ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯไม่แทรกแซง ป.ป.ช.ขอเวชระเบียน ‘ทักษิณ’- มติ ครม.กำหนดค่าเก็บขยะ ต่ำสุด 35 บาท สูงสุด 102 บาท/ด.

นายกฯไม่แทรกแซง ป.ป.ช.ขอเวชระเบียน ‘ทักษิณ’- มติ ครม.กำหนดค่าเก็บขยะ ต่ำสุด 35 บาท สูงสุด 102 บาท/ด.

5 พฤศจิกายน 2024


เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี ณ โถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯไม่แทรกแซง ป.ป.ช.ขอเวชระเบียนรักษา ‘ทักษิณ’
  • ตั้ง ‘JTC’ เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาใน 2 สัปดาห์
  • พร้อมหารือ ‘ไอติม’ ถกแก้ รธน. ชี้รีบเกินไป หวั่นถูกฟ้อง
  • เตรียมตัวไม่ทัน ขอ ป.ป.ช.ขยายเวลาแจงทรัพย์สินอีก 30 วัน
  • มติ ครม.กำหนดค่าเก็บขยะให้ท้องถิ่น ต่ำสุด 35 บาท สูงสุด 102 บาท/ด.
  • ทุ่มงบฯ 2,553 ล้าน เยียวยาน้ำท่วมเพิ่มอีก 8 โครงการ
  • ปลื้มหนี้สาธารณะยังไม่ทะลุ 70% สิ้น ส.ค.มีสัดส่วนแค่ 64% ของ GDP
  • เผยนายกฯบิน ‘คุนหมิง’ ประชุมสุดยอดผู้นำอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง พรุ่งนี้
  • ตั้ง ‘ บิ๊กรอย’ กุนซือ ‘ภูมิธรรม’ – ‘คารม – ศศิกานต์’ รองโฆษกรัฐบาล
  • เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

    สั่งคลัง-มท. หาที่ดินหลวง สร้างบ้านให้ ปชช.

    นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ตนสั่งการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม รวมทั้งเร่งดำเนินการให้สามารถนำที่ดินของรัฐจำนวนมากให้สามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้ โดยให้นำที่ดินของรัฐมาสร้างที่อยู่อาศัย แต่กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของรัฐ เพื่อเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ

    จี้ปลัดกระทรวงเร่งเบิกจ่ายงบฯ – ปรับผังเมืองรับนักลงทุน

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากการประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ได้มีข้อสั่งการสร้างความร่วมมือให้ส่วนราชการทุกระดับบูรณาการการทำงานให้นโยบายสำเร็จ ดังนี้

      1. ให้กระทรวงการคลัง เร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องงบลงทุน
      2. ให้ทุกหน่วยงาน ร่วมมือกันเชื่อมโยงนโยบาย ให้สอดคล้องกับนโยบาย Digital Government ของรัฐบาล
      3. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาดไทย เร่งศึกษามาตรการในการรองรับการขยายตัวของเมือง และปรับผังเมือง เพื่อให้รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
      4. ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เร่งหามาตรการในการรับซื้ออ้อยและแนวทางกำจัดการเผาอ้อยและข้าวโพด ซึ่งสืบเนื่องจากปัญหา PM2.5

    จัดงบฯ 2,553 ล้าน ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรหลังน้ำลด

    นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้มีมติอนุมัติงบกลางเพื่อดำเนินแผนงานโครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ วงเงิน 2,553 ล้านบาท จำนวน 8 โครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด การฟื้นฟูที่เกษตรและซ่อมแซมเครื่องจักรกล การลดภาระหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ฯลฯ

    ไม่แทรกแซง ป.ป.ช.ขอเวชระเบียนรักษา ‘ทักษิณ’

    นางสาวแพทองธาร เปิดให้ผู้สื่อข่าวถามคำถาม แต่ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวถามประเด็นกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอเวชระเบียนการรักษาอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร จากโรงพยาบาลตำรวจ นางสาวแพทองธาร แทรกขึ้นว่า “ไม่ถามเรื่อง ครม. เลย” พร้อมหัวเราะ

    ผู้สื่อข่าว จึงถามต่อว่า นายกฯ ในฐานะที่กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช) และเป็นลูกสาวนายกฯทักษิณ ข้อมูลนี้สามารถเปิดเผยได้หรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เรื่องนี้ให้เป็นไปตามกระบวนการ ยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ไม่ว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไรก็ตามนั้น แต่ไม่แน่ใจในหลักกฎต่าง ๆ ว่าเปิดเผยได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ถ้าตามกฎหมายมันได้ ก็ตามนั้นเลย”

    ถามต่อว่าได้มีการปรึกษากับ ผบ.ตร. หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ท่าน ผบ.ตร. ก็ออกมาพูดแล้ว อยากให้เป็นไปตามกระบวนการ เพราะต้องมีคณะกรรมการเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็ไม่ได้เข้าแทรกแซงอะไรอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ ก็เห็นว่าชี้แจงไปแล้ว เพราะเห็นว่ามีเรื่อง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง PDPA ด้วย”

    “ยึดหลักตามกระบวนการละกันว่าต้องทำอะไรบ้าง หนึ่ง-สอง-สาม-สี่ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเอง ก็ต้องว่าไปตามนั้น รัฐบาลก็ยินดีให้ตรวจสอบอยู่แล้ว จะได้ไม่กระทบต่อรัฐบาลด้วย” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    ถามต่อว่า มีอะไรที่ต้องกังวลหรือไม่ นางสาวแพทองธาร นิ่งคิด และกล่าวว่า “อืม…ถ้ารัฐบาลให้ความร่วมมือในทุกๆ เรื่อง คิดว่าไม่ส่งผลกระทบแน่นอน”

    เมื่อถามว่า ในการเดินทางไปต่างประเทศ อาจจะมีสื่อต่างชาติถามเรื่องนี้ ทำให้นางสาวแพทองธาร ตอบทันทีว่า “ยินดีตอบแน่นอนค่ะ”

    ถามอีกว่า ประเด็นนี้จะกระทบภาพลักษณ์ของนายกฯ หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ไม่เกี่ยวนะคะ เพราะการจะเดินสายในเวทีโลก ต้องการเอาสินค้าประเทศไทยไปขาย ต้องการเปิดตลาดให้คนไทยมีโอกาสมากขึ้น มีทางหารายได้เข้าประเทศมากขึ้น เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยเรื่องการสร้างรายได้ใหม่ๆ ด้วย”

    “ฉะนั้น soft power สินค้าเกษตร Food Security ทุกอย่างคือประเด็นที่อยู่ในหัว หนึ่งสองสามสี่ เพื่อจะไปคุยกับทุกประเด็นเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับประเทศเรา” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    เตรียมตัวไม่ทัน ขอ ป.ป.ช.ขยายเวลาแจงทรัพย์สินอีก 30 วัน

    ผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุการขอขยายเวลายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกไปอีก 30 วัน โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ทำไมถึงขยายเวลาหรอคะ…เตรียมไม่ทัน งานทุกอย่างเข้ามารุมเร้ามาก อย่างที่บอก ในเรื่องของการแจงทรัพย์สิน มันต้องแจงอยู่แล้ว ขอขยายเวลา เพราะจะทำให้ละเอียดขึ้นและครบถ้วนขึ้น ทางครอบครัวต้องช่วยกันด้วย”

    เมื่อถามถึงการจัดการเรื่องหุ้นว่าได้มีการโอนหรือขายไปหรือยัง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “มีการจัดการแล้ว มีการจัดการทุกอย่าง เราต้องเอาเรื่องข้อกฎหมายมาดูเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ทางที่บ้าน ทางสามี พี่สาว ก็ช่วยดูเรื่องนี้กับกฎหมายเทียบกัน”

    เมื่อถามต่อว่าโอนหรือขายให้ใคร และอย่างไร นางสาวแพทองธาาร ตอบว่า “เดี๋ยวขอให้ Detail ทีหลังละกัน ขอยังไม่ตอบเรื่องนี้”

    เล็งตั้ง ‘JTC’ เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาใน 2 สัปดาห์

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ว่าได้เข้าที่ประชุม ครม. หรือไม่ โดยนางสาวแพทองธาร ตอบว่า เรื่องนี้ยังไม่เข้า ครม. วันนี้ แต่คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะเข้า ครม.

    นางสาวแพทองธาร กล่าวถึง MOU 44 ว่า “MOU ที่พูดไปเมื่อวาน (4 พ.ย.) มันต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อจะเจรจา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ เราต้องมีคณะกรรมการแน่นอน ทุกรัฐบาลมีมาแล้ว และรัฐบาลนี้ยังตั้งไม่เสร็จ ถ้าตั้งเสร็จปุ๊ป ก็ตั้งไว้เพื่อมีคำถามหรือมีการต้องสื่อสารกับประชาชนภายในแต่ละประเทศอย่างไร คณะกรรมการนี้จะกรองข้อมูลและการสื่อสารก่อน ฉะนั้นต้องตั้งแน่นอน ไม่ได้จะลุยหรืออะไร แต่เราต้องตั้งไว้เพื่อการเจรจากัน อันนี้ไม่อยากจะพูดฝ่ายเดียว เพราะเป็นเรื่องของสองประเทศ”

    เมื่อถามว่า ในคณะกรรมการชุดนี้ จะให้รองนายกฯ ท่านไหนเป็นประธาน ทำใหนางสาวแพทองธาร หัวเราะเบาๆ และตอบว่า “เดี๋ยวขอบอกทีเดียวเลยละกัน”

    พร้อมหารือ ‘ไอติม’ ถกแก้ รธน. ชี้รีบเกินไป หวั่นถูกฟ้อง

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงการแก้รัฐธรรมนูญ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อ๋อ ให้หารือ รับฟังอยู่แล้ว มีอะไรก็ตั้งคณะคุยกันหรือคุยกันเป็นทางการ เป็นกิจลักษณะได้”

    ถามต่อว่า ได้มีการส่งหนังสือขอเข้าพบหรือยัง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ไม่มีนะคะ ได้ยินจากทางสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก”

    ถามย้ำว่า ถ้าติดต่อมา จะให้มาเจอตัวเลยหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ได้ค่ะ ไม่ติดอยู่แล้ว”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า การแก้รัฐธรรมนูญอาจจะไม่ทันในรัฐบาลสมัยนี้ จึงอยากขอความร่วมมือจากนายกฯ ทำให้ นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า “อันนี้เราก็ต้องทำในส่วนที่ทำได้และถูกต้อง เพราะถ้ามันระยะยาวไปจะมีปัญหาภายหลัง เพราะมาอยู่ตรงนี้เองก็ทราบปัญหาต่างๆ เยอะ ถ้าเรารีบใน Process เกินไป นอกจากจะไม่ได้ผลลัพธ์แล้ว ระหว่างทางจะโดนฟ้องกันด้วย ต้องช่วยกันดูนิดนึง”

    เมื่อถามว่าธงของรัฐบาลคือการแก้รัฐธรรมนูญในสมัยนี้หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นให้ครบ ต้องคุยกันว่าไทม์ไลน์จะเอาอย่างไรบ้าง ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้อยู่แล้วในการต้องมาพูดคุยกัน และเก็บหมวด 1 และ 2 เป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกพรรคร่วมมือกัน”

    เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่ารัฐธรรมนูญหมวดใดเป็นอุปสรรคมากที่สุด นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ถามอย่างนี้มันก็จะเปิดการโต้แย้งไปนิดนึง แต่แน่นอนเราก็ต้องพยายามทำให้มันเอื้อต่อประชาธิปไตยและพี่น้องประชาชนมากที่สุด ขอตอบกว้างๆ แบบนี้ละกันนะ”

    ชูโมเดล ‘หนองวัวซอ’ ต้นแบบการพัฒนาที่ดินหลวง

    ด้านนายจิรายุ รายงานข้อสั่งการว่า นายกฯ กล่าวในที่ประชุม ครม. วันนี้เรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากยังไม่มีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันภาครัฐมีที่ดินในความรับผิดชอบที่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้ จึงขอสั่งการ ดังนี้

      1. กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และเหมาะสม รวมทั้งเร่งดำเนินการให้สามารถนำที่ดินของรัฐมาสร้างที่อยู่อาศัย โดยกรรมสิทธิ์เป็นของรัฐ

      2.ให้คณะทำงานที่จะนำผลการศึกษาข้างต้นตามมติ ครม. วันที่ 18 มิถุนายน 2567 เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์มาประกอบการพิจารณาด้วย

    “รัฐบาลที่ผ่านมาของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้มีการจัดทำพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ของกองทัพเรือ กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองบัญชาการกองทัพไทย ตัวอย่างเช่น หนองวัวซอโมเดล ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ของกระทรวงกลาโหมเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีที่ดินในครอบครอง” นายจิรายุ กล่าว

    ดึงเอกชนตั้งศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนที่ก้าวพลาด

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงในที่ประชุม ครม. ว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชน หรือ เอกชนไปจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเด็ก และเยาวชนที่ก้าวพลาดในคดีเด็กและเยาวชน

    “การผ่านกฎหมายฉบับนี้ ทำให้เอกชนช่วยแบ่งเบาภาระ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ย้ำว่าคุณภาพต้องได้มาตรฐานและจะมีการตรวจเช็ค” นายจิรายุ กล่าว

    เปิดตัว ‘คารม – ศศิกานต์’ รองโฆษกรัฐบาล

    นอกจากนี้ ในการแถลงข่าวของคณะโฆษกฯ วันนี้ ยังมีการเปิดตัว นายคารม พลพรกลาง และนางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดย นายคารม เริ่มจากกล่าวทักทายสื่อมวลชนและประชาชน พร้อมกับขอบคุณนายอนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคภูมิใจไทย รวมถึงกล่าวขอบคุณนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้ให้โอกาสทำงานอีกครั้ง

    นายคารม กล่าวต่อว่า “โดยข้อเท็จจริง ผมเริ่มชีวิตการเมืองจากพรรคไทยรักไทย ทำงานกับท่านทักษิณมาตั้งแต่ปี 2542 ตอนเป็นเด็กๆ…ในการเข้ารับตำแหน่งรองโฆษกฯ ครั้งนี้ ร่วมกับท่านจิรายุ ก็มีความดีใจ และขอบคุณทางรัฐบาลที่ให้โอกาส”

    “การเป็นรองโฆษกฯ มีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล พูดคุยกับประชาชนให้เข้าใจถึงเหตุการณ์บ้้านเมือง และสื่อสารประชาสัมพันธ์” นายคารม กล่าว

    “11 เดือนที่ผ่านมาที่ได้ทำงานกับสื่อมวลชน มีประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม และได้ความรู้ต่างๆ ครั้งนี้จะกลับมาทำหน้าที่รองโฆษกฯ ให้ดีกว่าเก่า สิ่งใดที่สามารถให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนได้ จะทำหน้าที่ประสานงานให้ข้อเท็จจริงด้วยความเข้าใจและจริงใจในการทำให้ประชาชนเข้าใจนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล” นายคารม กล่าว

    นายคารม ยังกล่าวขอบคุณนายจิรายุ และย้ำว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานร่วมกันหลังจากที่เคยเป็นฝ่ายค้านและรัฐบาล และในครั้งนี้จะทำเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ขอให้สื่อมวลชนให้โอกาสการทำงานในรัฐบาลนี้

    มติ ครม.มีดังนี้

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกฯ และนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ทุ่มงบฯ 2,553 ล้าน เยียวยาน้ำท่วมเพิ่มอีก 8 โครงการ

    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์อุทกภัย รัฐบาลได้ตั้ง ศปช. และศปช.ส่วนหน้า และก่อนหน้านี้ได้มีข้อสั่งการให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม กลับไปพิจารณาว่าจะมีอะไรเพิ่มเติมนอกจากที่ ครม. อนุมัติไปก่อนหน้านี้ และในที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 กรอบวงเงิน 2,553,009,800 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญของเรื่องดังนี้

      1. มติศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เห็นชอบในหลักการ กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 3,286.6016 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับข้อสังเกตจากที่ประชุม ศปช. ที่ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาการใช้งบประมาณเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก ฟื้นฟูเกษตรกรรมที่ประสบอุทกภัยในระยะเร่งด่วนหลังน้ำลด และระยะต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ และนำเสนอเข้า ครม. ทั้งนี้ ขอให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางพิจารณาในรายละเอียดแผนงาน/โครงการ ตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

      2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพิจารณาพื้นที่เป้าหมายจากข้อมูลพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 8 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,553.0098 ล้านบาท เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

    วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 ให้สามารถทำการผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย ให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้และผลผลิตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะเวลาอันสั้น

    ประโยชน์และผลกระทบ : เพื่อสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ให้สามารถทำการผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย ให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้และผลผลิตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะเวลาอันสั้น

    ปลื้มหนี้สาธารณะยังไม่ทะลุ 70% สิ้น ส.ค.มีสัดส่วนแค่ 64% ของ GDP

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานสถานะของหนี้สาธารณะตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    1. สถานะของหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 มีจำนวน 11,728,149.06 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 64.02 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ [Gross Domestic Product (GDP)] ซึ่งยังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 70 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

    2. พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดสัดส่วน เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ประกอบด้วย (1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 70 (2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณไม่เกินร้อยละ 35 (3) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 10 และ (4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ไม่เกินร้อยละ 5 ทั้งนี้ สถานะสัดส่วนหนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 อยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนด และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ โดยแสดงให้เห็นว่า การก่อหนี้และการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐกระทำด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้การกระจายภาระการชำระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    หมายเหตุ : พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 51 กำหนดให้ กค. รายงานสัดส่วนหนี้ตามมาตรา 50 ที่เกิดขึ้นจริงต่อคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนมีนาคมและกันยายนของทุกปี

    3. การกู้เงินของรัฐบาล แม้จะทำให้มีหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกู้เงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วางรากฐานการพัฒนา สร้างรายได้ และเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคม สาธารณูปการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ เพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอย่างต่อเนื่อง

    ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ นอกจากนี้ กค. ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและการดำเนินมาตรการทางการคลัง รวมทั้งการชำระหนี้อย่างเคร่งครัด และครบถ้วนตามกรอบการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ

    กำหนดค่าเก็บขยะให้ท้องถิ่น ต่ำสุด 35 บาท สูงสุด 102 บาท/ด.

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้พิจารณาตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    เนื่องจากการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศโดยมีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในภาพรวมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยโดยออกข้อบัญญัติ หรือ เทศบัญญัติ ซึ่งใช้กรอบอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตหนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือ มูลฝอย พ.ศ. 2559 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยส่งผลให้การบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังขาดกลไกทางกฎหมายที่ส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง และการส่งเสริมให้มีการจัดการมูลฝอยจนปราศจากมูลฝอย (zero waste) ณ แหล่งกำเนิด ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำสำหรับการเก็บ ขน กำจัดขยะมูลฝอยจากบ้านเรือน รวมทั้งไม่ได้กำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย สำหรับ 1) บุคคล 2) ชุมชน และ 3) หมู่บ้าน ที่สามารถคัดแยกสิ่งปฏิกูล หรือ มูลฝอยได้ตามที่กำหนด และเพื่อให้องค์กรปกครองถิ่นมีงบประมาณเพียงพอในการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    กระทรวงมหาดไทย จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้มาเพื่อดำเนินการโดยอาศัย อำนาจตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยได้ปรับแก้ไขจากร่างกฎกระทรวงที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มีนาคม 2560) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในการเก็บค่าธรรมเนียมในการเก็บ ขน และยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอย โดยจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงปริมาณสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ระยะเวลาการจัดเก็บ ลักษณะการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูล และมูลฝอย รวมทั้งต้นทุนและความคุ้มค่าในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ซึ่งเปรียบเทียบกับอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่ผ่านมา สรุปดังนี้
    1.1 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่ราชการท้องถิ่นมีหน้าที่ออกข้อกำหนดของท้องถิ่นให้เอกชนดำเนินการแทน ต้องไม่เกินอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้

    1.2 กำหนดค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ของส่วนราชการท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่ราชการท้องถิ่นมอบหมายให้ดำเนินการแทน (กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำและกำหนดหลักเกณฑ์ปริมาณมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูลใหม่) ดังนี้

    1.3 กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย สำหรับ 1) บุคคล 2) ชุมชน และ 3) หมู่บ้าน ที่มีการจัดการปริมาณสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยจนปราศจากสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย หรือ พื้นที่ในห้วงเวลาที่ได้มีประกาศเป็นเขตช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

    1.4 กำหนดวันใช้บังคับของร่างกฎกระทรวงฯ ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี (แก้ไขจาก 180 วัน) นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมการออกข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่

    2. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายที่แท้จริง และส่งผลให้การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยมีประสิทธิภาพ และสิ่งแวดล้อม อันจะทำให้ประชาชนมีสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566

    อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้แล้ว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาจัดทำกฎหมายลำดับรอง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 (ครบกำหนดในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเร่งการดำเนินการร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ให้ทันภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567

    เผยนายกฯบิน ‘คุนหมิง’ ประชุมสุดยอดผู้นำอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง พรุ่งนี้

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

    1. เห็นชอบ ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ครั้งที่ 10 (Vientiane Declaration of the 10th Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) (ร่างปฏิญญาเวียงจันทร์ฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

    2. ให้นายกรัฐมนตรี หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ ตามที่ประเทศสมาชิกมีฉันทามติ ในการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 10

    สาระสำคัญ

    ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ครั้งที่ 10 (ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ) ซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประธานของ ACMECS มีกำหนดจัดการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเพื่อการรวมตัวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งต่อเนื่องกับการประชุมสุดยอดผู้นําแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion: GMS) ครั้งที่ 8 โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ เช่น (1) สนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS (2) ยินดีต่อความสำเร็จของการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ณ กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย (3) การขยายระยะเวลาดำเนินการของแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 – 2023) (4) การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 11 ในปี ค.ศ. 2026 ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่ง กต. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 1778 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    ประโยชน์ที่จะได้รับ : การรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา รวมถึงเน้นย้ำบทบาทหลักของไทย ในการผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบันของอนุภูมิภาคฯ และสนับสนุนความเข้มแข็งของอาเซียน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง และความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และประเด็นความท้าทายรูปแบบใหม่อื่น ๆ เช่น ประเด็นปัญหาข้ามพรมแดน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในอนุภูมิภาค

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ย.2567) นายกฯ จะเดินทางไปนครคุณหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหมาดไทย, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อไปประชุมสุดยอดผู้นำอิรวดี – เจ้าพระยา-แม่โขง ตั้งแต่วันที่ 6 – 7 พฤศจิกายน 2567 โดยมีประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชาและจีน

    นายจิรายุ กล่าวถึงสาระสำคัญของการประชุมดังกล่าว ประกอบด้วย เรื่องอาชญากรรมข้ามแดน การบริหารจัดการน้ำ การท่องเที่ยว พลังงาน การเกษตร และการคมนาคมที่จะเชื่อมโยงพื้นที่ในลุ่มน้ำแม่โขง เจ้าพระยาและอิรวดี

    ตั้ง ‘ บิ๊กรอย’ กุนซือ ‘ภูมิธรรม’ – ‘คารม – ศศิกานต์’ รองโฆษกรัฐบาล

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรง ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางเพลินพิศ โพธิสัตย์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านข้อมูลข่าวสารของราชการ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย)
      2. นายคารม พลพรกลาง ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
      3. นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางลาลีวรรณ กาญจนจารี และนายนิยม เติมศรีสุข เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว

    4. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 11 ราย ดังนี้

      1. พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
      2. พลตำรวจตรี สุรสิทธิ์ สังขพงศ์
      3. นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม
      4. นายนิยม เวชกามา
      5. นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา
      6. นายเอกพร รักความสุข
      7. นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ
      8. นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา
      9. นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ
      10. นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์
      11. นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว

    5. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอาหารแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ จำนวน 7 ราย เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้

      1. ศาสตราจารย์พิเศษภักดี โพธิศิริ ด้านคุณภาพอาหาร
      2. นางอรทัย ศิลปนภาพร ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร
      3. นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ด้านความมั่นคงด้านอาหาร
      4. นายสุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ด้านอาหารศึกษา
      5. นายโกมล จิรชัยสุทธิกุล ด้านกฎหมาย
      6. นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ด้านเศรษฐกิจและการค้า
      7. นายวันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ด้านการบริหารจัดการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เพิ่มเติม