1721955
“รู้ต้นกำเนิดตุ๊กตาไล่ฝนมั้ย ได้ยินว่ามาจากเรื่องเล่าของจีนที่ชื่อเส้าฉิงเหนียง แต่ของญี่ปุ่นเป็นตุ๊กตาพระหัวโล้น จริง ๆ แล้วของเดิมเป็นผู้หญิงนะ…มีหมู่บ้านที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมเพราะฝนตกไม่หยุด แล้วพอสังเวยเด็กสาวให้กับเทพ ฝนก็หยุดตก ก็เรื่องเดิม ๆ นั่นแหละ จะว่าไปตุ๊กตาไล่ฝนนี่ มันถูกแขวนคอเอาไว้สินะ ทำไมในเรื่องเล่าพวกนี้ คนรับเคราะห์ต้องเป็นผู้หญิงทุกทีเลย”
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในอีพี 5 ล่าสุดของซีรีส์ Gannibal ซีซั่นสองนี้ เฉพาะประโยคเหล่านี้ เราจะพบข้อมูลว่า 1.ตุ๊กตาไล่ฝนเป็นเรื่องเล่าของจีน (เรื่องเล่าที่ถูกเปลี่ยนจากจีนเป็นญี่ปุ่น จากเด็กสาวกลายเป็นพระ) 2.แม้ของญี่ปุ่นจะเป็นพระหัวโล้น แต่ของเดิมเป็นผู้หญิง 3.เดิมทีมันคือการสังเวยเด็กสาว 4.ถ้าสังเกตดีดีตุ๊กตาเหมือนถูกแขวนคอ 5.ผู้หญิงเป็นฝ่ายรับเคราะห์เสมอ
เทรุ เทรุ โบสึ
หรือบ้านเราเรียก “ตุ๊กตาไล่ฝน” เชื่อกันว่าหากคาดหวังให้วันพรุ่งนี้ฝนไม่ตก ให้แขวนตุ๊กตาแบบนี้เอาไว้ โดยเราไม่เคยรู้กันเลยว่าต้นเรื่องทั้งในเวอร์ชั่นจีนและเวอร์ชั่นญี่ปุ่น เป็นนิทานสยองขวัญ คำว่า เทรุ แปลว่า “ส่องสว่าง” ส่วน โบสึ แปลว่า “พระสงฆ์” ตุ๊กตานี้จึงเป็นตัวแทนของพระหัวโล้น และแสงที่ส่องในวันอากาศแจ่มใส ตามเรื่องเล่าโบราณที่เดิมทีหากอากาศเป็นดั่งใจ ฝนไม่ตก ก็ให้รินเหล้าสาเกรดตุ๊กตานี้ และเรื่องเล่านี้ได้รับความนิยมผ่านบทเพลงกล่อมเด็ก วาราเบะอุตะ ที่ปรากฎในปี 1921 เนื้อหาของเพลงเล่าถึงพระภิกษุที่ให้สัญญากับชาวนาว่าจะหยุดฝนแล้วนำอากาศแจ่มใสมาให้ในวันรุ่งขึ้น ถ้าสำเร็จชาวนาจะรินเหล้าสาเกถวาย แต่ถ้าไม่สำเร็จ…พระรูปนั้นจะถูกตัดหัว!
ว่ากันว่านิทานพระหัวโล้นไล่ฝนมีมาตั้งแต่ยุคเอโดะ (1603-1867) เชื่อกันว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 1830 โดยในเรื่องเล่าระบุว่า “ถ้าอากาศดี ฉันจะเขียนรูปลูกตาลงบนตุ๊กตา ถวายสาเกแด่เทพเจ้า แล้วเทลงแม่น้ำ” ทว่าเมื่อสืบย้อนไปในช่วงเฮอัน (749-1185) กลับพบว่าต้นเค้าเดิมเป็นของชาวจีนในประเพณี เส้าฉิงเหนียง คือการแขวนตุ๊กตาลักษณะเดียวกันเอาไว้ตรงปลายไม้กวาด เพื่อกวาดเอาดวงวิญญาณที่ดีเข้ามาหา แล้วจะได้โชคลาภ โดยต้นเรื่องของประเพณีนี้คือการสังเวยเด็กสาวเพื่อช่วยให้เมืองพ้นจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ผู้คนทำสัญลักษณ์นี้เพื่อรำลึกถึงเธอ และแขวนไว้เพื่อภาวนาให้อากาศดี
แต่หากย้อนไปต้นเค้าเดิมของจีน เส้าฉิงเหนียง เป็นเทพีในหมู่ดาวไม้กวาด มีหน้าที่ปัดกวาดเมฆ ดังนั้นหน้าที่ของเธอคือทั้งเรียกฝนและไล่ฝนได้ แปลว่าปีไหนน้ำแล้งเธอก็จะบันดาลฝนให้เทลงมาได้ ปีไหนน้ำหลากหนัก เธอก็จะบันดาลให้แห้งเหือดได้เช่นกัน โดยชาวบ้านจะตัดกระดาษแดงเป็นรูปเธอถือไม้กวาดแล้วนำไปแปะบริเวณฝาบ้านใกล้หน้าต่าง หรือไม่ก็จะแขวนไม้กวาด หรือทำตุ๊กตาขึ้นมาจากไม้กวาดแขวนบนผนัง
แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของเรื่องเล่านี้คือพิธีสังเวยเด็กหญิง ที่ใช่ว่าจะมีแค่ในเรื่องเล่าของจีนเท่านั้น สำหรับญี่ปุ่นเองก็มีเช่นกัน และการสังเวยนี้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของซีรีส์นี้ที่พลิกไปพลิกมาเมื่อเทพเจ้าองค์ใหม่มาปรากฏ
ฮิโตบาชิระ
บันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับ ฮิโตบาชิระ สามารถพบได้ใน พงศาวดารนิฮอนโชกิ (บันทึกเสร็จสิ้นในปี 720) ในเรื่องราวเกี่ยวกับจักรพรรดินินโทคุ (ปี 313-399) ในปี ค.ศ.323 มีกล่าวถึงการล้นของแม่น้ำคิตากาวะและมามูตะ เกิดผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมากและความสามารถมนุษย์ไม่อาจต้านทานกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากนั้นได้ จักรพรรดินินโทคุจึงเปิดเผยนิมิตที่ได้รับในความฝันว่า “ให้หาคนชื่อ โควาคุบิ ในจังหวัด มุซาชิ กับ อีกคนชื่อ โคโรโมโนะโกะ ในจังหวัด ความจิ แล้วนำมาสังเวยต่อแม่น้ำทั้งสอง” การสร้างเขื่อนกั้นน้ำจะสำเร็จลงอย่างง่ายดาย ต่อมาพวกเขาก็โยน โควาคุบิ ลงไปในกระแสน้ำเชี่ยวกรากของแม่น้ำคิตางาวะ เขื่อนก็ถูกสร้างขึ้นโดยง่าย อย่างไรก็ตามหลังจากสังเวยเหยื่อแรกไปแล้ว ทำให้พวกเขาตัดสินใจไม่สังเวย โคโรโมโนะโกะ
ฮิโตบาชิระ ในรูปแบบต่าง ๆ กัน
บันทึกเก่าแก่อีกชิ้นเรียกว่า “ยาสึโตมิกิ” ในศตวรรษที่ 15 ได้เล่าถึงประเพณีเก่าแก่อันโด่งดังเรียกว่า “นางาระ โนะ ฮิโตบาชิระ” คือการสังเวยเหยื่อมาเป็น ยางาระ ก่อนจะสร้างสะพานขนาดใหญ่ ด้วยการจับผู้หญิงที่แบกเด็กชายไว้บนหลังขณะกำลังเดินข้ามแม่น้ำไป แล้วนำเธอมาฝังทั้งเป็นในจุดที่จะสร้างสะพาน โดยทั่วไปประเพณี ฮิโตบาชิระ มักจะกระทำกันในช่วงเวลาการสร้างสิ่งใดก็ตามที่มีโครงสร้างซับซ้อน อันตราย และมักจะเกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น สะพาน อุโมงค์ เขื่อน ปราสาท ป้อมปราการ พวกเขาเชื่อว่า ฮิโตบาชิระคือศูนย์รวมให้ให้ผู้คนมีจิตสำนึกแห่งการเสียสละ
คำว่า “ฮิโตบาชิระ” มีความหมายว่า “เสามนุษย์” หรือในจีนรู้จักกันในชื่อ “ต้าเฉิงจวง” ต้นกำเนิดเป็นแนวคิดของช่างไม้ สถาปนิก และนักประดิษฐ์ชาวจีน นามว่า ลู่ปั้น (ราว 507-444 ปีก่อนคริสตกาล) ในสมัยราชวงศ์โจว ภายหลังได้รับการนับถือเป็นเทพเจ้าแห่งการก่อสร้าง ด้วยความเชื่อว่าการเคลื่อนย้ายดินระหว่างการก่อสร้างสิ่งที่มีขนาดใหญ่จะทำลายฮวงจุ้ยของแผ่นดิน ทำให้วิญาณคนตายโกรธแค้น อันเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขณะการก่อสร้าง การสังเวยต้าเฉิงจวงจึงเป็นไปเพื่อปราบปรามวิญญาญชั่วร้ายเหล่านั้น หลักฐานเก่าแก่ของจีนถูกขุดพบในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน เป็นซากเด็กทารกที่ถูกใช้สังเวยในการวางฐานรากของเมือง

ความเชื่อเรื่องการสังเวยมนุษย์กลายเป็นประเพณีที่กระจายไปทั่วในเอเชียตะวันออก ด้วยการกำหนดฝังใครสักคนก่อนการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เป็นการปกป้องอาคาร กลายไปสู่การปกป้องภัยพิบัติจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือการโจมตีจากศัตรู
ในเกาหลีสมัยชุงฮเยแห่งโครยอ (1315-1344) มีข่าวลือไปทั่วเมืองแคซองว่าเขาวางแผนจะสังเวยทารกหลายสิบคนเพื่อสร้างพระราชวังใหม่ ทำให้เกิดความโกลาหลและประชาชนอพยพออกจากเมืองเป็นจำนวนมาก
ในการสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่สวนสาธารณะต้าหูในไต้หวันระหว่างการปกครองของราชวงศ์ชิง (1683-1895) มีการฝังศพขอทานชราทั้งเป็น ทำให้พวกเขาต้องสร้างศาลเจ้าเพื่อขอทานผู้นี้ซึ่งก็คือศาลเจ้าเหล่ากงฉี ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันนี้
ปราสาทมารุโอกะ เมืองซากาอิ จังหวัดฟุกุอิ มีตำนานเมืองเรียกว่า “โอชิสึ ฮิโตบาชิระ” มีเรื่องเล่ากันว่าระหว่างสร้างปราสาทนี้กำแพงหินของปราสาทก็พังทลายลงมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะสร้างทับสักกี่ครั้ง จึงมีการเสนอให้สังเวยมนุษย์ ซึ่ง ฮิโตบาชิระ ในเรื่องนี้เธอมีชื่อว่า “โอชิสึ” หญิงที่มีตาเดียว ใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นกับลูกสองคน ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือเธอไม่ได้ถูกเลือก แต่ขออาสามาโดยแลกกับเงื่อนไขว่าต้องให้ลูกของเธอคนหนึ่งได้เป็นซามูไร ร่างของเธอถูกฝังทั้งเป็นใต้เสาเอกกลางปราการปราสาท แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดคือท่านเจ้าเมืองเจ้าของปราสาทถูกย้ายไปจังหวัดอื่นกระทันหัน ทำใหลูกชายของโอชิสึไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซามูไร แม้นว่าสุดท้ายปราสาทจะถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์ แต่วิญญาณของโอชิสึขุ่นเคืองทำให้คูน้ำรอบปราสาทเอ่อล้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ผู้คนพากันเรียกว่า “น้ำตาฝนของโอชิสึ” ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างหลุมศพเล็ก ๆ ขึ้นเพื่อปลอบโยนวิญญาณของเธอ
สะพานมัตสึเอะ โอฮาชิ ในจังหวัดชิมาเนะ กล่าวกันว่าในปี 1608 เมื่อโฮริโอะ โยชิฮารุ (1542-1611) แม่ทัพที่ได้ขึ้นเป็นไดเมียวแห่งอิซุโมะ ได้เริ่มสร้างสะพานข้ามปากแม่น้ำแห่งนี้ ก็พบว่าหินก้อนใหญ่หลายก้อนที่ตั้งใจจะวางเป็นตอม่อสะพาน แต่กลับจมหายไป หรือพอสร้าง ๆ ไป จู่ ๆ น้ำก็ท่วมพัดสะพานหายไปบ้าง พวกเขาจึงสังเวยมนุษย์ โดยกำหนดว่าเหยื่อสังเวยจะต้องเป็นใครก็ตามที่ผ่านมาบริเวณนี้โดยสามชุดฮากาเมะ แต่ไม่คาดสายรัด จะต้องถูกจับสังเวย สุดท้ายก็จับได้หนึ่งนายชื่อว่า “เก็นสุเกะ” เขาถูกฝังทั้งเป็นตรึงไว้กับเสาหลักกลางของสะพาน สะพานนี้ก็นิ่งสงบลงเป็นเวลาสามร้อยปี จนกระทั่งในปี 1891 ชาวเมืองก็ตั้งใจกันว่าจะสร้างสะพานใหม่ แต่นับจากปีนั้นก็แทบไม่มีคนต่างเมืองกล้าเข้ามาในเมืองนี้อีกเลย เพราะกลัวจะถูกใช้เป็น ฮิโตบาชิระ คนต่อไป
Gannibal ซีซั่น 2 นี้เข้มข้นกว่าซีซั่นแรกมาก และกำลังเดินทางไปสู่อีพีสุดท้าย ขณะที่ปมต่าง ๆ กำลังค่อย ๆ คลี่คลายลง จากการโค่นล้มเทพเจ้าองค์เก่า ไปสู่ยุคแห่งเทพเจ้าองค์ใหม่ ที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าคอยกดขี่ วนกลับมาให้กลุ่มขั้วอำนาจทั้งสองฝั่งคอยจะล้มล้างกันด้วยตำแนนที่ถูกแต่งเติมด้วยลมปากมนุษย์ จากคำลวงกลายเป็นความเชื่อ ความศรัทธา วนเวียนภายใต้กงล้อชะตากรรมที่เมื่อสืบย้อนกลับไปก็พบว่ามนุษย์เป็นผู้ลิขิตกรอบกฎเองทั้งนั้น และพวกเขาสร้างเทพเจ้าขึ้นมาให้มนุษย์ด้วยกันเองหวาดกลัว