
สตง. เปิดผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2566 ตรวจ 9,426 หน่วยงาน 14,148 รายงาน/สัญญา พบ 1,795 หน่วยงานผิดระเบียบ แจง 3 เกณฑ์ตรวจ (1) การเงิน (2) กฎหมาย (3) ผลสัมฤทธิ์ เผยระงับความเสียหายได้กว่า 3 หมื่นล้าน – ประเด็นก่อสร้างพระราม 2 สร้างเสร็จแต่ใช้ไม่ได้ เพราะอีกหน่วยงานยังสร้างไม่เสร็จ – ส่อทุจริต มหา’ลัย รับงาน BCG 500 ล้าน – ของบสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์ผิดโซนนิ่ง สิ่งปลูกสร้างไร้คุณภาพ
นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สตง. ได้ตรวจเงินแผ่นดินตามนโยบายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยได้ตรวจสอบหน่วยรับตรวจประกอบด้วย หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ กองทุนและเงินหมุนเวียน และหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 9,426 หน่วยงาน รวมจำนวนผลผลิตการตรวจเงินแผ่นดิน 14,148 รายงาน/ระบบ/สัญญา/ประกาศ พบข้อบกพร่องและได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งสิ้น 1,795 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.04 รวมมูลค่าความเสียหายที่ต้องมีการชดใช้เงินคืนและรายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม/มูลค่าความเสียหายที่ป้องกันได้/มูลค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 30,835.97 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ในแต่ละปีงบประมาณ สตง.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ตามเกณฑ์วงเงิน 40,000 ล้้านบาท โดยจำแนกตามลักษณะงานตรวจสอบ ทั้งหมด 3 เรื่อง คือ (1) การตรวจสอบการเงิน (2) การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (3) การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน ดังนี้
ตรวจเอกสารการเงิน 8,575 รายงาน – ผิดเกณฑ์ 7%
(1) การตรวจสอบการเงิน จากการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยรับตรวจ จำนวน 8,575 รายงาน พบว่า สตง. ได้แสดงความเห็นต่อรายงานการเงินอย่างมีเงื่อนไขว่า รายงานการเงินไม่ถูกต้อง และไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน รวมจำนวน 629 รายงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.34
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีให้ตรวจสอบ รวมถึงไม่สามารถชี้แจงสาเหตุของข้อผิดพลาดหรือผลแตกต่างได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายการที่มีจำนวนเงินสูงอย่างมีสาระสำคัญหลายรายการ หรือเพียงรายการเดียวแต่มีสัดส่วนที่สำคัญอย่างมากต่อรายงานการเงิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีการแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินอย่างมีเงื่อนไข แสดงความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง และไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน จำนวน 1,094 รายงาน พบว่ามีสัดส่วนลดลง จำนวน 465 รายงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 42.50
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า การจัดทำรายงานการเงินของหน่วยรับตรวจมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากหน่วยกำกับดูแลได้กำหนดแนวทางการบันทึกบัญชีและการจัดทำรายงานการเงินเพื่อให้เกิดความชัดเจนและลดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงาน ประกอบกับ สตง. ได้ให้คำแนะนำในการบันทึกบัญชีและการจัดทำรายงานการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบระบบสารสนเทศของหน่วยรับตรวจ จำนวน 5 ระบบ/รายงาน รวม 5 หน่วยงาน ยังมีข้อตรวจพบที่สำคัญในด้านการควบคุมทั่วไปเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านการควบคุมเฉพาะระบบ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลและระบบงาน พบว่าไม่มีการสอบทานบัญชีผู้ใช้งานและสิทธิการเข้าถึงระบบสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงระบบบริหารเงินกองทุนและระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลลูกหนี้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งมีการนำเข้าข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน เป็นต้น
666 ล้านบาท ความเสียหายจากสัญญาบกพร่อง
(2) การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ประกอบด้วยการตรวจสอบรายจ่าย รายได้ การจัดให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและการบริหารทรัพย์สินของรัฐ ตลอดจนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบกรณีพิเศษ และตรวจสอบเชิงป้องกัน จำนวน 5,318 รายงาน/สัญญา/ประกาศ พบข้อบกพร่อง รวม 2,638 รายงาน/สัญญา/ประกาศ คิดเป็นร้อยละ 49.61 ของรายงาน/สัญญา/ประกาศ
ข้อบกพร่องสำคัญที่ตรวจพบ อาทิ การคำนวณราคากลางไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หรือไม่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงการจัดทำสัญญาไม่ถูกต้อง ไม่รัดกุม หรือมีการไม่ปฏิบัติตามสัญญา การจัดเก็บภาษี เงินค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือสัญญา การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการที่กำหนดและไม่ครบถ้วนตามสัญญา ฯลฯ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า มูลค่าความเสียหายจากการที่ต้องชดใช้เงินคืน รายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม และประมาณการมูลค่าความเสียหายที่สามารถป้องกันได้ เป็นเงินทั้งสิ้น 666.47 ล้านบาท
สตง. เตือนข้อพิรุธ หยุดความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้าน
(3) การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณูปโภค ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ฯลฯ วงเงินงบประมาณของรายงาน/โครงการที่ตรวจสอบ รวมทั้งสิ้น 520,680.59 ล้านบาท รวมถึงได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของรัฐ ประกอบด้วย ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ รวมจำนวน 157 รายงาน มีข้อตรวจพบจำนวน 151 รายงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 96.18 และได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการแก้ไขปรับปรุง มิให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 30,169.50 ล้านบาท
ข้อตรวจพบที่สำคัญในด้านประสิทธิผล/ผลสัมฤทธิ์ เช่น ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนด มิได้กำหนดวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดค่าเป้าหมาย แผนและแนวทางในการดำเนินงาน มิได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินงาน หรือขาดความพร้อมในการดำเนินการด้านประสิทธิภาพ/ความประหยัด เช่น การดำเนินงานล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ไม่มีการติดตามประเมินผล หรือมีระบบติดตามประเมินผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
‘พระราม 2’ สัญญาทับซ้อน กรมทางหลวง-การทางพิเศษฯ สร้างเสร็จ แต่ใช้ไม่ได้อีก 8 เดือน
อย่างไรก็ตาม นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวถึงประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม โดยประเด็นแรกคือ การก่อสร้างถนนพระราม 2
นายสุทธิพงษ์ ให้ข้อมูลผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง ประกอบด้วย 3 สัญญา รวมมูลค่าตามสัญญาเป็นเงินทั้งสิ้น 10,477.386 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงคาดว่างานก่อสร้างทั้ง 3 สัญญาจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2567 ได้แก่
- ตอน 1 กรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ สส.23/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 วงเงินตามสัญญา 3,994.400 ล้านบาท (โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1)
- ตอน 2 ตามสัญญาเลขที่ สส.21/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 วงเงินตามสัญญา 3,991.986 ล้านบาท
- ตอน 3 ตามสัญญาเลขที่ สส.22/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 วงเงินตามสัญญา 2,491.000 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงผลการตรวจสอบว่า การบริหารสัญญาอาจไม่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์หรือขาดประสิทธิภาพ กล่าวคือ โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 มีจุดเริ่มต้นการก่อสร้าง Main Line ที่ กม. 11+959 ซึ่งจะเชื่อมต่อกับ Main Line โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยผู้ใช้บริการจะสามารถเข้าใช้งานทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 ของกรมทางหลวงได้โดยผ่านเส้นทางต่อไปนี้
- ผู้ใช้บริการที่มาจากถนนพระราม 2 สามารถเข้าใช้งานทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 โดยผ่านทางขึ้น-ลงบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางเคหะธนบุรี ตั้งอยู่ที่ กม.7+800 ซึ่งการก่อสร้างส่วนงานดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
- ผู้ใช้บริการที่มาจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สามารถเข้าใช้งานทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 โดยผ่านทางขึ้น-ลงบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางแสมดำ ตั้งอยู่ที่ กม.12+200 ซึ่งการก่อสร้างทางขึ้น-ลงดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน
นายสุทธิพงษ์ อธิบายว่า แม้โครงการดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผน แต่จากข้อมูลพบว่า หลังก่อสร้างเสร็จ ประชาชนผู้ใช้บริการจะยังไม่สามารถใช้งานได้จนกว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะดำเนินการก่อสร้างทางขี้น-ลงให้แล้วเสร็จ ซึ่งอาจเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 8 เดือน ที่ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1 ตลอดทั้งสายได้
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น สตง. จึงได้มีจดหมายบันทึกถึงอธิบดีกรมทางหลวงเพื่อขอให้ชี้แจงเหตุผลหรือข้อเท็จจริงพร้อมแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติม และกรมทางหลวงได้มีหนังสือชี้แจงสรุปได้ว่า กรมทางหลวงได้ประสานขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเร่งรัดก่อสร้างเสาตอม่อ MLP02-21 กม.10+300 ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของโครงการ โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสาตอม่อแล้วเสร็จและให้กรมทางหลวงติดตั้งชิ้นส่วนสะพาน Ramp Bk-7 และ Ramp BK-8 ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีแผนเร่งรัดการก่อสร้าง Main Line ช่วง กม. 10+300 ถึง กม. 12+000 ระยะทางประมาณ 1.7 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568 เพื่อรองรับการเปิดให้ประชาชนใช้บริการ
6 ข้อพิรุธ ส่อทุจริต โครงการฝึกอาชีพ BCG อีสาน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สตง.จังหวัดอุดรธานี ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสู่ความเข้มแข็งและสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจ BCG ของหน่วยงานแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรับงานโดยสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงที่มาของการตรวจสอบครั้งนี้ว่ามาจากจากกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินส่งเรื่องตามข้อปรึกษาหารือจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบกลางสำหรับโครงการดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานได้เสนอโครงการเพื่อของบประมาณต่อคณะรัฐมนตรี วงเงินจำนวน 1,790 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินจำนวน 503.27 ล้านบาท กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี เลย นครพนม สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ โดยคัดเลือกกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) จำนวน 2,400 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน รวมจำนวน 24,000 คน มีกิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรและอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ รวมจำนวน 6 หลักสูตร ประกอบด้วย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สตง. สุ่มตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ การจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์ให้กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กลุ่มอาชีพในชุมชน จำนวน 2 หลักสูตร คือหลักสูตร (1) การผลิตอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องจากวัตถุดิบในท้องถิ่น และ หลักสูตร (5) ระบบการปลูกพืชมูลค่าสูงแบบปลอดภัยในโรงเรือนอัจฉริยะ และตรวจสอบสังเกตการณ์ ณ พื้นที่เป้าหมาย จำนวน 5 จังหวัด พบข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ จำนวน 6 ประเด็น ดังนี้
(1) ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งรับผิดชอบจัดทำร่างขอบเขตงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จัดซื้อ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 21
(2) การกำหนดราคากลางไม่ถูกต้อง สูงกว่าราคากลางที่ควรจะเป็น/ราคาที่เหมาะสม และไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินการหรือจัดทำเพื่อให้ได้มาซึ่งราคากลางตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งไม่มีการอ้างอิงที่มา ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ 69,559,485.70 บาท (รวม 2 หลักสูตร)
(3) วิธีการจัดซื้อจัดจ้างอาจเข้าข่ายเป็นการไม่เป็นไปตามระเบียบฯ โดยการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดแยกดำเนินการโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในวงเงินคราวละไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งรายการพัสดุที่จัดซื้อส่วนใหญ่เป็นพัสดุชนิด/ประเภทเดียวกันจากผู้ขายรายเดียวกัน และดำเนินการจัดซื้อในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ประกอบโครงการดังกล่าวได้รับจัดสรรเงินงบประมาณในครั้งเดียวกัน
นอกจากนี้ยังพบข้อเท็จจริงว่าผู้ขายส่งมอบในวันเดียวกันหลายเขตพื้นที่ เช่น กรณีการจัดซื้อเครื่องสับย่อยและบด จำนวน 800 เครื่อง จัดทำใบสั่งซื้อรวม 52 ใบสั่งซื้อ จากผู้ขายรายเดียวกัน รวมเบิกจ่ายเงินเป็นจำนวน 15.98 ล้านบาท ซึ่งการแยกดำเนินการดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในคราวเดียวกัน เพื่อให้วิธีการซื้อหรือจ้างหรืออำนาจในการสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไป
(4) การจัดทำเอกสารสัญญาหรือข้อตกลง (ใบสั่งซื้อ) ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือขอบข่ายแห่งวัตถุประสงค์และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการรับประกันความชำรุดบกพร่อง ทั้งสถานที่ส่งมอบ รวมถึงไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการรับประกันความชำรุดบกพร่องของพัสดุ
(5) การตรวจรับพัสดุไม่เป็นไปตามระเบียบฯ หนังสือสั่งการกำหนด และข้อกำหนดสัญญา (ใบสั่งซื้อ) จากการสุ่มตรวจพัสดุจำนวน 4 รายการ พบว่าการตรวจรับพัสดุไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วนตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนด/ข้อตกลง (ใบสั่งซื้อ) แต่ได้มีการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างทั้งหมดแล้ว
นอกจากนี้ยังพบว่าคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่ได้ตรวจรับพัสดุ ณ สถานที่ซึ่งกำหนดไว้ในข้อตกลง (ใบสั่งซื้อ) กล่าวคือ มีทั้งการตรวจรับ ณ สถานที่ส่งมอบ และการตรวจรับออนไลน์ โดยใช้การพูดคุยผ่านโทรศัพท์มือถือและการถ่ายภาพเพื่อยืนยัน
(6) ไม่มีการติดตั้งพัสดุที่ได้รับมอบหรือยังไม่มีการเปิดใช้งานพัสดุ อาจส่งผลให้การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ตามที่ได้กำหนดไว้ จากการตรวจสอบสังเกตการณ์สถานที่ส่งมอบพัสดุในพื้นที่จริง ณ สถานที่ดำเนินโครงการของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) /กลุ่มอาชีพในชุมชน พบว่ากลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) /กลุ่มอาชีพในชุมชน ส่วนใหญ่ยังไม่มีการติดตั้งพัสดุที่ได้รับมอบหรือยังไม่มีการเปิดใช้งานพัสดุตั้งแต่วันที่ได้รับมอบ จึงไม่มีการใช้ประโยชน์จากพัสดุที่ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการตามที่ได้กำหนดไว้
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบโครงการดังกล่าว ทำให้ภาครัฐเกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 102.06 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ในระหว่างการตรวจสอบ สตง. ได้ให้คำแนะนำกรณีข้อบกพร่องอันมิใช่สาระสำคัญหรือข้อบกพร่องที่ไม่เกิดความเสียหายเพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้องและป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องลักษณะดังกล่าวอีกในโอกาสต่อไป และหน่วยรับตรวจได้ยอมรับเกี่ยวกับข้อผิดพลาดหรือความบกพร่องทั้งหมดตามผลการตรวจสอบ และได้ดำเนินการเรียกคืนเงินจากผู้ขายส่งคืนคลังแล้ว เป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท อีกทั้งยังได้มีการแจ้งติดตามเร่งรัดเรียกเงินคืนจากผู้ขายและแจ้งให้ดำเนินการส่งมอบพัสดุให้ถูกต้องครบถ้วนเพิ่มเติมเป็นระยะ
โครงการตลาดร้าง เปิดบริการไม่ได้ เพราะผิดผังเมือง
นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างและภายหลังก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 และได้มีการแปลงโครงการเป็นอาคารศูนย์เรียนรู้ชุมชน ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์
โดย สตง. พบว่า โครงการตลาดเกษตรอินทรีย์ดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าและกระจายสินค้าเกษตรคุณภาพ สร้างทักษะการเรียนรู้ด้านการตลาดให้แก่นักเรียน เกษตรกร และประชาชนในชุมชนใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จากรายจ่ายหมวดงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินตามสัญญา 11.81 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และตรวจรับงานจ้างเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2565 พบประเด็น ดังนี้
(1) ขาดการเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินโครงการ กล่าวคือ หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการตลาดเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่สีเขียวอ่อน (การนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์) ทั้งที่จะต้องก่อสร้างบนพื้นที่สีแดงเท่านั้น แม้ภายหลังได้มีหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่ราชพัสดุในการจัดหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ไม่อนุญาตตามที่ขอ ทำให้ไม่สามารถเปิดใช้ประโยชน์ได้ จึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณเป็นเงิน 11.81 ล้านบาท
(2) ไม่มีการใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโครงการ โดยสิ่งปลูกสร้างภายในโครงการมี 9 รายการ ได้แก่ อาคารตลาดชุมชน จำนวน 4 หลัง ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์และเกษตรทฤษฎีใหม่ จำนวน 1 หลัง บูธสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 10 บูธ ฯลฯ และเมื่อไม่มีการเปิดใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จึงส่งผลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ขาดรายได้จากการเก็บค่าเช่าพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า ไม่ได้เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนในชุมชน และไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด อีกทั้งยังทำให้สูญเสียพื้นที่สีเขียวอ่อนในชุมชนที่ควรจะเป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(3) การดำเนินโครงการล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 120 วัน โดยตามสัญญาข้อตกลงให้ผู้รับจ้างเริ่มทำงานภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 และต้องทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายในวันที่ 23 มีนาคม 2565 แต่จากการตรวจสอบพบว่า ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ในวันที่ 22 เมษายน 2565 ส่งมอบงานงวดที่ 3 และงวดที่ 4 (งวดสุดท้าย) ในวันที่ 14 กันยายน 2565 ซึ่งล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นเวลา 175 วัน
(4) สิ่งปลูกสร้างในโครงการมีความชำรุดบกพร่อง อาทิ แผงขายของในอาคารตลาดมีรอยแตกร้าว ลานคอนกรีตมีรอยแตกร้าว ท่อที่ต่อจากถังเก็บน้ำมีน้ำรั่วซึม ฯลฯ รวมถึงหน่วยงานเจ้าของโครงการยังไม่ได้มอบหมายหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลบำรุงรักษาและตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของสิ่งปลูกสร้าง และไม่ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการแก้ไขหรือซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง
นายสุทธิพงษ์ กล่าต่อว่า สตง. มีความเห็นและข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานรับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเสนอโครงการต่างๆ และ ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงสั่งการให้มีการชดใช้ค่าความเสียหายที่ไม่สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้ และอาจชดใช้เงินค่าความเสียหายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวมพื้นที่สีเขียวอ่อนจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ
สตง. เผย ปกป้องเงินแผ่นดินแล้วกว่า 3 หมื่นล้าน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากผลงานด้านการตรวจสอบแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สตง. ยังได้แสดงบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ โดยทำหน้าที่คณะมนตรีองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI Governing Board) และเป็นผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor) ขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งอาเซียน (ASEAN Supreme Audit Institutions : ASEANSAI) รวมถึงมีการเผยแพร่ผลงาน บทความทางวิชาการต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานแก่หน่วยรับตรวจ และการให้คำปรึกษา แนะนำ และตอบข้อสอบถามแก่หน่วยรับตรวจ เป็นต้น
“ทุก ๆ การใช้จ่ายงบประมาณในการปฏิบัติงานของ สตง. 1 บาท สามารถสร้างผลประโยชน์ที่คิดเป็นมูลค่าทางการเงินให้กับประเทศชาติได้เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 10.76 บาท โดยคำนวณจากมูลค่าที่ สตง. สามารถปกป้องเงินแผ่นดินได้สูงถึง 30,835.97 ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ สตง. ใช้ในการปฏิบัติงาน จำนวน 2,865.57 ล้านบาท” นายสุทธิพงษ์กล่าว