ข่าวประชาสัมพันธ์
“Forest Guardians Dinner Talk” ผนึกพลังภาคี สร้างโมเดลใหม่แก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ด้วยนวัตกรรมการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม (RoLD Fellows) โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดงาน Forest Guardians Dinner Talk เปิดเวทีระดมพลังผู้นำจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ร่วมผลักดันแนวคิด “ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม” ผ่านกลไก การจ่ายค่าตอบแทนบริการระบบนิเวศ (PES : Payment for Ecosystem Services) พร้อมเปิดตัวโครงการ “ชุมชนพิทักษ์ป่า” (Forest Guardians) ในพื้นที่นำร่อง จ.เชียงใหม่
ในงานมีการนำเสนอโมเดล PES ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้ชุมชนผู้ดูแลผืนป่าได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไฟป่า ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และลดฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน โดยมีเอกอัครราชทูต นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวเปิดงาน และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยมี ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบัน GSEI นำเสนอแนวทางเชิงนโยบายสำหรับการผลักดัน PES ในระดับประเทศ
ช่วงเสวนายังได้ถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการ “กาแฟอินทรีย์รักษาป่า” ภายใต้แบรนด์ มีวนา โดยนายวิเชียร พงศธร ประธานกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ที่ใช้ PES เชื่อมโยงธุรกิจกับการอนุรักษ์ พร้อมเสียงจากชุมชนบ้านแม่สาน้อย จ.เชียงใหม่ และบทบาทสำคัญขององค์กรที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ เช่น Change Fusion และ เทใจดอทคอม
นอกจากนี้กิจกรรมขับเคลื่อนในนามRoLD Fellows พร้อมร่วมมือกับ Piano Academy of Bangkok และ 158 Chamber Orchestra ประกาศจัดคอนเสิร์ตการกุศล “Concerto of Giving” ในวันที่ 30 สิงหาคม 2568 โดยจะนำรายได้ทั้งหมดเข้าสนับสนุนโครงการ Forest Guardians
รวมทั้งกิจกรรม fundraising game ที่ผู้ร่วมงานได้มีส่วนร่วมบริจาคผ่านแบบฟอร์ม Donation Card และรับของที่ระลึกเป็นหนังสือลายเซ็นจากท่านอานันท์ เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงค์และรวมพลังแห่งการเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ซึ่งงานในค่ำคืนนี้จึงไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นของโครงการ แต่คือจุดเริ่มต้นของระบบนิเวศแห่งการสร้าง ‘ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม’ ที่เราทุกคนมีส่วนร่วมได้”
สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิด “Just, Green and Sustainable Transition” โดยมีกลไก PES เป็นเครื่องมือในการบูรณาการแนวคิดเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา และหลักนิติธรรมอย่างสมดุล เปิดพื้นที่ให้ชุมชนพิทักษ์ผืนป่า พร้อมได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม