
UNESCO และ WMO ได้เปิดตัวปีสากลแห่งการอนุรักษ์ธารนํ้าแข็งอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินการระดับโลกเพื่อปกป้องนํ้าแข็ง อันเป็นแหล่งนํ้าจืดหล่อเลี้ยงชีวิตประชากรกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ความคิดริเริ่มนี้จะมีการร่วมมือดำเนินงานระดับโลกตลอดปีเพื่อเน้นถึงบทบาทสำคัญของธารนํ้าแข็งและแก้ไขความท้าทายเร่งด่วนจากปัญหาธารนํ้าแข็งที่ละลายอย่างรวดเร็ว
นํ้าจืดทั่วโลกราวร้อยละ 70 ถูกกักเก็บไว้ในธารนํ้าแข็งและแผ่นนํ้าแข็ง ทว่าการก่อตัวของนํ้าแข็งเช่นนี้กำลังลดลงอย่างรวดเร็วจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การปกป้องทรัพยากรสำคัญเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้ปี 2025 เป็นปีสากลแห่งการอนุรักษ์ธารนํ้าแข็งเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาทสำคัญของธารนํ้าแข็ง หิมะ และนํ้าแข็งที่มีต่อระบบภูมิอากาศและวัฏจักรของนํ้า ตลอดจนผลกระทบในวงกว้างที่เกิดจากการละลายของธารนํ้าแข็งอย่างรวดเร็ว
ยูเนสโก(UNESCO) และ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization:WMO) เป็นหน่วยงานหลักที่ประสานงานความพยายามระหว่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศกว่า 75 องค์กร และรัฐบาล 35 ประเทศ WMO จัดกิจกรรมเปิดตัวปีสากลนี้ขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ WMO ณ นครเจนีวาเมื่อวันที่ 21 มกราคม ขณะที่ยูเนสโกจะเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลอง “วันแห่งธารนํ้าแข็งโลก” ครั้งแรก ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส ระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม ในโอกาสนี้ ยูเนสโกจะเผยแพร่รายงานสถานการณ์นํ้าของโลก (World Water Report) โดยเน้นประเด็นธารนํ้าแข็ง พร้อมข้อมูลใหม่ว่าด้วยการหายไปของธารนํ้าแข็งและมาตรการที่นำมาใช้เพื่อรับมือความท้าทายนี้
ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าวว่า “การอนุรักษ์ธารนํ้าแข็งเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งของมนุษยชาติ การก่อตัวของนํ้าแข็งมาแต่โบราณไม่ได้เป็นเพียงแค่นํ้าที่แข็งตัว แต่เป็นผู้พิทักษ์ประวัติศาสตร์ภูมิอากาศของโลก เป็นสิ่งที่คํ้าจุนชีวิตหลายพันล้าน และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหลากวัฒนธรรม การที่ธารนํ้าแข็งหายไปอย่างรวดเร็วคือสัญญาณเตือนว่าเราต้องลงมือแก้ไขในทันที”
เซเลสเต เซาโล เลขาธิการ WMO กล่าวว่า “WMO เพิ่งยืนยันว่า ปี 2024 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์และได้ออกคำเตือนซํ้าแล้วซํ้าเล่าถึงสภาพของภูมิอากาศ รวมถึงการถอยร่นของธารนํ้าแข็ง เมื่อปี 2023 ธารนํ้าแข็งทั่วโลกสูญเสียมวลนํ้าแข็งมากที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลมานาน 50 ปี และเป็นปีที่สองติดต่อกันที่พบว่ามีนํ้าแข็งลดลงในทุกภูมิภาคทั่วโลกที่มีธารนํ้าแข็ง นํ้าแข็งและธารนํ้าแข็งที่ละลายไปเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านทรัพยากรนํ้าในระยะยาวของผู้คนหลายล้าน ปีสากลแห่งการอนุรักษ์ธารนํ้าแข็งต้องเป็นสัญญาณเตือนให้ทั่วโลกตื่นตัวถึงปัญหานี้”
ปีสากลแห่งการอนุรักษ์ธารนํ้าแข็งจะมุ่งเน้นไปที่ 5 ประเด็นสำคัญ:
หอเก็บนํ้าของโลก
ธารนํ้าแข็งเป็นแหล่งนํ้าจืดของประชากรโลกกว่าครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อธารนํ้าแข็งถอยร่นไป ปริมาณและคุณภาพของนํ้าที่ปลายนํ้าก็เปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศทางนํ้าและภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การเกษตรและพลังงานนํ้า นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังอาจเกิดดินถล่ม หิมะถล่ม นํ้าท่วม และภัยแล้ง อีกทั้งยังเป็นภัยคุกคามระยะยาวต่อความมั่นคงด้านแหล่งนํ้าสำหรับประชากรหลายพันล้านคน
ในฐานะแคปซูลกาลเวลาจากโลกในอดีต ธารนํ้าแข็งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าถึงข้อมูลลํ้าค่าเกี่ยวกับรูปแบบของภูมิอากาศในอดีต องค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ และกิจกรรมของมนุษย์ช่วงเวลาหลายพันปี การสูญเสียธารนํ้าแข็งยังหมายถึงการสูญเสียระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นเอกลักษณ์ที่วิวัฒนาการมาในสภาพแวดล้อมเฉพาะเช่นนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชุมชนพื้นเมือง ธารนํ้าแข็งมีความหมายลึกซึ้งทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ และมักถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่สถิตของเทพเจ้า การหายไปของนํ้าแข็งและธารนํ้าแข็งอาจเป็นการสูญเสียโดยไม่อาจย้อนกลับของสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของมรดกทางวัฒนธรรมและการปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่ได้รับการยอมรับจากยูเนสโกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ
ปีสากลแห่งการอนุรักษ์ธารนํ้าแข็ง 2025 จะเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาล สถาบันวิทยาศาสตร์ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและดำเนินยุทธศาสตร์การปรับตัวที่มีประสิทธิภาพ มีเพียงการลงมือร่วมปฏิบัติและการสร้างความตระหนักรู้เท่านั้นที่จะช่วยปกป้องแหล่งทรัพยากรนํ้าแข็งที่สำคัญนี้ให้คงอยู่กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปีสากลแห่งการอนุรักษ์ธารนํ้าแข็งและแนวทางการมีส่วนร่วมได้ที่: www.un-glaciers.org
เรียนรู้เพิ่มเติม
เกี่ยวกับยูเนสโก
องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีประเทศสมาชิก 194 ประเทศ มีส่วนสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงโดยเป็นผู้นำความร่วมมือพหุภาคีด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การสื่อสารและสารสนเทศ ยูเนสโกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส มีสำนักงานสาขาใน 54 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 2,300 คน ยูเนสโกกำกับดูแลแหล่งมรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล และอุทยานธรณีโลกมากกว่า 2,000 แห่ง และกำกับดูแลเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ เมืองแห่งการเรียนรู้ และเมืองแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน นอกจากนี้ ยังกำกับดูแลโรงเรียนภายใต้โครงการการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ เครือข่าย UNESCO Chair ในมหาวิทยาลัย และสถาบันฝึกอบรมและวิจัย รวมกว่า 13,000 แห่ง ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกคือ ออเดรย์ อาซูเลย์
“สงครามเริ่มที่จิตใจของมนุษย์ฉันใด ความหวงแหนสันติภาพก็ต้องสร้างที่จิตใจของมนุษย์ฉันนั้น” – ธรรมนูญยูเนสโก พ.ศ. 2488
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.unesco.org
เกี่ยวกับ WMO
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติว่าด้วยสภาพบรรยากาศโลก รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศกับพื้นดินและมหาสมุทร ตลอดจนสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และการกระจายตัวของทรัพยากรนํ้าอันเป็นผลตามมา WMO เป็นผู้วางกรอบความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่าง 193 ประเทศสมาชิกและดินแดน โดยตระหนักว่าสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และวัฏจักรของนํ้าไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพรมแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง
“ภายในปี 2030 เราหวังจะได้เห็นว่าทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศที่เปราะบางที่สุด มีความสามารถดียิ่งขึ้นในการรับมือกับผลทางเศรษฐกิจและสังคมอันเกิดจากสภาพอากาศ ภูมิอากาศ นํ้า และปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่รุนแรง พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านบริการที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ ทั้งบนบก ในทะเล และในอากาศ” — วิสัยทัศน์ของ WMO
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.wmo.in