ThaiPublica > เกาะกระแส > รองปลัด สปน. แจงขั้นตอนทำงาน “ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ 1111” ยันไม่ใช่แค่นายไปรษณีย์ – บางเรื่องช่วยแก้ได้เลย

รองปลัด สปน. แจงขั้นตอนทำงาน “ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ 1111” ยันไม่ใช่แค่นายไปรษณีย์ – บางเรื่องช่วยแก้ได้เลย

29 ธันวาคม 2015


นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

จากกรณีที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้เปิดเผยจำนวนเรื่องราวร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นผ่าน “ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลเพื่อประชาชน” ของรัฐบาล เพื่อขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไข ในปีงบประมาณ 2558 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) ซึ่งพบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1.4 แสนเรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจนได้ข้อยุติ 1.3 แสนเรื่อง คิดเป็น 91% ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 1.3 หมื่นเรื่อง หรือคิดเป็น 9% นั้น

นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวชี้แจงถึงขั้นตอนการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลเพื่อประชาชน ซึ่งอยู่ภายใต้ สปน. ว่า หลังจากศูนย์ฯ ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งจากส่วนกลาง, ส่วนจังหวัดที่มีศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ และส่วนท้องถิ่น ที่ให้ยื่นคำร้องผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาลได้ ก็จะมีการนำคำร้องมาแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. เรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการโดยตรง และ 2. เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการโดยตรง โดยคำร้องยังแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ความเดือดร้อนที่อยากให้แก้ไขปัญหาให้ กับข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ

“หากเป็นคำร้องที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการโดยตรง ก็จะส่งเรื่องให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการ ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอะไรได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องยุติเรื่อง เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ นอกจากนี้ ในบางกรณี ศูนย์ฯ หรือ สปน. อาจทำหน้าที่เป็นผู้แก้ปัญหาให้ อาทิ กรณีหนี้นอกระบบที่บางครั้งมีการเชิญเจ้าหนี้กับลูกหนี้มาเจรจาขอลดดอกเบี้ยให้ ซึ่งมีหลายครั้งที่สามารถตกลงกันได้ แต่จะให้ยกหนี้ให้เลยคงเป็นไปไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่า ศูนย์ฯ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนายไปรษณีย์คอยส่งผ่านเรื่องเพียงอย่างเดียว”

เมื่อถามถามคำร้องเกี่ยวกับ “เหตุเดือดร้อนรำคาญ” ที่เข้ามามากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 ว่าหมายถึงเรื่องอะไร นายจิรชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สบายใจ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเสียงและกลิ่น เช่น ทำเสียงดัง ส่งกลิ่นเหม็น ฯลฯ ซึ่งบางเรื่อง อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเองได้ เมื่อได้คำร้องแบบนี้เข้ามา ศูนย์ฯ ก็จะส่งเรื่องให้ อปท. ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไข

เมื่อถามว่าคำร้องแบบใดที่มักจะแก้ไขปัญหาให้ไม่ได้ นายจิรชัยกล่าวว่า เป็นคำร้องที่มีอุปสรรคด้านข้อกฎหมาย อย่างกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ที่แม้จะเคยมีมติ ครม. ให้ออกเอกสารสิทธิ์กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ แต่ปรากฏว่าพื้นที่ซึ่งประชาชนจะอพยพไปอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งต้องออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนทำให้เป็นพื้นที่ว่างก่อน ประชาชนจึงจะเข้ามาอยู่อาศัยได้ เรื่องพวกนี้มันต้องใช้เวลาในการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่จะสามารถแก้ไขแล้วจบได้ทันที

รองปลัด สปน. ยังเปิดเผยว่า ในอนาคตจะพัฒนาระบบไอทีของศูนย์ฯ เพื่อให้สามารถติดตามเรื่องราวร้องทุกข์ได้ง่ายขึ้นว่าดำเนินการไปถึงขั้นตอนใดแล้ว ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ตนได้รายงานสถิติการแก้ไขปัญหาของประชาชนผ่านศูนย์ฯ นี้ให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่นายกฯ ใส่ใจ และอยากรู้ว่ามีเรื่องราวร้องทุกข์เข้ามาที่ศูนย์ฯ นี้เพียงใด และแก้ไขปัญหาไปได้มากน้อยขนาดไหน