กูรูด้านเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชน ประเมินเศรษฐกิจปี 2557 “ฟื้น” ดีขึ้นจากปีนี้ แต่ขยายตัวไม่สูง หรือ “ไม่ฟู” เหมือนอดีต โดยคาดการณ์จีดีพีปีหน้าโต 4-5% ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังมีทั้งปัจจัยในและนอกประเทศ “การเมือง-การลงทุนภาครัฐ-การลดทอนมาตรการคิวอี-เศรษฐกิจโลก”
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 เนื่องในวาระหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจครบรอบ 26 ปี และก้าวสู่ปีที่ 27 ได้จัดสัมมนา Thailand Economic Outlook 2014 “อนาคตเศรษฐกิจไทย ฟื้น หรือ ฟุบ” เพื่อระดมสมองทั้งภาครัฐและเอกชนในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศในปี 2557 และมองหาโอกาสและแนวทางที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจไทยต่อไป
“กิตติรัตน์” มองปัจจัยแวดล้อมปี’57 เอื้อเศรษฐกิจไทยโต

นายกิตติรัตรน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “อนาคตเศรษฐกิจไทย ฟื้น หรือ ฟุบ” ว่า ในปี 2557 เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่สิ่งแวดล้อมอำนวยพอสมควรในการที่จะทำให้เรามีความพร้อมที่จะพึ่งตัวเองและโตไปกับเศรษฐกิจโลกได้
โดยจากข้อมูลจีดีพีของจีน มีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตอยู่ระดับเกินกว่า 7.7% และจีดีพีของญี่ปุ่นแม้จะไม่ได้เติบโตมาก แต่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น และยุโรป แม้จีดีพียังติดลบ 0.7-0.8% แต่ติดลบน้อยลง ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ก็มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตรา 6.6%
“ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้กำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่สิ่งแวดล้อมอำนวยพอสมควร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว
นายกิตติรัตน์เปรียบเทียบเศรษฐกิจเหมือนรถยนต์ที่มี 4 ล้อในการขับเคลื่อนนำพารถหรือเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้การส่งออกเป็นหลักทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 4-5% แต่ยังมีอีก 3 ล้อที่จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคอุปโภคภายในประเทศ
“ต้องจับตาดูกลจักร 4 ตัวนี้ว่าจะทำงานอย่างไร และเศรษฐกิจจะเคลื่อนตัวอย่างไรไปข้างหน้า” นายกิตติรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมั่นใจว่า งบประมาณประจำปี 2557 ซึ่งมีการบริหารจัดโครงการลงทุนที่ทำให้สามารถเร่งรัดเบิกจ่ายได้เร็วขึ้นกว่าปี 2556 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลพร้อมผลักดันการลงทุนโนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท จะเป็นตัวช่วยเพิ่มการลงทุนภาครัฐให้เพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระดับต่ำมาก
“เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทจะใช้อย่างระมัดระวัง คือจะไม่กู้เงินมากองไว้ และจะควบคุมไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 50% ของจีดีพี ยืนยันว่าจะไม่นำเงินไปอัดฉีด หรือไปแจกโครงการใดๆ” นายกิตติรัตน์กล่าว
ขณะที่สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ นายกิตติรัตน์ยอมรับว่า อาจทำให้เศรษฐกิจสะดุดบ้างในระยะสั้น แต่ตราบใดที่ยังเชื่อมั่นในกลไกประชาธิปไตย ยอมรับความคิดเห็นต่าง และแสดงออกด้วยความสงบ เราจะไม่ต้องเผชิญปัญหาที่น่ากังวลมากนัก
ธนาคารโลกมั่นใจการเมืองไม่กระทบเศรษฐกิจไทย
ด้าน ดร.อูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปาฐกาถาพิเศษ “The Global Economic Forcast” ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัว 2.3% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ในปี 2557 และ 4.4% ในปี 2558 โดยเอเชียตะวันออกจะขยายตัวสูงที่สุด 7.3% ในปีนี้ ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำการเติบโตในอัตรา 7.5% สำหรับเศรษฐกิจไทยคาดว่าปีนี้จะเติบโต 4% และในปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 4.5%
แม้เศรษฐกิจเอเชียและไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นในปีหน้า แต่ธนาคารโลกประเมินว่ามีความเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยน จากการทยอยลดมาตรการคิวอี (QE: Quantitative Easing) และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ รวมถึงความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะไทยกับมาเลเซีย ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูงถึง 80 % ของจีดีพี
ขณะที่สถานการณ์การเมืองของไทยตอนนี้ ดร.อูลริคคิดว่า การเมืองไม่ใช่ความเสี่ยงสำคัญ เพราะการประท้วงไม่เห็นด้วยทางการเมืองเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยและเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และจากอดีต ต่อให้มีการประท้วงทางการเมืองเกิดขึ้น แต่ภาคเอกชนยังแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นและเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้
“ครั้งนี้คิดว่าประชาชนไทยจะรับมือกับปัญหาและผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยดี” ดร.อูลริคกล่าว

ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส และผู้ดำเนินรายการ (จากขวาไปซ้าย)
ขณะที่มุมมองในเวทีสัมมนา “อนาคตเศรษฐกิจไทย ฟื้น หรือ ฟุบ” ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังทั้งปัจจัยภายในและภายนอก
แบงก์ชาติฟันธงเศรษฐกิจ “ฟื้น” แต่ “ไม่ฟู”
ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฟันธงว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะ “ฟื้น” แต่ “ไม่ฟู” เนื่องจากปีหน้าจะไม่มีพระเอกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ
โดยเฉพาะการส่งออก แม้ปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ที่ต้องระวังคือสินค้าที่ขยายตัวดี และคนที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคือคนที่ผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคนิยม อาทิ สมาร์ทโฟน ไอแพด เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยมีการผลิตสินค้าเหล่านั้นน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นพวกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เพราะฉะนั้น การส่งออกจะไม่ “ฟู” เหมือนในอดีต
“ภาคการส่งออก ถ้าไม่ปรับตัวช่วง 1-2 ปีจะเป็นความท้าทาย แต่จากนี้ไปสินค้าที่เราเคยเก่งแต่เป็นสินค้าที่คนอื่นไม่ผลิตแล้ว เขาไปผลิตสินค้าอื่นแทน การส่งออกของเราจะแข่งขันสู้ไม่ได้” ดร.รุ่งกล่าว
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ที่ผ่านมารีรอยังไม่ลงทุนเพราะเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในตลาดโลกไม่ดี แต่ปัญหาการเมืองขณะนี้อาจทำให้นักลงทุนรีรอลงทุน โดยการลงทุนภาคเอกชนปัจจุบันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา และที่ต่ำมากคือการลงทุนผลิตเพื่อการส่งออก
ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ปีนี้โตต่ำมาก เพราะมีแรงฉุดจากปีก่อน ดังนั้นปีหน้าน่าจะดีขึ้น แต่คงไม่เท่ากับภาวะปกติ
“ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 3 ส่วน คิดว่ายังไงปีหน้าก็จะดีกว่าปีนี้ ส่วนภาครัฐ หากสามารถบริหารจัดการการเบิกจ่ายและการลงทุนได้ตามที่วางไว้ จะกลายเป็นพระเอกเข้ามาช่วย เพราะการลงทุนภาครัฐจะช่วยจุดประกายการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัวได้มากขึ้น” ดร.รุ่งกล่าว
ทั้งนี้ ธปท. คาดการณ์จีดีพีปีนี้ขยายตัว 3.7% และปีหน้า 4.8%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ธปท. ประเมินว่าความเสี่ยงด้านลบมีมากกว่าด้านบวก โดยความเสี่ยงมี 4 ประการ คือ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน 2. ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการลดทอนมาตรการคิวอี 3. การเมือง หากยืดเยื้อจะเป็นอุปสรรคกระทบเศรษฐกิจ และ 4. การลงทุนภาครัฐอาจดำเนินโครงการไม่ได้ตามที่คาดไว้
ธปท. เผย 4 ปัจจัยกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน
สำหรับทิศทางนโยบายการเงิน ดร.รุ่งกล่าวว่า นโยบายการเงินขณะนี้ยังผ่อนคลายอยู่ และผ่อนคลายตราบเท่าที่จะพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็มีโอกาสจะลดลงได้อีกถ้าอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลงอย่างที่คาดไม่ถึง และต้องคำนึงถึงอีก 3 ปัจจัย คือ
1. ปัจจัยแวดล้อมซึ่งบางประเทศเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินน้อยลง เราก็ควรจะผ่อนคลายน้อยลงตาม
2. นโยบายดอกเบี้ยลดลง ก็หมายความว่าคนจะกู้เพิ่ม แต่ต้องระวังว่าการกู้เพิ่มเป็นระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่ง ณ วันนี้การบริโภคไม่ได้น่ากังวลมากเกินไป เพราะฉะนั้นเราคงไม่อยากให้คนกู้มากขึ้น
3. หลักการของนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะผ่อนคลายหรือตึงตัว ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเศรษฐกิจตามวัฏจักร แต่ที่ต้องตระหนักคือเราไม่สามารถจัดการด้านซัพพลายด้วยนโยบายการเงิน
“ดังนั้น แม้นโยบายการเงินจะผ่อนคลายลงไป ก็ไม่ช่วยแก้ไขด้านซัพพลาย ซึ่งสำคัญมาก ณ วันนี้ โดยด้านกาคลัง การใช้จ่ายภาครัฐ จะเป็นตัวเข้าไปปลดล็อกด้านซัพพลายได้” ดร.รุ่งกล่าว
ไทยพาณิชย์หวัง “การลงทุนภาครัฐ” เป็นพระเอก

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีความเห็นว่า พระเอกที่หวังจะให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการลงทุนภาครัฐ โดยหากรัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณได้ 80% และมีการลงทุนตามที่วางแผนไว้จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัว 4.5% แต่หากไม่สามารถลงทุนได้ตามแผนที่วางไว้ แต่มีการใช้งบกลางปีที่ตั้งไว้ 60,000 ล้านบาท ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4%
“หวังว่าการลงทุนภาครัฐจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วย โดยเฉพาะการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้าน ถ้าลงทุนได้เลยจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมาก” ดร.สทุธาภากล่าว
ขณะที่ภาคการส่งออก ดร.สุทธาภามองว่าจะเป็นพระรอง แต่จะลดความสำคัญลงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะการผลิตสินค้าส่งออกของไทยยังเป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่า ทำให้การแข่งขันสู้ประเทศที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่ได้ ส่วนการบริโภคอาจปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องระวังเพราะยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง และการลงทุนภาคเอกชนก็ยังอยู่ระดับต่ำ
สำหรับความเสี่ยงในปีหน้า ดร.สุทธาภาประเมินว่า ความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนเป็นความเสี่ยงระดับล่างๆ แต่ความเสี่ยงที่ต้องระวังคือ 1. ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและต้นทุนการเงินจะสูงขึ้น จากผลกระทบของการลดทอนมาตรการคิวอี ดังนั้นต้องบริหารปิดความเสี่ยงให้ลดลงจนมีน้อยที่สุด
2. การลงทุนภาครัฐ เพราะถ้ารัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายและลงทุนได้ตามเป้าหมายจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลงเหลือเพียง 4% จากที่ประมาณการไว้ 4.5% และ 3. ปัญหาแรงงาน ซึ่งไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และแรงงานไม่มีทักษะเพียงพอเข้าสู่แรงงานในระบบ นอกจากนี้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจ (เออีซี) แรงงานที่มีฝีมืออาจถูกดึงตัวไปทำงานต่างประเทศ
นอกจากนี้ ดร.สุทธาภาประเมินความเสี่ยงระยะยาวของเศรษฐกิจไทยด้วยว่า มี 2 ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องแรงงานขาดแคลนและแรงงานไม่มีคุณภาพ จะเป็นข้อจำกัดในการลงทุน กับเรื่องการพึ่งพาพลังงานของไทยที่มากเกินไป ถ้าไม่ปรับลดจะมีีปัญหาเกิดความอ่อนไหวต่อเรื่องพลังงาน
“เศรษฐกิจไม่นิ่ง-ต้นทุนเพิ่ม-เงินบาทอ่อน” ความเสี่ยงที่ต้องบริหารในปี 57
น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินเศรษฐกิจโลกปีหน้าสดใสขึ้นมากกว่าปีนี้ นำโดยสหรัฐอเมริกา เมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้นก็น่าจะเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจไทยในแง่การส่งออกปีหน้าจะขยายตัวได้ 9% จากปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3% ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศขึ้นอยู่กับการลงทุนเป็นหลัก ซึ่งนำโดยการลงทุนภาครัฐ
โดยหากภาครัฐสามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 2 ล้านล้าน และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ได้ภายในไตรมาสองของปี 2557 ประเมินว่าจีดีพีจะเติบโตได้ 5.5% แต่ถ้าโครงการลงทุนของภาครัฐไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจจะเติบโตได้ 4.3% ซึ่งดีกว่าปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4%
น.ส.อุสราประเมินความเสี่ยงในปีหน้าที่ภาคเอกชนและภาคธุรกิจต้องบริหารจัดการมี 3 ด้าน คือ 1. การเติบโตของเศรษฐกิจว่าจะเติบโตดีหรือไม่ดี 2. ต้นทุนการเงินเพิ่ม หรืออัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ครึ่งแรกของปีนี้ เพราะสภาพคล่องของโลกที่ถูกอัดฉีดจากคิวอี 1 คิวอี 2 และคิวอี 3 ถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยธนาคารกลางสหรัฐฯกำลังลดปริมาณคิวอี 3 ไม่ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว เมื่อลดคิวอีจะทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง และขึ้นดอกเบี้ยใน 2-3 ปีข้างหน้า
“อัตราดอกเบี้ยโลกผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว รวมถึงดอกเบี้ยในประเทศไทยด้วย” น.ส.อุสรากล่าว
และ 3. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากมาตรการลดทอนคิวอี ซึ่งโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์แบบในเดือนเมษายนที่ผ่านมาคงยาก หรือโอกาสที่จะต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ก็คงยากมากในปีหน้า ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2544-2556 เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ท่ี 40.00-28.50 บาทต่อดอลลาร์
น.ส.อุสราคาดหวังว่า เงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะจะมีเงินไหลเข้า (counter flow) มาลงทุนโดยตรง และการซื้อกิจการของญี่ปุ่นและเกาหลีที่จะเข้ามาลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต เพราะฉะนั้นจะมีแรงขายดอลลาร์และซื้อเงินบาท ทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าเร็วหรือแรงมาก
“ศุภวุฒิ” เตือน ดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นลมต้าน เศรษฐกิจโตไม่มาก
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กำลังทบทวนปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าใหม่ จากเดิมที่คาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 3.5% และ 4.5% ในปีหน้า เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนตลอดเวลา
อาทิ ตัวเลขส่งออก ต้นปีที่ผ่านมาบอกขยายตัว 7% แต่ขณะนี้ต่ำกว่าที่ประมาณการค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นปีหน้าแม้จะคาดการส่งออกโต 8% ก็อาจไม่เป็นตามที่คาดการไว้ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าปีนี้จะมีเม็ดเงินออก แต่ก็ไม่เกิดขึ้นอย่างที่คาด
อย่างไรก็ตาม เมื่่อมองไปข้างหน้า ดร.ศุภวุฒิประเมินว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกทำให้ส่งออกของไทยน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ แต่ปัจจัยในประเทศด้านนโยบายการคลังอาจเป็นความเสี่ยงหากรัฐบาลไม่สามารถลงทุนโครงสร้าง 2 ล้านล้านบาทได้ตามที่คาดไว้ เพราะโหมดของนโยบายการคลังจะเป็น “นโยบายรัดเข็มขัด” ทันที
เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจัดทำงบประมาณสมดุลในอีก 4-5 ปีข้างหน้า
“เพราะฉะนั้นความสำเร็จของนโยบายการคลังในการดูแลเศรษฐกิจจะมีความสำคัญมาก” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ส่วนนโยบายการเงิน ดร.ศุภวุฒิมองว่า แค่ไม่ทำอะไร แต่เงินเฟ้อลดลง ก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้นโดยตั้งใจ และการทยอยปรับลดมาตรการคิวอีจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทยปรับสูงขึ้นด้วย ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นลมต้านเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไม่สูงมาก” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
จับตาการเมืองกระทบเศรษฐกิจ
ขณะที่เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทุนคนในเวทีสัมมนาประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยการเมืองมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จะกระทบมากหรือน้อยนั้นยากต่อการคาดการณ์ เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะรุนแรงหรือไม่ จะจบเร็วหรือยืดเยื้อ และที่สำคัญ จะจบลงอย่างไร
ดร.รุ่งมีคามเห็นว่า ปัญหาการเมืองจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสี่ของปีนี้อาจไม่ดีเท่าที่คาดหวังไว้ เพราะอย่างน้อยก็กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีการชุมนุม และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักธุรกิจ อาจทรุดลงบ้าง ส่วนการท่องเที่ยวก็หวังว่าจะก้าวผ่านไปได้
ทั้งนี้ เหตุการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดมากขึ้น ไม่ได้อยู่ในข้อสมมติฐานของ ธปท. ในการคาดการณ์จีดีพี
ด้าน ดร.สุทธาภาระบุว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองจะกระทบทำให้การลงทุนในประเทศของไทยชะลอลงค่อนข้างมาก ขณะที่การลงทุนในประเทศของทุกประเทศในเอเชียทะยานขึ้นไปต่อเนื่อง โดยการลงทุนของไทยก่อนปี 2540 มีสัดส่วน 30% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันยังไม่ถึง 20%
เพราะฉะนั้น น่ากังวลว่าถ้าการเมืองยังมีปัญหาต่อเนื่อง นักลงทุนไทยอาจกังวล ทำให้เศรษฐกิจเราไม่เติบโตได้ดีอย่างที่คาดการณ์
น.ส.อุสราประเมินว่า ประเด็นการเมืองที่เป็นหัวใจสำคัญที่นักลงทุนต่างประเทศมองมี 2 ประเด็น คือ จะรุนแรงหรือไม่ กับ จะยืดเยื้อหรือไม่ ส่วนจะกระทบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าจะทำให้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้ากระทบหรือไม่ ซึ่งมี 2 ปัจจัย คือ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และการท่องเที่ยว
ดังนั้น หากเหตุการณ์การเมืองรุนแรงทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณสะดุดหรือนักท่องเที่ยวกังวลชะลอการเดินทางมาเที่ยว ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงว่าจะเติบโตได้ไม่เท่าที่คาดหวัง
ดร.ศุภวุฒิมองว่า ประเด็นการเมืองวันนี้อยู่ที่ว่าประชาชนจะเชื่อถือให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไปหรือไม่ ซึ่งกระทบเศรษฐกิจแน่นอน และดูเหมือนเหตุการณ์อาจจะยืดเยื้อ แต่ถ้ามีการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน ก็จะ “แช่แข็ง” เศรษฐกิจไป 3-4 เดือน ดังนั้นกระทบเศรษฐกิจแน่นอน
แต่ถ้าพรรคฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ สถานการณ์ก็จะลากยาวยืดเยื้อออกไปอีกนาน นอกจากนั้นอาจต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เพราะอาจนำไปสู่การยุบพรรคได้ ก็จะกระทบเศรษฐกิจแน่นอน
“ปัญหาการเมืองไม่ว่าจะมีผลออกมาอย่างไร ยืดเยื้อ ยุบสภา ยุบพรรค ต่างกระทบเศรษฐกิจทั้งนั้น” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศทบทวนภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2556 ว่า เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และนโยบายการเงินการคลังในปัจจุบันมีความเหมาะสม
เปิดผลสำรวจซีอีโอกังวลการเมืองฉุดเศรษฐกิจชะงัก
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทจำนวน 429 คน ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่าดัชนีทางเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมเท่ากับ -16 ซึ่งต่ำสุดในรอบปี และยังเป็นระดับที่ลดลงจากเดือนกันยายนถึง -9 สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจ ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน คาดการณ์ว่าดัชนีจะมีค่า -15
ทั้งนี้ การที่ดัชนีมีค่าติดลบสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของผู้บริหารต่อปัญหาด้านการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 กลายเป็นภาวะชะงักงันและถดถอย
สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุด 5 อันดับแรก ที่ผู้บริหารเห็นว่ามีผลต่อการทำธุรกิจในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน คือ การเมืองภายในประเทศ 4.7 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ 4.5 คะแนน ความต้องการของตลาดที่ลดลง 4.2 คะแนน ต้นทุนวัตถุดิบและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 4.0 คะแนนเท่ากัน
จากผลสำรวจเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนจะเห็นได้ว่า สถานการณ์การเมืองเป็นเรื่องหลักที่ผู้บริหารมีความกังวลและต้องเฝ้าประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องว่า การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลจนนำสู่การชุมนุมของภาคประชาชนจะยืดเยื้อไปถึงเมื่อไร
เหตุการณ์นี้ได้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งมุมมองด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองและความน่าเชื่อถือในอำนาจนิติบัญญัติของไทย รวมถึงยังมีผลกระทบต่อรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในฤดูท่องเที่ยวปลายปีนี้อีกด้วย
ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นแม้จะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค