“โดยหลักเหตุและผลแล้ว ภาครัฐที่โปร่งใสจะเป็นยาต้านที่ดีของปัญหาคอร์รัปชัน ปัจจุบันธนาคารโลกเริ่มเสนอมุมมองว่าการทำเรื่องภาครัฐระบบเปิด (Open Government) น่าจะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ยากหรือเกิดขึ้นน้อยลง ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและพลเมืองดีขึ้น และช่วยส่งเสริมกลไกการแสดงความรับผิดรับชอบต่อสังคมของภาครัฐ จึงเสมือนการยิงกระสุนนัดเดียวได้ผลหลายต่อ”
ในมุมมองของภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership: OGP)
“ภาครัฐระบบเปิด” เป็นแนวคิดที่มีพัฒนาการมานานแล้ว แม้ไม่มีการให้คำจำกัดความที่เป็นสากล แต่ส่วนใหญ่จะมีแนวคิดที่ไม่ต่างกันคือ ครอบคลุมเรื่องของความโปร่งใส (Transparency) การมีส่วนร่วม (Participation) และความรับผิดชอบ (Accountability)
“ภาครัฐระบบเปิด” ซึ่งเป็นทั้งองค์ประกอบของหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล และเป็นกลไกส่งเสริมการมีประชาธิปไตยที่ดี จึงถูกหยิบยกมากล่าวถึงในเวทีเสวนาหัวข้อ “Open Government for Stronger Rule of Law” หรือ “ภาครัฐที่โปร่งใส เพื่อหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง” ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567
สำหรับพัฒนาการของการสร้างภาครัฐแบบเปิดในประเทศไทยนั้นมีมานานกว่าสองทศวรรษ ทั้งในมิติของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และในมิติของการมีส่วนร่วมที่มีกฎหมายรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผ่านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ตอบโจทย์ประชาชน โดยมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐ แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล (Inform) การรับฟังความคิดเห็น (Consult) การเปิดเวทีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม (Involve) การสร้างความร่วมมือในการดำเนินการกับภาครัฐ (Collaborate) และสุดท้ายคือ การเสริมอำนาจและศักยภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง (Empower) เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ “เปิดข้อมูลภาครัฐเพื่อสานพลัง และนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน”
นอกจาก สำนักงาน ก.พ.ร. แล้ว ยังมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เป็นอีกหัวหอกหลักของภาครัฐในการขับเคลื่อนเรื่องรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ซึ่งผลจากการทำงานหนักร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2565 ประเทศไทยได้คะแนนดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 0.766 คะแนน เป็นอับดับที่ 3 ในอาเซียน และจัดอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 193 ประเทศ ซึ่งขยับขึ้นมากเมื่อเทียบกับอันดับที่ 102 ในปี 2557
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ที่กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
-
1) การยกระดับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐ เพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว และขยายสู่หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่น
2) การพัฒนาบริการที่สะดวกและเข้าถึงง่าย
3) การสร้างมูลค่าเพิ่มอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ
4) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ
ในส่วนของภาคเอกชน ปัจจุบันได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหาขยะปากแม่น้ำ 5 สายหลัก เพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะในทะเล การแก้ปัญหา PM 2.5 โดยสนับสนุนให้ชุมชนปรับระบบเกษตรเป็นแบบไม่เผา อย่างการปลูกมะม่วงแทนข้าวโพดที่จังหวัดลำปาง หรือการทำรถเกี่ยวใบอ้อยเพื่อนำไปขายแทนการเผาทิ้งที่จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นมาตรการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคมที่ภาคเอกชนสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
ส่วนภาคประชาสังคมนั้น ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ออกมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เช่น บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พัฒนาแพลตฟอร์ม ACTAi เครื่องมือตรวจสอบความโปร่งใสของภาครัฐ กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน “WeVis” พัฒนาแพลตฟอร์มเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของรัฐสภา ไทยพีบีเอสร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์ม Policy Watch ช่องทางในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น
แม้จะมีการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดภาครัฐที่โปร่งใสกันมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่วงเสวนามองว่ายังมีอีกหลายมิติที่ต้องพัฒนาต่อเนื่อง เช่น การปรับกฎหมายให้ภาครัฐมีความทันสมัย กล้าเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ต้องกลัวถูกสอบวินัย หากข้อมูลผิดพลาดโดยมิได้มีเจตนาทุจริต การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของข้อมูลเปิดให้ดีขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น การส่งเสริมให้มีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์มากขึ้น รวมถึงการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนเพื่อชุมชนและสังคม หรือกลไกทางการเงินที่จะช่วยให้ประชาชนที่ดูแลระบบนิเวศมีความเข้มแข็งและสามารถดูแลระบบนิเวศได้ดีขึ้น
……
เวทีเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบัน TIJ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบัน TIJ คุณอัดนา คาราเมฮิก-โอตส์ ตัวแทนจาก OGP คุณอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน คุณสุภอรรถ โบสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด คุณชรินทร์ ธีรฐิตยางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล DGA และคุณณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด