ThaiPublica > เกาะกระแส > 20 มกราคม 2025 ทรัมป์สาบานตนรับตำแหน่ง วันสิ้นสุดเป็นทางการ “ยุคอเมริกาเป็นผู้นำโลก”

20 มกราคม 2025 ทรัมป์สาบานตนรับตำแหน่ง วันสิ้นสุดเป็นทางการ “ยุคอเมริกาเป็นผู้นำโลก”

13 พฤศจิกายน 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : Aljazeera.com

ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หมายถึงการสิ้นสุด “ระเบียบโลก” ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำโลก เรียกว่ายุค Pax Americana โดยเสถียรภาพความสงบที่เกิดขึ้น มาจากฐานะนำของสหรัฐฯ ทางด้านทหารและเศรษฐกิจ ระเบียบโลกดังกล่าวมีมิติทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

ทรัมป์ไม่ปิดบังทัศนะตัวเอง ที่ต้องการเห็นระเบียบโลกทางการเมืองนี้พังทลายลง การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยแรกปี 2017-2020 ทรัมป์ยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าจะทำอย่างไร และถูกต่อต้านจากสถาบันในสังคม ที่ทรัมป์ เรีกยว่า “รัฐฝังลึก” (deep state) แต่ปัจจุบัน ทรัมป์มีทั้งความเข้าใจและแผนงาน เช่น ท่าทีต่อองค์การนาโต้ ในช่วงหาเสียงทรัมป์พูดปราศัยด้วยคำพูดโด่งดังว่า เขาจะ “หนุนให้รัสเซียทำอะไรก็ได้ที่ต้องการ” กับประเทศสมาชิกนาโต้ ที่ไม่ยอมเพิ่มงบประมาณทางทหาร

กระทบ “ห่วงโซ่อุปทานโลก”

ในเรื่องระเบียบโลกทางเศรษฐกิจ ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่า ยุคการค้าเสรีจะถูกแทนที่ด้วย “การเก็บภาษีนำเข้า” (tariff) ทรัมป์ยังบอกว่า คำว่า “ภาษีนำเข้า” เป็นคำภาษาอังกฤษที่สวยงามที่สุด ชัยชนะของทรัมป์จึงมีนัยยะและส่งผลกระทบทันทีต่อ “ห่วงโซ่อุปทาน” การผลิตโลก เพราะทรัมป์เสนอแนวคิดหลายอย่าง เช่น เก็บภาษีนำเข้าสินค้าต่างประเทศ 10-20% ส่วนสินค้าจากจีนเก็บ 60% แต่ความคิดทรัมป์เรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เช่น นอกจากจีนแล้ว จะนำมาใช้กับประเทศไหนบ้าง สินค้าประเภทไหนที่จะได้รับการยกเว้น และจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ เป็นต้น

ความคิดพื้นฐานของทรัมป์

ทรัมป์มีความคิดตั้งแต่แรกแล้วว่า ระเบียบโลกที่เป็นอยู่ จะต้องถูกยับยั้งไม่ให้ดำเนินการตามปกติอีกต่อไป (disruption)ในพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกปี 2017 ทรัมป์กล่าวปราศัยว่า “เป็นเวลาหลายสิบปี เราทำให้อุตสาหกรรมในต่างประเทศมั่งคั่ง โดยมาจากความเสียหายของอุตสาหกรรมของอเมริกา เราปกป้องพรมแดนประเทศอื่น แต่จงใจที่จะไม่ปกป้องพรมแดนของเรา นับจากวันนี้ต่อไป จะเป็นแต่เรื่องอเมริกามาก่อน”

ต้นปี 2020 ทรัมป์ไปกล่าวที่โรงเรียนายร้อย West Point เรื่องนโยบายการใช้กำลังทหารของสหรัฐฯว่า “เรากำลังฟื้นฟูหลักการที่ว่า หน้าที่ทหารอเมริกันไม่ใช่ไปสร้างชาติให้กับต่างประเทศ แต่คือการปกป้องอย่างเข้มแข็งแก่ประเทศเรา จากศัตรูต่างชาติ เรากำลังยุติยุคสมัยการทำสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น ไม่ใช่หน้าที่ทหารสหรัฐฯที่จะแก้ปัญหาดั้งเดิมในดินแดนห่างไกลออกไป ที่หลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อน เราไม่ใช่ตำรวจโลก”

คำปราศัย 2 ครั้งดังกล่าวสะท้อนความคิดพื้นฐานของทรัมป์ที่ว่า เรื่องส่วนใหญ่ของต่างประเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายแพง คือสิ่งที่หันเหความสนใจสหรัฐฯ ออกจากปัญหาในประเทศตัวเอง สหรัฐฯทุ่มเทและทำมากในเรื่องนี้ แต่ฐานะการเงินตัวเองกลับแย่ลง การค้าต่างประเทศและผู้อพยพทำลายการจ้างงานและชุมชน ประเทศที่เป็นพันธมิตรมีแต่เอาประโยชน์สหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ภาระต้นทุนจากฐานะการเป็นผู้นำโลกของอเมริกา จึงมีผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้

ที่มาภาพ : USA Today.com

โลกเปลี่ยนนับจาก 20 มกราคม 2025

ส่วนคำปราศัยหลังชนะเลือกตั้งปี 2024 ทรัมป์กล่าวว่า “เราจะบริหารด้วยคำขวัญง่ายๆที่ว่า คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ คือคำมั่นสัญญาที่จะรักษาไว้” ทรัมป์ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ช่วยพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ ทำให้พรรคเดียวสามารถควบคุมการปกครอง 3 ฝ่าย คือฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ 2 สภา ทรัมป์จึงอ้างความชอบธรรม ที่จะนำนโยบายต่างๆไปดำเนินการได้อย่างเต็มที่

นับจากหลังสงครามโลกปี 1945 เป็นต้นมา ระเบียบโลกที่สหรัฐฯเป็นผู้นำ ตั้งบนแนวคิดที่สหรัฐฯเป็นผู้นำทางทหาร รับมือกับประเทศที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม สร้างความั่งคั่งที่มาจากการเปิดตลาดการค้า และส่งเสริมการเคลื่อนย้ายเสรีด้านสินค้า เงินทุน และความคิด ปกป้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม การเป็นผู้นำโลกเสรีของสหรัฐฯ ทำให้เกิดองค์การนาโต้ การฟื้นฟูยุโรปและเอเชียหลังสงคราม และการตั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่นธนาคารโลก IMF และองค์การการการค้าโลก

ทรัมป์ไม่สนใจที่จะรักษาระเบียบโลกที่สหรัฐฯเป็นผู้นำ เหมือนกับประธานาธิบดีสหรัฐฯหลายคนในอดีต ไม่สนใจที่จะปกป้องประชาธิปไตย หรือหลักนิติธรรม มองพันธมิตรเป็นภาระ ทรัมป์เคยประกาศว่า ทำไมสหรัฐฯต้องไปปกป้องประเทศ ที่สหรัฐฯขาดดุลการค้า ในสมัยแรก ทรัมป์เคยยอมรับว่า ปฏิเสธความคิดที่ยุโรปเป็นปราการต่อต้านรัสเซีย เกาะญี่ปุ่นเป็น “เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ” ในแปซิฟิก และเกาหลีใต้คือกุญแจสำคัญที่จะยับยั้งเกาหลีเหนือ

แต่สถานการณ์โลกปัจจุบัน ต่างจากสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีครั้งแรก คำถามมีอยู่ว่าทรัมป์จะปรับตัวกับสภาพในปัจจุบันอย่างไร สงครามยูเครนจะเป็นจุดทดสอบแรกของรัฐบาลทรัมป์ ทรัมป์พูดมาตลอดว่า หากเป็นเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับ “ดินแดน” สงครามยูเครนจะไม่เกิดขึ้น ยูเครนเองก็คาดการณ์ว่า ทรัมป์พยายามกดดันให้ยูเครนตกลงกับรัสเซีย ยอมให้รัสเซียยึดครองดินแดน 20% ถ้ายูเครนไม่ยอม สหรัฐฯคงจะตัดความช่วยเหลือทางทหาร

ผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทความชื่อ Trump 2.0: What Is in Store for Southeast Asia? ใน fulcrum.sg กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจไม่มีความสำคัญอันดับแรกๆ ในนโนยายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ แต่ภูมิภาคนี้ต้องเตรียมรับมือกับนโยบายการค้าของทรัมป์ ที่เป็นแบบเจรจาทาง “ธุรกรรม” (transaction)

นอกจากนี้ ภูมิภาคนี้ยังเป็นศูนย์กลาง “ห่วงโซ่อุปทานโลก” มีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นแหล่งการลงทุนต่างประเทศใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นจุดสำคัญการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ภูมิภาคนี้จึงเผชิญกับความเสี่ยงสูง จากทิศทางด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2

ที่มาภาพ : VOA.com

การค้าของภูมิภาคนี้คือปัจจัยเสี่ยงที่สุดจากรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ข้อตกลงการค้า Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ทำในสมัยไบเดน มี 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วม ทรัมป์บอกว่า ความตกลงนี้คือ “TPP Two” ที่ทรัมป์คงจะถอนตัวตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน แบบเดียวกับในปี 2017 ทรัมป์ลงนามถอนตัวจากข้อตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) การถอนตัวของสหรัฐฯจะแสดงถึงพันธะของสหรัฐฯ ต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคนี้ จะอ่อนตัวลงไปอีก

แต่ปัญหาสำคัญคือเรื่องความมุ่งมั่นของทรัมป์ ที่จะใช้มาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้ามากขึ้น การเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมด 10-20% และจากจีน 60% จะทำให้การค้าโลกและการเติบโตของการค้า เกิดชะงักงัน เป็นการบั่นทอนต่อระเบียบการค้าโลก ที่ตั้งบนกฎกติกา ระเบียบการค้าโลกนี้ทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคนี้เติบโตต่อเนื่องมาหลายสิบปี บริษัทที่ปรึกษา Oxford Economics คาดการณ์ว่า มาตรการภาษีที่เสนอโดยทรัมป์ จะทำให้การส่งออกของเอเชีย ที่ไม่รวมจีน ลดลง 3% และการส่งออกของสหรัฐฯมาเอเชียลดลง 8%

แต่สิ่งที่แปลกก็คือว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประโนชน์จากสงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ ที่เริ่มโดยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 ทำให้มีการย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน มาภูมิภาคนี้ ทำให้การค้าสหรัฐฯ-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตต่อเนื่องในสมัยทรัมป์ 1.0 และไบเดน ช่วงปี 2017-2023 การส่งออกของเวียดนาม ไทย และมาเลเซียไปสหรัฐฯเพิ่มเท่าตัว 3 ประเทศนี้ที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ คงจะอยู่ในสายตาการตรวจสอบของรัฐบาลทรัมป์

บทความของ fulcrum.sg กล่าวสรุปว่า เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบูรณาการด้านห่วงโซ่อุปทาน ทั้งกับจีนและสหรัฐฯ แนวคิดการเก็บภาษีนำเข้าของทรัมป์ต่อสินค้าจีนและสินค้าที่ใช้ชิ้นส่วนจากจีน เมื่อบวกรวมกับการตอบโต้จากจีน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ 2 ประเทศของโลก จะแยกตัวออกจากกัน (decouple)

เศรษฐกิจอาเซียน ที่มีทั้งสหรัฐฯกับจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ จะตกอยู่ในฐานะลำบาก การส่งออกของอาเซียนไปสหรัฐฯ อาศัยสินค้าระดับกลางของจีน ส่วนการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯก็อาศัยวัตถุดิบและสินค้าระดับกลางจากอาเซียน การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯลดลง จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียน

ในจุดนี้ การพัฒนาและการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อาศัย “โมเดลโลกาภิวัตน์” มายาวนาน อาจจะเผชิญกับความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น

เอกสารประกอบ
Trump’s Win Ends a Post-World War II Era of US Leadership, 6 NOV 2024, nytimes.com
How Asia Is Bracing for Trump’s Second Term, 8 NOV 2024, time.com
Trump 2.0 Presidency: What Is in Store for Southeast Asia? 12 NOV 2024, fulcrum.sg