
ฮอนด้าและนิสสันกำลังหารือถึงความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการ ซึ่งอาจเป็นการรวมตัวกันของยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น 2 รายที่ประสบกับสภาวะการณ์ที่ยากลำบาก
ทั้งสองบริษัท ระบุใน แถลงการณ์ว่า สองฝ่ายอยู่ในระหว่างการเจรจา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดหรือกรอบเวลาว่าข้อตกลงจะเสร็จสิ้นลงเมื่อไร และยังไม่ชัดเจนว่าการร่วมทุนที่เป็นไปได้จะมีรูปร่างในรูปแบบใด
“ตามประกาศในเดือนมีนาคม ฮอนด้าและนิสสันกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในทุกด้าน สำหรับการทำงานร่วมกันในอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของกันและกัน” บริษัททั้งสองกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร “หากมีความคืบหน้าใด ๆ เราจะแจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราทราบในเวลาที่เหมาะสม”
เมื่อวันอังคาร สำนักข่าว Nikkei เป็นสื่อรายแรกที่รายงานเกี่ยวกับการเจรจาควบรวมกิจการของ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ และ บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์
ในเดือนมีนาคม ฮอนด้าและนิสสันประกาศว่า ทั้งสองบริษัทจะร่วมเป็นพันธมิตรด้านรถยนต์ไฟฟ้า และในเดือนสิงหาคมกล่าวว่าจะร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ แต่ทั้งสอบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งคู่เผชิญกับความท้าทายในปีนี้
ทั้งสองบริษัท เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ที่ไม่ใช่บริษัทจีน ต้องดิ้นรนในตลาดจีนที่ครั้งหนึ่งเคยมีแนวโน้มสดใส จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้บริโภคชาวจีนเดิมพากันนิยมแบรนด์ต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาใช้แบรนด์ในประเทศ ที่ได้รับการมองว่าคุ้มค่ากว่า รัฐบาลจีนยังได้ให้สิทธิประโยชน์จูงใจเพื่อช่วยเร่งให้ลูกค้าหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle)

แม้ว่าทั้งสองบริษัทจะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอิน โดยเฉพาะ นิสสัน ที่เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยี EV แต่แบรนด์จีนอย่าง BYD ก็ได้บดบังเทคโนโลยีของรถทั้งสองแบบและมีราคาถูกกว่า
นิสสันเองก็ประสบปัญหาเช่นกันนับตั้งแต่คาร์ลอส กอส์น อดีตซีอีโอของบริษัท กลายเป็นผู้ลี้ภัย โดยหนีจากญี่ปุ่นไปยังเลบานอน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา กอส์นถูกจับกุมที่โตเกียวเมื่อปี 2561 ฐานต้องสงสัยประพฤติมิชอบทางการเงิน และนิสสันได้ไล่เขาออก กอส์นปฏิเสธข้อกล่าวหาครั้งแล้วครั้งเล่า
การไล่กอส์นออก ได้เขย่าพันธมิตรด้านการผลิตรถยนต์อันทรงพลังระหว่างนิสสัน เรโนลต์ และมิตซูบิชิ เรโนลต์เคยเป็นหุ้นส่วนด้านการผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในนิสสันลงอย่างมาก ส่งผลให้นิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอ่อนแอลง
นิสสันกล่าวว่ารายได้จากการดำเนินงานระหว่างเดือนมีนาคมถึงกันยายนลดลง 90% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ในขณะเดียวกันฮอนด้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านิสสันประมาณ 5 เท่าก็เผชิญกับความท้าทายเช่นกัน บริษัทประกาศแผนการขายเฉพาะรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในตลาดหลักๆ ภายในปี 2583 แต่การเปลี่ยนผ่านคืบหน้าช้า เนื่องจากราคาน้ำมันที่ค่อนข้างต่ำ โครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จไม่เพียงพอ และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นได้ฉุดความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาและยุโรปให้ลดลง
ด้านสำนักข่าว Kyodonews รายงานวันพุธ โดยอ้างแหล่งข่าว ว่า บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ และบริษัท นิสสัน มอเตอร์ กำลังจัดเตรียมการเจรจาเกี่ยวกับการควบรวมกิจการซึ่งจะสร้างกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลกเมื่อพิจารณาจากปริมาณ ท่ามกลางการแข่งขันระดับโลกที่ดุเดือดในด้านรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งคู่แข่งจากต่างประเทศครองตลาด
ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองและสามของญี่ปุ่นกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง แหล่งข่าวกล่าว เพื่อสร้างพันธมิตรด้านรถยนต์เพื่อท้าทายบริษัท Tesla Inc. ของสหรัฐอเมริกา และผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน เช่น BYD Co.
ฮอนด้า นิสสัน และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ป ซึ่งเป็นพันธมิตรกับนิสสัน ระบุในแถลงการณ์ว่า ทั้งสามบริษัทกำลัง “พิจารณาความเป็นไปได้ในหลายด้าน สำหรับการทำงานร่วมกันในอนาคต แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ”
การควบรวมกิจการจะสร้างพันธมิตรที่เป็นคู่แข่งยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม อย่าง โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และโฟล์คสวาเกน เอจี ด้วยยอดขายรวมกันสูงถึงประมาณ 8 ล้านคัน หากรวมยอดขายของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปด้วย
ฮอนด้าและนิสสันตกลงกันในเดือนมีนาคมที่จะเริ่มการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ เพื่อลดต้นทุนและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์สจะเข้าร่วมการเจรจาในเดือนสิงหาคม
ในงานแถลงข่าวเมื่อเดือนสิงหาคม ประธานฮอนด้า โทชิฮิโระ มิเบะ กล่าวว่า การเจรจาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรวมทุน แม้ว่าไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในอนาคตก็ตาม

ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกกำลังดิ้นรนเพื่อหาเงินทุนให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นสำหรับการพัฒนา EV เนื่องจากแบตเตอรี่มีราคาแพง และต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น ฟังก์ชันการขับขี่แบบอัตโนมัติ
ฮอนด้า ซึ่งแต่เดิมมักนิยมพัฒนารถยนต์จากภายในบริษัท ได้เพิ่มความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ เช่น โซนี่ กรุ๊ป คอร์ป และ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นิสสัน ซึ่งตกลงที่จะทบทวนการเป็นพันธมิตรด้านทุนที่มีมานานหลายทศวรรษกับเรโนลต์ เอสเอ เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้ข้อตกลงที่จะลดบทบาทของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสต่อบริษัท ก็ได้ศึกษาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ฮอนด้าและนิสสันกำลังเผชิญกับยอดขายที่ตกต่ำในจีน ซึ่งแบรนด์ท้องถิ่นที่นำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่แพง กำลังแย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น
เมื่อเดือนที่แล้ว ฮอนด้าได้ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิสำหรับปีธุรกิจปัจจุบันจนถึงเดือนมีนาคมเป็น 950 พันล้านเยน (6.2 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งลดลง 14.2% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ต่ำกว่าที่คาดในจีน
นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน นิสสันยังเปิดเผยแผนการลดพนักงาน 9,000 ตำแหน่ง และลดกำลังการผลิตทั่วโลกลง 20% โดยกล่าวว่าธุรกิจของบริษัทในสหรัฐอเมริกาและจีนยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2566 ฮอนด้าและนิสสันมียอดขาย 3.98 ล้านคันและ 3.37 ล้านคันทั่วโลกตามลำดับ
กลุ่มโตโยต้าขายรถยนต์ได้ 11.23 ล้านคันในปีเดียวกัน โดยรักษาตำแหน่งสูงสุดเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ตามมาด้วยโฟล์คสวาเกน ด้วยยอดขาย 9.24 ล้านคัน
หลังจากมีรายงานของสื่อเกี่ยวกับการเจรจาควบรวมกิจการที่อาจเกิดขึ้น การซื้อขายหุ้นนิสสันถูกระงับชั่วคราวโดยตลาดหลักทรัพย์โตเกียวก่อนเปิดการซื้อขายในเช้าวันพุธ แต่กลับมาซื้อขายหลังจากที่ทั้สองบริษัท ออกแถลงการณ์ชี้แจง