ThaiPublica > เกาะกระแส > ทุกข์ประชาชนปี’67 ร้องเรียน 1.2 แสนครั้ง “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-กระทรวงคลัง” มากสุด

ทุกข์ประชาชนปี’67 ร้องเรียน 1.2 แสนครั้ง “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-กระทรวงคลัง” มากสุด

12 กุมภาพันธ์ 2025


สรุปทุกข์-ข้อคิดเห็นจากประชาชน ปีงบประมาณ 2567 ผ่านช่องทาง 1111 รวม 1.2 แสนครั้ง 5.9 หมื่นเรื่อง – สตช. ขึ้นเบอร์ 1 รับเรื่องร้องทุกข์มากสุด 5.6 พันเรื่อง ตามด้วยกระทรวงการคลัง 2.8 พันเรื่อง และกระทรวงคมนาคม 1.7 พันเรื่อง – ท็อป 5 เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ (1) เสียงรบกวน (2) ไฟฟ้า (3) ทรัพย์สิน (4) โครงการรัฐ และ (5) โทรศัพท์ – เผยแนวทางแก้ปัญหามิจฉาชีพ-คอลเซ็นเตอร์ เพิ่มระบบป้องกัน-ระบบยืนยันตัวตน

11 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมผลการวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน

สปน. รายงานว่า ได้จัดทำสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนที่มีมาถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมผลการวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ดังนี้

ปชช. ร้องทุกข์ 120,853 ครั้ง – 59,471 เรื่อง

สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบสถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 120,853 ครั้ง หรือคิดเป็น 59,471 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ จำนวน 51,208เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 86.11 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 8,263 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 13.89

หน่วยงานที่ได้รับการประสานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้

  • ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (5,683 เรื่อง) กระทรวงการคลัง (2,838 เรื่อง) กระทรวงคมนาคม (1,747 เรื่อง) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (1,695 เรื่อง) และกระทรวงสาธารณสุข (1,343 เรื่อง)
  • รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (572 เรื่อง) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (430 เรื่อง) การประปาส่วนภูมิภาค (329 เรื่อง) การไฟฟ้านครหลวง (281 เรื่อง) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (240 เรื่อง)
  • จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (2,845 เรื่อง) จังหวัดนนทบุรี (809 เรื่อง) จังหวัดสมุทรปราการ (606 เรื่อง) จังหวัดปทุมธานี (595 เรื่อง) และจังหวัดชลบุรี (565 เรื่อง)

ท็อป 10 เรื่องร้องทุกข์สูงสุด

ด้านการประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบสถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 59,471 เรื่องมากกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,072 เรื่อง (มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 57,399 เรื่อง)

ส่วนประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่

  1. เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น เสียงดังจากการเปิดเพลง การแสดงดนตรีสด การรวมกลุ่มดื่มสุรา การรวมกลุ่มแข่งรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาล/งานประจำปีจะมีการร้องเรียนในประเด็นการรวมกลุ่มสังสรรค์ การเปิดเครื่องขยายเสียง การจัดงานวัด การจัดคอนเสิร์ต การจุดพลุและดอกไม้ไฟเพิ่มขึ้น รวม 5,657 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 5,414 เรื่อง (ร้อยละ 95.70)
  2. ไฟฟ้า เช่น ปัญหาการบริการด้านไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลขาดการบำรุงรักษา ประชาชนขอให้แก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ไฟฟ้าตกบ่อยครั้ง ขอขยายเขตไฟฟ้า ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า ขอผันผ่อนการชำระค่าไฟฟ้า รวม 3,011 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2,680 เรื่อง (ร้อยละ 89.01)
  3. ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอความช่วยเหลือเนื่องจากถูกฉ้อโกง ถูกลักทรัพย์ ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนผ่านระบบออนไลน์และแก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกลวงให้ซื้อสินค้า  หลอกลวงให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ หลอกลวงให้โอนเงิน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมาพบว่ายังคงมีจำนวนเรื่องร้องทุกข์ในประเด็นดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเด็ดขาด ประกอบกับกลุ่มมิจฉาชีพมีการปรับเปลี่ยนวิธีการและขยายกลุ่มเป้าหมายในการหลอกลวง รวม 2,806 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2,181 เรื่อง (ร้อยละ 77.73)
  4. นโยบายและโครงการของรัฐ เช่น การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมาเนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (แจกเงิน 10,000 บาท) เช่น การตรวจสอบสิทธิ การลงทะเบียนรับสิทธิ เงื่อนไขการใช้จ่าย รวม 2,164 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2,016 เรื่อง (ร้อยละ 93.16)
  5. โทรศัพท์ เช่น การให้บริการทางโทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรอสายนาน มีการต่อสายไปยังหน่วยงานย่อยภายในหลายครั้ง และคู่สายเต็มทำให้อัตราการร้องเรียนเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อความพึงพอใจของการให้บริการ รวม 2,148 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,956 เรื่อง (ร้อยละ 91.06)
  6. ถนน เช่น ถนนที่มีสภาพทรุดโทรมจากการใช้งานและไม่ได้รับการบำรุงรักษา ขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีตขอให้ซ่อมแซมไฟจราจร ขอให้ตีเส้นจราจรให้ชัดเจน รวม 1,857 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,433 เรื่อง (ร้อยละ 77.17)
  7. น้ำประปา เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลหรือไหลอ่อนขอขยายเขตการให้บริการ ท่อน้ำประปาแตกชำรุด น้ำประปาไม่สะอาด ขุ่นและมีตะกอน ขอผ่อนผันการชำระค่าน้ำประปา รวม 1,836 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,687 เรื่อง (ร้อยละ 91.88)
  8. ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีการถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลขอให้เร่งรัดการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวม 1,796 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,569 เรื่อง (ร้อยละ 87.36)
  9. การนำเข้าและส่งออกสัตว์นอกราชอาณาจักร เช่น ขอให้นำช้างพลายประตูผากับพลายศรีณรงค์ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกากลับสู่ประเทศไทยเป็นประเด็นที่มีกลุ่มมวลชนเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องและประชาชนในกลุ่มสื่อสังคมออนไลน์แจ้งเรื่องเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวม 1,790 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,777 เรื่อง(ร้อยละ99.27)
  10. ยาเสพติด เช่น การแจ้งเบาะแสการลักลอบจำหน่ายและเสพยาเสพติด ขอความช่วยเหลือในการเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนมีความวิตกกังวลต่อปัญหายาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวม 1,420 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,275 เรื่อง (ร้อยละ 89.79)

แนะหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน

ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงานเกี่ยวกับปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ (1) ถนนขาดการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอทำให้เกิดความทรุดโทรมและไม่มีการก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนให้มีสภาพดีเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน (2) ระบบประปาขาดการตรวจสอบคุณภาพน้ำและซ่อมบำรุงระบบท่อประปาที่ชำรุดเสียหายบ่อยครั้ง และ (3) ไฟฟ้าขาดการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการ รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าที่สูง

แนวทางแก้ปัญหา 3 ข้อ ได้แก่ (1) เห็นควรให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดทำแผนบำรุงรักษาถนนอย่างสม่ำเสมอ กำหนดมาตรฐานการก่อสร้างถนนและเร่งดำเนินการซ่อมแซมบริเวณที่เกิดความเสียหายโดยทันที (2) ควรให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาเป็นประจำ ควรพัฒนาให้มีระบบเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีการรั่วไหลเพื่อป้องกันการซ่อมบำรุงที่ล่าช้า และ (3) ควรขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดค่าไฟฟ้าและเพิ่มความมั่นคงควบคู่กับการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ

เสนอบทลงโทษกฎหมายควบคุมเสียง

ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงานเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลพิษทางเสียงยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขาดการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเสียงดังอย่างเข้มงวดประชาชนขาดการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม และหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเข้าดำเนินการกับปัญหาอย่างทันท่วงทีจึงเกิดการร้องเรียนซ้ำ

แนวทางแก้ปัญหาคือ เห็นควรเสนอให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมเสียงดังอย่างเครัดพร้อมกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน สร้างความรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบของเสียงดังต่อสุขภาพและสิทธิของผู้อื่นผ่านสื่อสาธารณะ ควรจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความรับผิดชอบและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีลดเสียงในอาคารและพื้นที่สาธารณะ

เร่งหน่วยงานรัฐพัฒนาระบบป้องกันภัยออนไลน์

ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงานเกี่ยวกับปัญหาสังคมกรณีถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงทรัพย์สิน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการล่อลวงด้วยสถานการณ์เสมือนจริงมีความน่าเชื่อถือ เช่น การส่งลิงก์สิทธิประโยชน์ข้าราชการเกษียณอายุราชการ ลิงก์การต่ออายุประกันอัคคีภัย การปลอมแปลงเสียงคนในครอบครัวเพื่อขอความช่วยเหลือให้โอนเงิน การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในการนำเสนอข้อมูลการลงทุนหรือโฆษณาสินค้าเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและสร้างแรงจูงใจทางอารมณ์ต่อประชาชนหรือผู้บริโภค ทำให้ประชาชนขาดความรอบคอบในการให้ข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับปัจจุบันประชาชนนิยมทำธุรกรรมหรือการซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ปัญหาจึงขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว รวมถึงขาดการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหรือแหล่งที่มาทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

แนวทางแก้ปัญหา 3 ข้อ ได้แก่ (1) เห็นควรให้หน่วยงานภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนจัดทำโครงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล การระมัดระวังกลโกงออนไลน์และวิธีการตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรม (2) เร่งรัดให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบและปราบปราม กลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ เพิ่มงบประมาณและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการติดตามการฉ้อโกงบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และ (3) เห็นควรส่งเสริมการพัฒนาระบบที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมออนไลน์ เช่น ระบบยืนยันตัวตนผ่านหลายขั้นตอน (Two-Factor Authentication: 2FA) และการให้คะแนนความน่าเชื่อถือของผู้ขายในแพลตฟอร์ม e-Commerce รวมทั้งภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายในการเรียกร้องความเป็นธรรม