ThaiPublica > Sustainability > ที่ประชุม INC-5 “สนธิสัญญาพลาสติกโลก”ไร้ข้อตกลง เจรจารอบใหม่ปี 2568

ที่ประชุม INC-5 “สนธิสัญญาพลาสติกโลก”ไร้ข้อตกลง เจรจารอบใหม่ปี 2568

5 ธันวาคม 2024


นาย ลุยส์ วายาส วัลดิวิเอโซประธาน INC -5 ปิดการประชุม
ที่มาภาพ:เพจ Secretariat of the Pacific Regional Environment Programme – SPREP

การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 (INC-5) จบลงโดยไม่บรรลุข้อตกลง แต่คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลมีข้อสรุปว่าจะขยายการเจรจาออกไป โดยจะประชุมครั้งใหม่ในปี 2568

การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 หรือ 5th Intergovernmental Negotiating Committee (INC-5)มีขึ้น ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2567

วันที่ 2 ธันวาคม เวลา 02.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น INC-5 ปิดลงโดยไม่มีข้อตกลง และได้ขยายระยะเวลาออกไปเพื่อกลับมาเจรจาต่อ โดยตกลงให้ “Chair’s Text” หรือ “เอกสารร่างของประธาน” ลุยส์ วายาส วัลดิวิเอโซ เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเจรจาที่จะกลับมาดำเนินการอีกครั้งในปี 2568

ผู้ร่วมประชุมมีมากกว่า 3,300 คน รวมถึงสมาชิกที่เป็นตัวแทนของประเทศต่างๆ มากกว่า 170 ประเทศและผู้สังเกตการณ์จากองค์กรมากกว่า 440 แห่ง ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC-5) ตลอดทั้งสัปดาห์ สมาชิกได้เจรจาเอกสารสองชุดของนาย ลุยส์ วายาส วัลดิวิเอโซประธาน INC ก่อนที่จะตกลงในวันปิดเพื่อส่งต่อเอกสารร่างของประธานไปยังการเจรจารอบใหม่

ตามวาระการประชุม ผู้ได้รับมอบหมายจะต้องทำงานร่วมกันกลุ่มย่อย(contact group) 4 กลุ่มและจัดทำร่างสาระสำคัญของ Internationally Legally Binding Instrument (ILBI) ภายในวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งจะทำให้กลุ่มร่างกฎหมาย(egally Drafting Group )มีเวลาทบทวนร่างข้อตกลงก่อนที่ผู้เจรจาให้การรับรองภายในวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม จัดทำร่างสาระสำคัญล่าช้ากว่าที่คาดไว้ และผู้เจรจาไม่สามารถเตรียมข้อความใดๆ ได้

ในวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน เพื่อสลายทางตันในการเจรจา วายาส วัลดิวิเอโซ ขัดจังหวะการทำงานของ 4 กลุ่มย่อย และเริ่มการหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบปิด จากการสอบถามผู้แทนจากประเทศต่างๆ วายาส วัลดิวิเอโซ ได้จัดทำเอกสารที่ไม่เป็นทางการชุดใหม่ (ซึ่งเป็นเอกสารร่างชุดที่สี่ของเขา) ซึ่งเผยแพร่ในช่วงเย็น ผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจของประธาน INC ที่จะจัดทำร่างข้อความของข้อตกลงฉบับใหม่ถือเป็นการดำเนินการที่กล้าหาญและ “อาจเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของการเจรจา”

อันที่จริงในระหว่างการประชุมใหญ่ ซาอุดีอาระเบียกล่าวว่าความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดคือการ “เห็นข้อความที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”

การหารือแบบปิดอย่างไม่เป็นทางการต่อเนื่องถึงวันเสาร์ที่ 30 และข่าวลือเริ่มแพร่สะพัดเกี่ยวกับ INC-5.2 หรือการขยายเวลาของการประชุมไปจนถึงวันอังคารที่ 3 ธันวาคม ในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม วายาส วัลดิวิเอโซ เปิดเผยเอกสารร่างที่ไม่เป็นทางการของเขาหรือ Chair’s Text ฉบับที่ 5 ในการประชุมใหญ่ครั้งสุดท้ายของเย็นวันอาทิตย์(1 ธ.ค.) บรรดาผู้แทนได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมไปเป็นการประชุมครั้งถัดไปในปี 2025 และเมื่อเวลา 01:13 น. ของวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม ก็ให้การยอมรับ Chair’s Tex ของประธาน INC เพื่อเป็นฐานสำหรับการเจรจา

หลังจากการเจรจา INC-5 คณะกรรมการจะขอให้ผู้อำนวยการบริหารของ UNEP แจ้งคณะผู้แทนเกี่ยวกับสถานที่สำหรับการประชุมสมัยที่ 5 ครั้งต่อไป

ในเดือนมีนาคม 2565 ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 5 (UNEA-5.2) ได้มีการนำมติประวัติศาสตร์มาใช้เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติก รวมถึงในสภาพแวดล้อมทางทะเล ตามมติดังกล่าว เครื่องมือจะต้องอยู่บนพื้นฐานของแนวทางที่ครอบคลุมซึ่งจัดการกับวงจรชีวิตทั้งหมดของพลาสติก ทั้งการผลิต การออกแบบ และการกำจัด

“เราได้พบว่าความยืดหยุ่นของโลกนี้ถึงขีดจำกัดแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะก้าวข้ามขีดจำกัดของเราเอง เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำให้สำเร็จ สำนักเลขาธิการ INC และผมแน่วแน่ในการให้การสนับสนุนเพื่อให้สำเร็จ” Jyoti Mathur-Filipp เลขาธิการบริหารของสำนักเลขาธิการ INC กล่าว

INC-5 เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาสี่รอบก่อนหน้านี้ โดย INC-1 ซึ่งจัดขึ้นที่ปุนตาเดลเอสเต สเปน ในเดือนพฤศจิกายน 2565, INC-2 จัดขึ้นที่ปารีสในเดือนมิถุนายน 2566, INC-3 มีขึ้นในไนโรบีในเดือนพฤศจิกายน 2566 และ INC-4 ซึ่งจัดขึ้นที่ออตตาวาในเดือนเมษายน 2567

การประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติ (INC-5) ครั้งที่ 5 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุสนธิสัญญาระดับโลกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ถูกกำหนดไว้ว่าจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ยังคงมีความเห็นต่างกันมากในขอบเขตพื้นฐานของสนธิสัญญา และอาจตกลงได้เพียงเลื่อนการตัดสินใจที่สำคัญและกลับมาเจรจาต่อ ในรอบ INC 5.2 เท่านั้น

“ความมุ่งมั่นของโลกในการยุติมลพิษจากพลาสติกนั้นมีความชัดเจนและไม่อาจปฏิเสธได้ ที่เมืองปูซาน การเจรจาทำให้เราเข้าใกล้การตกลงในสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายทั่วโลก ซึ่งจะปกป้องสุขภาพของเรา สิ่งแวดล้อม และอนาคตของเราจากการโจมตีของมลพิษจากพลาสติก” อิงกอร์ แอนเดอร์เสน กรรมการบริหารของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme-UNEP) กล่าว

“การประชุมมีความก้าวหน้าที่ดีในการบรรลุข้อตกลงที่โลกต้องการ จากการเจรจาที่ปูซาน ผู้เจรจาได้บรรลุถึงระดับที่โครงสร้างและองค์ประกอบของข้อความในสนธิสัญญานั้นเบนเข้าหากัน ตลอดจนความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับจุดยืนของประเทศและความท้าทายที่มีร่วมกัน แต่เป็นที่ชัดเจนว่ายังคงมีความแตกต่างอย่างต่อเนื่องในด้านที่วิกฤติ และต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อจัดการกับประเด็นเหล่านี้

“ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Assembly:UNEA) หรือ UNEA 5.2 โลกให้สัญญาว่าจะจัดการกับมลพิษจากพลาสติก ในการเจรจารอบถัดไป โลกจะมีโอกาสที่จะทำให้เป็นจริงในที่สุด ”

การเจรจาสนธิสัญญาระดับโลกเพื่อควบคุมมลพิษจากพลาสติกล้มเหลวและไม่บรรลุข้อตกลง เนื่องจากว่ากว่า 100 ประเทศต้องการจำกัดการผลิต ในขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันเพียงไม่กี่รายเตรียมการที่จะมุ่งเป้าไปที่ขยะพลาสติกเท่านั้น

ประเด็นที่มีความขัดแย้งมากที่สุด 3 ประการ ได้แก่ 1)ผลิตภัณฑ์อันตรายและสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์พลาสติก 2)อุปทาน และ 3)การเงินรวมถึงการจัดตั้งกลไกทางการเงิน

ที่มาภาพ:เพจ Secretariat of the Pacific Regional Environment Programme – SPREP

รวันดา เม็กซิโก ปานามา ผู้นำ “ประเทศที่เต็มใจ”

ทางเลือกที่เสนอโดยปานามาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกว่า 100 ประเทศ จะสร้างเส้นทางสำหรับเป้าหมายการลดการผลิตพลาสติกทั่วโลก ในขณะที่ข้อเสนออื่นไม่นำจำนวนสูงสุดในการผลิตเข้ามาใส่ไว้

“สนธิสัญญาที่ … อาศัยเพียงมาตรการสมัครใจจะไม่เป็นที่ยอมรับ” จูเลียต คาเบรา ผู้อำนวยการใหญ่หน่วยงานจัดการสิ่งแวดล้อม(Environment Management Authority)ของรวันดากล่าว

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเจรจาสนธิสัญญาที่ตรงกับวัตถุประสงค์และไม่ใช้ทำมาเพื่อให้ล้มเหลว”

ในการประชุมใหญ่ช่วงเย็นวันอาทิตย์ จูเลียต คาเบรา ผู้เจรจาของประเทศรวันดา (ประเทศที่เป็นประธานร่วม ร่วมกับกลุ่มNorway of the High Ambition Coalition) พูดในนามของ 85 รัฐ ในตอนท้ายเธอขอให้คนที่อยู่ในห้อง “ยืนขึ้น” หากเห็นด้วยกับสนธิสัญญาที่มีเป้าหมายสูง ซึ่งเกือบทั้งห้องยืนอยู่ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความั้งเป้าหมายสูงที่ชัดเจนมาก หลังจากนั้นคามิลา เซเปดา จากเม็กซิโกเริ่มกล่าวสุนทรพจน์ด้วยการอ่านชื่อของ 95 ประเทศที่รับรองข้อกำหนด “ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย” เพื่อ “ยุติ” ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นอันตรายที่สุดและสารเคมีอันตรายที่ใช้ในการผลิต

ประเทศผู้ผลิตปิโตรเคซึ่งมีจำนวนไม่มาก เช่น ซาอุดีอาระเบีย ต่อต้านความพยายามอย่างมากในการลดการผลิตพลาสติก และพยายามใช้กลยุทธ์เชิงขั้นตอนเพื่อชะลอการเจรจา

“ไม่เคยมีฉันทามติใดๆ เลย” อับดุลราห์มาน อัล กวาอิซ ผู้แทนชาวซาอุดีอาระเบีย กล่าว “มีมาตราสองสามมาตราที่ดูเหมือนจะทำให้เป็น (ในเอกสาร) แม้ว่าเราจะยืนกรานอย่างต่อเนื่องว่ามาตราเหล่านั้นไม่อยู่ในขอบเขตก็ตาม”

จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ และซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ผลิตโพลีเมอร์หลัก 5 อันดับแรกในปี 2566 ตามข้อมูลจาก Eunomia ผู้ให้บริการข้อมูล

“ผลการประุชมตอกย้ำถึงความซับซ้อนในการจัดการกับมลพิษจากพลาสติกในระดับโลก และความจำเป็นในการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุสนธิสัญญาที่มีประสิทธิผล ครอบคลุม และนำไปใช้ได้จริง” คริส ยาห์น Chris Jahn เลขาธิการสภาของ International Council of Chemical Associations (ICCA) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตพลาสติก กล่าว

“แทบไม่มีหลักประกันเลยว่า INC ครั้งต่อไปจะประสบความสำเร็จ เพราะว่า INC-5 ก็ไม่สำเร็จ” กลุ่มสิ่งแวดล้อม GAIA กล่าว

การผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2593 และพบไมโครพลาสติกในอากาศ ผลิตภัณฑ์สด และแม้แต่น้ำนมแม่

สารเคมีที่เป็นความกังวลในพลาสติกมีมากกว่า 3,200 ชนิดตามรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติปี 2566 ซึ่งระบุว่าผู้หญิงและเด็กมีความเสี่ยงต่อมลพิษเป็นพิเศษ

แม้จะเลื่อนออกไป แต่ผู้เจรจาหลายรายก็ต้องการให้เร่งกลับมาเจรจาอีกครั้ง

“ความล่าช้าในแต่ละวันเป็นวันที่มีผลต่อมนุษยชาติ การเลื่อนการเจรจาไม่ได้ทำให้วิกฤติเลื่อนออกไป” ฮวน คาร์ลอส มอนเตร์เรย์ โกเมซ หัวหน้าคณะผู้แทนปานามากล่าวเมื่อวันอาทิตย์

“เมื่อกลับมาเจรจากันอีกครั้ง ความยากจะมีมากขึ้น”

  • “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ไทยพร้อมหรือยังที่จะยุติขยะมลพิษ
  • องค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องอาเซียนแสดงบทบาทผู้นำเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก
  • คนหลายพันคนและกลุ่มประชาสังคมออกมารวมตัวกันบนถนนเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำโลกที่เข้าร่วมการเจรจา INC-5ดำเนินการให้เกิดประโยชน์ ที่มาภาพ: https://www.climatechangenews.com/2024/11/25/un-plastic-pollution-treaty-kicks-off-busan-moment-truth-fossil-fuels/

    ขยายเวลาดีกว่ายอมรับสนธิสัญญาที่อ่อนแอ

    มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation:EJF) รายงานว่า กลวิธีขัดขวางการเจรจาของผู้ได้รับผลประโยชน์จากฝั่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและรัฐบาลที่โอนอ่อนตามอุตสาหกรรมเหล่านี้ ตลอดจนการกีดกันการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการเจรจาล้มเหลว ตลอดหนึ่งสัปดาห์ของการเจรจา กลุ่มประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีพยายามจำกัดขอบเขตของสนธิสัญญา ด้วยการกีดกันข้อเรียกร้องให้มีการลดระดับการผลิตพลาสติกและสารเคมี แม้กว่าร้อยประเทศจะเรียกร้องให้มีมาตรการในการจำกัดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนก็ตาม

    และด้วยจำนวนเก้าอี้ในห้องเจรจาที่จำกัด ผู้สังเกตการณ์ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาสังคม หน่วยงานของสหประชาชาติ นักวิทยาศาสตร์และภาคการศึกษา และกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ สภาชุมชนคนพื้นเมือง และกลุ่มซาเล้ง ไม่สามารถเข้าถึงและรับฟังการเจรจาได้ นอกจากนี้ ในการเจรจาสามวันสุดท้าย ผู้สังเกตการณ์ยังถูกกีดกันออกจากการประชุมกลุ่มย่อย (Contact group) โดยสิ้นเชิง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกครั้งที่ 5.2 EJF ชี้ว่า ที่ประชุมจะต้องมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าและการผลักภาคส่วนอื่นออกจากการเจรจา

    ร่างสนธิสัญญาฉบับล่าสุดที่จัดทำโดยประธานยังมีข้อบกพร่องหลายประการ โดยช่องโหว่สำคัญที่ EJF เน้นย้ำ ได้แก่ ความล้มเหลวในการจัดการกับพลาสติกตลอดวงจรชีวิตอย่างเต็มรูปแบบ การขาดข้อบทเกี่ยวกับการกำกับดูแลสารเคมีที่น่าห่วงกังวล ภาษาที่อ่อนแอในการพัฒนาระบบการใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อม และแนวทางจัดการเครื่องมือประมงที่ละเลยความครอบคลุมตลอดวงจรชีวิต

    EJF เรียกร้องให้ผู้แทนการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกครั้งที่ 5.2 เร่งหาข้อสรุปที่คำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดข้อตกลงที่ครอบคลุมข้อเรียกร้องที่สำคัญเหล่านี้ และเรียกร้องให้มีกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้

    สตีฟ เทรนท์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ EJF กล่าวว่า “เรากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ สิทธิมนุษยชนของเราขึ้นอยู่กับการมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต แต่ขณะนี้ เรากำลังทำให้ธรรมชาติและร่างกายของเรากลายเป็นกองขยะขนาดมหึมา การขยายการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกครั้งที่ 5 เป็นข้อต่อสำคัญในการสร้างสนธิสัญญาที่หนักแน่นและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่า ยังมีรัฐบาลจำนวนหนึ่งยึดถือผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเชื้อเพลิงฟอสซิล และเลือกที่จะปล่อยปละละเลยอนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนของเราทุกคน เหตุการณ์นี้คือการตลบหลังทุกชีวิตบนโลกที่ถูกทำร้ายด้วยมลพิษพลาสติก”

    “เราไม่สามารถยอมรับสนธิสัญญาที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดความหนักแน่นชัดเจนได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องก้าวผ่านวัฒนธรรมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกที่จะควบคุมระดับการผลิต การขจัดมลพิษและสารเคมีออกจากสิ่งแวดล้อมและร่างกายของเรา และหันกลับมามองผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกมาอย่างยาวนาน”

    ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ เจ้าหน้าที่รณรงค์อาวุโสของ EJF และหนึ่งในผู้สังเกตการณ์การเจรจาครั้งที่ 5 กล่าวว่า “ถึงเราจะยินดีให้มีการขยายการเจรจาไปสู่ครั้งที่ 5.2 แต่เราต้องมั่นใจว่าความผิดพลาดจากการเจรจาครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก การเจรจาครั้งที่ 5 นี้ถือเป็นบททดสอบความโปร่งใสและความหนักแน่นในการจัดตั้งสนธิสัญญาที่เข้มแข็ง การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกไม่ได้ล้มเหลวเพราะเราไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกได้ แต่เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เพราะผู้ที่มีทางออกให้มลพิษพลาสติกไม่ได้มีส่วนร่วมแม้แต่จะเข้าไปอยู่ในห้องประชุม”

    “เราต้องการการเจรจาที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เราจะต้องแก้ไขข้อบทของสนธิสัญญาที่ยังใช้ภาษาที่อ่อนแอ ซึ่งอาจขัดขวางการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้ในอนาคต และที่สำคัญกว่านั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีกลไกการลงคะแนนเสียงที่ทำให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้เมื่อไม่ประเทศไม่สามารถบรรลุฉันทามติในข้อบทที่สำคัญได้”

    เรียบเรียงจาก

  • Plastic pollution negotiations adjourn with new text and a follow-up session planned
  • Countries fail to reach agreement in UN plastic talks
  • Global plastics treaty, INC-5 closes without agreement and is postponed to 2025