
สรรพากรลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 10% เป็นเวลา 10 ปี กระตุ้นการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางกรมสรรพากรได้ออกแถลงข่าวมีรายละเอียดดังนี้
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) อย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนใน SEZ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมาตรการใหม่นี้เป็นการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิให้กับบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ประกอบกิจการเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษกำหนด ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ ที่ใด สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ รายได้ที่เกิดจากการให้บริการ และมีการใช้บริการนั้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
“มาตรการนี้จะทำให้การผลิตสินค้า การให้บริการ และการจ้างงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้การผลิตสินค้าและการให้บริการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลัก และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายปิ่นสาย กล่าว
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
1. ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลืออัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ให้กับ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษกำหนด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ ที่ใด สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ รายได้ที่เกิดจากการให้บริการ และมีการใช้บริการนั้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2. บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามข้อ 1. หากจดทะเบียนจัดตั้งนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สถานประกอบกิจการที่ตั้งขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องเป็นอาคารถาวร แต่ถ้าจดทะเบียนก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สถานประกอบกิจการที่ตั้งขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องเป็นอาคารถาวรที่ขยาย หรือ เพิ่มเติมจากสถานประกอบกิจการเดิมที่มีอยู่
3. บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ตาม ข้อ 1. จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
-
3.1 ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3.2 ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
3.3 ต้องไม่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 583) พ.ศ. 2558 หรือ สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 564) พ.ศ. 2556
3.4 ต้องไม่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 591) พ.ศ. 2558 หรือ มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 693) พ.ศ. 2563
3.5 ต้องจัดทำบัญชีแยกรายการ สำหรับกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
3.6 ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ตามข้อ 1.
4. การนับรอบระยะเวลาบัญชีตามข้อ 1. ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้
-
4.1 กรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มใน หรือ หลังวันที่ได้จดแจ้งขอใช้สิทธิต่อกรมสรรพากร ตามข้อ 3.1 ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก
4.2 กรณีที่มีการจดแจ้งขอใช้สิทธิต่อกรมสรรพากรตามข้อ 3.1 ระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่าจะมีระยะเวลาน้อยกว่า 12 เดือนก็ตาม
5. ในกรณีที่บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ขาดคุณสมบัติข้อหนึ่ง ข้อใดในข้อ 3. ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้การได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้น
ประโยชน์และผลกระทบ
-
1. การลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ การผลิตสินค้า การให้บริการ และการจ้างงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพิ่มขึ้นด้วย
2. การผลิตสินค้า และการให้บริการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักและประเทศเพื่อนบ้าน
3. ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในอาเซียน
อนึ่ง ปัจจุบันมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง ในพื้นที่ชายแดน ได้แก่ จังหวัดตาก , มุกดาหาร , สระแก้ว , สงขลา , ตราด , หนองคาย , นราธิวาส , เชียงราย , นครพนม และกาญจนบุรี หากมีข้อสงสัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
อ่าน แถลงข่าวมาตรการภาษีส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่นี่