รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา “ทาทา กรุ๊ป” ของอินเดีย ประกาศการเสียชีวิตของ “ราตัน ทาทา” อดีตประธานทาทา กรุ๊ป ด้วยวัย 86 ปี คนอินเดียแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ราตัน ทาทา เนื่องจากเขาเป็นนักวิสัยทัศน์ ที่เปลี่ยนกลุ่มธุรกิจครอบครัว จากที่เคยเน้นตลาดภายในอินเดีย มาสู่การเป็นบริษัทของโลก ตลอดจนชื่นชมบุคลิกภาพ การเป็นคนสุภาพแบบสมัยเก่า และการอุทิศทุ่มเทให้กับงานสาธารณกุศล
ทาทา กรุ๊ปเติบโตขึ้นมาจากบริษัทการค้า ที่ตั้งขึ้นในปี 1868 หรือเมื่อ 156 ปีมาแล้ว โดย จามเซตจิ ทาทา (Jamsetji Tata) ปู่ของราตัน ทาทา ครอบครัวทาทามาจากชุมชนชาติพันธุ์เรียกว่า “ปาร์ซี” (Parsi) ในอินเดีย สืบเชื้อสายจากพวกเปอร์เซีย ทาทา กรุ๊ปเป็นบริษัทแรกที่ตั้งโรงงานเหล็กกล้าในอินเดีย ต่อมาขยายอาณาจักรธุรกิจ โดยเข้าซื้อและเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่สุดในอังกฤษ เช่น Tetley Tea รถยนต์ Jaguar และ Land Rover และล่าสุดกลับคืนเป็นเจ้าของ Air India ที่ทาทา กรุ๊ปตั้งขึ้นมาในปี 1932 ชื่อ Tata Airlines ทาทา กรุ๊ปมีรายได้ปีหนึ่งมากกว่า 165 พันล้านดอลลาร์

ตำนานต้นกำเนิด “ทาทา”
หนังสือชื่อ The Greatest Company in the World? The Story of TATA เขียนไว้ว่า จามเซตจิ ทาทา (1839-1904) ผู้ก่อตั้งบริษัททาทา คือตัวอย่างนักธุรกิจที่มีความรับผิดชอบอย่างแท้จริง โดยมองว่าธุรกิจที่เขาดำเนินงานอยู่ คือเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลุ่มลึก ในทางบวก และอย่างยั่งยืน เขาตั้งบริษัทขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อหากำไรหรือสร้างความมั่งคั่งแก่ตัวเอง แต่ยังต้องการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนอินเดีย สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวทางธุรกิจของกลุ่มทาทา
ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียคนแรก ยกย่องจามเซตจิ ทาทาว่าคือ “หนึ่งในผู้ก่อตั้งอินเดียสมัยใหม่” เป็นทั้ง “ผู้มีวิสัยทัศน์” และ “ผู้สร้างชาติ” เขาเป็นนักธุรกิจที่พูดจาสุภาพ มีจิตใจที่เห็นอกเห็นใจ ถ่อมตัว และมีความมุ่งมั่น บุคลิกลักษณะดังกล่าวถ่ายทอดมาถึงรุ่นลูกหลานของเขา
ทุกวันนี้ พันธกิจบริษัทต่างๆของทาทายังคงชัดเจนเหมือนกับเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว สมัยที่จามเซตจิ ทาทาเริ่มเป็นผู้ประกอบการครั้งแรก
นอกจากจะสร้าง “ความหมาย” ที่ต่างออกไป ในสิ่งที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว จามเซตจิ ทาทา ยังให้ความหมายใหม่ของคำว่า “สาธารณกุศล” คนทั่วไปมักเอาเขาไปเปรียบเทียบกับนักการกุศลอเมริกัน เช่น Andrew Carnegie, J.P. Morgan และ John D Rockefeller แต่นักการกุศลอเมริกันเริ่มต้นที่การทำธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร หลังจากมั่งคั่งขึ้นมา ก็เริ่มคิดถึงการแบ่งปันความมั่งคั่งแก่คนในสังคม แต่บทบาทในช่วงหลังนี้ ก็ไม่สามารถลบล้างประวัติ การทำธุรกิจของคนเหล่านี้ ที่ประสบความสำเร็จจากการเอาชนะคู่แข่งขันในทุกๆรูปแบบ
ตรงกันข้าม จามเซตจิ ทาทา คิดถึงคนอื่นเป็นอันดับแรก บริษัทที่เขาสร้างขึ้นมา มีเป้าหมายเพื่อช่วยปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วให้ดีขึ้น รวมทั้งคนงานของเขาเอง สำหรับนักธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก การกุศลคือสิ่งที่เพิ่งจะมาเพิ่มขึ้นหลังจากประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว แต่สำหรับจามเซตจิ ทาทา การกุศลคือความคิดที่เป็นแรงขับเคลื่อนอยู่ในตัวเขา ที่มีมาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว

“คณะวางแผนเศรษฐกิจที่มีอยู่คนเดียว”
จามเซตจิ ทาทา เกิดเมื่อมีนาคม 1839 ที่เมือง Navsari เมืองที่มีอายุกว่าพันปีของรัฐคุชราต ชาวเปอร์เซียที่นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ (Zoroaster) ได้เข้ามาตั้งรกรากนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 บิดาของเขามาจากครอบครัวนักบวช แต่ตัดสินใจที่จะเป็นผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้ตัดขาดจากศาสนา ค่านิยมศาสนาของเขาได้ถ่ายทอดต่อมายังนักประกอบการรุ่นลูก โดยเฉพาะความคิดเรื่องภาระกิจ ที่จะช่วยคนอื่นหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก และการปรับปรุงชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้น
เมื่อเรียนจบจากวิทยาลัย Elphinstone เมืองบอมเบย์ จามเซตจิ ทาทา เข้าทำงานกับบริษัทการค้าของบิดา ที่ต่อมาล้มละลาย ในปี 1868 เขาตั้งบริษัทการค้าของตัวเองขึ้นมา ขยายธุรกิจสู่การตั้งโรงสีฝ้าย ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมของอินเดียขึ้นมา ทำให้เขาตั้งบริษัทต่างๆขึ้นมา เช่น โรงงานเหล็กกล้าทาทา โรงงานไฟฟ้าทาทา โรงแรมทัชมาฮาล และสถาบันวิทยาศาสตร์อินเดีย ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู เคยเรียกจามเซตจิ ทาทา ว่า “คณะกรรมการวางแผนเศรษฐกิจที่มีอยู่คนเดียว”
3 เป้าหมายของชีวิตธุรกิจ
หนังสือ The Greatest Company in the World กล่าวว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการสร้างโรงงานสีฝ้าย จามเซตจิ ทาทาคิดถึงธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและดีขึ้น ที่จะสร้างความแตกต่างแบบใหม่ ให้เกิดขึ้นกับอินเดีย เขากล่าวในเวลาต่อมาว่า “ชุมชนไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจ แต่ยังเป็นวัตถุประสงค์การดำรงอยู่ของธุรกิจอีกด้วย”
จากการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศทั่วโลก อิทธิพลความคิดทางศาสนาของคนเชื้อสายปาร์ซี และจิตสำนึกความรับผิดชอบที่มาจากความสำเร็จทางธุรกิจ ทำให้จามเซตจิ ทาทา ตั้งเป้าหมาย 3 อย่าง สำหรับการดำเนินชีวิตทางธุรกิจ
1.สร้างโรงงานเหล็กและเหล็กกล้า การได้ไปดูงานเมืองแมนเชสเตอร์ในปี 1880 ศูนย์กลางอุตสาหกรรมของอังกฤษ ทำให้เขาเห็นถึงอุตสาหกรรมเหล็ก ที่จะเปลี่ยนอินเดีย จากประเทศเกษตรกรรมยากจน มาเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมโลก เป็นวัตถุก่อสร้างที่จะสร้างตึกต่างๆ ทำให้เมืองของอินเดียกลายเป็น “มหานคร” แต่แนวคิดตั้งโรงงานเหล็กในอินเดียไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นนำของอินเดีย แต่หลังจากที่นักธรณีวิทยาสำรวจพบแร่เหล็กในรัฐโอริสสา จามเซตจิ ทาทา จึงตั้งบริษัท Tata Iron and Steel
บริเวณทำเหมืองแร่มีการวางผังเมืองที่อยู่อาศัยคนงาน แตกต่างจากความเป็นอยู่ของคนงานเหมืองแร่อังกฤษที่อยู่ในสลัม ซามเซตจิ ทาทาถือเป็นภาระหน้าที่ ไม่เพียงแต่คนงานมีสภาพการทำงานที่ยอมรับได้ แต่ยังเป็นการปรับปรุงชีวิตของคนงานให้ดีขึ้น มีการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนชดเชยจากอุบัติเหตุ ปัจจุบัน โรงงานเหล็กกล้าของทาทากรุ๊ปใหญ่อันดับ 5 ของโลก
2.โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ จามเซตจิ ทาทา เสียชีวิตก่อนที่โรงงานเหล็กจะเสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งไม่ได้เห็นบริษัทของเขา ได้ลงทุนในสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ 2 ของเขา คือการสร้างโรงงานไฟฟ้าจากพลังน้ำของอินเดีย
ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โรงงานอุตสาหกรรมอินเดียอาศัยไฟฟ้าจากถ่านหิน การเดินทางดูงานต่างประเทศ ทำให้เขาเห็นแหล่งพลังงานที่ดีกว่าคือ พลังงานจากน้ำ นอกจากต้นทุนถูกกว่า ยังช่วยลดมลพิษและควันดำของเมืองต่างๆในอินเดีย ปี 1910 มีการตั้งบริษัท Tata Hydro-Electric Power Supply ปัจจุบัน Tata Power เป็นบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่สุดของอินเดีย สนองความต้องการ 4% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของอินเดีย
3.สถาบันวิทยาศาสตร์อินเดีย จามเซตจิ ทาทา มีความคิดหลักที่ว่า ทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยยกระดับอินเดียจากความยากจน คือทักษะของประชาชน สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเอง อินเดียต้องการสถาบันการศึกษาระดับโลก เป้าหมายที่ 3 ของเขาคือการตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ ปี 1898 เขาบริจาคที่ดินและอาคารในบอมเบย์ เพื่อตั้งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ แต่หลังจากเขาเสียชีวิตแล้ว 7 ปี ในปี 1911 สถาบันวิทยาศาสตร์อินเดียจึงเกิดขึ้นที่บังกาลอร์

สาธารณกุศลคือ DNA ของตระกูลทา ทา
หนังสือ The Greatest Company in the World กล่าวว่า ความเชื่อทางศาสนาโซโรแอสเตอร์ (Zoroaster) ของชาวปาร์ซี มีอิทธิพลอย่างมากต่อครอบครัวทาทา ที่ถือเอาความจำเป็นของคนอื่นมาเป็นอันดับแรก ชุมชนปาร์ซี ที่อพยพมาอินเดียจากเปอร์เซีย เพื่อหลบหนีการถูกประหัสประหาร
ดำรงชีวิตด้วยความเชื่อที่ชัดเจน คือการปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น ตระกูลทาทานำสิ่งนี้มาเป็นชีวิตการทำงานของพวกเขา
จามเซตจิ ทาทา คือคนแรกที่นำเอาแนวคิดศาสนาของพวกปาร์ซี มาใช้ในการทำธุรกิจ การทำธุรกิจเพื่อต่อสู้กับความยากจนและความอดอยาก ถือเป็นงานของพระเจ้า การเริ่มต้นธุรกิจและเกิดผลกำไรขึ้นมา ก็เพื่อนำรายได้ไปใช้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก เขายังนำรายได้ไปลงทุนในบริการชุมชน นอกเหนือจากนี้ ยังลงทุนทำให้อินเดียต่อสู้กับปัญหาล้าหลังต่างๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข และเทคโนโลยี
จามเซตจิ ทาทา กล่าวว่า งานสาธารณกุศลมีลักษณะเหมือนๆกัน คือช่วยคนที่ยากลำบาก แต่สิ่งที่จะทำให้ชุมชนและประเทศเดินไปข้างหน้า คือการยกระดับคนที่มีความสามารถ ที่จะทำให้คนเหล่านี้มีคุณูปการต่อประเทศ
เพราะเหตุนี้ เขาจึงให้ทุนการศึกษา สร้างระบบฝึกอบรม และลงทุนพัฒนาแรงงานท้องถิ่น เขาต้องการเห็นสังคมที่การจ้างงานคนท้องถิ่น จะทำให้รายได้ของคนงาน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน
เมื่อธุรกิจของเขามีผลกำไร จามเซตจิ ทาทา จะตั้ง “กองทุนสาธารณกุศล” ขึ้นมา ทุกวันนี้ กองทุนฯถือครองกรรมสิทธิ์ใน Tata Sons ที่เป็นเหมือน “บริษัทแม่” ของ “ทาทา กรุ๊ป” กองทุนฯจะรับผิดชอบในการสร้างสถาบันระดับชาติ เพื่อให้ยกระดับความสามารถคนอินเดีย ให้ทุนแก่งานวิจัยด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
แม้จามเซตจิ ทาทา จะเสียชีวิตมาแล้วกว่า 120 ปี แต่ความสำเร็จของ “โมเดลทาทา กรุ๊ป” คือการมีเป้าหมายทางสังคมของธุรกิจ ที่ตัวเองดำเนินการอยู่ เวลาธุรกิจอื่นประสบวิกฤติ จะหาทางออกโดยตั้งคำถามว่า กลยุทธ์อะไรที่จะได้ผลที่สุด แต่จิตวิญญาณของทาทา กรุ๊ป จะแตกต่างออกไป คือการถามว่า “ทาทาจะช่วยอินเดียได้ดีที่สุดอย่างไร” สิ่งนี้คือคำตอบว่า ทาทาจะให้ความสนใจในธุรกิจอะไร
เอกสารประกอบ
The Greatest Company in the World? The Story of Tata, Peter Casey, THE Penguin Group, 2014.