ThaiPublica > เกาะกระแส > อวสาน “ยุคโลกาภิวัตน์” จะหมายถึงสิ้นสุดโอกาสการหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” หรือไม่

อวสาน “ยุคโลกาภิวัตน์” จะหมายถึงสิ้นสุดโอกาสการหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” หรือไม่

28 เมษายน 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : Vietnam Investment Review

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีตอบโต้กับเวียดนาม 46% บวกกับภาษีพื้นฐานอีก 10% ทำให้สินค้าที่ติดป้าย “Made in Vietnam” กลายเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาขึ้นมาทันที รองเท้า Nike ขายในอเมริกาเดิมราคาคู่ละ 100 ดอลลาร์ คงจะมีราคาแพงขึ้น เพราะ 30 ปีที่ผ่านมา Nike ลงทุนเพื่ออาศัยเวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตรองเท้า มากกว่า 50% ของทั้งหมด

Nike เป็นตัวอย่างบริษัทที่อาศัยเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้าคือจากสหรัฐฯ บูรณาการกับการผลิตต่อหน่วยที่มีต้นทุนต่ำ คือจากประเทศกำลังพัฒนา ปี 1982 Nike อาศัยการผลิตรองเท้าจากเกาหลีใต้ถึง 70% ปี 2002 ทำการผลิตในจีน 40% การผลิตในเวียดนามเริ่มต้นในปี 1995 เมื่อถึงปี 2023 การผลิตในเวียดนามเพิ่มเป็น 50% นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ตัวอย่างของ Nike ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯที่มีเทคโนโลยีการผลิตมีประสิทธิภาพมากสุด ไม่จำเป็นจะต้องผลิตสินค้าสำเร็จรูป และส่งออกอย่างรองเท้ากีฬา

อเมริกากลายเป็นตลาด “หลังม่านเหล็ก”

โรงงานผลิตรองเท้ากีฬา Nike เป็นนักลงทุนต่างประเทศกลุ่มแรก ที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม และมีส่วนสร้างอุตสาหกรรมการส่งออกและการเติบโตเศรษฐกิจ Nike มีโรงงานทำรองเท้า 5 แห่ง ทุกวันนี้ Nike มีโรงงานซับพลายเออร์ผู้ผลิต 130 แห่งในเวียดนาม ที่ผลิตรองเท้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาของ Nike

นักวิเคราะห์ Global Supply Chain ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวกับ Financial Times ว่า การย้ายห่วงโซ่อุปทานของรองเท้า จะใช้เวลา 2 ปี บริษัทต่างๆมักมีแผนการย้ายห่วงโซ่ดั่งกล่าวในวงจร 5 ปี ส่วนนักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank กล่าวว่า เม็กซิโก บราซิล ตุรกี และอียิปต์ สามารถเป็นทางเลือกแทนเวียดนาม ในการเป็นศูนย์กลางการผลิต

แต่นักวิเคราะห์ Deutsche Bank กล่าวอีกว่า ในสหรัฐฯ 99% ของรองเท้ามาจากการนำเข้า ทำให้ตลาดสหรัฐฯคล้ายกับตลาดสินค้าของอดีตสหภาพโซเวียต คนรัสเซียสมัยนั้นต้องเสียเงินพิเศษในจำนวนมากกว่าราคาปกติ เมื่อซื้อกางเกงยีนลีวาย จากคนต่างชาติที่นำเข้ามา “เรากำลังอยู่หลังม่านเหล็ก”

กระทบเป้าหมายเป็น “ชาติพัฒนาแล้ว”

นโยบายภาษีทรัมป์กระทบอย่างมากต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องอาศัยการส่งออกเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐฯ มีสัดส่วน 30% ของ GDP แต่ถูกเก็บภาษีทรัมป์ 46% ส่วนกัมพูชา การส่งออกไปสหรัฐฯมีสัดส่วน 25% ถูกเก็บภาษีทรัมป์ 49%

เวียดนามภายใต้การนำของโต ลัม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2045 เวียดนามจะเป็นประเทศรายได้สูง เศรษฐกิจมีพื้นฐานจากความรู้และเทคโนโลยี โดยอาศัยการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ปีหนึ่งขยายตัวมากกว่า 8% การส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐฯ คือหัวใจสำคัญของแผนการบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจนี้

เวียดนามประกาศว่า จะยกเลิกภาษีนำเข้าทั้งหมดแก่สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ แต่รัฐบาลทรัมป์แสดงท่าทีไม่ประณีประนอม ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาด้านการค้าและอุตสาหกรรมการผลิตของทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเสนอภาษีอัตราศูนย์ของเวียดนาม ไม่มีความหมายอะไร เพราะไม่ได้แก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยเวียดนามขายให้สหรัฐฯทุก 15 ดอลลาร์ แต่จะซื้อจากสหรัฐฯแค่ 1 ดอลลาร์ นอกจากนี้ 1 ใน 3 การส่งออกของเวียดนาม เป็นสินค้าจีนที่สวมสิทธิ์การส่งออกจากเวียดนาม

ที่มาภาพ : World Economic Forum

สิ้นสุด “ยุคมหัศจรรย์เศรษฐกิจ”

Dani Rodrik นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาของฮาร์วาร์ด เขียนบทความชื่อ The Age of Miraculous Growth Is Over โดยกล่าวว่า เป็นเวลากว่า 70 ปี ประเทศจำนวนมากเดินตามเส้นทางการพัฒนาแบบเดียวกัน ที่ออกจากความยากจน คือผลิตสินค้า และขายในต่างประเทศ ยุทธศาสตร์นี้รู้จักกันในนาม “การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก” ยุทธศาสตร์นี้มาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ได้รับแรงหนุนจากการเปิดกว้างเศรษฐกิจโลก ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ นับจากหลังสงครามโลกเป็นต้นมา

โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประเทศยากจนอาศัยการเติบโตสู่ความมั่งคั่ง บุกเบิกโดยเสือเศรษฐกิจเอเชีย 4 ประเทศ คือไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ในทศวรรษ 1950 ประเทศเหล่านี้ยากจนเหมือนประเทศแอฟริกา มีเศรษฐกิจอาศัยการเกษตรและแร่วัตถุดิบ การค้าทำให้ 4 ประเทศสามารถพัฒนาความชำนาญในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อขายในตลาดโลก เช่นของเด็กเล่น เสื้อผ้า เหล็ก รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ การผลิตส่งออกทำให้เข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องจักรกล

จีนพัฒนาเลียนแบบเสือเศรษฐกิจเอเชีย และปรับปรุงยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อส่งออก จนกลายเป็นมหาอำนาจผู้ประกอบการผลิตของโลก ช่วยปรับปรุงชีวิตคนจีน 800 ล้านคนออกจากความยากจน และก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ หลังจากค่าแรงจีนสูงขึ้น การลงทุนต่างประเทศย้ายมาเวียดนาม ซึ่งอาจเป็นประเทศสุดท้ายที่ประสบความสำเร็จจากโมเดลการผลิตเพื่อส่งออก

Dani Rodrik กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งขึ้นมา ของประเทศที่ใช้ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ทำให้ประเทศยากจนพยายามเลียนแบบ แต่นับจากทศวรรษ 1990 การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ทำให้ยุทธศาสตร์นี้ได้ผลน้อยลง การผลิตแบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และการพิมพ์ 3 มิติ (3-D Printing) ทำให้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ลดสิ่งที่เป็นความได้เปรียบของประเทศยากจน ที่เคยมีแรงงานอยู่มากมาย

ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่เติบโตรวดเร็ว ก็ไม่ได้เกิดจาการผลิตเพื่อส่งออก ในอดีตเคยคาดการณ์กันว่า เอธิโอเปียจะเป็นคลื่นลูกใหม่ของประเทศที่อาศัยการส่งออกเป็นตัวนำ มีการดึงจีนเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ในที่สุด การจ้างงานจากโรงงานการผลิตมีไม่มาก เอธิโอเปียจึงหันไปสร้างการเติบโต จากการลงทุนในระบบขนส่ง และการปรับปรุงระบบชลประทาน ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีพลังชีวิตชีวามากขึ้น

เอธิโอเปียอาจมีปัญหาการเข้าถึงตลาดโลก ทำให้ไม่สามารถเป็นยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการผลิตในแอฟริกา แต่เม็กซิโกเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นประเทศที่มีชายแดนติดตลาดใหญ่สุดของโลก หลังข้อตกลง NAFTA การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก แต่ประโยชน์ที่ได้จำกัดอยู่ในภาคส่วนแคบๆของเม็กซิโก ขณะที่ภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆชะงักงัน การเติบโตโดยรวมต่ำ เพราะโรงงานทำการผลิตสนองตลาดสหรัฐฯ แต่ห่วงโซ่การผลิตไม่ได้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้ไม่สามารถสร้างงานมากพอ

นิคมอุตสาหกกรมของเอธิโเปีย สร้างโดยจีน ที่มาภาพ : Xinhua

โมเดลใหม่การพ้น “ดับดักรายได้ฯ”

Dani Rodrik กล่าวถึงตัวอย่างเม็กซิโกว่า หากประเทศที่สามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐฯได้อย่างไม่มีจำกัด แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับเศรษฐกิจโดยรวม แสดงให้เห็นว่า การส่งออกสินค้าไปประเทศร่ำรวย อาจไม่ใช่โอกาสทองของประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป
ถ้าไม่ใช่การส่งออกแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาจะอาศัยอะไร มายกระดับฐานะเศรษฐกิจตัวเองให้สูงขึ้น Dani Rodrik เสนอว่า การที่จะจุดประกายไฟการเติบโตขึ้นมา ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องทุ่มเทมาจัดการปัญหาท้าทาย ที่ฝังลึกที่ตัวเองประสบอยู่ คือการพัฒนาตลาดภายในประเทศ พัฒนาคนชั้นกลาง และพัฒนาภาคบริการ ที่จะสร้างงานที่ดีมีคุณภาพขึ้นมา

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังมีความสำคัญ ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องยกระดับภาคบริการในประเทศ เช่น การค้าปลีก งานบริการด้านการดูแล อุตสาหกรรมบริการต้อนรับ (hospitality) ที่มีงานอยู่มากมาย ปัญหาท้าทายของประเทศกำลังพัฒนาคือการสร้างเศรษฐกิจคนชั้นกลาง โดยการสร้างงานในภาคบริการที่ดีกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า สิ่งนี้เป็นภาระที่น่ากังวล เพราะอดีตที่ผ่านมา ผลิตภาพของงานบริการในประเทศจะก้าวเดินช้ากว่าผลิตภาพงานอุตสาหกรรมการผลิต

สรุปแนวคิดของ Dani Rodrik ในยุคสิ้นสุดโลกาภิวัตน์ “โมเดลการพัฒนาแบบใหม่” ของประเทศกำลังพัฒนา ประกอบด้วย

(1)อุตสาหกรรมการผลิตยังมความสำคัญ แต่การส่งเสริมสนับสนุนการลงทุน จะต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น เช่นการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในประเทศ

(2)การสิ้นสุดยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสที่จะสร้างเศรษฐกิจคนชั้นกลางที่มีคุณภาพขึ้นมา โดยการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตยังจะดึงงานภาคบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น เช่น งานบัญชี การวิจัยตลาด หรืองานที่ปรึกษา

สำหรับประเทศที่ยากจน หนทางสู่ความมั่งคั่งอาจจะแตกต่างจากอดีตในสมัยของเสือเศรษฐกิจเอเชีย ยุคความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจกำลังสิ้นสุดลง เมื่อถึงตอนนี้ ชะตากรรมของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในมือของพวกเขาแล้ว

เอกสารประกอบ
Sports shoes’ supply chain is pain point in Trump’s tariff war, April 6, 2025, The Financial Times
Trump’s tariffs are a huge blow to Vietnam’s economic ambition, 9 April 2025, bbc.com
The Age of Miraculous Growth Is Over, Dani Rodrik, April 6, 2025, nytimes.com