ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊(65) … เบื้องหลังการตัดสินประกวดภาพศิลป์ระดับชาติ

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊(65) … เบื้องหลังการตัดสินประกวดภาพศิลป์ระดับชาติ

4 พฤษภาคม 2025


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

ลุงหมีเขียนเล่าเรื่องนี้เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพว่าในการประกวดภาพศิลป์ระดับชาตินั้น คณะกรรมการตัดสินมีกระบวนการทำงานกันอย่างไร จึงสามารถเลือกภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยจะใช้กรณีศึกษาของการจัดประกวดงานศิลป์ของธนาคารกรุงไทยซึ่งลุงหมีเคยเกี่ยวข้องมาก่อน

สมัยที่ลุงหมีเป็นประธานบริหารของธนาคารกรุงไทยเมื่อ 10-16 ปีก่อน ลุงหมีให้ความสนใจต่อการสนับสนุนงานด้านศิลปะ ธนาคารกรุงไทยจึงให้งบประมาณสนับสนุนการประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติต่อเนื่องนับสิบปี ทำให้มีผลงานศิลป์ดีๆถูกคัดเลือกให้เป็นสมบัติของธนาคารไว้มากมาย ประธานกรรมการธนาคารและลุงหมีจึงดำริให้จัดสร้างหอศิลป์กรุงไทยเพื่อเปิดแสดงผลงานเหล่านั้นต่อประชาชนทั่วไป และยังได้จัดให้มีการประกวดผลงานศิลปกรรมเพิ่มเติมโดยธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าภาพเองด้วย

งานประกวดศิลปกรรมกรุงไทยครั้งแรกจัดเมื่อปี 2557 ตั้งหัวข้อประกวดให้เป็นเรื่องราวของประเทศไทยในด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เปิดรับผลงานจากบุคคลทั่วไป โดยเชิญศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปกรรมจำนวน 10 เป็นกรรมการตัดสิน ผลงานที่ได้รับรางวัลจะแสดงถาวรที่หอศิลป์กรุงไทย ส่วนผลงานร่วมแสดงจะเปิดขายต่อผู้ชมทั่วไป

วิธีตัดสินผลงานเข้าประกวดมีขั้นตอนที่น่าสนใจ ดังนี้

ขั้นแรกคือการคัดเลือกผลงานที่มีคุณค่าดีพอให้ร่วมแสดงต่อประชาชนได้ จากผลงานส่งมา 300 กว่าชิ้น คณะกรรมการตัดสินจะเลือกให้เป็นผลงานร่วมแสดงประมาณ 100 ชิ้น โดยกรรมการทั้งคณะจะเดินชมผลงานเข้าประกวดทุกชิ้นด้วยกัน แล้วลงมติด้วยการยกมือว่าจะคัดเลือกผลงานชิ้นไหนบ้าง

ขั้นที่สอง เมื่องานศิลปะที่ได้รับคัดเลือกให้แสดงทั้ง 100 ชิ้นถูกจัดวางไว้ด้วยกันแล้ว คณะกรรมการจะเดินดูผลงานอีกครั้งหนึ่ง แล้วมีมติเลือกผลงานที่เด่นพอมีโอกาสได้รับรางวัลให้เหลือ 35 ชิ้น ( ประมาณสองเท่าของจำนวนรางวัล) เรียกว่าเป็น long list

ขั้นที่สาม คณะกรรมการจะนั่งเป็นแถว แล้วมีทีมจัดงานยกผลงานจากlong listมาให้คณะกรรมการพิจารณาร่วมกันทีละชิ้น แล้วคัดเลือกงานที่จะให้รางวัล หรือ short list รวม 18 ชิ้น ในกรณีที่เป็นผลงานประติมากรรมยกมาจากที่ตั้งวางไม่ได้ คณะกรรมการจะเดินไปดูทุกชิ้น

ขั้นสุดท้าย คณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานที่จะได้รางวัลที่1 ที่2 และที่3 ในขั้นนี้คณะกรรมการจะถกเถียงกันถึงจุดเด่นของผลงานรางวัลที่1 อย่างลึกซึ้งเป็นพิเศษ

รางวัลสำหรับการประกวดปีแรกมีรางวัลที่ 1 สามรางวัล ทั้งนี้เพราะงานศิลปะที่รับเข้าประกวดไม่ได้แยกประเภทว่าเป็นงานจิตรกรรมหรือประติมากรรม คณะกรรมการจึงให้รางวัลที่ 1 แก่งานทั้งสองประเภทได้

ลุงหมีจะขอแสดงตัวอย่างผลงานศิลปะรางวัลที่1 ให้ดูต่อไป

ผลงานรางวัลที่ 1 ชิ้นแรกเป็นจิตรกรรมในรูปแบบสื่อผสม ศิลปินเสนอผลงานวิถีชีวิตของคนใต้ โดยสร้างอิสระของการเสนอผลงานไม่ให้จำกัดอยู่ในกรอบแผ่นผ้าใบ แต่มีมิติทับซ้อนกันได้ วัสดุที่ใช้คือ แผ่นไม้ฉลุ ตาข่ายและเครื่องจักสาน จัดวางเชื่อมโยงเรื่องราวชีวิตคนใต้ในแง่มุมต่างๆเข้าด้วยกัน โดยใช้สีน้ำตาลเข้มซึ่งสะท้อนธรรมชาติ

ผลงานรางวัลที่1 ชิ้นที่สองเป็นประเภทประติมากรรม สร้างโดยวัสดุไฟเบอร์กลาส ศิลปินเลือกใช้รูปทรงนามธรรมคือเน้นความงดงามของเส้นสายและรูปทรง สื่อถึงการกำเนิดของชีวิตตามธรรมชาติโดยจำลองลักษณะการเกิดของผีเสื้อออกมาจากรังตัวหนอน พื้นผิววัสดุมีความมัน ใช้สีสดใสของธรรมชาติ คือ ห้า ม่วงและเขียว เป็นงานศิลปะที่สะดุดตาผู้ชมมาก

ผลงานรางวัลที่1 ชิ้นที่สามเป็นภาพวาดสีน้ำมัน แสดงภาพหญิงชรายืนพนมมือด้วยใบหน้าเรียบนิ่ง ศิลปินลงรายละเอียดของภาพอย่างละเอียดลึกซึ้งทั้งเครื่องแต่งกาย รอยย่นของใบหน้าและความหยาบกร้านของผิวหนังของหญิงชรา เป็นการสะท้อนถึงการผ่านความยากลำบากมายาวนานจนใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต สิ่งที่เป็นสื่อสัญลักษณ์คือ ท่อนล่างของหญิงชราผู้นี้ถูกกลืนหายเข้าไปกับพื้นสีดำที่เป็นแบคกราวน์ของภาพ และกรอบของภาพออกแบบเป็นหิ้งบูชา อันสื่อให้ตีความว่าหญิงชราผู้นี้อยู่ในคนละมิติกับผู้ยืนชมภาพ

รูปส่งท้าย ลุงหมีร่วมในกระบวนการตัดสินงานประกวดครั้งนี้ในฐานะตัวแทนของธนาคารกรุงไทยเจ้าภาพของงาน จึงมีโอกาสถ่ายรูปร่วมกับศิลปินแห่งชาติทั้งหลายที่ให้เกียรติมาเป็นกรรมการตัดสิน