 500 ล้านถุง คาดว่าจะทำให้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลขาดทุนเพิ่มขึ้น 37,755 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เคยคำนวณสัดส่วนการสีแปรสภาพข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร พบว่า ข้าวเปลือก 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม เมื่อนำมาผ่านกระบวนการสีแปรสภาพจะได้ข้าวสารที่มีน้ำหนัก 0.66 ตัน หรือ 660 กิโลกรัม ดังนั้น การรับจำนำข้าวเปลือกที่ราคา 15,000 บาท/ตัน เมื่อนำมาสีแปรสภาพจะได้ข้าวสาร ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 22,727 บาท/ตัน (ไม่รวมค่าอื่นๆ เช่น ค่าจ้างสีข้าว ค่าเช่าโกดัง ค่าขนส่ง)

การระบายข้าวสารจำนวน 2.5 ล้านตัน รัฐบาลมีต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่ 56,817.5 ล้านบาท กรณี กขช. และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว มีมติขายข้าวให้ อคส. ในราคา 7,625 บาท/ตัน จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการขายข้าวสารล็อตนี้ 19,062.5 ล้านบาท เมื่อนำไปลบกับต้นทุนที่แท้จริง คาดว่ามีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 37,755 ล้านบาท

ขณะที่ บริษัทรับจ้างบรรจุข้าวถุงทั้ง 6 บริษัท อาทิ 1. บริษัทเจียเม้ง 2. บริษัทพงษ์ลาภ 3. บริษัทนครหลวงค้าข้าว 4. บริษัทเอเชียโกลเด้นไรซ์ 5. บริษัทสิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น และ 6. บริษัทโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ หากผลิตข้าวถุงจนครบ 500 ล้านถุง ทั้ง 6 บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 11,295-13,000 ล้านบาท (ค่าจ้างบรรจุข้าวถุง 22.59-26 บาท/ถุง)

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์

บริษัทเอกชนคิดว่าค่าจ้างบรรจุข้าวสารใส่ถุงแพงกับรัฐบาลเกินไปหรือไม่ (ถุงละ 5 กิโลกรัม) นพ.วรงค์ซึ่งร่วมเดินทางมากับคณะกรรมาธิการ การพัฒนาเศรษฐกิจฯ จึงขอให้นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รองผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ชี้แจ้งรายละเอียดของต้นทุนค้าจ้างบรรจุข้าวใส่ถุง

นายสมศักดิ์กล่าวว่า การทำโครงการข้าวบรรจุถุงครั้งนี้ อคส. ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล โดยบริษัทที่รับจ้างบรรจุข้าวถุงจะได้รับค่าจ้างเป็นข้าวสารแทนเงิน ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ โครงการบรรจุข้าวถุงครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ค่าจ้างบรรจุถุงจะรวมอยู่ในปริมาณข้าวที่ได้รับการอนุมัติจาก กขช. และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวจำนวน 2 แสนตัน ส่วนครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 จำนวน 2.3 ล้านตัน ค่าจ้างบรรจุข้าวใส่ถุงไม่ได้รวมอยู่ในปริมาณข้าวที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ความหมายคือ อคส. ต้องเบิกข้าวสารจากรัฐบาลมาจ่ายเป็นค่าจ้างให้กับบริษัทเอกชนอีกต่างหาก ส่วนรายละเอียของค่าจ้างบรรจุถุงของบริษัทผู้รับจ้างทั้ง 6 ราย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 23-24 บาท/ถุง ประกอบด้วย 1. ค่าปรับปรุง 2. ค่าถุง 3. ค่าแรงงาน 4. ค่าขนส่ง และ 5. ค่าภาษี

ดร.ประพิศ มานะธัญญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจียเม้ง
ดร.ประพิศ มานะธัญญ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจียเม้ง

ด้าน ดร.ประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจียเม้ง ชี้แจ้งต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจฯ ว่า ในการผลิตข้าวถุง ค่าใช้จ่ายหลักๆ ประกอบด้วย 1. ค่าถุงพลาสติกขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม ใบละ 7.80 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต้นทุนค่าถุงอยู่ที่ 8.35 บาท 2. ค่าภาษี หลังจากที่เจียเม้งส่งมอบข้าวถุงให้ อคส. ช่วงที่เบิกค่าจ้างจะมีภาระภาษีเกิดขึ้น 2 ตัว คือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1% ตัวนี้ไม่มีปัญหา เจียเม้งขอคืนภาษีกับกรมสรรพากรได้ แต่ VAT ที่บวกมากับค่าจ้างบรรจุถุง ขอคืนภาษีกับกรมสรรพกรไม่ได้ ดังนั้นในการเบิกค่าจ้างบรรจุถุง แต่ละครั้งเจียเม้งจ่ายค่าภาษีประมาณ 26 ล้านบาท ตรงนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เจียเม้งไม่เคยทราบมาก่อน 3. ต้นทุนค่าขนส่ง ช่วงที่ อคส. คัดเลือกบริษัทรับจ้างผลิตข้าวถุง เจียเม้งเสนอราคาต้นทุนค่าขนส่งที่ 4-8 บาทต่อถุง ขึ้นอยู่กับระยะทาง แต่ในทางปฎิบัติจริง อคส. ให้เจียเม้งส่งไปขายภายใต้เป็นส่วนใหญ่ ต้นทุนอยู่ที่ 8 บาทต่อถุง และเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ต้นทุน 10 บาทต่อถุง ส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลือเป็นค่าจ้างแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพข้าว

“ที่สำคัญโครงการบรรจุข้าวถุง เจียเม้งได้รับค่าจ้างเป็นข้าว วันที่ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับ อคส. ในสัญญากำหนดราคาข้าวสารที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม แต่พอเริ่มลงมือผลิตข้าวถุง ราคาข้าวในตลาดลดลงมาอยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เจียเม้งได้รับข้าวเป็นค่าจ้างในปริมาณที่น้อยลง สรุปคือการเข้ามาทำโครงการนี้ เจียเม้งไม่ได้มีกำไรมากมายอย่างหลายฝ่ายคิด” ดร.ประพิศกล่าว

ตรวจโกดังข้าวถุง

อนึ่ง การดำเนินงานตามโครงการบรรจุข้าวถุงตามนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2554-2555 อคส. ได้รับการอนุมัติจาก กขช. และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวให้ข้าวถุงทั้งหมด 4 ครั้ง คิดเป็นปริมาณรวมทั้งสิ้น 2,454,735 ตัน นับตั้งแต่ที่ได้อนุมัติจาก กขช.ครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2556 อคส.เบิกข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวส่งให้บริษัทรับจ้างบรรจุข้าวถุง 6 บริษัท จำนวน 905,019 ตัน และได้เบิกข้าวมาจ่ายเป็นค่าจ้างบรรจุถุงอีก 24,890 ตัน คงเหลือข้าวสารในบัญชีสต๊อกของรัฐบาล 1,570,890 ตัน

ทั้งนี้ ในจำนวนข้าวสารที่ อคส. ส่งไปให้บริษัทเอกชนดำเนินการผลิตข้าวถุงจำนวน 905,019 ตัน นั้น ทางบริษัทผู้รับจ้างบรรจุถุงได้ส่งมอบข้าวถุงให้ อคส. และได้นำไปจำหน่ายแล้ว 538,467 ตัน อคส. มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวถุงล็อตนี้ทั้งสิ้น 7,067 ล้านบาท ยังเหลือข้าวที่อยู่ระหว่างกระบวนการผลิตอีก 366,551 ตัน

อ่านเพิ่มเติม ผลการดำเนินงานโครงการบรรจุข้าวถุงของ อคส.