วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
กิจการประมงทะเลของไทยมีรากฐานที่หยั่งลึกมานานนับศตวรรษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการอพยพของชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งส่วนใหญ่มาจากชุมชนชายฝั่งทะเลของจีนตั้งแต่เกาะไหหลำขึ้นไปจนถึงดินแดนฮกเกี้ยนทางตอนเหนือ การเข้ามาของพวกเขาได้นำมาซึ่งทักษะและความเชี่ยวชาญในการต่อเรือที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการประมงทะเลในยุคต่อมา
อุตสาหกรรมประมงทะเลสมัยใหม่ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยปัจจัยสำคัญหลายประการที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำประมงแบบดั้งเดิมไปอย่างสิ้นเชิงได้แก่
1) การต่อเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นรองรับการออกทะเลที่ไกลและนานยิ่งขึ้น
2) การนำเครื่องยนต์เข้ามาใช้แทนที่การแล่นเรือด้วยใบทำให้เรือสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3) การนำเครื่องมือประมงขนาดใหญ่และทันสมัยเช่นอวนลากและอวนล้อมเข้ามาใช้ในการจับปลาส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลควบคู่ไปกับการ
4) นำอุปกรณ์ช่วยหาปลาอาทิโซนาร์ (sonar) เครื่องหยั่งน้ำ (sounder) และเครื่องหาปลา (fish finder) มาใช้ซึ่งเข้ามาแทนที่การพึ่งพาประสบการณ์และความชำนาญของไต้ก๋งเรือแต่เพียงอย่างเดียวนอกจากนี้ยังมีการพัฒนาและนำ
5) อุปกรณ์นำร่อง เช่น เรดาร์ (Radar) มาช่วยในการเดินเรือในสภาพอากาศที่เลวร้ายหรือในเวลากลางคืนและที่สำคัญคือ
6) การนำระบบทำความเย็น (Refrigerating system) มาใช้ในการรักษาคุณภาพของสัตว์น้ำที่จับได้ทำให้สามารถเก็บรักษาสัตว์น้ำได้นานขึ้นและขนส่งไปยังตลาดได้ไกลขึ้น
ผลจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เรือประมงสามารถจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณที่มากขึ้นออกทำการประมงได้ในน่านน้ำที่ไกลขึ้นและสร้างผลกำไรที่งดงามนำไปสู่การขยายจำนวนเรือประมงทั้งในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทยกิจการประมงทะเลในน่านน้ำไทยรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงปีพ.ศ. 2515-2530
ในขณะที่การประมงนอกน่านน้ำไทยเติบโตอย่างมากในช่วงปีพ.ศ. 2535-2557 การเติบโตของกิจการประมงทะเลยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นโรงงานน้ำปลา โรงงานน้ำแข็ง โรงงานปลาป่น ห้องเย็น โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ โรงงานผลิตแหอวนและอุปกรณ์ประมงต่างๆ รวมถึงอู่ต่อเรือและซ่อมเรือประมง และแน่นอนที่สุดก่อให้เกิดการขยายตัวและส่งออกสินค้าสัตว์น้ำทั้งกุ้งหอยปูและปลาไปสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดจังหวัดชายทะเลของประเทศให้รุ่งเรืองด้วย
ในอดีต การต่อเรือและซ่อมเรือประมงของไทยส่วนใหญ่เป็นการสร้างเรือไม้เนื้อแข็ง ซึ่งเป็นผลผลิตจากองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานนับร้อยปี ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากครอบครัวชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดชายทะเลต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และระยอง
ช่างต่อเรือเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในการเลือกสรรไม้ การประกอบโครงสร้างเรือ และการออกแบบเรือให้เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพทะเลที่แตกต่างกัน องค์ความรู้เหล่านี้เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่ผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมและทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างลงตัว
อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU fishing) ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในบริบทของอุตสาหกรรมประมงไทยอย่างแท้จริงของรัฐบาล ที่มาจากการรัฐประหารภายใต้การชี้นำอย่างใกล้ชิดของสหภาพยุโรปในปีพ.ศ. 2558 ได้นำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมประมงทะเลทั้งระบบ
เรือประมงนับพันลำต้องจอดเทียบท่าไม่สามารถออกทำการประมงได้ ส่งผลให้วงจรการผลิตและธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องต้องหยุดชะงักและค่อยๆเสื่อมสลายไปในที่สุด
การแก้ไขปัญหา IUU fishing โดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมจำนวนเรือโดยเข้าใจว่ามีเรือประมงเกินศักยภาพของท้องทะเลได้นำไปสู่มาตรการที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อองค์ความรู้พื้นบ้านในการต่อเรือกล่าวคือ
1) การสั่งจอดเรือจำนวนมากทำให้ธุรกิจการซ่อมเรือต้องหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากไม่มีเรือที่ต้องการการซ่อมบำรุงอีกต่อไป
2) การห้ามต่อเรือใหม่ทำให้การใช้และการพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะตัวของช่างต่อเรือต้องหยุดนิ่งองค์ความรู้ที่สั่งสมมานับร้อยปีค่อยๆเลือนหายไปตามอายุขัยของช่างอาวุโสที่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้องค์ความรู้พื้นบ้านในการต่อเรือประมงทะเลที่เคยรุ่งเรืองและเป็นเอกลักษณ์ของไทยซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตและสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายอย่างน่าเสียดายหากไม่มีการตระหนักถึงความสำคัญและหาแนวทางในการอนุรักษ์และสืบสานองค์ความรู้นี้ไว้อาจทำให้ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่านี้ต้องสูญหายไปอย่างถาวรซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงเท่านั้นแต่ยังรวมถึงมิติทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติอีกด้วย
แล้วเราจะปล่อยกันให้เป็นเช่นนี้หรือ