ThaiPublica > เกาะกระแส > โรงงานเสื้อผ้า Abercrombie-Gap จากเขมร ย้ายกลับสหรัฐฯ ติดป้าย Made in USA เป็นไปได้หรือไม่?

โรงงานเสื้อผ้า Abercrombie-Gap จากเขมร ย้ายกลับสหรัฐฯ ติดป้าย Made in USA เป็นไปได้หรือไม่?

25 มิถุนายน 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ในยุคที่การประกอบการผลิตของสหรัฐอเมริกา ย้ายโรงงานออกไปตั้งในต่างประเทศ ที่ค่าแรงถูกกว่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ ที่โรงงานการผลิตจะกลับคืนมายังสหรัฐฯ เพื่อผลิตสินค้า และติดป้ายคำว่า Made in USA หากโรงงานย้ายกลับมา จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะคนอเมริกันส่วนหนึ่งมองว่า การฟื้นการผลิตด้านอุตสาหกรรม มีความหมายในระยะยาว ต่อความสำเร็จและการอยู่รอดของสหรัฐฯ

แต่คนอเมริกันอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ ก็มองว่า ประเทศที่จะมั่งคั่งขึ้นมาได้ ไม่สามารถพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิต ที่ใช้แรงงานมาก และมีค่าแรงถูก อย่างเช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เครื่องจักรสำคัญในการผลิตคือเครื่องเย็บผ้า

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Making-America-Impossible-Manufacture-U-S/dp/0593316886

สิ่งทอคืออุตสาหกรรมของสังคม

หนังสือชื่อ Making It in America (2023) ที่เนื้อหาเขียนถึงผู้ประกอบการรายหนึ่ง ที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าในสหรัฐฯ โดยหนังสือเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงภาพรวมว่า หากเราจะมองอุตสาหกรรมการผลิต ที่มีบทบาทต่อชีวิตคนเรา สิ่งนั้นคืออุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นและมีอยู่ทั่วไป ต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

อุตสาหกรรมสิ่งทอของโลกมีมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ GDP ของอิตาลี จ้างแรงงานทั่วโลก 60 ล้านคน อุตสาหกรรมสิ่งทอจึงเป็นหัวใจของทุกสังคม เหมือนกับอาหารและที่พักอาศัย เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ได้รับสิทธิพิเศษ “ชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง” สินค้าผลิตจากจีนจึงเสียภาษีศุลกากรในอัตราต่ำ ทำให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าในสหรัฐฯย้ายโรงงานไปจีนและประเทศอื่นในเอเชีย

เสื้อสเวตเชิ้ตของ Zara กับค่าแรง

หนังสือ Making It in America บอกว่า ในปี 2017 คนอเมริกันใช้เงิน 380 พันล้านดอลลาร์ หมดไปกับเสื้อผ้าและรองเท้า สินค้าเหล่านี้แทบทั้งหมดผลิตในต่างประเทศ เวลาคนอเมริกันซื้อเสื้อสเวตเชิ้ต (sweatshirt) หรือเสื้อกันหนาวแขนยาว ที่ทำจากต่างประเทศ จะไม่รู้ว่า ราคาขายตัวละ 28 ดอลลาร์นั้น มีต้นทุนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างไร แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่ง เงินส่วนใหญ่ไม่ได้ตกกับคนงาน เงินส่วนใหญ่เป็นค่าการตลาดและผลกำไร

เสื้อสเวตเชิ้ตที่ผลิตได้ถูกในต่างประเทศ ทำให้เจ้าของตราสินค้ามีโอกาสทำกำไรมาก เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรในสวิส ที่ตรวจสอบว่าธุรกิจทำผิดกฎหมายหรือไม่ หรือมีความรับผิดชอบหรือไม่ชื่อ Public Eye ได้แยกแยะต้นทุนเสื้อกันหนาวที่มีผ้าคลุมศีรษะ (Hoodie) ราคา 28 ดอลลาร์ของบริษัท Zara ปรากฏว่า เกือบ 70% เป็นภาษี ผลกำไร และต้นทุนดำเนินงานของ Zara เพียง 7% หรือ 1.9 ดอลลาร์ เป็นค่าแรงงานคนงานที่ตัดเย็บ

Public Eye สรุปว่า การกดราคาขายต่ำและการกำหนดให้มีกำไร 16% เป็นเหตุทำให้มีการกดราคาห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่คนปลูกฝ้าย การแปรวัตถุดิบเป็นเส้นใย และการตัดเย็บเสื้อกันหนาว ส่วนค่าแรงคนงานในตุรกีที่ตัดเย็บให้กับ Zara ได้ 2 ดอลลาร์นั้นพอหรือไม่ Public Eye บอกว่าแทบไม่พอ หากคนงานในห่วงโซ่อุปทาน จะได้รับค่าแรงที่เหมาะสม เสื้อสเวตเชิ้ตของ Zara จะต้องมีราคาสูงขึ้นอีกตัวละ 3.6 ดอลลาร์ เป็น 31.6 ดอลลาร์

ที่มาภาพ : https://www.workersrights.org/

ต้นทุนสังคมของการผลิตเสื้อผ้า

หนังสือ Making It in America อธิบายว่า การซื้อเสื้อผ้าทำจากต่างประเทศ ทำให้คนเรามองข้ามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดอันดับสอง การย้อมสีผ้าก่อให้เกิดสารพิษ และอาจถูกทิ้งลงแม่น้ำ การที่ประเทศกำลังพัฒนาขาดมาตรการกำกับควบคุม มีส่วนทำให้สามารถผลิตเสื้อผ้าได้ในราคาถูกลง

อีกเรื่องหนึ่งคือคุณภาพ เสื้อผ้ามีคุณภาพจะมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ทุกวันนี้ เสื้อผ้าผลิตแบบราคาถูก ทำให้ปีหนึ่ง คนอเมริกันทิ้งเสื้อผ้ามือสองจำนวนมาก และส่งออกไปยังประเทศในแอฟริกา เมืองแอกกรา ประเทศกาน่า เป็นตลาดใหญ่ขายเสื้อผ้ามือสอง ที่ส่งออกมาจากสหรัฐฯ เนื่องจากคุณภาพเสื้อผ้าลดลง ทำให้ 40% ของเสื้อผ้าจากสหรัฐฯเหล่านี้ ถูกทิ้งตามชายฝั่งทะเลหรือบริเวณทิ้งขยะ

ประเทศกำลังพัฒนาเองก็มีความเสี่ยง จากการที่เศรษฐกิจอาศัยอุตสาหกรรมประเภทเดียวเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอของบังคลาเทศและกัมพูชา ทำให้สังคมขาดความเข้มแข็งที่จะให้การดูแลแก่คนงานที่ถูกปลด หากโรงงานปิดกิจการลง ในปี 2020 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 องค์กร Worker Rights Consortium ในสหรัฐฯ ประเมินว่า ช่วงเมษายน-มิถุนายน 2020 บริษัทเสื้อผ้าชั้นนำของโลก เช่น Gap, H&M, Nike และ Walmart ยกเลิกการสั่งซื้อเสื้อผ้ามูลค่าถึง 16 พันล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ : Public Eye

American Roots โรงงานเสื้อผ้าอเมริกัน

ในปี 2020 ผู้เขียน Making It in America ได้พบผู้ประกอบการที่เป็นสามีและภรรยา คือ Ben และ Whitney Waxman ทั้งสองคนเป็นเจ้าของบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าของอเมริกา ชื่อ American Roots โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของ American Roots ตั้งขึ้นในปี 2015 ใช้ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯทั้งหมด เช่น วัตถุดิบฝ้าย 100% ที่ปลูกในสหรัฐฯ

ทั้ง Ben และ Whitney เป็นผู้ประกอบการแบบนักอุดมคติ พวกเขาเชื่อว่า การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ และการใช้แรงงานที่มีการตั้งสหภาพแรง จะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจชุมชนขึ้นมาใหม่ และลดการแบ่งขั้วทางการเมือง โรงงาน American Roots จึงส่งเสริมให้มีการตั้งสหภาพแรงงาน ให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้าง ในสิ่งที่สามารถให้ได้ เช่น การประกันสุขภาพ การจ่ายค่าแรงในช่วงลาป่วย และในช่วงลาพักตามสิทธิ์ ที่ผ่านมา American Roots ช่วยครอบครัวชาวอเมริกันในชุมชน หลุดจากความยากจนได้ 70 ครอบครัว

American Roots เน้นการผลิตเสื้อกันหนาว ซึ่งเป็นสินค้าที่คนอเมริกันนิยม ในปี 2020 คนอเมริกันใช้เงิน 5.5 พันล้านดอลลาร์ ซื้อเสื้อกันหนาวแขนยาวแบบสเวตเชิ้ต ตลาดอเมริกาจึงมีส่วนแบ่ง 1 ใน 4 ของโลก 50% เป็นการนำเข้าจากจีน บังคลาเทศ และเวียดนาม ในปี 2022 ยอดขายของ American Roots อยู่ที่ 3.5 ล้านดอลลาร์ รายได้เฉลี่ยของคนงานอยู่ที่ 47,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือ 3,900 ดอลลาร์ต่อเดือน

ห่วงโซ่การผลิตเสื้อกันหนาวคลุมศีษระของ American Rootes ที่มาภาพ : Making it in America

คุณค่า “การผลิต” ด้วยตัวเอง

หนังสือ Making It in America กล่าวว่า ความสำเร็จของ American Rootes แสดงให้เห็นว่า ในศตวรรษ 21 การประกอบการผลิตในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ที่สำคัญคือผลกระทบที่มีพลังของ American Roots ต่อสังคม การซื้อเสื้อกันหนาวคลุมศีรษะที่ผลิตโดย American Roots หมายถึงสนับสนุนพนักงาน 100 คน ให้มีรายได้ในการจ่ายภาษีแก่รัฐบาลกลาง มลรัฐ และท้องถิ่น พนักงานสามารถซื้อและเช่าที่พักอาศัย และการซื้อบริการต่างๆในชุมชน

เสื้อกันหนาวทุกตัวของ American Roots ยังช่วยทำให้เกิดอุปสงค์หลากหลายต่อสินค้าและการจ้างงานอื่นๆ เนื่องจากเสื้อกันหนาวของ American Roots อาศัยชิ้นส่วนทั้งหมดจากภายในสหรัฐฯ ผลกระทบยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ คือต้นทุนการผลิตเสื้อกันหนาว Made in USA จะตกอยู่ในประเทศแทบทั้งหมด ส่วนการซื้อเสื้อกันหนาวแบบออนไลน์ ที่ผลิตจากต่างประเทศ เงินที่อัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นมีน้อยมาก ท้องถิ่นอาจจะได้เงินแค่ค่าขนส่งสินค้าเท่านั้น

Making It in America บอกว่า ความซับซ้อนและความหลากหลาย คือสิ่งที่เป็นจุดแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็ง จะมีการส่งออกที่หลากหลาย ประเทศที่มีจุดอ่อนทางเศรษฐกิจมากที่สุด คือการส่งออกสินค้ามีอยู่ไม่กี่อย่าง คองโกคือประเทศที่ส่งออกแร่ทองแดงกับโคบอลต์ สัดส่วนถึง 73% ของทั้งหมด และ 80% ส่งออกไปยังจีน ทุกวันนี้ สหรัฐฯเองกำลังกลายเป็นประเทศ ที่เปลี่ยนจากเคยส่งออกสินค้าหลากหลาย แต่ปัจจุบัน กลับเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบและสินค้าเกษตร

สิ่งที่เป็นความจริงก็คือว่า นวัตกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดแบบทันทีทันใด (thin air) แต่มาจากการที่คนเรารู้ว่า “อะไรคือสิ่งที่ใช้งานได้ผล ทำให้คนเรามีจินตนาการได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นไปได้” จุดนี้คือเหตุผลสำคัญที่ Making It in America เรียกร้องสหรัฐฯกลับมาฟื้นฟูการผลิตด้านอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ เพราะนวัตกรรมมีพื้นฐานต่อยอดจากการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้ผล

เอกสารประกอบ

Buy American? Easier Said Than Done, Jan 09, 2024, nytimes.com
Making It in America, Rachel Slade, Pantheon Book, 2024.