
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในฐานะตัวกลางในการจัดสรรทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาเครื่องมืออำนวยความสะดวก ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และร่วมสร้างเครือข่ายบุคลากรที่ทำงานด้านความยั่งยืนให้มากขึ้น
ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินการเพื่อให้บริษัทจดทะเบียน action ในมิติ SDGs ภายใต้กรอบ ESG มาอย่างต่อเนื่อง ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงพัฒนาการด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าที่ผ่านมาได้ทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อก่อนเราอาจจะไม่เรียกว่าความยั่งยืนเหมือนที่เรารู้จักในปัจจุบัน เช่น การส่งเสริมการมีบรรษัทภิบาล หรือ corporate governance ทางตลาดหลักทรัพย์ร่วมกับหลายหน่วยงานมาตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ยกระดับความเชื่อมั่นเรื่องการบริหารจัดการของบริษัท โดยได้จัดตั้งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ทำในเรื่องของการให้รางวัลบริษัทที่มีบรรษัทภิบาลดี ทำเรื่องของ CGR rating ร่วมกับสถาบัน IOD
“ต่อมาถึงยุคที่บริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR (corporate social responsibility) เราก็ทำในเรื่องนั้นเช่นกัน แต่มุมมองในปัจจุบัน มีการเอาเรื่องความยั่งยืนเข้ามาฝังอยู่ในการทำงานของบริษัท อยู่ในกลยุทธ์ของบริษัท อยู่ในเรื่องของการที่ทำให้เป้าหมายของบริษัทไม่ใช่แค่เรื่องของกำไร แต่เป็นเป้าหมายที่มีความสมดุลระหว่างกำไร สิ่งแวดล้อม คน และชุมชน ก็คือเรื่องของ “ESG” (environment,social,governance) เรื่อง ESG ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีขอบข่ายกว้างขึ้น มีตัวชี้วัด และก็เป็นกระแสหลักมากขึ้น”
สร้างความตระหนักรู้-เครื่องมือเอื้ออำนวยความสะดวกทำ “ESG”
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เอื้ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้บริษัทตระหนักรู้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง awareness จัดอีเวนต์สัมมนาต่างๆ เอา practice ต่างๆ เข้าไปสื่อสารให้คณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนรับทราบว่าคณะกรรมการสามารถมีบทบาทในเรื่องความยั่งยืนได้อย่างไร รวมทั้งการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานในการทำเรื่อง ESG ให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
“เราทำคู่มือไกด์บุ๊กให้บริษัทสามารถรู้ว่าขอบข่ายที่บริษัทสามารถทำได้หรือกิจกรรมที่สามารถทำได้มีอะไรบ้าง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เชิดชูบริษัทที่ทำเรื่องนี้ได้ดีผ่านการให้รางวัล แล้วก็เอาตัวอย่างงานของบริษัทที่ดีทำมาเป็น best practice ให้บริษัทอื่นสามารถเอาไปพิจารณา ทำได้ และเรายังมีการช่วยบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัท ให้สามารถเอาผลงานตัวเองเข้าไปอยู่ในระดับโลก เช่น DJSI, MSCI, หรือ FTSE4Good”
ขณะเดียวกัน จากภาระการรายงานข้อมูลความยั่งยืนมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการรายงานข้อมูลตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ของโลก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำแพลตฟอร์มการรายงานข้อมูลการลงทุน เรียกว่า “SET ESG Data Platform” เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สามารถรายงานข้อมูลครั้งเดียว แต่สามารถเอาไปใช้ได้ในหลายงาน ทั้งในการรายงานกับสำนักงาน ก.ล.ต. การทำเครดิตเรตติ้งของบริษัท และการประชาสัมพันธ์ให้ตัวบริษัทเอง
“การทำรายงาน ESG ทำให้เห็นข้อมูลความยั่งยืนที่เขาทำด้าน ESG เมื่อเทียบกับอดีต เมื่อเทียบกับคู่เทียบที่เป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกรรมเดียวกัน”
“เมื่อเจาะลึกลงไปเรื่องการรายงานคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็น pain point อันหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯอยากทำตัวเป็นตัวช่วย จึงได้ทำ “SET Carbon Calculator” หรือเครื่องคิดเลขคาร์บอน ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้บริษัทจดทะเบียนวัดการปล่อยคาร์บอนได้สะดวกยิ่งขึ้น”
โดยในปี 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดให้บริษัทหลายๆกลุ่มใช้เครื่องคิดเลขคาร์บอนแล้วจำนวน 20 บริษัท และในปี 2568 จะเปิดให้ใช้เป็นการทั่วไปมากขึ้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ตลาดพยายามทำให้บริษัทเห็น best practice และช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทจดทะเบียนในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งการรายงานข้อมูล การคำนวณคาร์บอน เป็นต้น
“ในปีนี้ที่เราให้เป็นโครงการนำร่อง 20 บริษัท เพราะอยากจะให้มั่นใจก่อนว่าเครื่องคิดเลขที่เราพัฒนานั้นมีสเปกต่างๆ ครบถ้วนหรือยังในทุกๆ สาขาของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วปีหน้าก็จะเปิดให้ใช้เป็นการทั่วไป รวมทั้งทำงานร่วมกับธนาคาร ปัจจุบันทำเอ็มโอยูแล้วก็คือเอ็กซิมแบงก์ เขาก็จะมาใช้ทั้งฐานของมูล ESG data รวมถึงเครื่องคิดเลข data ในการใช้คำนวณคาร์บอนและมิติอื่นๆ ของ ESG ในการปล่อยสินเชื่อที่เป็น sustainable loan ส่วนแบงก์อื่นๆ ก็กำลังคุยอยู่”

สร้าง Ecosystem ลดคาร์บอน
ดร.ศรพล ขยายความเรื่องการรายงานคาร์บอนเครดิตว่า สิ่งสำคัญคือจะต้องยกระดับทั้ง ecosystem ไปพร้อมๆ กัน โดยตลาดหลักทรัพย์ได้เอื้ออำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้าน ประเด็นแรก ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนรู้ว่าบริษัทปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ เพราะถ้าวัดไม่ได้ การดำเนินการต่างๆก็จะทำไม่ได้ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำ SET Carbon Calculator ให้บริษัทสามารถคำนวณได้
ประเด็นที่สอง พอรู้ว่าปล่อยเท่าไหร่แล้ว บริษัทจะลดได้อย่างไร ก็สามารถไปดู best practice ของบริษัทอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทาง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รวบรวมไว้เป็นโชว์เคส สามารถหาข้อมูลได้ พอรู้แล้วว่าปล่อยเท่าไหร่ ในส่วนการรายงานข้อมูล เรามีระบบให้บริษัทที่เขาทำเรื่อง ESG สามารถรายงานข้อมูลผ่านระบบ SET ESG Rating ได้
“ส่วนในเรื่องของการ verify โปรเจกต์ที่ลดคาร์บอน ปัจจุบันพบว่า verifier ของไทยยังมีจำนวนไม่มาก เท่าที่ทราบข้อมูลทั้งประเทศตอนนี้มี 155 คน เพราะฉะนั้น เรากำลังหารือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ว่าจะสามารถช่วยสร้างคอร์ส ช่วยสอบ เหมือนกับที่เราช่วยสร้างคอร์ส ช่วยจัดสอบให้กับใบอนุญาตต่างๆ ของ ก.ล.ต. ได้อย่างไร”
นอกจากนี้ ปีที่แล้ว เราได้จัดทำ “Standard Master Agreement” ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยจ้างบริษัทกฎหมายชั้นนำของโลกมาช่วยร่างให้ ถ้าบริษัท ก กับบริษัท ข จะซื้อขายข้อมูลคาร์บอนระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็น OTC หรือเป็น Exchange ถ้าใช้ Master Agreement ช่วยให้ง่ายขึ้น เพราะส่วนที่เหลือคือ commercial terms ซื้อขายอะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่
ส่วนข้อสัญญาอื่นๆ เหมือนกับเวลาเราจะซื้อขายรถยนต์ จะซื้อจะขายหรือเซ็นหนังสือมอบอำนาจ เราไม่ได้เขียนเอง มีเทมเพลตอยู่แล้ว ทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตง่ายขึ้น
ดร.ศรพลกล่าวต่อว่า เรื่องความยั่งยืนนั้นตลาดหลักทรัพย์ทำทั้งในทางกว้างและลึกขึ้นไปพร้อมๆ กัน เฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่แค่เรื่องคาร์บอนอย่างเดียว ยังมีเรื่องน้ำ เรื่องฝุ่น เรื่องขยะ ฯลฯ
โดยอธิบายในแง่ความลึกว่า เช่น เรื่องคาร์บอน ตอนนี้มุ่งในเรื่องของการคำนวณคาร์บอน แต่ยังมีมิติอื่นๆ เช่น มิติด้านซัพพลายเชน มิติด้านต่างประเทศ และด้านอื่นๆ ที่จะต้องทำในเชิงลึก คือเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) และสิทธิมนุษยชน (human rights)
“เรื่องของการรายงานก็มีความลึกแล้วก็กว้างขึ้นด้วย มันไปทั้งสองด้าน เมื่อก่อนเราจะได้ยินเรื่องของ TCFD (Task Force on Climate-related) ที่เกี่ยวกับเรื่อง Financial Disclosures คือในเชิงบัญชีมีโอกาสและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างไร คุณต้องเขียนลงในรายงานทางการเงิน ซึ่ง TCFD ก็ไม่ใช่เรื่องเดียว มีอะไรหลายอย่างที่เจาะลึกในแต่ละหัวข้อ แต่ความกว้างของมัน ตอนนี้ก็คือเริ่มมีเทรนด์ที่จะ consolidate กันมากขึ้น อย่าง IFRS (International Financial Reporting Standards) ก็เป็นมาตรฐานทางบัญชีของโลก เขาจะค่อยๆ เริ่มเอาเรื่องเหล่านี้เข้ามา consolidate กันเป็นรูปแบบของการรายงานทางการเงินที่ครบองค์มากขึ้น”
พร้อมให้รายละเอียดว่า “เราคงจะได้ยินในเรื่องนี้ที่เขาเรียกว่า IFRS S1 S2 อาจจะมี S3 ต่อกันไปเรื่อยๆ ตามแต่หัวข้อที่เขาให้ความสนใจ พวกนี้เป็นความท้าทายทั้งหมด เป็นของใหม่ทั้งนั้น ถามว่าบริษัทไทยจำเป็นต้องเข้าใจหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าต้องเข้าใจ เพราะเทรนด์มาแล้ว ต้องปรับตัวให้ได้ แล้วตลาดหลักทรัพย์ฯก็พร้อมเป็นคนที่ช่วยในเรื่องนี้ สร้าง awareness ลดต้นทุนของการทำได้ง่ายขึ้น”

ยกระดับการประเมิน ESG ร่วมกับ FTSE Russell
ดร.ศรพล กล่าวเสริมในเรื่องของ “ESG Rating” ว่าเป็นข้อมูลสำหรับนักลงทุนไปใช้ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ ในการตัดสินใจลงทุน การทำ ESG Rating แต่เดิมตลาดหลักทรัพย์ประกาศเป็น “THSI” (Thailand Sustainability Investment) หรือเป็นหุ้นที่ไม่ใช่ THSI เท่านั้น แต่ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ปรับให้ข้อมูลมากขึ้น แล้วเรียกใหม่ว่าเป็น “SET ESG Rating” เพราะมี rating เป็น AAA, AA, A, BBB นักลงทุนมีข้อมูลมากขึ้นในการตัดสินใจลงทุนได้
“แต่สิ่งที่เราประกาศไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คืออีก 2 ปีข้างหน้า เราจะไปสู่การร่วมมือกับ “FTSE Russell” ซึ่งเป็น global rater อยู่ในเครือ London Stock Exchange ในการยกระดับการประเมินจาก SET ESG Rating ไป FTSE อย่างเต็มรูปแบบ”
ปัจจุบัน SET ESG Rating ครอบคลุมกว่า 190 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนประมาณ 800-900 บริษัท แสดงว่าครอบคลุมประมาณ 1 ใน 4 และมีการประเมินแบบ volunteer-based คือบริษัทเป็นผู้ขอรับการประเมินเอง
“การประเมินในลักษณะปัจจุบัน คือพอเขาเข้ามาขอรับประเมินแล้ว เขาจะได้เซอร์เวย์กลับไป แล้วเขาจะไปตอบแบบเซอร์เวย์ เพราะฉะนั้น มันมี resource ที่บริษัทต้องใช้ในการตอบเซอร์เวย์ ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างมาก ยกตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพ บางปีบริษัทที่เขาทำ rating ได้ดีในปีก่อน กลับไม่มี rating ในปีปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก เพราะว่าผู้ที่ทำแบบประเมินเขาลาออก เพราะฉะนั้น ถ้าผมเป็นนักลงทุน สนใจในบริษัทนี้มี rating ดี แต่พอปีต่อไปไม่มี rating แล้ว หายไปได้ยังไง เกิดอะไรขึ้น เราไม่อยากให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เราต้องลดภาระในการที่บริษัทต้องมีคนมาทำการรวบรวมการตอบแบบคำถาม”
นอกจากนี้ข้อมูลบริษัทที่เปิด ESG rating ใน SET100 มี 35 บริษัทที่ไม่มี ESG rating อันนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่แปลก บริษัทขนาดใหญ่ควรจะมี ESG rating ให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ในการตัดสินใจได้ แต่เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าปัจจุบัน ESG rating ทำแบบ volunteer-based คือเขาต้องเดินเข้ามา บางบริษัทอาจจะไม่เห็นความสำคัญ ก็ไม่เข้ามาประเมิน
“พอการประเมินลักษณะเป็นเซอร์เวย์ ทำให้คนตั้งข้อสงสัยว่าถามอะไร ตอบอะไร ติ๊กเองรึเปล่า อยากเห็นคำตอบ จะไปดูคำตอบได้ที่ไหน คือผมเชื่อมั่นว่าเซอร์เวย์ที่เราทำละเอียดมาก ลึกมาก ใช้ third party ประเมิน เราไม่ได้ประเมินเอง แต่มันก็ไม่สามารถปิดข้อกังขาเหล่านั้นไปได้ ดังนั้น จึงเป็นเป็นจังหวะที่ดีที่เราไปใช้ ESG rating ในวิธีใหม่ของ FTSE โดยเขาจะประเมินจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ใช้คนและ AI มาช่วยเก็บข้อมูล คะแนนที่ตรวจเป็นคะแนนที่โปร่งใส FTSE มีตัวชี้วัดกว่า 300 ตัว แต่ละตัวชี้วัดบริษัทได้คะแนน ไม่ได้คะแนน หรือได้คะแนนแค่ครึ่งเดียว มาจากข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะที่ผู้ประเมินเห็นจากการเปิดเผย อาทิ ในรายงานประจำ หน้าที่เท่าไหร่ ในเว็บไซต์ หรือในลิงค์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งข้อดีของข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ พอมันอยู่ใน public space คนที่เห็นไม่ใช่แค่ผู้ประเมินอย่างเดียว ทุกคนเห็นหมด ประชาชน นักลงทุน ผู้กำกับดูแล บริษัทคู่แข่ง นักวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นบอกได้ อันไหนจริง อันไหนไม่จริง”
“เราก็ตั้งเป้าว่าทำกับ FTSE ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะให้ครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนให้ได้ถึง 400-450 บริษัท จากเดิมที่มี 190 กว่าบริษัท ซึ่งประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ market cap ที่นักลงทุนลงทุนแล้ว”
พร้อมให้ข้อมูลอีกว่า “ถามว่าแบบเดิมผิดไหม ไม่ผิดหรอก แบบเดิมเป็นช่วงที่เราตั้งไข่ เพราะแต่ก่อนมันไม่ได้มีข้อมูล public เยอะ เราจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงลึก แต่ปัจจุบันข้อมูลมันถูกเปิดเผยลึกขึ้น ทั้งจาก One Report จากเครื่องไม้เครื่องมือด้าน AI ในการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่หาข้อมูลได้ง่ายขึ้น ก็ถึงเวลาที่ปรับเป็นรูปแบบใหม่ จะได้ประโยชน์จากขอบเขตที่กว้างขึ้น คือจะมีข้อมูล rating บริษัทเยอะขึ้น ถามว่าบริษัทได้อะไร หนึ่ง เขาไม่ต้องเอาคนมานั่งตอบเซอร์เวย์แล้ว แต่เอาคนไปทำเรื่อง ESG เลย แล้วก็ให้ข้อมูลออกมาเป็น public ตอบ public ครั้งเดียวจบ อาจจะตอบผ่านแพลตฟอร์มเราก็ได้ สอง ความโปร่งใสที่นักลงทุนจะได้ ขณะที่ตัวบริษัทเองก็จะได้ข้อมูลของตัวเขาเองไปเปรียบเทียบกับคู่เทียบต่างๆ ว่าเขาทำด้านไหนดีกว่า แย่กว่า หรือมีจุดไหนที่ควรปรับปรุงอย่างไร”
นโยบายตลาดหลักทรัพย์ช่วยสร้างความตระหนักมากขึ้น
ดร.ศรพลกล่าวต่อว่า ในฝั่งของบริษัทจดทะเบียนเอง ปัจจุบันมีหลายบริษัทเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนได้ดีขึ้น โดยจากการรายงานสรุปของทีมงานความยั่งยืนตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า มีข้อมูลอีกจำนวนมากที่ทางสาธารณะยังไม่ค่อยได้ทราบ เช่น สิ่งที่ได้ดำเนินการไปในเรื่อง ESG บริษัทจดทะเบียนทั้งหมดประหยัดน้ำไปเท่าไหร่ ช่วยลดค่าไฟฟ้าไปเท่าไหร่ เป็นต้น
“หรือเรื่องของความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรที่มันโดดเด่น ตอนที่ผมอยู่ในคณะของ SET Sustainability Awards ก็เห็นหลายบริษัทมีตัวอย่างที่น่าสนใจ อย่างตัว S (social) เรื่องของการดูแลคนในชุมชนหรือในซัพพลายเชน บางบริษัทที่ทำวัสดุก่อสร้าง ก็ไปช่วยพัฒนาเรื่องคุณภาพช่าง หรือบริษัทจิวเวลรี่รับคนหูหนวกมาทำงานในโรงงาน เป็นต้น
แม้กระทั่งในสเกลเล็กๆ อย่างตลาดหลักทรัพย์เอง เรามีบริษัทลูกชื่อว่า SET SE ปัจจุบันก็ไปช่วย 2 วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนหนึ่ง ไปทำเรื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรมชาวนา ชาวสวน จากที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้วเผาเกิดมลภาวะ ให้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชพวกผักปลอดสารพิษ แล้วก็ไปขายกับร้านอาหาร โรงแรม อีกอันหนึ่งที่เราไปช่วยชื่อ “ครัวตั้งต้นดี” เขาเอาคนที่พ้นโทษจำคุกแล้วมาทำอาหาร
“หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเลยคือ พอมีแรงจูงใจจากภาครัฐ ในเรื่องการลงทุนในหุ้นไทย ESG เราก็เห็นบริษัทจดทะบียนเปิดข้อมูลคาร์บอนเยอะขึ้น เข้ามารับการประเมิน SET ESG Rating เพิ่มขึ้นเป็นร้อยบริษัท ถามว่าดีขึ้นมั้ย อย่างน้อย awareness ดีขึ้นมากบางทีคุยกับเพื่อนๆ เขาบอกอยากทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่รู้จะทำยังไง ผมก็บอกว่าเดี๋ยวส่งลิงก์ไปให้ คุณลองไปดูสิว่าเขาทำอะไร จริงๆ มันมีตัวอย่างที่ก๊อปปี้ได้ ก็บอกเขาเสมอว่าเรื่องดีๆ ก๊อปปี้ไปเลยไม่มีใครว่า เพราะเรื่องพวกนี้ยิ่งทำเยอะยิ่งดี เราอยู่ในโลกใบเดียวกัน”

Adaptation (อาจ) สำคัญกว่า Mitigation?
ดร.ศรพลกล่าวว่า “จริงๆ เรื่อง adaptation เราเห็นหลายบริษัทเริ่มปรับตัว อย่างเรื่องน้ำท่วม เห็นในข่าวโรงแรมหนึ่งน้ำไม่ท่วมเลย เขาทำเรื่องการป้องกันดีมาก หรือเรื่องของการ sourcing ซัพพลาย มันก็ต้องดูให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่ปรับเปลี่ยนไป
“ผมว่า adaptation เผลอๆ อาจสำคัญกว่า mitigation อีก เพราะว่าโลกร้อนมันคงร้อนขึ้น”
ดังนั้น ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ เราจะโฟกัส adaptation มากขึ้น เพราะ mitigation ตอนนี้มีคนพูดเยอะแล้ว หลักๆ เราจะผลักดันเรื่อง awareness เรื่อง guidance ใครทำอะไรที่ดีที่สุดในโลกเราต้องมาโชว์เคส
ยกระดับเป็นตลาดหุ้น “Net Zero”
ดร.ศรพล เล่าว่า อีกส่วนหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ทำอยู่ก็คือการทำแผน “net zero” โดยทำมาได้หนึ่งปีแล้ว ซึ่งต้องเรียนว่าเราเป็น 1 ใน 10 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ได้ยื่น commit แผน net zero ให้กับ Science Based Targets initiative (SBTi) หลังจากยื่นไปแล้ว เราจะมีเวลาประมาณ 2 ปี ในการโชว์ว่าแผนทำได้จริง แล้วให้เขาตรวจ ซึ่งคาดว่าน่าจะยื่นแผนได้ในช่วงต้นปีหน้า
“ทั้งนี้ ตัวอย่างแผนของเรามีหลายเรื่อง เช่น เรื่องของตึกเป็น green energy ยังไง การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ จะเป็น green procurement ยังไง การใช้รถจะสามารถเปลี่ยนเป็นอีวีได้อย่างไร เมื่อไหร่ หรือการคุยกับ major suppliers ที่ผ่านมาผมกับทีมงานก็เดินสายคุยกับซัพพลายเออร์ของเรา หนึ่งในซัพพลายเออร์ของเราก็คือไปรษณีย์ไทย เพราะเวลาตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเรียกประชุม ส่งหนังสือ หรือส่งอะไรต่างๆ มันเป็นกระดาษทั้งนั้น เราจะลดกระดาษได้ยังไง เราจะลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ใช้รถน้ำมันในการขับไปส่งได้อย่างไร ก็ไปคุยกับเขา อันนั้นก็รวบรวมมาทำเป็นแผนที่ทำได้จริงในการลดตัวคาร์บอนให้ได้ตามเป้า ซึ่งถ้าในปีหน้า แผนเราได้รับ ตอบรับ ซึ่งก็หวังว่าจะได้รับยอมรับ เราก็จะเป็น 1 ใน 2 ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ได้รับยอมรับ ก็เป็นเป้าอันหนึ่งที่เราตั้งใจไว้ โดยในแผนจะเขียนเป็นเป้าหมายชัดเจนเลยว่าปี 2030 จะ achieve อะไร ปี 2050 จะ achieve อะไร”
ดร.ศรพลยอมรับว่า “เรื่อง net zero พอตลาดมาทำเอง เราก็รู้แล้วว่ามันยาก แต่เราก็เข้าใจขึ้นเยอะจากการที่เราทำเอง อย่างแรกเลยคือมันไม่ใช่แค่หน่วยงานความยั่งยืนจะทำกันเองในแต่ละองค์กร มันต้องเป็นทั้งองค์กร เช่น เรื่องประหยัดไฟ มันไม่ใช่แค่หน่วยงานเดียว แต่คือบุคลากรทุกคน ตอนนี้ตลาดส่งเสริมในการสร้างคน ESG DNA ให้ประกาศนียบัตรบริษัทที่เขาเอาพนักงานเกินกว่า 70% มาอบรมเรื่อง ESG ออนไลน์กับเรา เพราะเรารู้ว่าเรื่อง ESG เป็นเรื่องของทุกคน จำเป็นต้องการสร้างความตระหนักรู้ สร้างวัฒนธรรมในองค์กร”
ความท้าทาย “ESG” ในอนาคต
ดร.ศรพลกล่าวถึงความท้าทายเรื่อง ESG หลังจากนี้ว่า “ความท้าทายแรกในภาพรวม ผมมองว่าบริษัทไทยเก่ง แล้วก็มีบริษัททอปๆ ทำเรื่อง ESG ได้ดีมาก ถือว่าเป็นเวิลด์คลาสเลย แต่ความท้าทายหลักๆ คือจะชักชวนบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่อยู่ในซัพพลายเชนเข้ามายังไง ซึ่งการที่บริษัทใหญ่ทำได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขามีทรัพยากร อีกส่วนหนึ่งคือความจำเป็น เพราะว่าบริษัทพวกนี้ค้าขายกับต่างประเทศ ต้องทำ เพราะฉะนั้น ตลาดหลักทรัพย์จะปลดล็อกในการเข้าถึงการทำ ESG โดยทำเครื่องไม้เครื่องมือบางอย่างที่จะช่วยทำให้ต้นทุนของการทำ ESG มันลดลง เช่น เครื่องคิดเลขคาร์บอน ที่กล่าวมาข้างต้น
“หนึ่งในรางวัลของ SET Sustainability ที่เราเพิ่มขึ้นเป็นหัวข้อพิเศษใน 2 ปีที่ผ่านมาคือเรื่องของ Sustainable Supply Chain Award เราให้รางวัลบริษัทจดทะเบียนที่ดูแลซัพพลายเชนของตัวเอง เพราะท้ายที่สุดแล้ว เรื่องคาร์บอนของซัพพลายเชนที่ปล่อย มันก็นับรวมเป็นคาร์บอนของบริษัทแม่อยู่ดี โดยเฉพาะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยคำนวณให้บริษัทขนาดใหญ่เขาดูแลซัพพลายเชน”
ความท้าทายที่สอง คือเรื่องใหม่ๆ ที่จะเข้ามานอกจากเรื่องคาร์บอนแล้ว หลายวงเริ่มโฟกัสเรื่อง biodiversity และเรื่อง human rights due diligence เป็นอีกสองเรื่องที่คิดว่าคงจะเข้ามาในอีกไม่ช้า ตอนนี้เริ่มมีความ quantifiable คือวัดได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีแนวโน้มที่จะนำมาเป็นตัวชี้วัด นับเป็นอีกความท้าทาย
ความท้าทายอันที่สามคือ เรื่องกฎระเบียบต่างๆ ทั้งไทยและโลก เริ่มมีมากขึ้น มาตรฐานการรายงานความยั่งยืนเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรให้สามารถรายงานครั้งเดียวแล้วใช้ได้หลายงาน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราทำ ESG Data Platform กรอกข้อมูลครั้งเดียว ใช้ได้หลายงาน แต่เทรนด์มันเปลี่ยนเร็วมาก ต้องตามให้ทัน

4 ปัจจัยช่วยไทยพร้อมรองรับความยั่งยืน
ดร.ศรพลกล่าวเสริมด้วยว่า โดยส่วนตัวมองว่า 4 ปัจจัยที่น่าจะทำให้ประเทศไทยพร้อมในเรื่องของการรองรับความยั่งยืน ปัจจัยแรกที่สำคัญคือเรื่อง awareness ไม่ใช่แค่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น แต่เป็น awareness ในเชิงของทัศนคติด้วยว่าเราทำได้ บริษัทเล็กก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องของบริษัทใหญ่ถึงจะทำเรื่องนี้ได้ แล้วก็เราสามารถสร้างความแตกต่างเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น
ปัจจัยที่สอง คือเรื่องความชัดเจนของกฎเกณฑ์กติกาทั้งโลกและไทย เรื่องไหนเป็นเรื่องที่ต้องทำ มาตรฐานไหนควรจะไปใช้ในการรายงาน กฎเกณฑ์การรายงาน เรื่องภาษี เรื่องอะไรต่างๆ คือกฎเกณฑ์ยิ่งชัดเท่าไหร่ การปรับตัวมันจะง่ายขึ้น
ปัจจัยที่สาม เรื่องของต้นทุนในการทำ อันนี้ได้พูดไปแล้วข้างต้น บางทีเรารู้แล้ว ทุกอย่างชัดแล้ว แต่ทำไม่ไหว ถ้ามันสามารถลดต้นทุนดำเนินการได้ เช่น ตลาดหลักทรัพย์เราพยายามทำหน้าที่เป็นคนสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางเรื่องการรายงานข้อมูล เขาไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน เป็นการลดต้นทุน หรือการสร้างคน verifier จะได้ไม่เป็นคอขวดที่ทำให้การประเมินคาร์บอนใช้เวลานาน
ปัจจัยที่สี่ น่าจะเป็นเรื่องของคน ที่ทำในด้านความยั่งยืนจริงๆ ยังมีไม่มาก ตอนนี้ดีมานด์ทุกบริษัทต้องการทำในเรื่องนี้หมด แต่จำนวนคนยังไม่พอ อาจจะต้องเร่งผลิตคนในสาขา ESG มากขึ้น
ดังนั้น 4 ข้อนี้ ถ้ามันเกิดขึ้น เราก็น่าจะขับเคลื่อน ESG ของไทยได้สำเร็จ หากทุกคนมีความตระหนักรู้ว่าฉันทำได้ ไม่ต้องรอบริษัทใหญ่ๆ หรือประเทศยุโรปทำไปคนเดียว