ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท เกาไม่ถูกที่คัน – ต้นเหตุ SMEs เจ๊ง

เก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท เกาไม่ถูกที่คัน – ต้นเหตุ SMEs เจ๊ง

26 กรกฎาคม 2024


เก็บ VAT สินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เกายังไม่ถูกที่คัน – พ่อค้าหัวใสใช้ช่องว่างยกเว้นภาษีนำเข้าส่งสินค้าราคาถูก – เกรดต่ำ – ของเลียนแบบ – ไม่ได้ มอก. ดัมพ์ตลาดไทย วางขายเกลื่อนทั้ง Online – 0ffline ต้นเหตุ SMEs เจ้ง โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลยังไม่ได้แก้ไข

ปัญหาสงครามการค้า และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรป ต้องปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, เหล็ก, เสื้อผ้า,เซรามิค ฯลฯ สินค้าจีนที่ล้นตลาดอยู่แล้วหลั่งไหลเข้าสู่อาเซียน ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องออกมาประกาศเตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 200% สกัดสินค้าจีน เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

ในส่วนของประเทศไทยซึ่งมีภูมิประเทศติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ไหลทะลักเข้ามาทุกทิศทุกทาง ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ และไปรษณีย์ระหว่างประเทศ จากข้อมูลการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนของกรมศุลกากร พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าสินค้าจีนยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มียอดนำเข้าอยู่ที่ 1,578,232 ล้านบาท ปี 2563 ยอดนำเข้าปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ 1,567,641 ล้านบาท แต่หลังโควิดฯคลี่คลาย ปี 2564 ยอดนำเข้าสินค้าจีนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2,134,716 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 36.17% ปี 2565 ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2,487,123 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 16.51% ปี 2566 ยอดนำเข้าปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ 2,473,698 ล้านบาท หรือ ลดลง 0.54% และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 สินค้าจีนมียอดนำเข้าอยู่ที่ 1,123,948 ล้านบาท โดยสินค้าจีนที่มีการนำเข้ามามากที่สุด คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ และอะไหล่ชิ้นส่วน เฉพาะในปี 2566 มีมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 724,028 ล้านบาท

แต่ที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ SMEs เนื่องจากมีพ่อค้าหัวใสที่ประกอบธุรกิจทั้งในฝั่งประเทศจีนและไทย อาศัยช่องว่างของนโยบายยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “De Minimis” ซึ่งแต่ละประเทศกำหนดมูลค่าสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่นกำหนดมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้า ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 10,000 เยน สหรัฐอเมริกาไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ และสหภาพยุโรปไม่เกิน 150 ยูโร ส่วนประเทศไทยกำหนดมูลค่าสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเอาไว้ไม่เกิน 1,500 บาท และไม่ได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีกด้วย จึงมีพ่อค้าฝั่งจีนอาศัยช่องว่างภาษี นำสินค้าราคาถูกไม่ถึง 1,500 บาท มาโพสต์ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์โดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกรดต่ำ ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรม (มอก.) หรือ เป็นสินค้าเลียนแบบ ละเมิดลิขสิทธิ์ ใช้งาน 4 – 5 ครั้ง พัง ไฟช็อตไฟไหม้ อีกทั้งยังมีพ่อค้าฝั่งไทยไปรับสินค้าจีนราคาถูกเกรดต่ำเหล่านี้มาวางขายกันเกลื่อน ทั้งในตลาด Online และ Offline จนทำให้ SMEs หรือ ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยที่เสียภาษีถูกต้อง ขายสินค้าไม่ได้เลย เพราะราคาแพงกว่าหลายเท่า สุดท้ายต้องปิดกิจการ กลายเป็น NPLs และบางรายก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เปลี่ยนไปรับสินค้าจีนมาขายแทน

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทางกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไทย จึงทำหนังสือร้องเรียนผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อส่งไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของ SMEs ช่วงการประชุม ครม.วันที่ 2 เมษายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ศึกษาหาทางจัดเก็บ VAT กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการภายในประเทศที่เสียภาษีถูกต้อง และช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้เท่านั้น

กระทรวงการคลังใช้เวลาศึกษาเกือบ 3 เดือน ได้ข้อสรุปว่าให้กรมสรรพากรดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e – Business) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ Platform ซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ มีหน้าที่จัดเก็บ VAT สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท นำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน แต่ในระหว่างที่กรมสรรพากรกำลังเร่งยกร่างกฎหมายเสนอที่ประชุมสภาฯผ่านความเห็นชอบ ให้กรมศุลกากรดำเนินการจัดเก็บ VAT สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่ถึง 1,500 บาท ไปก่อน โดยคาดว่า เจ้าของธุรกิจ Platform Online จะเริ่มเก็บ VAT นำส่งกรมสรรพากรได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากรออกประกาศกรมศุลกากรที่ 129/2567 กำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บ VAT สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท โดยออกแบบฟอร์มให้ผู้ประกอบการ หรือ ผู้นำเข้าที่ประสงค์จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ต้องระบุว่าเป็น “LVG” ลงในแบบฟอร์มใบขนสินค้าแต่ละประเภท แต่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ครอบคลุมทั้งการนำเข้าสินค้าทั่วไป , ของเร่งด่วนผ่านท่าอากาศยาน ทางบก และการนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตพื้นที่ EEC เพื่อใช้ และจำหน่ายภายในประเทศ และการนำเข้าสินค้าทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยให้เริ่มจัดเก็บ VAT ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เท่านั้น คาดว่ากรมศุลกากรจะสามารถจัดเก็บ VAT ให้กรมสรรพากรได้เฉลี่ย 100 ล้านบาท/เดือน รวม 6 เดือน ประมาณ 600 ล้านบาท เท่านั้นเอง

การให้กรมศุลกากรขัดตาทัพ ลุยเก็บ VAT ของนำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ก่อนที่กรมศุลกากรจะเลิกเก็บจะส่งไม้ต่อไปให้กรมสรรพากรไปไล่เก็บ VAT สินค้านำเข้าที่นำโพสต์ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในปีหน้า เน้นแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษีเป็นหลัก ส่วน Offline ไม่พูดถึง ถือเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกเพียงครึ่งเดียว แต่โจทย์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อ SMEs อย่างหนัก ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ ประเด็นสินค้าจีนราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. ถือเป็น “ของต้องกำกัด” ซึ่งการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ ต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มอก. หรือ อย. รวมทั้ง “ของต้องห้าม” ซึ่งห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างเด็ดขาด อาทิ สินค้าเลียนแบบ ละเมิดลิขสิทธิ์ ปล่อยให้ไหลทะลักเข้ามาวางขายกันเกลื่อนเมืองกันอย่างไร ติดตามตอนต่อไป…

อนึ่ง ในระหว่างที่กรมสรรพากรกำลังเร่งแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เจ้าของ Platform จัดเก็บ VAT นำส่งกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปนั้น ทางกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมศุลกากรจัดเก็บ VAT จากสินค้านำเข้าไปก่อน โดยเน้นการนำเข้าสินค้าผ่านช่องทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. กรณีการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ผ่านทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ให้พนักงานไปรษณีย์นำจ่ายพัสดุและใบสั่งเก็บเงิน (Order Form) เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับปลายทาง โดยผู้รับสามารถชำระภาษีมูลค่าเพิ่มผ่าน QR Code ได้ทันที แต่ถ้าไม่สะดวกในการสแกน QR code ให้นำใบสั่งเก็บเงินไปชำระที่ธนาคาร และไปติดต่อของรับสินค้า ณ ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางภายใน 15 วัน หากผู้รับไม่มาติดต่อขอรับสินค้าภายในเวลาที่กำหนด สินค้าจะถูกส่งคืนประเทศต้นทาง โดยผู้รับสามารถมาขอรับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไว้คืนได้

2. กรณีไม่มีผู้รับสินค้า พนักงานไปรษณีย์จะออกใบนัดนำจ่ายพร้อมใบสั่งเก็บเงิน (Order Form) โดยผู้รับสามารถชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มผ่าน QR Code หรือ ธนาคารที่กำหนด และนำหลักฐานการชำระเงินไปแสดง ติดต่อขอรับสินค้าได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ออกใบนัดนำจ่าย หากผู้รับไม่มาติดต่อของรับสินค้าภายใน 15 วัน หรือ กรณีผู้รับที่มีชื่อปรากฏบนจ่าหน้าหีบห่อปฏิเสธการรับสินค้าโดยชัดแจ้ง บริษัท ไปรษณีย์ จำกัด จะส่งสินค้าคืนประเทศต้นทาง

3. หากผู้รับสินค้าไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีมูลเพิ่มตามใบสั่งเก็บเงิน ผู้รับสินค้าสามารถใช้สิทธิโต้แย้งการประเมินภาษีได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบสั่งเก็บเงิน โดยยื่นคำร้องขอใช้สิทธิโต้แย้งได้ 2 ช่องทาง คือ [email protected] 2.ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะใช้เวลาพิจารณายืนยันการประเมินภาษีตามเดิม หรือ ประเมินภาษีใหม่ภายใน 3-5 วันทำการ และแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้รับสินค้า เพื่อให้ผู้รับสินค้าชำระค่าภาษีผ่าน QR Code หรือ นำใบเรียกเก็บเงินไปชำระที่ธนาคาร โดยผู้รับต้องนำหลักฐานการชำระเงินไปแสดง และติดต่อขอรับสินค้าได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางภายใน 15 วัน

นี่ก็เป็นอีกปมที่ผลักภาระมาไปรษณีย์ในการเก็บภาษี โดยที่ไม่ให้ผลตอบแทนใดๆ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และการปฏิบัติพิธีการศุลกากร สำหรับการยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1164 และตรวจสอบรายละเอียดของประกาศได้ที่ www.customs.go.th หรือ สอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานศุลกากรที่ท่านต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรทุกแห่ง

  • อีคอมเมิร์ซจีนใช้ช่องว่างภาษีรุกตลาด ขนส่งทางอากาศทั่วโลกถึงขั้นปั่นป่วน
  • เริ่มแล้ว! กรมศุลฝาก ‘ไปรษณีย์’ เก็บภาษี VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท ถึงสิ้นปี’67
  • นายกฯ มั่นใจ ‘ทักษิณ’ ไม่หนี พร้อมสู้คดี – มติ ครม.เก็บ VAT สินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท