ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > คลังเร่งคลอด กม.ลูก7ฉบับ รับภาษีมรดก ดีเดย์ 1 ก.พ. 59 พ่อ-แม่-ลูกรับเกิน 100 ล้านจ่าย 5% ผ่อนได้ 5 ปี – 2 ปีแรกไม่มีดอกเบี้ย – เกิน 2 ปี เสีย 0.5%/เดือน

คลังเร่งคลอด กม.ลูก7ฉบับ รับภาษีมรดก ดีเดย์ 1 ก.พ. 59 พ่อ-แม่-ลูกรับเกิน 100 ล้านจ่าย 5% ผ่อนได้ 5 ปี – 2 ปีแรกไม่มีดอกเบี้ย – เกิน 2 ปี เสีย 0.5%/เดือน

13 มกราคม 2016


หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 มกราคม 2559 มีมติรับทราบกฎหมายลูก 7 ฉบับ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีรับมรดก 2558 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) 2558 โดยให้กรมสรรพากรเริ่มจัดเก็บภาษีกับผู้ที่รับมรดกเกินกว่า 100 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กฎหมายลำดับรองออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีรับมรดก และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแจ้งจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดกมีทั้งหมด 7 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จำนวน 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 6 ฉบับ มีรายละเอียดดังนี้

1. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ให้แจ้งการจดทะเบียนนั้นต่อกรมสรรพากร ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการรับชำระและนำส่งภาษีอากรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ 2542 มีดังนี้

1.1 ระยะเวลาในการจัดส่ง

– สำหรับการจดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 ให้แจ้งภายในวันที่ 20 ของเดือนเดียวกัน

– สำหรับการจดทะเบียนระหว่างวันที่ 16 ถึงวันสิ้นเดือน ให้แจ้งภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

1.2 วิธีการนำส่ง

– กรณีมีการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร ให้นำส่งต่อกรมสรรพากร สำนักงานใหญ่

– กรณีมีการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในต่างจังหวัด ให้นำส่งต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่แต่ละจังหวัด

2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก 2558 ว่าด้วยการกำหนดประเภทบุคคล หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตรวจสอบติดตามบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก 2558 มีรายละเอียด ดังนี้

2.1 บุคคลที่ได้รับยกเว้น ได้แก่

– บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

– ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะ

– วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิหรือสมาคมตามประกาศกระทรวงการคลังฯ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

– บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล บุคคล ในคณะทูต บุคคลในคณะกงสุล และบุคคลที่ถือว่าอยู่ในคณะทูตตามความตกลง ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติกับนานาประเทศ

2.2 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจสอบติดตามการรับมรดกของมูลนิธิหรือสมาคม มีดังนี้

– ให้นำส่งเอกสาร ได้แก่ สำเนาพินัยกรรม เอกสารเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินอันเป็นมรดก ตามพินัยกรรม หนังสือแจ้งผลการประกาศให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ข้อบังคับ รายงานการประชุมใหญ่ งบดุล บัญชีรายได้รายจ่าย ฯลฯ ต่อกรมสรรพากร

– ให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารหลักฐาน รายงานประชุมงบดุล และบัญชีรายได้รายจ่าย และรายงานการดำเนินงานของมูลนิธิหรือสมาคมว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดกหรือไม่ มีการดำเนินงานในลักษณะเป็นทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ หรือมีการหาประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่

– กรณีตรวจสอบพบความไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่มีเหตุอันควร หรือมีการดำเนินงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดก ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง มีการดำเนินงานในลักษณะเป็นทางการค้าหรือหากำไร หรือเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว มูลนิธิหรือสมาคมต้องรับผิดในการเสียภาษีการรับมรดก พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

3. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความใน พ.ร.บภาษีการรับมรดก 2558 ว่าด้วยการกำหนดทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 14 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก 2558 กำหนดให้ทรัพย์สินดังต่อไปนี้เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

– อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

– หลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

– เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืน หรือ สิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย

– ยานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศไทย

4. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก 2558 ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การหักภาระที่ถูกรอนสิทธิในการคำนวณมูลค่ามรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 15(1) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มีรายละเอียด ดังนี้

4.1 ภาระที่ถูกรอนสิทธิ หมายความว่า ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ที่ตกติดมากับอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก รวมถึงสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีการชำระค่าตอบแทนเป็นการล่วงหน้าตลอดระยะเวลาของการเช่า ที่ตกติดมากับอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นมรดกที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก

4.2 ค่าตอบแทน หมายความว่า เงินที่ได้รับล่วงหน้า เพื่อเป็นการตอบแทนจากภาระที่ถูกรอนสิทธิตลอดระยะเวลาของภาระ

– กรณีที่เจ้ามรดกมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากภาระที่ถูกรอนสิทธิ ให้คำนวณมูลค่าภาระที่ถูกรอนสิทธิจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับมรดก คูณด้วยอัตราส่วนลดตามจำนวนปีที่ผู้ได้รับมรดกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้นนับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก

– กรณีที่เจ้ามรดกได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากภาระที่ถูกรอนสิทธิ ให้คำนวณมูลค่าภาระที่ถูกรอนสิทธิ โดยนำค่าตอบแทนที่พึงคำนวณได้คูณด้วยอัตราส่วนลดตามที่กำหนด ทั้งนี้ ค่าตอบแทนที่พึงคำนวณได้ หมายถึง ค่าตอบแทนเฉลี่ยเป็นรายปีตามกำหนดเวลาที่ถูกรอนสิทธิ คูณระยะเวลาที่ผู้ได้รับมรดกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้น นับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก

ทั้งนี้ อัตราส่วนลดตามจำนวนปีที่ผู้ได้รับมรดกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์คำนวณจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) ของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกรอนสิทธินั้น

5. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ว่าด้วยการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สิน ตามมาตรา 15 (3) แห่ง พ.ร.บ.การรับมรดก 2558 มีรายละเอียด ดังนี้

5.1 การคำนวณมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ ให้ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก

5.2 การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือตามราคาหรือมูลค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับมรดก เว้นแต่

5.2.1 หุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น

5.2.2 ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ให้ใช้ราคาที่จำหน่ายในครั้งแรกหรือราคาไถ่ถอน แล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า

5.3 การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน ให้ถือเอาราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก

5.4 การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ ให้ถือเอาตามมูลค่าในวันที่ได้รับมรดกนั้น

6. ร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก 2558 ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. …. ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก 2558 มีรายละเอียดดังนี้

6.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลา สามารถยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี

6.2 ผู้ขอผ่อนชำระยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมกำหนดวิธีการผ่อนชำระภาษี โดยการกำหนดจำนวนปี จำนวนงวด และจำนวนเงินที่จะต้องชำระในแต่ละงวด

6.3 ผู้ขอผ่อนชำระต้องจัดหาหลักประกันที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาษีที่ต้องชำระ ภายใน 30 วันนับแต่วันยื่นคำร้อง

6.4 กรณีผ่อนชำระภาษีภายใน 2 ปี ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม กรณีผ่อนชำระภาษีเกินกว่า 2 ปี ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่การขอผ่อนชำระมีผลบังคับ หากผู้ผ่อนชำระภาษีนำเงินมาชำระภาษีครบถ้วนภายใน 2 ปี ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและให้นำเงินเพิ่มที่ชำระแล้วมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระ

6.5 กรณีผิดนัดไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่ง จะหมดสิทธิการผ่อนชำระภาษี และต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่พร้อมกับเงินเพิ่ม

7. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) 2558 บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

8. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเลิกการยกเว้นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนโดยไม่มีค่าตอบแทน บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมตาม (18) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

นายกฤษฎากล่าวต่อว่า หลังจากที่ประชุม ครม. วันที่ 12 มกราคม 2559 มีมติรับทราบร่างกฎหมายลูกทั้ง 7 ฉบับตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ ล่าสุดอยู่ระหว่างการตรวจทานถ้อยคำของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ได้รับมรดกประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์, หลักทรัพย์, เงินฝาก, ยานพาหนะ, ตราสารทางการเงิน รวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท กรณีเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ใช่บุพการี หรือไม่ใช่ผู้สืบสันดาน ให้เสียภาษีอัตรา 10% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท โดยผู้รับมรดกต้องเสียภาษีนับจากวันที่รับมรดก แต่ไม่เกิน 150 วัน โดยกรมสรรพากรจะเปิดให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเลือกผ่อนชำระภาษีได้ไม่เกิน 5 ปี กรณีผู้เสียภาษีเลือกผ่อนชำระภายใน 2 ปี ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มรายเดือน (ดอกเบี้ย) แต่ถ้าเลือกผ่อนชำระเกิน 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ต้องจ่ายเงินเพิ่มรายเดือนอีก 0.5% ของยอดภาษีที่ค้างชำระ

ภาษีมรดกppt.pdf by thaipublica