ThaiPublica > เกาะกระแส > สถิติ 5 ปี “ดื่มแล้วขับ” ไทยสูญ 3.7 แสนล้าน เสนอเพิ่มโทษ – บังคับใช้เข้มข้น เหตุคนไม่กลัวกฎหมายทำผิดซ้ำพุ่ง

สถิติ 5 ปี “ดื่มแล้วขับ” ไทยสูญ 3.7 แสนล้าน เสนอเพิ่มโทษ – บังคับใช้เข้มข้น เหตุคนไม่กลัวกฎหมายทำผิดซ้ำพุ่ง

6 กันยายน 2024


“อุบัติเหตุและการชนบนท้องถนน” เป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทย ต้องยกระดับนโยบายและมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากพฤติกรรม “ดื่มแล้วขับ” ที่จากสถิติพบว่าหลายคดีเกิดจากบุคคลเดียวกัน ซึ่งการทำความผิดซ้ำในลักษณะนี้ นับวันยิ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทย จากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าตั้งแต่ปี 2562 – 2566 มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากดื่มแล้วขับ มากถึง 284,253 ราย เฉลี่ยปีละ 56,850 ราย คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียสูงถึง 3.7 แสนล้านบาท โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เฉลี่ยถึง 4,519 ราย

ผลกระทบสำคัญคือ “เหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับ” มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีเหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับมากถึง 207 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ราย

วันที่ 5 กันยายน 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาลยุติธรรม กรมคุมประพฤติ มูลนิธิเมาไม่ขับ เครือข่ายเหยื่อเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายด้านการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับของไทย จัดกิจกรรม “ครบรอบ 2 ปี กระทำผิดซ้ำเมาแล้วขับ กับ การบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย” ยกระดับการลดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย

ตำรวจต้องทำสำนวนให้รอบครอบ – เสนอยึดรถคนทำผิดซ้ำ

พล.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์ สมาชิกวุฒิสภา กลุ่มการกฎหมาย การยุติธรรมและการตำรวจ กล่าวว่า เรื่องดื่มแล้วขับเป็นพฤติกรรมและวินัยของคน ซึ่งบริบทของประเทศไทยนั้น ถือว่าแก้ไขค่อนข้างยาก ขณะที่ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย จากประสบการณ์เป็นพนักงานสืบสวน พบว่าการรวบรวมพยานหลักฐานมีข้อจำกัดในหลายขั้นตอน จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการตรวจสอบประวัติย้อนหลัง รวบรวมสำนวนส่งอัยการและศาลพิจารณา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับกรณีผู้กระทำผิดซ้ำนั้น พล.ต.ท.วันไชย เสนอให้มีการเพิ่มโทษ “ยึดรถ” พร้อมเอาผิดถึงร้านค้าผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ บุคคลที่จัดหายานพาหนะหรือให้ยืม และผู้โดยสารที่นั่งรถด้วย

กฎหมายดื่มแล้วขับทำผิดซ้ำ บังคับใช้มาแล้ว 2 ปี แต่คนไม่กลัว

นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ

ด้านนายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการ มูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า แต่ละปีจะมีเหยื่อจากดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้น ทำให้สูญเสียอวัยวะ เสียโอกาสในการดำเนินชีวิต ที่สำคัญต้องไปดำเนินการฟ้องเรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อเยียวยาผลกระทบที่ตนเองไม่ได้ก่อ เหยื่อหลายรายไม่ได้รับเงินเยียวยา ถึงเวลาต้องวางแนวทางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม เพราะแม้ว่ากฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ บังคับใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวให้กับประชาชน ยังมีผู้กล้ากระทำผิดซ้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การเพิ่มโทษและความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมาย จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ที่เคยกระทำผิดไม่กล้าเสี่ยงและรับโทษที่รุนแรง

เปิดกฎหมายจราจรทำผิดซ้ำ “ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ”

พ.ต.ท.พชร์ ฐาปนดุลย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

ด้าน พ.ต.ท.พชร์ ฐาปนดุลย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) อธิบายว่าการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจกรณีดื่มแล้วขับ แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนย่อย คือ 1) ควานหาผู้กระทำผิดบนถนนด้วยการตั้งจุดตรวจ และ 2) พนักงานสอบสวนทำสำนวนให้อัยการและศาลพิจารณา ซึ่งประเด็นสำคัญคือการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อมูล เพื่อให้อัยการและศาลรู้ว่าเป็นผู้กระทำผิดซ้ำควรลงโทษสูง โดย ตร. ได้กำหนดหลักปฏิบัติให้ตรวจเช็คฐานข้อมูลประวัติอาชญากรรม พร้อมทั้งพิมพ์ลายนิ้วมือนำไปตรวจสอบได้ภายใน 48 ชม. ก่อนไปศาล หากพบเป็นผู้กระทำผิดซ้ำจะถูกส่งไปศาลจังหวัด ซึ่งจะมีการลงโทษที่หนักกว่าศาลแขวง

พ.ต.ท.พชร์ เล่าว่าในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ กรณีกระทำผิดซ้ำนั้น จริง ๆ แล้วในร่างครั้งแรกที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามมาตรา 160 ตรี/3 ได้เขียนไว้ว่า กรณีกระทำความผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก “มิให้ศาลรอการกำหนดโทษหรือรอลงอาญา” อย่างไรก็ตาม ความเห็นจากผู้แทนศาลยุติธรรม ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการแทรกแซงดุลยพินิจของผู้พิพากษา และอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรรรมญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1488

ท้ายที่สุดจึงปรับเปลี่ยนถ้อยคำเป็นจาก “มิให้ศาลรอการกำหนดโทษหรือรอลงอาญา” เป็น “ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ” ขณะเดียวกัน ศาลยุติธรรมเสนอให้เพิ่มอัตราโทษปรับ เป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ไปจนถึงสูงสุด 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ โดยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“ความเห็นจากผู้แทนศาลยุติธรรม ระบุว่าการเพิ่มโทษหรือการลงโทษจำคุกระยะสั้น มิได้เป็นการแก้ไขปัญหาในทางอาชญาวิทยา และมิได้แก้ไขพฤติกรรมของผู้กระทำผิดโดยประมาทมากนัก ดังนั้น การกำหนดโทษจึงควรเป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษา รวมถึงข้อเสนอที่เคยพูดคุยกันว่าใส่กฎหมายแบบญี่ปุ่นเข้าไปด้วยดีไหม ในการเอาผิดไปถึงเจ้าของร้านที่ขายให้คนเมาแล้วขับ แต่ไม่ผ่านเพราะมองว่ากฎหมาย ต้องให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยด้วย” พ.ต.ท.พชร์ กล่าว

อัยการโชว์ตัวเลขคดีอาญา “เมาขับ” ปี 67 ครึ่งปีพุ่ง 64,805 คดี

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการ

สำหรับสถิติคดีอาญาที่ปรากฎตัวผู้ต้องหา ที่ส่งตัวมาให้สำนักงานอัยการทั่วประเทศ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เรื่องขับขี่ขณะเมาสุราหรือเมาด้วยอื่นๆ ในปี 2566 รวมทั้งสิ้น 77,341 คดี ทว่าล่าสุดในปี 2567 เพียงแค่ 6 เดือนแรก ในช่วง ม.ค. – มิ.ย. ตัวเลขพุ่งไปแล้วถึง 64,805 คดี เฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำประมาณ 100 กว่าราย

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) กล่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ยินดีทำหน้าที่ช่วยเหลือเหยื่อดื่มแล้วขับ ในการเรียกร้องความเป็นธรรมตามคำสั่งศาล พร้อมทำงานสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในส่วนของกระบวนการในการพิจารณาคดีกระทำผิดซ้ำ โดยเฉพาะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกระบวนการที่ชัดเจน และไม่ปล่อยให้คนที่กระทำผิดซ้ำหลุดออกจากการพิจารณาคดี และสิ่งสำคัญต้องเร่งสร้างเรื่องนี้ให้เป็น “สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม”

ยอดสั่งคุมประพฤติเพิ่มขึ้นทุกปี ปีนี้โดนแล้ว 44,238 คดี

ขณะที่ พวงทิพย์ นวลขาว ผู้อำนวยการกองพัฒนาการคุมประพฤติ กรมคุมประพฤติ กางข้อมูลพบว่าแต่ละปีมีผู้ที่พ้นการคุมประพฤติ กรณีดื่มแล้วขับกลับเข้ามาในระบบอยู่พอสมควร ขณะเดียวกันตัวเลขคดีดื่มแล้วขับที่ถูกศาลสั่งสืบเสาะและคุมประพฤติ ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ปี 2565 สั่งสืบเสาะ 458 คดี สั่งคุมประพฤติ 40,969 คดี ปี 2566 สั่งสืบเสาะ 611 คดี สั่งคุมประพฤติ 42,187 คดี ปี 2567 (1 ต.ค. – 20 ส.ค.) สั่งสืบเสาะ 649 คดี สั่งคุมประพฤติ 44,238 คดี แสดงให้เห็นว่าต้องเร่งยกระดับมาตรการให้ผู้กระทำผิดไม่กล้ากระทำผิดซ้ำ

ข้อเสนอ 3 ระยะ เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส.

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดัน ให้สามารถเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นได้ในอนาคต ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุว่า สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายถอดบทเรียน มีข้อเสนอเชิงนโยบาย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะสั้น ภายใน 6 เดือน : ออกแบบระบบตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมออกแบบระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกัน ตรวจสอบประวัติกระทำผิดซ้ำ ประชาสัมพันธ์ผลการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง

ระยะกลาง ภายใน 1 ปี : ผลักดันด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์อย่างน้อย 15,000 เครื่อง พัฒนาระบบการตรวจสอบ และยืนยันบุคคลผ่านลายนิ้วมือออนไลน์ทั่วประเทศ

ระยะต่อเนื่อง มากกว่า 1 ปี : ผลักดันเพิ่มโทษสร้างความเกรงกลัวไม่ให้กล้ากระทำผิดซ้ำ สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี นำปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายที่ตรวจวัดได้ในแต่ละระดับ มาเป็นบทกำหนดโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับ