ThaiPublica > คอลัมน์ > ภัยคุกคามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ภัยคุกคามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

17 กันยายน 2012


รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม

จากบทความเรื่อง “นโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย (2)” บนหน้าหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ บอกว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมายตลอดช่วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมานั้น แท้ที่จริงเป็นเพราะได้รับอานิสงจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้ว

ข้อสังเกตของ ดร.ศุภวุฒินี้สอดรับกับความเห็นของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่ได้เคยแสดงไว้ก่อนหน้านี้ โดยทั้งคู่ต่างอ้างถึงลักษณะของประเทศไทยที่เป็นเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก ซึ่งมูลค่าสินค้านำเข้าและส่งออกมีสัดส่วนในจีดีพีค่อนข้างสูง ดังนั้น ราคาภายในประเทศไทยจึงถูกกำหนดโดยราคาภายนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองจึงสนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหันมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการดูแลอัตราเงินเฟ้อ แทนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ดร.ศุภวุฒิได้เสริมความน่าเชื่อถือของข้อสังเกตดังกล่าว ด้วยการนำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งเป็นการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ หรือ correlation coefficient ระหว่างอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทย กับอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันของอัตราเงินเฟ้อ ที่มักเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันเสมอ ทั้งในช่วงก่อนและหลังวิกฤติเศรษฐกิจ มาแสดงประกอบอีกด้วย1

เนื่องจากค่าสหสัมพันธ์มีค่าสูงใกล้ 100% ดร.ศุภวุฒิจึงใช้ค่าสถิตินี้บ่งชี้ถึงข้อสรุปที่ว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดเงินเฟ้อของไทย หาใช่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตัวกำหนดแต่อย่างใด

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายคงไม่โต้แย้งกับ ดร.ศุภวุฒิในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูลและค่าสถิติที่หยิบยกมาหรอกครับ แต่ที่จะเป็นประเด็นถกเถียงกันได้ก็คือ การนำค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์นี้มาตีความและอ้างอิงต่อไปถึงนโยบายด้านการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของธนาคารแห่งประเทศไทยต่างหาก

จริงอยู่ที่ค่าสหสัมพันธ์นี้บ่งชี้ถึงการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างแนบแน่น ระหว่างอัตราเงินเฟ้อของไทยกับอัตราเงินเฟ้อในต่างประเทศ แต่ค่าสถิตินี้มิได้บอกถึงความเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (หรือ causation) แต่อย่างใด กล่าวคือ ค่าสถิตินี้มิได้บอกเราว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วเป็นตัวกำหนดอัตราเงินเฟ้อของไทย (หรือในทางกลับกัน ก็มิได้บอกว่าอัตราเงินเฟ้อไทยเป็นตัวกำหนดอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วด้วย) ค่าสถิติเพียงบอกแค่ว่า ตัวเลขสองชุดนี้มักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น

ดังนั้น การใช้เพียงค่าสถิตินี้มาเชื่อมโยงเป็นเรื่องราวที่บอกถึงสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อไทย และสรุปต่อไปถึงความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงดูเป็นเพียงการสรุปที่ก้าวข้ามหลักวิชาการเกินไป

อันที่จริง ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์นี้ให้มิติของข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียวเท่านั้น คือบอกให้ทราบถึงการแปรเปลี่ยนที่ไปตามกันอย่างแนบแน่น ดังนั้นเราจึงควรนำมิติอื่นๆ มาพิจารณาด้วย ก่อนที่จะสรุปถึงความเป็นเหตุเป็นผลกันระหว่างอัตราเงินเฟ้อในประเทศและภายนอกประเทศ

ในส่วนต่อไปนี้ ผมขอขยายความเพิ่มเติมด้วยการนำรูปกราฟของอัตราเงินเฟ้อประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มานำเสนอประกอบ พร้อมกับเพิ่มเติมรูปกราฟของอัตราเงินเฟ้อโลก และอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในประเทศเอเชียเข้าไว้ด้วย (ดูรูปกราฟที่ 1 ประกอบ) รวมทั้งรูปกราฟที่ 2 ที่แสดงอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เห็นภาพรวมที่กว้างขึ้น

ภัยคุกคามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ1
กราฟรูปที่ 1
ภัยคุกคามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ2
กราฟรูปที่ 2
รูปกราฟที่ 1 และรูปกราฟที่ 2 นี้แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทย ที่แม้จะมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสูง แต่ลักษณะของการเคลื่อนไหวนั้น ก็มีอยู่หลายช่วงเวลาที่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงมิได้สอดคล้องกันดีนัก แม้ว่าลักษณะของการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อดูจะมีความสอดคล้องกันมากขึ้นในช่วงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาก็ตาม

นอกจากนี้ เรายังสังเกตจากรูปกราฟที่ 1 ได้อีกว่า แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อประเทศไทย และเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศต่างๆ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อโลก ได้มีการปรับตัวลงสู่ระดับที่ต่ำลงกว่าช่วงต้นทศวรรษที่ 80 อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีความผันผวนที่ลดน้อยลงอีกด้วย ซึ่งผมได้แสดงค่าสถิติเพิ่มเติมไว้สำหรับเปรียบเทียบต่อไปในตารางที่ 1 ด้านล่างนี้

ในตารางที่ 1 ผมได้แสดงค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ซึ่งบ่งชี้ถึงความผันผวน) ของอัตราเงินเฟ้อ เปรียบเทียบระหว่างช่วงเวลาก่อนและหลังจากที่ประเทศไทยใช้นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ

พิจารณาจากตัวเลขที่แสดงไว้ในตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่า ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยหลังการใช้นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ มีการปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากช่วงก่อนปี 2000 ที่นโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก จากค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1980-2000 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.48 มาเป็นร้อยละ 2.73 ในช่วงของการใช้นโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ

หากเราพิจารณาเปรียบเทียบเพียงค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อระหว่างไทยกับประเทศพัฒนาแล้ว เราอาจเห็นคล้อยตามข้อสังเกตของ ดร.ศุภวุฒิได้ง่าย เพราะค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อของไทยกับของประเทศพัฒนาแล้วมีค่าที่ใกล้เคียงกันจริง ทั้งในช่วงก่อนและหลังการใช้นโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี หากเราพิจารณาเส้นกราฟของอัตราเงินเฟ้อประกอบ เราจะเห็นว่าลักษณะของการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั้งสองนั้นมิได้ขึ้นลงตามกันในลักษณะคู่ขนานแต่อย่างใด นอกจากนี้ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่แตกต่างกันยังชี้ให้เห็นว่า ความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อไทยนั้นมีค่าสูงกว่าความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพอสมควร

เมื่อเราพิจารณาต่อไปถึงอัตราเงินเฟ้อโลก และอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เราจะเห็นได้ถึงทิศทางการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือมีค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ลดลงหลังปี 2000 เฉกเช่นที่ปรากฏในข้อมูลของประเทศไทย และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่ปรับระดับลดลง และมีค่าใกล้เคียงกันในหลายๆ ประเทศนี้ ได้เป็นที่ประจักษ์มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ในต่างประเทศก็ได้พยายามค้นหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวขึ้น

ตารางที่1

ภัยคุกคามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ3

ศาตราจารย์ เคนเนธ โรกอฟ (Kenneth Rogoff) ได้อธิบายถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะอัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงทั่วโลกในบทความวิชาการเรื่อง “Globalization and Global Disinflation” เมื่อปี 2003 ในงานประชุมวิชาการประจำปีของ Federal Reserve Bank of Kansas City ที่เมือง Jackson Hole

ศ.โรกอฟได้ชี้ว่า ปัจจัยแรกที่ส่งผลต่อการลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกคือ การที่ธนาคารกลางมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังจะเห็นได้จากความถี่ที่ผู้ว่าการธนาคารกลางถูกเปลี่ยนตัว (turnover index) ได้ลดลงในหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างสถาบัน ที่นำมาซึ่งการแต่งตั้งผู้ว่าธนาคารกลางที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา และมีความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์การเงินอย่างแท้จริง

ปัจจัยที่สอง คือการที่รัฐบาลต่างๆ ให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการคลังมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่นานาประเทศมีฐานะทางการคลังที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน (ซึ่งเกิดขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณที่ลดลง หรือในบางประเทศมีการเกินดุลงบประมาณ) ซึ่งทำให้สาธารณชนคลายความกังวลว่า รัฐบาลอาจประสบปัญหาหนี้สาธารณะจนต้องใช้วิธีการพิมพ์เงินเพื่อชำระหนี้ อันจะนำมาซึ่งปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงได้

ปัจจัยที่สามคือ ผลิตภาพการผลิตและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ผลิตภาพในการผลิตที่ดีขึ้นช่วยเพิ่มผลผลิตมวลรวมและรายได้ ซึ่งทำให้รายรับของภาครัฐเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงช่วยลดภาระทางการคลัง และแรงกดดันที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ

ปัจจัยที่สี่คือ กระแสโลกาภิวัตน์ การเปิดเสรีและอำนาจผูกขาดที่ลดน้อยลง ปัจจัยในกลุ่มนี้ทำให้ตลาดสินค้ามีภาวะการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นแรงกดดันระดับราคาให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

นอกจากงานศึกษาของ ศ.โรกอฟแล้ว เศรษฐกรของธนาคารกลางแห่งประเทศออสเตรเลีย นายมาคุส ไฮโวเนน (Markus Hyvonen) ได้ศึกษาถึงปรากฏการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเข้าหากันในกลุ่มประเทศ OECD โดยพยายามตอบคำถามว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองจากการปรับตัวตามธรรมชาติ หรือเป็นเพราะการที่ประเทศเหล่านั้นหันมาใช้นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยใช้เครื่องมือทางด้านเศรษฐมิติมาวิเคราะห์ข้อมูล งานศึกษาของไฮโวเนนพบว่า การที่ธนาคารกลางในแต่ละประเทศมีเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาที่ตรงกัน โดยต่างพยายามทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศของตนอยู่ในระดับต่ำนั้น เป็นปัจจัยที่อธิบายถึงปรากฏการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเข้าหากัน (convergence) ในกลุ่มประเทศ OECD

หลักฐานทางวิชาการจากงานศึกษาเชิงประจักษ์ที่หยิบยกขึ้นมาข้างต้นนี้ บอกให้เราทราบว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยมีสหสัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ มิใช่เป็นเพียงเพราะประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก ซึ่งปัจจัยที่ว่านั้นก็รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ ความมีอิสระปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง รวมทั้งการดำเนินนโยบายการคลังอย่างมีวินัยไว้ด้วย

ผมเชื่อว่าการวิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจด้วยหลักฐานทางสถิติ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็น ทั้งระหว่างนักวิชาการด้วยกันเอง และระหว่างนักวิชาการกับสาธารณชน แต่สิ่งที่ผมเป็นกังวลคือ การนำเอาเพียงค่าสถิติบางตัวมาใช้สรุปถึงสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทย และจูงใจสาธารณะให้เชื่อว่านโยบายการเงินที่ผ่านมาคือความผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเคลื่อนไหวเช่นนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยของรัฐบาลที่แสดงท่าทีไม่ใส่ใจในเรื่องการรักษาวินัยด้านการคลัง อีกทั้งยังแต่งตั้งบุคคล ที่แสดงท่าทีอย่างต่อเนื่องว่าเป็นปฏิปักษ์กับนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ เข้าไปเป็นประธานบอร์ดของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยบุคคลคนเดียวกันนี้เองก็ยังแสดงทัศนะในหลากหลายโอกาสว่า ต้องการลิดรอนความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย