ThaiPublica > เกาะกระแส > “พิชัย” คาดร่างพ.ร.ก.เพิ่มอำนาจก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวนเข้าครม.ใน 2 สัปดาห์

“พิชัย” คาดร่างพ.ร.ก.เพิ่มอำนาจก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวนเข้าครม.ใน 2 สัปดาห์

11 มีนาคม 2025


ที่มาภาพ:https://mof.go.th/th/detail/1543205599/2025-02-13-17-17-03#gallery-18

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการเป็นพนักงานสอบสวน โดยทำสำนวนเองและส่งอัยการ คาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

นายพิชัยกล่าวว่า นอกจากการการผลักดัน กองทุน Thai ESGX เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนแล้ว รัฐบาลจะไปดูว่าบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ว่าควรจะต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ไม่ว่าใน SET 100 หรือ SET 50 ต้องไปดูว่ายังขาดสิ่งไหนและอะไรจะต้องปรับ

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่เขามีอยู่ยังมีพื้นฐานที่ดี เงินทุนก็ยังดีอยู่ เแล้วก็จะมีมาตรการอีกหลายอย่างในการเรียกความเชื่อมั่น” นายพิชัยกล่าว

ในด้านการสร้างความเชื่อมั่นนอกเหนือจากที่ได้แก้ไขข้อได้เปรียบของ นักลงทุนต่างประเทศ ก็จะไปหาแนวทางจัดการกับผู้ที่มาลงทุนและการลงทุนแบบไม่ถูกต้อง แล้วทําให้นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยเกิดความเสียหาย นายพิชัยกล่าวว่า “เราก็กําลังจะออกกฎหมาย จะให้อํานาจ ก.ล.ต. ในการที่จะดําเนินการเรื่องเหล่านั้นโดยเร่งด่วน ซึ่งไม่ใช้ทั้งหมด แต่เฉพาะกรณีที่มีความสําคัญ ต้องเร่งดําเนินการเพราะถ้าไม่ดําเนินการแล้วจะเกิดความเสียหาย ผมคิดว่า พ.ร.ก ฉบับนี้เป็นพ.ร.ก.ที่สําคัญ และอยู่ระหว่างดําเนินการ เราคาดว่าน่าจะสรุปได้เร็วๆนี้เพื่อนําเข้าครม. ให้อนุมัติ เพราะเป็นความจําเป็นที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าต่อไปนี้ถ้าใครลงทุนในหุ้นแล้วไม่เป็นตามสิ่งที่ควรเป็นเนี่ย ควรจะได้รับการจัดการแล้วก็ลงโทษตามบทกฎหมายอย่างรวดเร็ว”

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ขอบเขตตาม พ.ร. ก. ที่จะให้เพิ่มอํานาจให้ก.ล.ต. ส่วนหนึ่งคือ อํานาจในการเป็นพนักงานสอบสวน ในกรณีที่มีผลกระทบ high impact ทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น การอายัดทรัพย์ การดำเนินการในหลายด้านทําได้ชัดเจน ซึ่งคำว่า high impact คือผลกระทบกับวงกว้างและมูลค่าความเสียหาย แต่ในแง่ตัวเลขเป็นอํานาจของคณะกรรมการก.ล.ต. ที่ต้องกำหนด และคำจำกัดความของผลกระทบสูง คณะกรรมการก.ล.ต. ก็ต้องไปประกาศกําหนดภายใต้สิ่งที่ขอความเห็นกับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่(value chain) ของก.ล.ต.ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่การส่งฟ้องยังต้องเป็นอัยการส่งฟ้อง

นางพรอนงค์ ยกตัวอย่างกรณี high impact ว่า เช่น กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

  • ก.ล.ต. กล่าวโทษ STARK-อดีตผู้บริหารรวม 5 รายต่อ DSI กรณีเผยแพร่ข้อความเท็จ
  • ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร STARK ต่อ DSI กรณีตกแต่งงบการเงิน พร้อมส่งเรื่องต่อ ปปง.
  • ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร STARK กับพวก ต่อ DSI กรณีขายหุ้น STARK โดยอาศัยข้อมูลภายใน
  • ก.ล.ต. สั่งการอีกรอบให้ STARK ดำเนินการเพิ่มเติม หลังส่งรายงาน special audit เตือนผู้ถือหุ้นเข้าประชุม
  • ก.ล.ต. สั่งการ STARK ส่งรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ ภายในวันที่ 29 กันยายน 2566
  • นางพรอนงค์กล่าวว่า โดยปกติก.ล.ต.ได้ทํางานร่วมกันอยู่แล้ว แต่ในกรณีที่มีความเสียหายสูง หรือกระทบกับคนหมู่มาก การที่ส่งจากหน่วยงานหนึ่งไปอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็ต้องใช้เวลา จึงหาแนวทางที่ทําให้ความเห็นอยู่ในสํานวนเดียวกัน

    “นี่เป็นจุดมุ่งหมายในการที่อยากจะเห็นการกระชับกระบวนการทํางานให้มีความรวดเร็วขึ้น ได้ผลของการทําหน้าที่ได้เร็วขึ้น ส่วนการอายัดทรัพย์เพื่อไม่ให้ไปยุ่งเหยิงกับพยาน หรือทําให้กระบวนการล่าช้า ทําได้สะดวกมากขึ้น และอยู่ใน พ.ร.ก. ด้วย แต่ไม่ใช่เป็นการอายัดทรัพย์เพื่อไปเฉลี่ยคืน เป็นการอายัดไปก่อน ซึ่งเดิมเราก็เคยมีอํานาจแบบนี้” นางพรอนงค์กล่าว

    นายพิชัยกล่าวเสริมว่า การเพิ่มอำนาจในลักษณะนี้ ก็ถือว่ามากพอ เพราะโดยกฎหมายทั่วไปมีขั้นตอนอยู่แล้ว

    นางพรอนงค์กล่าวว่า ร่างพ.ร.ก.เป็นการดำเนินการที่เร่งด่วน ที่เมื่อทํามาแล้วความเชื่อมั่นน่าจะดีขึ้น แต่ถึงแม้ไม่มีพ.ร.ก. สำนักงานก.ล.ต.ได้ทําเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว แต่พ.ร.ก.จะทําให้มีอํานาจตามกฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น

    นายพิชัยกล่าวเสริมว่า อำนาจตามกฎหมายเร็วขึ้น และป้องกันได้ด้วยบางส่วน