
เปิดข้อเสนอ “Branding Thailand” จากมุมมองเยาวชนคนรุ่นใหม่ในโครงการ “Youth In Charge Creative Career Academy” โดยแพลตฟอร์ม Youth In Charge (YIC) ส่งต่อข้อเสนอการสร้างแบรนด์ของประเทศไทย – พร้อมเซ็น MOU ร่วมกับภาคีเครือข่ายและสถาบันอุดมศึกษา ต่อยอดความร่วมมือและขยายผลระดับประเทศและนานาชาติ
เมื่อ 24 สิงหาคม 2567 แพลตฟอร์ม Youth In Charge (YIC) โดยบริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด นำโดย “เอริกา เมษินทรีย์ เช็น” ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม จัดงานแถลงความสำเร็จและก้าวต่อไปของโครงการ “Youth In Charge Creative Career Academy” ภายใต้หัวข้อ Branding Thailand by Youth โดยนำเสนอแนวคิด วิธีการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทย และ Thai DNA ให้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากล
ภายในงานได้มีการนำเสนอโครงการกลุ่มของเยาวชนจากโปรแกรม Youth In Charge Creative Career Academy ภายใต้หัวข้อ Branding Thailand by Youth โดยมีเยาวชนที่มีส่วนร่วมมากกว่า 100 คน จาก 28 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
โดยมีผู้บริหารภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เช่น ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, รานี อิฐรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ เเละการสร้างความสามัคคีปรองดอง, พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, พีรดนย์ ทองแท้ Head of Scholarship Management มูลนิธิเอสซีจี, ดวงฤทธิ์ บุนนาค เข้าร่วมงานและร่วมรับฟังการนำเสนอโครงการกลุ่มของเยาวชน
ทั้งนี้ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 YIC ได้เปิดตัวโครงการ Youth In Charge Creative Career Academy รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน – 17 สิงหาคม 2567 สร้างพื้นที่ให้เยาวชนอายุ 15-25 ปี จำนวนกว่า 100 คนจากกว่า 28 สถาบันการศึกษา
นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ เช็น ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Youth in Charge กล่าวเปิดงานว่า โครงการได้รวบรวมต้นแบบรุ่นพี่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งประเทศไทยและระดับโลก และพัฒนาหลักสูตร YIC Academy เพื่อจุดประกายข้อเสนอจากเยาวชนและคนรุ่นใหม่ให้ขับเคลื่อนประเทศ
“หัวใจสำคัญของ YIC Creative Academy คือ (1) Creative Career Academy หรือการค้นพบความสนใจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (2) สร้าง Creative Community ทั้งรุ่นพี่-รุ่นน้อง และสถาบันต่างๆ และ (3) Creative Co-creation รวมตัวกันสร้างโปรเจกต์ใหม่ ผนวกทักษะที่หลากหลายร่วมกัน” นางสาวเอริกากล่าว
นางสาวเอริกากล่าวต่อว่า แม้การผนึกกำลังจากหลากหลายมหาวิทยาลัยจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ Youth in Charge พิสูจน์แล้วว่า “เราสามารถทำได้” และจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ และในอนาคตจะขยายผลไปเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะระดับนานาชาติ เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นความเป็นไปได้ในทางอาชีพและธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
“ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องกลับมาปัดฝุ่น หา new growth engine หรือเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่แทนอุตสาหกรรมเก่าๆ และสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจนำเสนอทั่วโลก เอาสิ่งดีๆ แต่ฉาย spotlight ให้มัน”

แบรนด์ดิ้งประเทศไทย ต้อง “โอบรับความหลากหลาย”
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงนำเสนอผลงาน ได้มีการกล่าวสุนทรพจน์โดย “เลม่อน” ตัวแทนเยาวชนโครงการ YIC จากคณะการสื่อสารมวลชน ปี 3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการโหวตจากกลุ่มเยาวชนให้กล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนี้
เลม่อนกล่าวว่า “ปีนี้ผมกับ YIC แบกความพร้อมและไอเดียที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์กับ 120 ชีวิตที่จะนำเสนอเรื่องราวการขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้คำว่า Branding Thailand”
“หากให้ผมนิยาม Branding Thailand ก็เป็นเสมือนการสร้างหนึ่งชีวิตขึ้นมา ทุกคนในนี้มีแบรนด์ดิ้งเป็นของตัวเอง ที่บอกว่าคุณเป็นคนอย่างไร สุนก เฮฮา จริงใจ ตรงไปตรงมาและน่าเชื่อถือมากแค่ไหน สิ่งเหล่านี้คือภาพลักษณ์และความรู้สึกที่สะท้อนออกมาบนความเป็นจริง”
“คำว่าแบรนด์ดิ้งอาจไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามบอกว่าเราคือใคร และภาพของประเทศไทยจะไม่สามารถชัดเจนได้เลย หากสิ่งที่เราสื่อสารไม่ตรงกับสภาวะที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้ การทำแบรนด์ดิ้งไม่ใช่การปั้นภาพ แต่เป็นการสร้างความสม่ำเสมอ การสร้างอุปนิสัย และการสร้างความรู้สึกให้คนที่เข้ามาสัมผัสเรา แม้ความรู้สึกจะเป็นสิ่งที่ยากจะหาเกณฑ์มาวัดได้ แต่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถวัดภาพของความสำเร็จได้ เพราะทุกครั้งที่ภาพของประเทศไทยออกสู่สายตาของคนทั้งโลก มันกลับมีประโยคหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกของเขาออกมาและบอกว่าเราคือใคร”
“สยามเมืองยิ้ม หรือ Amazing Thailand นี่คือสิ่งที่เราสร้างภาพให้กับสายตาชาวโลก แต่คำถามคือ
แบรนด์ดิ้งนี้ได้มาจากมุมมองของใคร และใครได้ประโยชน์จากมัน ความท้าทายอาจไม่ใช่การสื่อสารเพียงอย่างเดียว เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาคน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับการทำแบรนด์ดิ้งก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน”
“Branding Thailand ในความคิดผมคือการเป็นประเทศที่โอบรับกับความหลากหลาย เป็นภาพของการสานต่อ Branding Thailand เพราะเราจะโอบรับความหลากหลายที่เข้ามา มีผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาสร้างเม็ดเงิน ใช้เม็ดเงินกับประเทศของเรา ผู้คนจะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตให้ก้าวไปข้างหน้า และ YIC Academy จะตอกย้ำว่าพวกเราเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตของประเทศไทย”

Go with the Folks: เที่ยวไทยอย่างยั่งยืน
แคมเปญแรกคือ “Go with the Folks” มีตัวแทนนำเสนอจากวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
Go with the Folks คือแคมเปญที่นำเสนอประเทศไทยผ่านความมีมิตรไมตรี ความเอื้อเฟื้อ และจิตใจบริการของคนไทย โดยชื่อแคมเปญเกิดจากการผสมคำว่า “Go with the flow” ที่หมายถึงความลื่นไหล ไม่เร่งรีบ กับคำว่า “folks” ซึ่งหมายถึงพวกพ้องหรือความเป็นพื้นบ้าน ดังนั้น Go with the Folks จึงสื่อถึงการเดินทางไปกับผู้คนในท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ ภายใต้สโลแกน “Live Like Local” ที่มุ่งเน้นการให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับสถานที่และผู้คนแบบธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง ให้ประสบการณ์ที่ลึกซึ้งและมีความหมาย
“ตัวเลข 120,000 ล้านบาทคือรายได้การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต แต่จังหวัดอำนาจเจริญมีรายได้จากการท่องเที่ยว 76 ล้านบาท หมายความว่า เราต้องมีอำนาจเจริญ 1,600 จังหวัด จึงจะมีรายได้เทียบเท่าภูเก็ต… กลุ่มของเราเชื่อว่า แต่ละจังหวัดมีเพชรเม็ดงามซ่อนอยู่”
ตัวแทนแคมเปญ Go with the Folks บอกว่า แคมเปญนี้ดำเนินงานผ่านกรอบการทำงานที่เรียกว่า “CATS” (แมว) หรือการนำเสนอรูปแบบประสบการณ์ในชุมชน ได้แก่ (1) Culture การเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างนักท่องเที่ยวและชาวบ้าน (2) Accommodation ที่พักที่มีการจัดการโดยคนท้องถิ่นแทนที่จะพักในโรงแรมขนาดใหญ่ (3) Transportation บริการขนส่งสาธารณะ เดินเท้า หรือขี่จักรยานเพื่อสำรวจพื้นที่ (4) Street Food การรับประทานอาหารท้องถิ่นหรือเรียนรู้การทำอาหารจากคนในพื้นที่
“MICE (meetings, incentive travel, conventions, exhibitions) เป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง เราอยากนำเสนอว่า ในการที่คุณจะสัมผัสความเป็นไทย เราจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ผ่าน Live Like Local ทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากเปิดประสบการณ์กับสถานที่และผู้คน เพื่อเพิ่มความหมายและความทรงจำในการท่องเที่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ที่พักแบบโฮมสเตย์ การรับประทานอาหารรสมือคนท้องถิ่น การใช้ขนส่งสาธารณะชุมชน และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างนักท่องเที่ยวและผู้คนในชุมชน”
ตัวแทนแคมเปญกล่าวต่อว่า แคมเปญจะเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยใช้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวในการพัฒนาประสบการณ์ที่น่าสนใจและยั่งยืน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมพื้นบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะสูญหายในอนาคต เป็นการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนจากการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์มาเป็นการท่องเที่ยวแบบชุมชนและยั่งยืน
“การท่องเที่ยวเชิงชุมชนจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงวิถีชีวิตและนวัตกรรมท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง นอกจากสนับสนุนการสร้างอาชีพในชุมชน ยังสร้างความภาคภูมิใจและอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

สบาย สบาย : สบายท้อง-กาย-ใจ
แคมเปญที่สองคือ “สบาย สบาย” มีตัวแทนนำเสนอจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เราเริ่มจากคำถามว่าเราอยากให้ต่างชาติรู้สึกกับประเทศไทยอย่างไร บันทึกจากรัชกาลที่ 4 บอกว่า คนไทยไม่ต้องการข้าวของเครื่องใช้ที่หรูหราฟุ่มเฟือยเหมือนชาวยุโรป เพราะด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทำให้คนไทยสามารถใช้ชีวิตอย่างสบายๆ และคนไทยยังสนุก มีสีสัน พร้อมปรับตัว และเป็นมิตร ใครมาเจอคนไทยก็สบายใจ… ความสบายล้วนอยู่ในทุกองค์ประกอบของความเป็นไทย”
ดังนั้น แคมเปญสบาย สบาย จึงตีความแนวคิดของความสบายที่แฝงอยู่ในทุกองค์ประกอบของความเป็นไทย 3 มิติสำคัญ ได้แก่ สบายกาย สบายใจ และสบายท้อง
- ความสบายกาย นำเสนอผ่านการนวดแผนไทย ซึ่งเป็นศาสตร์บำบัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นการนวดแบบมาตรฐานที่ให้ความผ่อนคลายและราคาเข้าถึงได้ หรือการนวดในระดับพรีเมียมที่เพิ่มมูลค่าและสามารถต่อยอดไปสู่ระดับโลก
- ความสบายใจ สะท้อนในหลายมิติ ได้แก่ (1) สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น น้ำตก ทะเล แม่น้ำ ภูเขา เกาะ โฮมสเตย์ และชุมชนท่องเที่ยว ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดธรรมชาติและสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น กิจกรรมเหล่านี้ช่วยบำบัดจิตใจให้ผ่อนคลาย (2) ลักษณะนิสัยคนไทย ที่รักความเป็นอิสระ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยิ้มแย้มแจ่มใส และพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยมิตรภาพเสมอ และ (3) ที่พึ่งทางจิตใจ ผ่านวัดวาอารามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งช่วยเสริมความสิริมงคล สร้างความอิ่มบุญ รวมถึงการได้สัมผัสกับบรรยากาศทำให้สงบจิตสงบใจ
- ความสบายท้อง นำเสนอผ่านอาหารไทย ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตและนิสัยของคนไทย เพราะอาหารไทยส่วนใหญ่ง่ายต่อการรับประทาน ไม่ซับซ้อน มีรสชาติที่คุ้นเคย และทำจากวัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หาทานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถอิ่มท้องได้ทุกเวลา
ตัวแทนแคมเปญสบาย สบาย กล่าวต่อว่า แคมเปญนี้สะท้อนให้เห็นว่าความสบายแบบไทยๆ สามารถเชื่อมโยงและประยุกต์ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นและตอบโจทย์ผู้คนจากทั่วโลกอย่างแท้จริง

Be Free : ส่งเสริมศิลปะในระบบการศึกษา
แคมเปญที่สามคือ “Be Free” มีตัวแทนนำเสนอจากคณะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเยาวชนที่จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา
ตัวแทนแคมเปญ เริ่มจากตั้งคำถามถึงศิลปินชาวไทยที่เป็นที่รู้จักระดับโลกอย่างลิซ่าและแบมแบมว่า ทำไมทั้งสองคนนี้ต้องไปคว้าโอกาสจากต่างประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยสามารถให้โอกาสเขาได้ พร้อมทั้งยกปรากฏการณ์ “สมองไหล” ในกลุ่มคนรุ่นใหม่
Be Free จะนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะ “ชาติแห่งความเป็นอิสระ” ที่มีเสรีภาพในการแสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพในระดับโลก มุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยกับแนวคิดของเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยต่างแสวงหาอย่างต่อเนื่อง และเสริมพลังให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ พัฒนาตนเอง และเติบโตในสายอาชีพที่มุ่งหวัง โดยดำเนินการใน 2 ส่วน ดังนี้
(1) การสนับสนุนการศึกษา STEAM (science-technology-engineering-arts-maths) ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขยายโครงการหลักสูตร STEAM ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะหลักสูตร STEAM ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ผ่านการบูรณาการศาสตร์ทางด้านศิลปะ ซึ่งสามารถปลูกฝังแนวคิดที่ช่วยพัฒนาเยาวชนให้มีความรอบรู้ และสามารถต่อยอดสู่การประกอบอาชีพในอนาคต
(2) เทศกาล Creative Festival เทศกาลที่ส่งเสริมการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยอย่างเป็นอิสระ ในรูปแบบขบวนพาเหรดรอบเมืองที่เปิดโอกาสให้ศิลปิน นักสร้างสรรค์ ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ นักศึกษา คนทำงาน และผู้คนทั่วไปได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานและแสดงศักยภาพในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงบูรณาการอุตสาหกรรมดนตรี อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามาร่วมสร้างสีสันภายในงาน
“นำเสนอ Festival Be Free จัดพาเหรดเดินรอบเมืองให้คนไทยได้แสดงตัวตน ดึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เข้ามา และเปิดกว้างให้ศิลปินในท้องถิ่นได้มีโอกาสนำความเป็นไทยสู่สากล และขยายไปหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และต่อไปอาจเห็นปรากฏการณ์คล้ายสงกรานต์ นำเสนอภาพลักษณ์ที่ประเทศไทยเปิดกว้างและสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ช่วยดึงดูด creative talent จากทั่วโลกเข้ามาศึกษา ทำงาน และลงทุนในประเทศ”

Spectrum of Thailand : แพลตฟอร์มอาหารไทยด้วยเกณฑ์ DEI
แคมเปญที่สี่ “Spectrum of Thailand” มีตัวแทนนำเสนอจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะการสื่อสารมวลชน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
“Spectrum of Thailand” คือแคมเปญที่ให้ความสำคัญกับ diversity-ความหลากหลาย equality-ความเสมอภาค และ inclusion-การเข้าถึง โดยนำหลักการข้างต้นไปปรับใช้กลุ่ม “อาหาร”
“อาหารไทยยังเป็นภาพเหมารวม เช่น พูดถึงอาหารไทย ต้มยำ ส้มตำ หรือสุขอนามัยของสตรีทฟู้ด ราคาถูก ขณะที่อาหารเกาหลีและอิตาลี ผู้ประกอบการช่วยกันสร้างมาตรฐานและราคาที่สะท้อนถึงคุณค่าและมูลค่าของวัตถุดิบ” ตัวแทนแคมเปญกล่าว
การทำแบรนด์ดิ้งอาหารไทยจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์ม Spectrum แอปพลิเคชันเชื่อมร้านอาหารและผู้บริโภค โดยนำร้านอาหารที่ได้รับเกณฑ์ DEI เข้ามาขายในแพลตฟอร์ม มีการโปรโมตร้านอาหารรายย่อยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ควบคู่การสร้างความตระหนักรู้ อีกทั้งปักหมุดร้านอาหารและเครื่องดื่มที่กระจายทั่วประเทศ และให้คนทั่วไปรีวิวร้านได้
ตัวแทนแคมเปญกล่าวถึงเกณฑ์ DEI ที่จะนำไปจับกับร้านอาหาร เช่น ร้านอาหารต้องใช้วัตถุดิบท้องถิ่น (diversity) อย่างวัตถุดิบจากกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย (equality) สุดท้าย ส่งเสริมร้านอาหารรายย่อยที่มีวัฒนธรรมของคนกลุ่มเปราะบาง มีการเล่าเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่ให้แสดงศักยภาพ (inclusion)
นอกจากนี้ แคมเปญ Spectrum of Thailand จะทำรายการอาหารควบคู่กันไปในชื่อ “Food Journey” ผ่านการตีความรายการอาหารใหม่ผ่านคอนเซปต์ “เรียบแต่น้อย โก้แต่มาก ไฮแฟชั่น” ไม่จำเป็นต้องขายให้มาก แต่นำเสนอมุมมองความสมจริง ผสมผสานรายการเรียลิตี้และวาไรตี้เข้าด้วยกัน

Fusion Fashion : ผ้าไทยเจาะ Gen Z
แคมเปญที่ห้า “Fusion Fashion” มีตัวแทนนำเสนอเป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และจากคณะวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
Fusion Fashion คือแคมเปญที่ใช้อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นแรงขับเคลื่อนแบรนด์ของประเทศไทย และเชื่อมโยงการผลิตเข้ากับชุมชนและทรัพยากรในประเทศ รวมถึงออกแบบแฟชั่นให้สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน
“จุดอ่อนของแฟชั่นไทยคือ คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้สินค้าเมืองนอกมากกว่าของไทย กระทั่งงานฝีมือก็เป็นคนมีอายุทำ เราขาดแรงงานทดแทน ภาครัฐบางแคมเปญขาดความต่อเนื่อง เราอยากเห็นชาติไทยที่เป็นสากลกับคนรุ่นใหม่ และใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เข้าถึงคนทุกเจน”
ตัวแทนแคมเปญมองถึงกลุ่ม Gen Z ทั่วโลก ซึ่งมีประชากร 26% หรือประมาณ 2,000 ล้านคน และในประเทศไทยมีกลุ่ม Gen Z คิดเป็น 1 ใน 4 ของประเทศ ดังนั้นโจทย์คือ ถ้าคนกลุ่มนี้หันมาบริโภคผ้าไทย มูลค่าตลาดจะสูงขึ้น แต่จะทำอย่างไร
แคมเปญจึงใช้แนวทางประสานความร่วมมือกับกลุ่มทอผ้าจังหวัดต่างๆ และดีไซเนอร์รุ่นใหม่ในสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาผ้าไทยให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น ตอบโจทย์ความยั่งยืน รวมถึงต่อยอดอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ”
“คนรุ่นใหม่อยากใส่ผ้าไทยแต่เข้ากับไลฟ์สไตล์มากขึ้น เท่ เก๋ สากล นำเสนอแคมเปญยกระดับสิ่งทอและผ้าไทยภายใต้คอนเซปต์ ‘ผ้าไทยที่วัยรุ่นแคร์ เห็นแล้ว wear แน่นอน’”

Hidden Gems : สตอรี่สินค้า และคาแรกเตอร์ 77 จังหวัด
แคมเปญที่หก “Hidden Gems” มีตัวแทนนำเสนอจาก คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
ตัวแทนแคมเปญ ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีสิ่งดีๆ อยู่มากมาย แต่ทำไมเพชรเหล่านี้ไม่สร้างกำไรให้ประเทศอย่างที่ควรจะเป็น และถูกมองข้าม
Hidden Gems จะช่วยส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ร่วมสมัย และผลิตนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่ ตอบโจทย์ตลาดโลก
“ทำอย่างไรให้คนเห็นสินค้า แคมเปญของเราใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านแอปพลิเคชันไก่ฟ้า ภายใต้คอนเซปต์ Local Product, Local Tourism และ Local Character”
- Local Product เน้นไปที่การสร้างเรื่องราว (storytelling) เล่าเรื่องความเป็นมาเอกลักษณ์สินค้าแต่ละชนิด ใช้ภาพเคลื่อนไหว ให้นักท่องเที่ยวสนใจสินค้ามากขึ้น ซื้อสินค้าจังหวัดรองมากขึ้น
- Local Tourism เมื่อสนใจตัวสินค้า แอปพลิเคชันจะโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวควบคู่กันไป ทำให้การท่องเที่ยวและขายสินค้าเกิดขึ้นพร้อมกัน
- Local Character สื่อความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด ทั้งหมด 77 ตัวละคร โดยคาแรกเตอร์จะสะท้อนถึงกิจกรรมประจำจังหวัด
นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญระบบสะสมแต้ม โดยตัวแทนแคมเปญอธิบายว่า เมื่อซื้อสินค้าจากจังหวัดครบตามแต้มที่กำหนด ได้รางวัลเป็นตัวละครในรูปแบบ art toy แต่มีคำถามว่าทำไมไม่ลดราคาสินค้าหรือที่พัก คำตอบคือนักท่องเที่ยวต้องการมาใช้เงิน และประสบการณ์ใหม่ๆ ดังนั้น art toy จึงตอบโจทย์ความประทับใจและรู้สึกดีกับประเทศไทย ทำให้เกิดการบอกต่อ

Fearniverse : เปลี่ยนความเชื่อเป็นเงิน
แคมเปญที่เจ็ด “Fearniverse” มีตัวแทนนำเสนอจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ตัวแทนแคมเปญกล่าวว่า แคมเปญ Fearniverse เกี่ยวกับอุตสาหกรรมความเชื่อและความศรัทธา โดยข้อมูลปี 2565 ระบุว่า เศรษฐกิจสายมูมีมูลค่า 1.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 10 ปี
“เมืองไทยมีของสร้างสรรค์เยอะ เช่น ผีไทย เราจะเอาศิลปะเป็นตัวช่วย สร้าง pop art ทำเรื่องเล็กๆ เล่าผ่านศิลปะที่สวยงาม ตัวอย่างเช่น วัดบ้านไร่ x Supreme ยันต์หลวงพ่อคูณ ขายได้เป็นล้าน”
“ธุรกิจสายมูถูกมองว่าเป็นสิ่งมงาย แต่สำหรับกลุ่มเรามองว่า ถ้าเรามีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจก็เป็นการสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง และแรงผลักดันในการใช้ชีวิต หรือวัฒนธรรมญี่ปุ่นเอาผีมาเล่าอย่างสร้างสรรค์ ทำไมเราเป็นอย่างเขาไม่ได้ เราจะแช่แข็งวัฒนธรรมจริงๆ หรือ”
ตัวแทนแคมเปญกล่าวต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจสายมูในประเทศไทยสามารถไปต่อได้ แต่ทุกวันนี้ยังมีมุมมองด้านลบและต่างคนต่างทำ ไม่มีการรวมกลุ่ม ดังนั้น แคมเปญ Fearniverse จะเป็นการสร้างชุมชนและส่งเสริมเป็นวงกว้างตลอดทั้งปี โดยต้นปีแคมเปญจัดเทศกาลที่พูดถึงการบอกลาปีเก่าต้อนรับปีเก่า กลางปีพูดถึงต้นปีความสับสนในชีวิต และท้ายปีมีกิจกรรมฮาโลวีนหรือคริสต์มาส หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อและความกลัว
นอกจากนี้ยังมีทอล์กโชว์แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ งานฝีมือ และตลาดขายสินค้าความเชื่อที่ผ่านการตีความที่ทันสมัย คอสเพลย์ผีไทยหรือประกวดด้านศิลปะความเชื่อ และกิจกรรมดนตรี

Diversity : ใช้เทศกาลดึงดูดท่องเที่ยวและสร้างความยั่งยืน
แคมเปญสุดท้ายคือ “Diversity” มีตัวแทนนำเสนอจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
“ธรรมชาติคนไทยรักสนุก รักเสียงดนตรี รักม่วนจอย ประสบการณ์ใหม่ๆ ศักยภาพของประเพณีไทยที่ยกระดับได้ ไม่พ้นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทย อย่างบุญบั้งไฟเดือนหก มีนักท่องเที่ยวไหลเข้ามาพอๆ กับปีใหม่ ประเพณีจังหวัดเลยก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย หรือกิจกรรมรับน้องรถไฟ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำกิจกรรมบนรถไฟตลอดทาง เป็นกิจกรรมระดับประเทศที่บริหารด้วยนักศึกษา”
“วัฒนธรรมต่างๆ มีรากฐานจากความเชื่อ ผมอยากยกระดับมัน ช่วยให้ผู้คนเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์กับนานาชาติด้วย”
แคมเปญ Fearniverse จะใช้เทคโนโลยี ช่วยส่งเสริมความเป็นสากลและความยั่งยืน เช่น ใช้เทคโนโลยี AR ในเทศกาลลอยกระทง ช่วยลดปัญหามลพิษ รวมถึงผลักดันความยั่งยืน เช่น การรักษาผืนป่า บำบัดน้ำและความยั่งยืนทางอาหาร
“festival ต้องนำเสนอความยั่งยืนด้วย ระบบนิเวศ การคมนาคม โรงแรม บริการ ร้านอาหาร ต้องการหน่วยงานภาครัฐหรือที่เกี่ยวข้องช่วยยกระดับปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน บางครั้งชุมชนไม่สามารถหยิบโอกาสมาพัฒนาธุรกิจได้ เราต้องทำให้ประเทศไทยเป็น festival ระดับโลกที่เพียบพร้อม ไม่ใช่แค่ศิลปะวัฒนธรรม แต่ต้องเป็นระบบนิเวศที่เพรียบพร้อม”
ทั้งนี้ YIC ได้ลงนาม MoU เพื่อร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และ การศึกษา รวม 6 องค์กร ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด พร้อมด้วยเครือข่ายมหาวิทยาลัยพันธมิตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อสานต่อเป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนให้เป็นกำลังคนของประเทศในการพัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เดินหน้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เครือข่ายความร่วมมือนี้จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยสู่สากล