ThaiPublica > Native Ad > เส้นทางความยั่งยืน “EGCO Group” ดำเนินธุรกิจไฟฟ้า คู่ขนานการดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ

เส้นทางความยั่งยืน “EGCO Group” ดำเนินธุรกิจไฟฟ้า คู่ขนานการดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ

12 ธันวาคม 2024


บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “EGCO Group” ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายแรกของประเทศไทย ที่มีอายุกว่า 32 ปี กับการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบ ESG (Environment, Social, Governance) โดยตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำอย่างชัดเจน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

  • ระยะสั้น ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เน้นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% (ปัจจุบันอยู่ที่ 21% ของ Portfolio) จากการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักใน Portfolio ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพ เช่น เทคโนโลยี CCUS (Carbon Capture, Utilization and Storage – CCUS) และไฮโดรเจน
  • ระยะกลาง ภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) มุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะไฮโดรเจน และขยายการใช้เทคโนโลยี CCUS ในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เป็นต้น
  • ระยะยาว ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ด้วยการใช้เชื้อเพลิงสะอาดให้ได้ 100% และใช้เทคโนโลยี CCUS ในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ครบทั้ง 100% ตลอดจนขยายธุรกิจไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  • ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 EGCO Group มีโรงไฟฟ้าทั้งหมดกว่า 40 แห่ง (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ทั้งประเภทเชื้อเพลิงหลักและพลังงานหมุนเวียน รวมกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้นกว่า 7,000 เมกะวัตต์ และมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง 11 แห่ง ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

    การดำเนินธุรกิจหรือลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ของ EGCO Group อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม” กล่าวคือกรอบการดำเนินงานต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ และ ‘การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและสังคม’ รวมอยู่ด้วย

    ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของ EGCO Group ไม่ได้คำนึงถึงผลประกอบการทางการเงินเท่านั้น แต่ยังใส่ใจต่อการธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม ครอบคลุมทั้งการมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า

    “APEX – Yunlin” ตัวเร่งสัดส่วน “พลังงานหมุนเวียน”

    ในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม EGCO Group ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) และการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ด้วยนโยบายการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

    ไฮไลท์การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนของ EGCO Group คือ APEX หรือ บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง แอลแอลซี โดยเข้าไปถือหุ้น 17.46%

    APEX เป็นบริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาโครงการ (Developer) พลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา โดยดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน จนถึงเริ่มดำเนินการก่อสร้าง (Notice to Proceed – NTP) และเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date – COD) แล้วขายโครงการที่พัฒนาเหล่านั้นบางส่วนให้แก่นักลงทุนอื่น

    จาก Core Business เดิมของ EGCO Group ที่ “ผลิตไฟฟ้า เพื่อขายไฟฟ้า” เพียงอย่างเดียว แต่ APEX สามารถทำให้บริษัทต่อยอดไปสู่ “การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อขายไฟฟ้า และขายโรงไฟฟ้า” ซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ EGCO Group ในระยะยาว

    เห็นได้จากเป้าหมายของ APEX ในปลายปี 2567 – 2568 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 8 โครงการ กำลังผลิตสุทธิรวมเกือบ 1,300 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลังงานหมุนเวียนใน Pipeline ทั้งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวนทั้งหมดอีกกว่า 200 โครงการ กำลังผลิตรวมกว่า 56,000 เมกะวัตต์ ทั้งประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไฮโดรเจน และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่แบบตั้งเดี่ยว

    โครงการนี้ทำให้ EGCO Group สามารถเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต จึงนับเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของ EGCO Group ให้เพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2030

    อีกหนึ่งโครงการพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญคือ Yunlin โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน กำลังผลิต 640 เมกะวัตต์ ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของมณฑลหยุนหลิน ในไต้หวัน เป็นระยะทางประมาณ 8-30 กิโลเมตร และครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 90 ตารางกิโลเมตร โดย EGCO Group เข้าไปถือหุ้น 26.56% ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ลมนอกชายฝั่ง) ให้บริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 170 เมกะวัตต์

    จุดแข็งของ Yunlin คือ การมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี กับ Taipower (Taiwan Power Company) และในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา Yunlin ได้ติดตั้งเสากังหันลม (Monopiles) และกังหันลม (Wind Turbine Generators – WTGs) ครบ 80 ต้น เรียบร้อยแล้ว โดยมีกังหันลมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 68 ต้น

    ปัจจุบันกังหันลมที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว ได้จ่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าไต้หวันแล้วมากกว่า 1,600 กิกะวัตต์ชั่วโมง และคาดว่าสิ้นปี 2567 Yunlin จะสามารถจ่ายไฟฟ้าครบ 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ คิดเป็นการผลิตไฟฟ้าให้กับครัวเรือนไต้หวันได้มากกว่า 600,000 หลังคาเรือน

    ลงทุนเทคฯ-ปรับปรุงโรงไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    EGCO Group ยังได้ปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักใน Portfolio ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ที่โรงไฟฟ้า Linden Cogen หน่วยที่ 6 กำลังผลิต 172 เมกะวัตต์ ในเมืองลินเดน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่ง EGCO Group ถือหุ้น 28% เพื่อให้เครื่องกังหันก๊าซสามารถรองรับก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันเบย์เวย์ของบริษัท ฟิลิปส์ 66 ที่มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมกับก๊าซธรรมชาติได้

    การปรับปรุงโรงไฟฟ้า Linden Cogen หน่วยที่ 6 สะท้อนถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและสนับสนุนเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ ด้วยการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก ให้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง โดยโรงไฟฟ้า Linden Cogen หน่วยที่ 6 สามารถลดการปล่อยก๊าซฯ ในภาพรวมได้ประมาณ 10% จากระดับปกติ

    ภารกิจด้าน Biodiversity

    นอกจากการขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักแล้ว EGCO Group ยังมุ่งดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานของโรงไฟฟ้า โดยได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ 3 ด้าน ได้แก่

    (1) ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss) และมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพจากกิจกรรมตลอดทั้งวงจรชีวิตของโรงไฟฟ้า

    (2) สร้างผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิเชิงบวก ในทุกการดําเนินงานและตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Net Positive Impact)

    (3) หลีกเลี่ยงการดำเนินงาน การสำรวจ การควบรวมและเข้าซื้อกิจการโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ใกล้กับพื้นที่ที่เป็นเขตป้องกันขององค์การระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

    โรงไฟฟ้าขนอม ในกลุ่มเอ็กโก จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการดูแลและอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดทำข้อมูลฐานสัตว์บ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งด้านประเภท ชนิด จำนวน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต ในช่วงก่อนและหลังการก่อสร้างโรงไฟฟ้า, โครงการสำรวจประชากรโลมา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญด้านความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวของ อ.ขนอม, การลงนามบันทึกความเข้าใจกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย (Thailand Mangrove Alliance) เพื่อสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับ ทช. และภาคเอกชน ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อยกระดับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน

    การดูแลความหลากหลายทางชีวภาพของโรงไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ ในกลุ่มเอ็กโก ทั้งในและต่างประเทศ เช่น

  • โรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration จ.ระยอง มีโครงการลดปริมาณการใช้น้ำที่ใช้ในการหล่อเย็น ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำจาก 8 รอบ เป็น 11 รอบ
  • โรงไฟฟ้า Quezon ประเทศฟิลิปปินส์ กับโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล ควบคู่กับโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนที่ถูกกัดเซาะ
  • โรงไฟฟ้าพลังงานลม Boco Rock ประเทศออสเตรเลีย กับโครงการศึกษาระบบนิเวศและร่วมดูแลค้างคาว
  • “มูลนิธิไทยรักษ์ป่า” อนุรักษ์ป่าต้นน้ำและทรัพยากรรธรรมชาติ พร้อมสร้างชุมชนเข้มแข็ง

    จากความเรื่อง “ต้นทางที่ดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” EGCO Group ได้ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ มากว่า 22 ปี

    การดำเนินงานที่สำคัญของของมูลนิธิฯ ในปี 2567 ได้แก่ การร่วมสนับสนุนการจัดนิทรรศการภาพถ่าย “ง่าย-งาม: Simply the Best” ถ่ายทอดชีวิตสัตว์ป่าเมืองไทยในธรรมชาติที่งดงาม เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้สัมผัสคุณค่าของสัตว์ป่าเมืองไทยผ่านเลนส์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2567 และการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค อุทยานแห่งชาติ ภูแลนคา จ.ชัยภูมิ

    ขณะเดียวกันมูลนิธิฯ มีภารกิจที่ตอบโจทย์ด้านสังคมและชุมชน ผ่าน “เครือข่ายชุมชนไทยรักษ์ป่า” ในหลายพื้นที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปลูกจิตสำนึกเยาวชนและประชาชนผ่าน “โครงการเครือข่ายเยาวชนไทยรักษ์ป่า” รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบนแนวคิด “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้” ผ่านโครงการ “หมู่บ้านไทยรักษ์ป่า”

    พันธกิจการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอันแน่วแน่ของ EGCO Group ตอกย้ำความตั้งใจขององค์กรที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และความยั่งยืน นับเป็นการสร้างคุณค่าที่ไม่ได้คำนึงถึงด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำเพื่อโลก สิ่งแวดล้อม และคนรุ่นหลัง