บพท. หนุนโครงการวิจัยพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค ‘Thai Centrality’ เชื่อมไทยเชื่อมโลก

ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ ร่วมมือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) เดินหน้าเต็มตัวโครงการวิจัยพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมไทยเชื่อมโลกทุกมิติ ปูทางประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก สร้างความอยู่ดีกินดีมีสุขแก่ประชาชนทั่วทุกพื้นที่และสร้างความมั่งคั่งมั่นคงแก่ประเทศ

ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวเปิดเวทีการนำเสนอโครงการวิจัยพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า โครงการวิจัยนี้มุ่งแสวงหาคำตอบเพื่อเติมเต็มข้อค้นพบจากงานวิจัยของ บพท. ว่าด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมไทยเชื่อมโลก กระจายความอยู่ดี มีสุขแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ภายใต้องค์ประกอบหลักสำคัญ 3 ประการคือ 1).พัฒนาการเชื่อมโยง (Connectivity) 2).การพัฒนากลุ่มธุรกิจ (Cluster Development) และ 3).การพัฒนาเมือง (Country Development) โดยตระหนักดีว่าเรื่องของ connectivity ในระดับภูมิภาค มีความสําคัญอย่างมากต่อการยกระดับความเป็นศูนย์กลางในระดับสากล (Thai Centrality)

“งานวิจัยที่นำโดย ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และจากเวทีประชุมวันนี้ จะทำให้รับทราบคำตอบเติมเต็มช่องว่างของโครงสร้างพื้นฐานทุกมิติ เพื่อส่งมอบให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบในการที่ทําให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยถูกพัฒนาต่อไป โดยมี คีย์เวิร์ดสำคัญ 3 คํา ได้แก่ 1) ต้นทุน (Cost) 2) เวลา (Time) และ 3) คุณภาพบริการ (Quality of Services) ในมิติต่างๆ”

ดร.ปุ่น กล่าวด้วยว่า การที่ไทยจะเข้าร่วมต่อประชาคมโลกของแผนงานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) หรือว่าอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific) สิ่งที่สําคัญคือ ความสามารถในการเชื่อมต่อของภูมิภาคของเราต่อระบบโลก ซึ่งการเชื่อมต่อนั้น ไม่ใช่แค่ในมิติของสินค้า หรือกายภาพเท่านั้น แต่จะต้องลงไปลึกถึงในเรื่องของมิติอื่น ๆ ด้วย โดยสิ่งที่สําคัญที่สุด คือมิติของพลเมือง

“งานวิจัยชุดนี้ ไม่ได้เป็นแค่งานวิชาการ แต่ บพท. ต้องการแรงบันดาลใจจากคณะทำงาน ดร.รุธิร์และทุกคนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก และมีโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกใหม่ได้เช่นกัน”

ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ได้นำกรอบวิจัยของ บพท. มาพิจารณาต่อยอดกับชุดข้อมูลเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดน ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติริเริ่มไว้ โดยแปลงแนวความคิดจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจ เชื่อมประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ไปถึงประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Thai Centrality) ด้วยการใช้ฐานความเป็นภาคีกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ความเป็นภาคีกลุ่มประเทศพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และความเป็นภาคีสมาชิกกลุ่มบริคส์ (BRICS) มาเป็นแนวทางกำหนดกรอบวิจัย

“เราวางกรอบวิจัยออกเป็น 5 ระเบียงเศรษฐกิจ ประกอบด้วยระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง-ตะวันตก และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านทุกทิศทาง รวม 8 ประเทศได้แก่ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ศรีลังกา”

ศ.ดร.รุธิร์ กล่าวว่า ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ จะมีเชียงใหม่-เชียงราย-ลำพูน-ลำปาง เป็นแกน ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีขอนแก่น-นครราชสีมา-อุดรธานี-หนองคาย เป็นแกน ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง-ปราจีนบุรี-สระแก้ว เป็นแกน ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางและตะวันตก มีพระนครศรีอยุธยา-นครปฐม-สุพรรณบุรี-กาญจนบุรี เป็นแกน และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ มีชุมพร-ระนอง-สุราษฏร์ธานี-นครศรีธรรมราช เป็นแกน

“ในกระบวนการวิจัยจะให้ความสำคัญกับการแสวงหาคำตอบเพื่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งแก่ประชาชนในพื้นที่ และนำสู่ความมั่นคงของประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงของธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก”

อย่างไรก็ตามหัวหน้าโครงการวิจัยนี้กล่าวว่า ความสำเร็จของระเบียงเศรษฐกิจ และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของโลก ต้องขับเคลื่อนร่วมกันในลักษณะ “ไตรภาคี” ประกอบด้วยภาครัฐ-ภาค เอกชน-ภาควิชาการ ขณะเดียวกันยังต้องขับเคลื่อนภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลักคือ

    1)การพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค
    2)การเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามแดนและผ่านแดน
    3)สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้สอดคล้องและสนับสนุนกับบริบทของการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน
    4)พัฒนาการให้บริการการขนส่งและบริการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน
    5)การเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามแดนและผ่านแดน
    6)ส่งเสริมการ ศึกษาวิจัยเพื่อสร้างความเป็นผู้นำสำหรับการเชื่อมโยงโลจิสติกส์และการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ
    7)ศูนย์กลางการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งในประเทศและประเทศในภูมิภาค