
รายงานล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (NSO) เปิดเผยว่า เวียดนามยังคงได้ประโยชน์จากโครงสร้างประชากรที่ดี โดยมีประชากรประมาณ 500,000 คนเข้าสู่กำลังแรงงานทุกปี โดยในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งจัดเป็นประชากรวัยแรงงานมีจำนวนถึง 52.9 ล้านคน แม้ลดลง 230,700 คนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 532,000 คนเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกัน สัดส่วนแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแรงงาน 28.8% ได้รับประกาศนียบัตรและใบรับรองในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ตัวเลขการจ้างงานในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยโครงสร้างอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยภาคเกษตร ป่าไม้ และประมงมีสัดส่วนลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และบริการมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 แรงงานที่มีงานทำทั่วประเทศมีจำนวน 51.9 ล้านคน ลดลง 0.4% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1.04% จากปีก่อน โดยในจำนวนนี้ 20 ล้านคนได้รับการจ้างงานในเขตเมือง ในขณะที่ 31.8 ล้านคนได้รับการจ้างงานในเขตชนบท เมื่อแยกรายภาค พบว่าภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง มีการจ้างงาน 13.5 ล้านคน ลดลง 305,000 คน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง มีการจ้างงาน 17.2 ล้านคน และภาคบริการ 21.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 262,000 คน และ 575,000 คน ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน
สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามระบุว่า อัตราการว่างงานในกลุ่มประชากรวัยทำงานอยู่ที่ 2.2% ลดลง 0.02% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 0.04% จากปีก่อน
นายเหวียน ฮุย มินห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสถิติประชากรและแรงงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่า ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัว แต่คุณภาพของอุปทานแรงงานยังคงเผชิญกับข้อจำกัดมากมาย และยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่ทันสมัย ยืดหยุ่น ยั่งยืน และบูรณาการได้ แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ตลาดแรงงานยังขาดความยั่งยืน โดยแรงงานนอกระบบ 64.3% มีการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและมีรายได้ต่ำ ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนแรงงานในระบบก็เผชิญกับความท้าทาย โดยนายเหวียน ฮุย มินห์ขยายความว่า แม้การจัดตั้งธุรกิจหรือธุรกิจกลับมาดำเนินการอีกครั้งในระยะเวลาสามเดือนแรกมีจำนวนกว่า 72,900 ราย แต่มี ธุรกิจ 78,800 รายที่ถอนตัวออกจากตลาด ดังนั้นจึงควรมีการปฏิรูปสถาบัน การลดขั้นตอนการบริหาร และมีนโยบายสนับสนุนที่ก้าวล้ำสำหรับองค์กรเอกชน
นอกจากนี้ การปฏิบัติตามมติคณะกรรมการกลางพรรคฉบับที่ 18 เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกลไกทางการเมืองควบคู่ไปกับแผนการรวมจังหวัดและยุบเขต จะทำให้ข้าราชการหลายแสนคนต้องออกไปทำงานภาคเอกชน ซึ่งต้องมีนโยบายสนับสนุนและการฝึกอบรมเพื่อช่วยให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้
นายเหวียน ฮุย มินห์ยังกล่าวอีกว่า แม้ว่าผลิตภาพแรงงานของเวียดนามจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ตามเวียดนามมีประชากรที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 1.35 ล้านคนที่ไม่ได้ทำงานหรือได้รับการศึกษาหรือการฝึกอบรม หรือคิดเป็น 10.4% ของประชากรเยาวชนทั้งหมด ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 6 เมษายน สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยแพร่รายงานแรงงานและการจ้างงานประจำไตรมาสแรกของปี 2568 โดยระบุว่าที่ไม่ได้ทำงานหรือได้รับการศึกษาหรือการฝึกอบรมเพิ่มขึ้น 84,400 คนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 66,900 คนเมื่อเทียบเป็นรายปี
สัดส่วนของคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้รับการจ้างงานหรือการฝึกอบรมในพื้นที่ชนบทนั้นสูงกว่าในเมือง โดยอยู่ที่ 11.7% ส่วนในเเมืองอยู่ที่ 8.2% โดยประชากรหญิงอายุระหว่าง 15-24 ปี ที่ไม่ได้รับการจ้างงานหรือการฝึกอบรมคิดเป็น 11.5% ส่วนผู้ชายมีสัดส่วน 9.3%
อัตราการว่างงานของประชากรกลุ่มอายุนี้คือ 7.93%
สำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า แม้ว่าตัวเลขนี้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเวลาเดียวกันในปี 2567 แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญ
โดยรวมตลาดแรงงานในช่วง 3 เดือนแรกของปีเป็นไปตามรูปแบบปกติในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยทั้งตัวเลขแรงงานและอัตราการว่างงานหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สี่ของปี 2567 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปี
สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานอีกด้วยว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคและภาคเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงต้นปี 2568 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานในไตรมาสที่ 1 มีจำนวน 8.3 ล้านด่อง (323 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 131,000 ด่อง(1.6%)จากไตรมาสก่อน และ 720,000 ด่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 131,000 ด่อง
แรงงานในเขตเมืองมีรายได้เฉลี่ย 10.1 ล้านด่องในช่วงสามเดือนแรก สูงกว่าแรงงานในพื้นที่ชนบทถึง 1.39 เท่า
บางจังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในจังหวัดหวิงฟุก คนงานมีรายได้เฉลี่ย 9.9 ล้านด่องต่อเดือน เพิ่มขึ้น 1 ล้านด่อง ภูมิภาคตอนกลางทางเหนือและชายฝั่งตอนกลางมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็น 7.3 ล้านด่อง ในขณะที่ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงมีรายได้เฉลี่ยของคนงานอยู่ที่ 9.8 ล้านด่อง เพิ่มขึ้น 9.5%
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้นในทั้งสามภาคเศรษฐกิจ โดยภาคเกษตร ป่าไม้ และประมงมีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 9.8% แตะที่ 4.9 ล้านด่อง ในขณะเดียวกัน ภาคบริการและอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการเติบโต 9.2% และ 8.2% แตะที่ 9.9 ล้านด่องและ 9.1 ล้านด่องตามลำดับ
เมื่อจำแนกตามรายภาค แรงงานภาคบริการยังคงมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุดที่ 9.9 ล้านด่องต่อเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้น 832,000 ด่องจากปีก่อน
ในภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง มีรายได้เพิ่มขึ้น 434,000 ด่อง เป็นรายได้เฉลี่ย 4.9 ล้านด่อง แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างมีรายได้เฉลี่ย 9.1 ล้านด่อง เพิ่มขึ้น 690,000 ด่อง ในภาคการแปรรูปและการผลิต มีรายได้ 9.1 ล้านด่อง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 667,000 ด่อง
แรงงานในภาคการเงิน ธนาคาร และประกันภัย มีรายได้ 13.9 ล้านด่อง เพิ่มขึ้น 800,000 ด่อง