ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > EIC ชี้ เศรษฐกิจไทยโตช้า เปราะบางและไม่แน่นอน อุตสาหกรรมไทยยังมีโอกาสให้รีบคว้าท่ามกลางโลกแบ่งขั้ว

EIC ชี้ เศรษฐกิจไทยโตช้า เปราะบางและไม่แน่นอน อุตสาหกรรมไทยยังมีโอกาสให้รีบคว้าท่ามกลางโลกแบ่งขั้ว

18 มิถุนายน 2024


วันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้จัดบรรยายสรุปมุมมองเศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 2 ปี 2567 โดย ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน และนางสาวปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis

  • SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า เปราะบาง ไม่แน่นอน ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
  • Decoupling โลกแบ่งขั้วกดดันการค้า-ไทยซึม

    ดร.สมประวิณกล่าวว่า โลกแบ่งขั้วอย่างชัดเจน โดยมีการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ( decoupling)ใน 3 จุดด้วยกัน จุดแรกการแบ่งขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งนำไปสู่การแบ่งขั้วในอีก 2 จุด คือ decoupling ของเศรษฐกิจโลกกับการค้าโลก เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีแต่การค้าโลกไม่ดี และจุดที่สามคือ decoupling ของไทยกับเศรษฐกิจโลก

    เศรษฐกิจโลกในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกันที่ 2.7% ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด โดยมุมมองเศรษฐกิจในปี 2567 SCB EIC มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเติบโตดี จีนปรับดีขึ้นเช่นกันจากภาคการผลิตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อินเดียและอาเซียนขยายตัวดี ขณะที่ยูโรโซนและญี่ปุ่นเติบโตต่ำ สำหรับปี 2568 แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป อาเซียนจะมีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้น อินเดียยังเติบโตสูงแม้จะชะลอเล็กน้อย ญี่ปุ่นและยูโรโซนฟื้นตัวดีขึ้นแต่ไม่สดใสนัก ขณะที่สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และจีนจะเติบโตต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

    ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

    ในระยะปานกลางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างของจีนและประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลแต่ละประเทศจะปรับสูงขึ้นจากผลการเลือกตั้งเกือบทั่วโลกในปีนี้ โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจและนโยบายการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกตามมา

    ธนาคารกลางหลักหลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง เช่น ECB และ BOC ขณะที่ Fed และ BOE จะเริ่มผ่อนคลายดอกเบี้ยลงเช่นเดียวกันในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นช่วงที่ BOJ มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหลัง BOJ ได้ปรับขึ้นคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง

    ดร.สมประวิณกล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในระยะสั้น แต่ระยะยาวจะถูกกดดันด้วยการค้าโลก มีการประมาณการว่ามูลค่าการค้าโลกในระยะต่อไปจะลดลง เมื่อมูลค่าการค้าลดลง ก็จะส่งผลให้การจ้างงานน้อยลง การผลิตลดลงและวนกลับมาที่เศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มโตน้อยลงได้ในอนาคต

    “มองไปข้างหน้าความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีอยู่ การค้าในโลกจะยังไม่ดีขึ้นในสิบปีจากนี้” ดร.สมประวิณกล่าว

    สำหรับการ decoupling ของไทยกับเศรษฐกิจโลกนั้น ดร.สมประวิณกล่าวว่า SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะทยอยฟื้นตัวไม่สูงนักที่ 2.5% ซึ่งปรับลดลงจาก 3% เป็นผลจากการปรับลดในหลายองค์ประกอบเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การส่งออก

    “เศรษฐกิจโลกดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้น เพราะการค้าโลกไม่ดี จึงมีผลต่อการส่งออก” ดร.สมประวิณกล่าว อย่างไรก็ตามอุปสงค์ในประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ยังมีแรงส่งจากภาคบริการตามการฟื้นตัวได้ดีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเติม ทั้งมาตรการฟรีวีซ่าและ VOA รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน อีกทั้ง การท่องเที่ยวในประเทศยังเติบโตดี โดยจังหวัดเมืองรองมีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ

    ส่งออกซบผลิตสินค้าไม่ตอบโจทย์โลก-จีนตีตลาด

    นางสาวปราณิดา ศยามานนท์ กล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ เมื่อดูจากเครื่องชี้หลายตัว ทั้งการลงทุนในสินค้าทุน เครื่องจักร การขออนุญาตก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น การออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สูงขึ้น

    อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีแรงกดดันจาก 1) การส่งออกสินค้าที่จะขยายตัวจำกัดส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น และการผลิตสินค้าของไทยไม่สอดคล้องกับความต้องการของโลก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเหล็ก ผลไม้ และ HDD ที่จะหดตัวในปีนี้

    2) ภาคการผลิตที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีแรงกดดันทั้งปัจจัยภายนอกจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดเนื่องจากจีนมีปัญหา Overcapacity ในประเทศ รวมถึงปัจจัยภายในจากอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณแผ่วลง

    นางสาวปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis
    SCB EIC

    “ภาคการผลิตไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัด โดยสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตที่ผลิตสินค้าไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลก รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทยที่ลดลง อีกปัญหาหนี้คือ เผชิญกับสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นแทบทุกหมวดสินค้า ทั้งอิเล็กทรอนิคส์ วัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็ก ปิโตรเคมี สินค้าอุปโภคบริโภค” นางสาวปราณิดากล่าว

    มองไปข้างหน้า บางกลุ่มธุรกิจยังมีแนวโน้มถูกตีตลาดจากสินค้าจีน จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ต้องระบายสินค้าออกนอกประเทศและปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีน ก็ยิ่งทำให้จีนส่งออกไปสหรัฐฯได้น้อยลง ต้องหันมาพึ่งตลาดอื่นๆซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ไทย

    เปราะบางมากขึ้น-ไม่แน่นอนสูงขึ้นส่วนหนึ่งจากการเมือง

    ดร.ฐิติมา ชูเชิด กล่าวว่า กิจกรรมการผลิตที่แผ่วลงกดดันรายได้และความต้องการสินค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่หดตัว
    ต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับลดลง โดยความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตขายตลาดในประเทศปรับลดลง แม้ความเชื่อมั่นการผลิตเพื่อส่งออกฟื้นตัวได้บ้าง ตลาดสินค้าคงทนในประเทศยังเผชิญแรงกดดันด้านอุปสงค์ตามการบริโภคสินค้าคงทนที่หดตัวต่อเนื่อง และมองไปข้างหน้าการบริโภคสินค้าคงทนจะยังไม่ฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับลดลง “สะท้อนถึงการฟื้นตัวช้า นอกจากนี้มีความเปราะบาง”

    ดร.ฐิติมา กล่าวว่ามองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยเผชิญความเปราะบางมากขึ้นทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดย
    (1) ภาคครัวเรือน : กลุ่มคนรายได้น้อยขาดกันชนทางการเงินที่เพียงพอในระยะข้างหน้า เช่น เงินสำรองฉุกเฉินและประกันความเสี่ยงรูปแบบต่าง ๆ

    จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey ในปีที่แล้ว พบว่า ผู้บริโภคกว่า 70% มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไม่ถึง 3 เดือน โดยเฉพาะ
    กลุ่มคนที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่มีเงินสำรอง นอกจากนี้ มากกว่า 1 ใน 3 ไม่มีประกันชนิดใดเลย จึงเป็นความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด สะท้อนความเปราะบางสูงของผู้บริโภคกลุ่มนี้

    (2) ภาคธุรกิจ : แม้โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่บางกลุ่มยังเปราะบางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก MSME ที่มีหนี้สูงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างของภาคการผลิตไทย

    “ธุรกิจ MSME ที่มีหนี้สูงเมื่อมีเงินก็นำไปใช้หนี้ และยังใช้เงินจากเงินกู้นอกระบบเพิ่มขึ้นมาก ความช่วยเหลือด้านการเงินและภาระหนี้ที่ต้องการคือ อัตราดอกเบี้ยที่ยังสูง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการเข้าถึงสินเชื่อของ MSME” ดร.ฐิติมากล่าว

    SCB EIC ประเมินว่า แม้จะมีมาตรการการเงินเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลากว่ามาตรการจะเห็นผลในวงกว้าง เนื่องจากปัญหาของภาคครัวเรือนคือ การหารายได้ มาตรการจึงอาจจะยังไม่เห็นผลในช่วง 1-3 ปีนี้ ภาคครัวเรือนจึงยังเปราะบางต่อเนื่อง

    “ด้วยความเปราะบางที่มากขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจก็มากขึ้น เรื่องหนึ่งมาจากด้านต่างประเทศ แต่อีกเรื่องหนึ่งมาจากนโยบายเศรษฐกิจในประเทศเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนโยบายการคลัง” ดร.ฐิติมากล่าว

    การลงทุนภาครัฐที่แม้จะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้ สำหรับในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 2.9% ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเป็นปกติ

    ดร.ฐิติมากล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 การเบิกจ่ายงบประมาณอยู่ที่ 77% แต่ปีไม่สามารถคาดหวังไว้เท่ากัน เนื่องจากพ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่าครึ่งปี แม้จะพยายามจะเร่งการเบิกจ่าย แต่เป็นการเร่งตามที่ได้ทำสัญญาไว้แล้วเป็นงบผูกพันมาก่อน

    “สิ่งที่ต้องจับตาว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลหรือไม่ คือ งบลงทุนของปีนี้ที่เริ่มจ่ายและมีเวลาไม่มาก จะทำได้ถึง 70% หรือไม่ ซึ่งเป็นความไม่แน่นอน การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ โยงไปถึงภาคเอกชนด้วย จึงมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ในแง่ความไม่แน่นอน” ดร.ฐิติมากล่าว

    นอกจากนี้หนี้สาธารณะก็เป็นอีกประเด็นที่น่ากังวล โดย“จุดกลับตัวของหนี้สูงขึ้นและเลื่อนเวลาออกไปจึงมีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถกลับตัวได้จริง ข้อจำกัดทางการคลังไทยปรับสูงขึ้น เพราะเป็นการแสดงถึงเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในประเทศด้วย” ดร.ฐิติมากล่าว

    “ความไม่แน่นอนด้านสุดท้าย คือ การเมืองที่อาจจะกระทบกับการจัดทำงบประมาณปี 2568 ทั้งจากคดีของนายกเศรษฐา ทวีสิน คดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่งหลายอย่างกระทบต่อนโยบายรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในปีนี้” ดร.ฐิติมากล่าว

    คาดกนง.ลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปี 2567

    สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในปีนี้ ดร.ฐิติมากล่าวว่าจะทยอยสูงขึ้น และคงประมาณการทั้งปีต่ำกว่ากรอบที่ 0.8% แม้ตัวเลขล่าสุดจะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบที่ 1.5% จากราคาน้ำมันและอาหารที่เริ่มขยายตัว

    “เรามองว่าเงินเฟ้อไม่ได้เป็นประเด็นในการทำนโยบายการเงินสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะจะทยอยเข้าสู่เป้า แต่ทั้งปียังต่ำกว่ากรอบที่ 0.8% ซึ่งสำหรับธปท.ไม่ได้มองระยะสั้น แต่มองเงินเฟ้อระยะปานกลาง เพราะฉะนั้นเงินเฟ้อไม่ได้เป็นประเด็นน่ากังวลสำหรับนโยบายการเงิน” ดร.ฐิติมากล่าว

    SCB EIC มีมุมมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปี 2567 เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปี 2568 จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น

    สำหรับค่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่องจากปัจจัยการเมืองในประเทศ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ตลาด ในระยะสั้นคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35.80-36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สำหรับ ณ สิ้นปี 2567 มองเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

    “ค่าเงินบาทผันผวนสูงมาก เมื่อมีข่าวการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยในประเทศเข้ามา ทำให้บาทอ่อน และปัจจัยในประเทศจะมีผลต่อมุมมองเงินบาท ในระยะต่อไป แต่มุมมองของเรา เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้ในปลายปีหากเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องและการเมืองไม่เป็นประเด็น โดยสรุปเศรษฐไกิจไทยฟื้นตัว เปราะบางและไม่แน่นอน” ดร.ฐิติมา

    ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน SCB EIC

    อุตสาหกรรมไทยยังมีโอกาสให้รีบคว้าท่ามกลางโลกแบ่งขั้ว

    ดร.ฐิติมากล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นในโลก และยิ่งเร่งโลกแบ่งขั้ว (Decoupling) แต่จะเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยได้

    SCB EIC ประเมินว่า รูปแบบการค้าโลกกำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้ากันลดลง และหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น ประเทศไทยซึ่งรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น

    อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบต่างกันใน 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ เช่น คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ (2) กลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งจากผลกระทบที่สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคมากขึ้น หรือมีการแข่งขันรุนแรงกับประเทศที่เป็นกลางอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ และอุปกรณ์ไฟฟ้า

    ไทยจะคว้าโอกาสท่ามกลางโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นได้ ต้องมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกและการปรับตัวธุรกิจเชิงรุก ซึ่งจะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภทที่อาจได้หรือเสียประโยชน์แตกต่างกัน แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ

    1) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก

    2) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน

    3) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐฯ และขั้วจีนเพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น

    4) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน

  • SCB EIC วิเคราะห์อุตสาหกรรมไทยจะคว้าโอกาสในวันที่โลกแบ่งขั้วอย่างรุนแรงขึ้นอย่างไร