IFC เข้าลงทุนในตราสารหนี้เพื่อการพัฒนาสังคมและการการเข้าถึงบริการทางการเงินของสุภาพสตรีซึ่งออกเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยเมืองไทยแคปปิตอล
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย วันที่ 26 สิงหาคม 2567 – เพื่อขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งมีสุภาพสตรีเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้นำของธุรกิจในประเทศไทย ทาง IFC จึงได้ประกาศในวันนี้ถึงการเข้าลงทุนเป็นจำนวนเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐในตราสารหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาสังคมและการเข้าถึงบริการทางการเงินของสุภาพสตรี (Gender-Inclusive Social Bond) ซึ่งออกโดยบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) โดย MTC เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในประเทศไทย
เงินลงทุนจากตราสารหนี้เพื่อการพัฒนาสังคมและการเข้าถึงบริการทางการเงินของสุภาพสตรีจะมอบให้เป็นสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีสุภาพสตรีเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้นำของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่การเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบนั้นเป็นไปอย่างจำกัด โดย MTC เป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่มีการออกตราสารหนี้เพื่อการพัฒนาสังคมและการเข้าถึงบริการทางการเงินของสุภาพสตรีในประเทศไทย
“เราให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางการเงินและการได้รับบริการอย่างเท่าเทียมเสมอมา การส่งผ่านโอกาสที่สำคัญครั้งนี้จะช่วยให้เราขยายขอบเขตสิทธิการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้คนในสังคมไทยได้มากยิ่งขึ้น และเป็นต้นแบบผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยที่สนับสนุนสังคมแห่งความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการของ MTC กล่าว
การลงทุนของ IFC ในตราสารหนี้เพื่อการพัฒนาสังคมและการเข้าถึงบริการทางการเงินของสุภาพสตรีนั้นเป็นไปตามการศึกษาพื้นฐานให้ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) สามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่เป็นสุภาพสตรีต่อไปได้ การศึกษานี้ดำเนินการโดย IFC และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียภายใต้ Women’s Economic Empowerment, Financing, and Inclusion Platform (WEE-FIP) นอกจากนี้ IFC ยังให้คำปรึกษาแก่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพในด้านต่าง ๆ เช่น แนวทางการคุ้มครองลูกค้าและการพัฒนากรอบหลักเกณฑ์สำหรับตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคมซึ่งจะสนับสนุนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนของ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งเน้นการจัดให้มีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในราคาที่เหมาะสมแก่กลุ่มประชากรยังไม่ได้รับบริการทางการเงินในระบบที่ตอบโจทย์หรือเพียงพอ (Underserved) ในประเทศไทย
“ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กซึ่งมีสุภาพสตรีเป็นเจ้าของหรือผู้นำกิจการในประเทศไทย เราสามารถมีส่วนร่วมในการปลดล็อคศักยภาพอันสูงสุดและนำประโยชน์ดังกล่าวมาใช้เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่รูปแบบการเติบโตและการพัฒนาที่แข็งแกร่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580” นาย Riccardo Puliti รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก IFC กล่าว
IFC ได้อยู่ในระดับแนวหน้าในการให้การสนับสนุนวิสาหกิจรายย่อยในประเทศไทยผ่านการลงทุนที่มีความสำคัญ โดยในปี 2564 ทาง IFC ได้ลงทุนเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มโอกาสในการให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจรายย่อย ในปี 2567 ทาง IFC ก็ได้เข้าร่วมลงทุนในตราสารทุนผ่านการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัท ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่มีสุภาพสตรีเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้นำธุรกิจ
เกี่ยวกับ IFC
IFC เป็นสมาชิกในกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ซึ่งเป็นสถาบันพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งเน้นการพัฒนาของภาคเอกชนในตลาดเกิดใหม่ ทาง IFC ทำงานในประเทศมากกว่า 100 ประเทศ โดยการใช้เงินทุนของ IFC ความเชี่ยวชาญ และการโน้มน้าวเพื่อสร้างตลาดและโอกาสในประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ แห่ง โดยในปีงบประมาณ 2567 IFC ได้ทุ่มงบประมาณจำนวน 56 พันล้านดอลลาร์ให้แก่บริษัทเอกชนและสถาบันการเงินต่าง ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้ประโยชน์จากแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับภาคเอกชนและระดมเงินทุนให้แก่ภาคเอกชนเพื่อสร้างโลกที่ปราศจากความยากจนและน่าอยู่มากขึ้น โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ifc.org
เกี่ยวกับเมืองไทย แคปปิตอล (MTC)
MTC คือผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีสินเชื่อ ฐานลูกค้า และเครือข่ายสาขาที่ใหญ่ที่สุดทั่วประเทศ ด้วยประวัติอันยาวนานกว่า 32 ปี ในประเทศไทย MTC เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2557 โดยปัจจุบัน MTC มีมูลค่าตลาดกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำเสนอบริการที่หลากหลายให้แก่ลูกค้า ซึ่งได้แก่ สินเชื่อรถยนต์ส่วนบุคคล สินเชื่อโฉนดที่ดิน สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยสินเชื่อเหล่านี้มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมกิจกรรมการผลิตบริการและสินค้าที่ได้ให้บริการผู้ขอสินเชื่อแล้วกว่าสามล้านราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าริมถนน และกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดย MTC ได้รับการจัดอันดับเครดิต BBB+ จาก TRIS rating ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับเครดิตในประเทศไทย ซึ่ง MTC ยังเป็นบริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่มีความสม่ำเสมอในตลาดทุน และเป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในรายชื่อดัชนีการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (Thailand Sustainability Investment Index) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เกี่ยวกับ WEE-FIP
แพลตฟอร์มการเสริมพลังทางเศรษฐกิจ การเงิน และการรวมกลุ่มของสตรี (Women’s Economic Empowerment, Financing, and Inclusion Platform หรือ WEE-FIP) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย และมุ่งเน้นการตรวจสอบ กำหนดเป้าหมาย และแก้ไขช่องว่างทางเพศและการรวมกลุ่มที่สำคัญในภาคเอกชน และสร้างเสริมรากฐานสำหรับการมีส่วนร่วมมากขึ้นของบริษัท สถาบันการเงิน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาครัฐที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก WEE-FIP มุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสการลงทุนทางการเงินด้านเพศรูปแบบใหม่ให้กับนักลงทุนภาคเอกชนและสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา ซึ่งจะมอบการเสริมพลังทางเศรษฐกิจที่วัดผลได้สำหรับผู้หญิง การเติบโตที่ครอบคลุมและเสิรมสร้างการมีส่วนร่วม และส่งเสริมความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศ