
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งมอบมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้ประชาชน โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวรายงานการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า สถาบันการเงินของรัฐได้จัดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน อาทิ มาตรการพักต้น พักดอก และการลดดอกเบี้ยตามเกณฑ์สำหรับกลุ่มที่ประสบอุทกภัยและกลุ่มที่ไม่ประสบอุทกภัย ซึ่งเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงที่มีแนวโน้มที่ดี รวมทั้งการเติมเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ภาครัฐ ให้เหมือนเช่นเดียวกับสถาบันการเงินภาครัฐ และล่าสุด กรมบัญชีกลาง ได้ปรับวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมเพื่อให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สามารถนำงบประมาณไปช่วยเหลือได้ทั้งการช่วยเหลือประชาชนและการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธาน เพื่อมอบสินเชื่อในโครงการ ดังนี้
1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ลูกค้า ผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ)
2. ธนาคารออมสิน (สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ งบประมาณโครงการออมสินสารพัดซ่อม-วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย)
3. ธนาคารกรุงไทย (มาตรการเคียงข้างผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยการ ลดดอกเบี้ย ลดค่างวดชำระหนี้และ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ)
4. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (โครงการมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567)
5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) (สินเชื่อเติมทุนฉุกเฉิน ฟื้นฟูกิจการ)
6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติ)
7. บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) (SMEs ฟื้นฟู – No One Left Behind – ช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบภัยน้ำท่วม)
8. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Green Development Bank – ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา สู่การค้าโลกและ บริการประกันส่งออก EXIM for Small BIZ)
9. กรมธนารักษ์ (สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงราย) มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ประสบอุทกภัย
10. กระทรวงมหาดไทยมอบเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 15,040,000 บาท ค่าทำความสะอาดดินโคลน และซากวัสดุ ครัวเรือนละ 10,000 บาท จำนวน 1,504 ครัวเรือน
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันฟื้นคืนพื้นที่อุทกภัยให้กลับมาเป็นปรกติ ได้อย่างรวดเร็ว และดีใจที่ได้มาเห็นบรรยากาศสดชื่น แจ่มใส ในวันนี้และขอขอบคุณ คณะรัฐมนตรี ศปช. และข้าราชการ ทุกภาคส่วนที่ได้ประสานความร่วมมือร่วมใจผลักดัน เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยาให้เร็วที่สุดเช่นเดียวกัน
“สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในขณะนี้ ได้ติดตามสถาณการณ์ตลอดเวลา ได้สั่งการรองรัฐมนตรีและรัฐมนตรีลงพื้นที่ทันที และจะต้องใช้มาตรการช่วยเหลือแบบเดียวกันกับน้ำท่วมภาคเหนือที่ผ่านมา” นางสาวแพทองธารกล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ภัยน้ำท่วม ถือเป็นภัยที่ประชาชนทั้งประเทศได้รับผลกระทบ ซึ่งประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้า ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลจะเดินหน้าในมาตรการต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆปรับตัวดีขึ้นและจะดียิ่งขึ้นต่อไป
นายกรัฐมนตรีได้ชมบูธ ที่แสดงมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน รวมถึงเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา จากสถานบันการเงินที่ร่วมโครงการ พร้อม กล่าวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และทักทายประชาชนที่อยู่ภายในงาน ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมและมอบบัตรประจำตัวประชาชน ให้กับกลุ่มชาติพันธ์ุ ที่ศูนย์ราชการอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)ได้ร่วมกันออกมาตรการด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพ และประกอบธุรกิจต่อไปได้
สถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ตามกลุ่มเป้าหมายของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ซึ่งมีทั้งมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย รวมไปถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ตัวอย่างเช่น ธนาคารออมสิน พักชำระหนี้เงินต้น และลดดอกเบี้ยอัตโนมัติให้แก่ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยและ SMEs ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาชำระหนี้ของลูกหนี้เกษตรกร รวมถึงมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและยกเว้นดอกเบี้ยปรับ ธอส. ลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ธสน. ขยายระยะเวลากู้ สำหรับผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าทั้งที่มีวงเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาว ธพว. พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงให้วงเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของ บสย. ซึ่งค้ำประกันหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งที่เป็นลูกค้าของ บสย. และลูกหนี้ ของ บสย. นอกจากนี้ ธอท. ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ และธนาคารกรุงไทย ได้ออกมาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครอบคลุมการลดภาระทางการเงิน ทั้งปรับลดค่างวดการผ่อนชำระ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการให้วงเงินฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องในการดำรงชีพ รวมถึงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่งตามที่ได้กล่าวไปแล้ว กระทรวงการคลังยังได้มีมาตรการเสริมสภาพคล่อง สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น โดยจัดสรรวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท จากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับมาฟื้นฟูกิจการ เพื่อประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจได้ต่อไปภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประสบอุทกภัยได้รับสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวรวมถึงโครงการสินเชื่ออื่น ๆ จากสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ รวมถึงสร้างความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน บสย. ได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงินค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย
“กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วนในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง เป็นจำนวนมากกว่า 740,000 ราย รวมยอดหนี้มากกว่า 94,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินมาตรการด้านการเงินในระยะต่อไปจะเป็นการเน้นการเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟูและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนสามารถกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน”
ปลัดกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการดูแลพี่น้องทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ โดยจะผลักดันนโยบายรัฐบาลต่าง ๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพและกำหนดแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยกระทรวงการคลังจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป