1721955
‘ผลงานเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราถูกรูปภาพบิดเบือน
ผลงานเหล่านี้เกี่ยวกับตำรวจและการบังคับใช้กฎหมาย
ผลงานเหล่านี้เกี่ยวกับระบบราชการ
ผลงานเหล่านี้เกี่ยวกับพรมแดน
ผลงานเหล่านี้เกี่ยวกับขอบเขต
ผลงานเหล่านี้เกี่ยวกับการละเมิด
ผลงานเหล่านี้เกี่ยวกับความรีบเร่ง
ผลงานเหล่านี้เกี่ยวกับภาพที่หล่อหลอมเรา
ผลงานเหล่านี้เกี่ยวกับภาพที่ทำร้ายเรา
ผลงานเหล่านี้คือการบิดเบือน’
ประโยคเหล่านี้ปรากฏขึ้นทักทายเราทันทีที่คลิกเข้าไปในเว็บไซต์ของศิลปินหญิงชาวฟลอริดารายนี้ โนเอล เมสัน (Noelle Mason) ด้วยผลงานล่าสุดของเธอที่น่าจะทัชใจและสั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้ชมมากที่สุดเท่าที่เธอเคยทำมา ผลงานซีรีส์นี้มีชื่อว่า X-Ray Vision vs. Invisibility อันเป็นการปะทะสังสรรค์กันระหว่าง ภาพเอ็กซ์เรย์ กับ สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งเคยคว้ารางวัลชนะเลิศมาจากเวที Lens Culture Art Awards เมื่อปี 2019 ด้วยคำประกาศจากคณะกรรมการว่า
“ซีรีส์ภาพชุดนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของการอพยพย้ายถิ่นฐาน และการทำให้ผู้คนซึ่งมักถูกดูหมิ่นดูแคลนกลายเป็นมนุษย์มากขึ้น ผลงานของ เมสัน ใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการถ่ายภาพ และเปิดตาเปิดใจผู้ชมให้มองเห็นความเป็นจริง”
ถ้าจะให้เราอธิบายแบบย่นย่อเข้าใจง่าย ผลงานของเธอชุดนี้เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายด้วยการทำให้ภาพเอ็กซ์เรย์ดิจิทัลกลายเป็นแบบอนาล็อก ที่เปลี่ยนสื่อกลางในการนำเสนอผลงานด้วยภาพจากล้องดิจิทัลไปสู่ภาพพิมพ์เขียวไซยาโนไทป์ อันเป็นกระบวนการที่ยิ่งเพิ่มความรู้สึกอย่างแสนสาหัสต่อสายตาผู้ชม
“การเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอ หรือการเปลี่ยนสื่อที่ใช้ในการนำเสนอ สามารถพลิกบทบาทและทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ผู้รับสารมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น..ฉัน.สนใจว่าเรากับภาพนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร และสื่อที่ใช้ในการถ่ายทอดภาพนั้นส่งผลต่อภาพอย่างไร” เมสันอธิบาย
[FYI ไซยาโนไทป์ มาจากภาษากรีกโบราณแปลว่าภาพประทับ (týpos) ด้วยสีน้ำเงิน (kyáneos) อันเป็นการพิมพ์ภาพถ่ายที่ใช้ปฏิกิริยาแบบช้าที่มีความไวต่อสเปกตรัมแสงสีน้ำเงิน ในช่วง 300-400 นาโนเมตร ที่รู้จักกันในชื่อ UVA เพื่อผลิตเป็นภาพสีน้ำเงินในรูปแบบพิมพ์เขียว (Blueprint ในอดีตเคยใช้เป็นภาพสำหรับแปลนบ้าน) ด้วยการใช้สารเคมีสองชนิด คือ เฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเตรต หรือ เฟอร์ริกแอมโมเนียมออกซาเลต และโพแทสเซียมเฟอร์ริไซยาไนด์ เกิดขึ้นในปี 1842 และปัจจุบันถูกพัฒนามาใช้ในงานศิลปะ]เมสันเสริมว่า “ฉันใช้กระบวนการประดิษฐ์เพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่โลกดิจิทัลทำกับเราในฐานะมนุษย์ ในบางแง่ มันทำให้เราเป็นเสมือนดวงตาขนาดใหญ่ ฉันสนใจที่จะเชื่อมโยงส่วนอื่น ๆ ของร่างกายและประสาทสัมผัสของเรา นอกเหนือไปจากดวงตา เพื่อพิจารณาว่าเราจะใช้สิ่งเหล่านี้ในการเข้าถึงภาพได้อย่างไร”
‘โครงการซีรีส์ภาพ X-Ray Vision vs. Invisibility เป็นผลงานเกี่ยวกับผลเชิงปรากฏการณ์ของเทคโนโลยีการมองเห็นที่มีต่อการรับรู้ของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตน(ไร้ตัวตน) ภาพที่ใช้ในซีรีส์นี้รวบรวมมาจากหน่วยตรวจลาดตะเวนชายแดนสหรัฐอเมริกา และเว็บไซต์เฝ้าระวังชายแดน โปรเจ็กต์นี้แก้ไขภาพที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีการมองเห็นด้วยเครื่องจักรที่ใช้ในการตรวจสอบตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ
การเปลี่ยนแปลงสื่อและการแปลความจากสื่อดิจิทัลสู่อนาล็อกนี้เน้นให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในสื่อสามารถกระตุ้นความสัมพันธ์ทางอารมณ์ใหม่กับภาพนี้ได้อย่างไร และตั้งคำถามถึงวิธีการที่สื่อที่ใช้ในการเฝ้าระวังทำหน้าที่ในการทำให้วัตถุในภาพด้วยเครื่องจักรดิจิทัลดูไร้มนุษยธรรมและปราศจากความเป็นมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงในสื่อนี้ยังเผยให้เห็นว่าเทคโนโลยีการมองเห็นแบบใหม่นำโหมดการมองภาพที่ดิน และร่างกายมาผลิตซ้ำ และด้วยการกระทำเช่นนี้ จะทำให้โลกทัศน์แบบนีโอโคโลเนียลถูกมองเห็นได้กระจ่างชัดเจนขึ้น’
แล้วแม้ว่าโครงงานนี้ของเธอจะเริ่มต้นจากภาพไซยาโนไทป์ที่เธอทำมาตั้งแต่ปี 2019 กระทั่งล่าสุดในปี 2024 นี้ ตัวโครงการถูกพัฒนาไปอีกหลายสื่อมากมาย อาทิ
‘ภาพถ่ายควบคุมภาคพื้นดินทางอากาศถูกถ่ายโอนมาเป็นผ้าทอขนสัตว์ ให้เห็นภูมิทัศน์ผ่านดาวเทียมบริเวณชายแดนสหรัฐ/เม็กซิโก สถานที่เกิดความขัดแย้งมาโดยตลอดตั้งแต่ในอดีตมาจนปัจจุบัน เปลี่ยนผ่านจากภาพที่ถูกสร้างขึ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปสู่การปักถักยึดโยงแสดงโครงข่ายโดยรัฐบาลสหรัฐ ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจตรวจจับจากระยะไกลของผิวโลก ผ้าทอเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นที่กัวดาลาฮารา แถบชายแดนเม็กซิโก ด้วยการทอผ้าแบบโกเบลิน อันเป็นงานฝีมือในสมัยศตวรรษที่ 1500 ที่ถูกทำขึ้นเพื่อถวายราชวงศ์ฝรั่งเศส เป็นการคัดลอกภาพที่ผลิตขึ้นได้ด้วยมือเท่านั้น โดยแรงงานท้องถิ่นเม็กซิโก
เพื่อเล่าประวัติศาสตร์การควบคุมภาคพื้นดินด้วยจุดตัดระหว่างเทคโนโลยีการเฝ้าระวังแบบดิจิทัลกับประวัติศาสตร์แห่งระบบทุนนิยมโลก เช่นเดียวกับแสดงให้เห็นความปรารถนาของมนุษย์เราภายในภาพ ซึ่งทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนโคงการอาณานิคมต่าง ๆ เป็นการแสดงให้เห็นความขัดแย้งที่ภาพต้นฉบับซุกซ่อนเอาไว้ ไปสู่ภาพนามธรรมเย้ายวนใจที่ฉายชัดให้เห็นความรุนแรงที่เป็นหลักฐานยืนยันถึงของเขตระหว่างสถาบันทางวัฒนธรรมการเมืองของอำนาจกับทัศนวิสัยแบบพาโนรามาของโลกในยุคที่เรียกตนเองว่า “เรืองปัญญา”’ เมสันอธิบาย
เธออธิบายผลงานอีกชุดในโครงการนี้ของเธอว่า “นี่คือการถ่ายภาพแบบกระจกเปียก (wet-plate collodion ถูกคิดค้นในปี 1851ด้วยการเคลือบแผ่นกระจกหรือโลหะด้วยสารคอลโลเดียน หรือสารอื่น เช่น ซิลเวอร์ไนเตรตเพื่อทำให้เกิดความไวต่อแสง) ฉันใช้ภาพต้นฉบับของภาพตรวจจับด้วยกล้องอินฟาเรดที่ใช้กับผู้อพยพข้ามพรมแดน แปลถ่ายโอนจากดิจิทัลสู่กระบวนการถ่ายภาพแบบศตวรรษ์ที่ 19 เพื่อเปิดเผยมุมมองของโลกแบบอาณานิคมที่ฝังรากลึกในระบบการถ่ายภาพดิจิทัลในปัจจุบันที่แนวคิดทำนองนี้มีมาอย่างยาวนาน การถ่ายโอนนี้ได้กลายให้วัตถุที่มีลักษณะเฉพาะคล้ายกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่นิยมกันสมัยขยายอาณานิคมของสหรัฐในยุคบุกเบิกตะวันตก เมื่อทำเช่นนี้แล้ว เราจะได้พบว่าผู้ลี้ภัยในปัจจุบันกลายเป็นภาพสะท้อนแนวคิดแบบอเมริกันชนที่มีมาทุกยุคทุกสมัย”
“ชุดต่อมาฉันใช้เทคนิคปักผ้าฝ้ายที่เรียกว่า Quilting Point แบบ x-stitcheries เพื่อแสดงภาพอินฟาเรด และภาพเอ็กซ์เรย์ของผู้อพยพ ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นพิกเซลของภาพต้นฉบับเพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการปักผ้าด้วยมือ เพื่อพาดพิงถึงวิธีการที่สังคมกำหนด หรือ “ปัก” อัตลักษณ์แห่งเชื้อชาติผ่านความสัมพันธ์กับความแตกต่างหลากหลาย ให้ได้ภาพเดียวกันบนสือที่ต่างออกไป จากภาพเดิมที่ใช้กระบวนการเฝ้าระวังของรัฐ ไปผลิตซ้ำด้วยงานหัตถกรรมพื้นบ้านสมัยกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ด้านสุนทรียะของภาพ ขณะเดียวกันก็สร้างความเชื่อมโยงระหว่างบ้าน และบ้านเกิด กับวิธีที่ความวิตกกังวลของอเมริกันชนอย่างเรา เพื่อสะท้อนแนวคิดเรื่อง “บ้าน” สิ่งเหล่านี้ถูกใช้เพื่อพิสูจน์กลไกความรุนแรงที่รัฐสร้างขึ้นเพื่อ “รักษาความปลอดภัย” ภายในดินแดนที่ถือว่าเป็น “ถิ่นกำเนิด””
“ผู้อพยพ” กลุ่มคนที่มักจะถูกละเลย มองข้าม และพรากความเป็นมนุษย์ไป ในที่นี้ภาพของ เมสัน จึงเสมือนการทำให้ความเป็นมนุษย์ของผู้อพยพเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ปรากฏให้เห็นต่อหน้าต่อตาเราเท่านั้น แต่เป็นการไถ่คืนความเป็นมนุษย์ของพวกเขากลับคืนมาด้วย
เมสันไม่เพียงแต่เปิดตาผู้ชมให้ได้เห็นในสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เปิดใจให้รับรู้เรื่องราวภายในด้วยภาพเพียงชอตเดียว ภาพเหล่านี้เปิดตาเราให้เห็นลึกลงไปในความจริง เสมือนเธอกำลังถือกระจกเงาส่องไปดูปัญหาอันสลับซับซ้อน แล้วสะท้อนกลับมาให้เรารับทราบด้วยวิธีการอันลุ่มลึก
ปัจจุบันเธอยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการซีรีส์ภาพชุดนี้ต่อไปด้วยเหตุผลว่า “ผลงานของฉันจะยังไม่เสร็จจนกว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข”