อุปสรรคและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยกำลังชัดเจนและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งผลกระทบและสร้างความผันผวนในภาคการค้าและการลงทุนโลก กฎกติกาทางธุรกิจในโลกใหม่ที่เข้มข้นขึ้นในนามการดูแลสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลต่อรูปแบบการทำธุรกิจ รวมถึงปัญหาสังคมสูงวัยของไทยที่ทำให้ทั้งอุปสงค์ในประเทศลดลงและปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้นในอนาคต
คนที่ปรับตัวได้ยากหรือมีต้นทุนสูงกว่าในการปรับตัวจะได้รับผลกระทบจากความท้าทายเหล่านี้มากที่สุด ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่เรียกกันว่า SMEs เดิมทีต้องประสบปัญหาอุปสรรคมากมายอยู่แล้ว จะยิ่งอยู่ยากขึ้นหากขาดกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม
บทความนี้จะขอกล่าวถึงกลไก ‘การค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs’ ที่มีศักยภาพในการลดต้นทุนให้ปรับตัวแข่งขันได้ แต่ต้องถูกพัฒนาใหม่เพื่อเพิ่มคุณภาพการเข้าถึงสินเชื่อและลดการบิดเบือนแรงจูงใจของผู้เกี่ยวข้องในระบบ
ปัญหาแก้ไม่ตกของ SMEs กับการเข้าถึงสินเชื่อ
ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs เป็นปัญหาที่พูดถึงกันมายาวนาน และหลายฝ่ายต่างลงความเห็นว่าเป็นสาเหตุสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ทำให้ SMEs บ้านเราขาดโอกาส ไม่สามารถขยายการลงทุน ทำให้ธุรกิจไม่โต ศักยภาพไม่พัฒนา และแข่งขันไม่ได้ สุดท้ายต้องล้มหายตายจากไปมากกว่าที่จะสามารถถีบตัวเองก้าวขึ้นไปเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและเก่งขึ้น
ผู้เขียนเองเคยได้ศึกษาเชิงลึกจากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาและข้อมูลทางการเงินของบริษัท1 พบว่าธุรกิจขนาดเล็กพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารน้อยกว่ารายใหญ่ มีการใช้แหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัทมากกว่า และส่วนใหญ่มากกว่า 2 ใน 3 ของ SMEs ที่เข้าถึงสินเชื่อธนาคาร ก็มีสินเชื่อกับธนาคารเพียงแห่งเดียว ทำให้อำนาจต่อรองต่ำ อีกทั้งยังทำให้ความสามารถในการลงทุนของผู้ประกอบรายเล็กยังอ่อนไหวและขึ้นอยู่กับการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ๆ มากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและศักยภาพของ SMEs เอง
ถึงแม้งานศึกษาที่ผ่านมามักจะชี้ว่า ข้อจำกัดด้านสินเชื่อเป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนของ SMEs จริง แต่เราก็ทราบกันดีว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาเดียว2 อีกทั้งการหว่านเงินอุดหนุนให้กับ SMEs อย่างถ้วนหน้าก็ไม่ได้การันตีว่า SMEs ทุกรายจะอยู่รอด หรือจะพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น และอาจจะเป็นการสร้างกับดักการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐและสร้างภาระมหาศาลให้ภาครัฐอีกด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทางออกที่ยั่งยืนกว่าในการช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเหมาะสมควรเป็นอย่างไร?
ข้อมูลไม่มี ต้นทุนสูง ความเสี่ยงสูง หลักทรัพย์ไม่พอ
หากลองถอยมาพิจารณาสาเหตุของปัญหาที่ SMEs มักเข้าถึงสินเชื่อได้ยากหรือไม่เพียงพอกับความต้องการว่าเป็นเพราะอะไร สามารถอธิบายได้ในมุมของปัญหาคลาสสิกในทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ Information asymmetry หรือความไม่สมมาตรกันของข้อมูล พูดง่าย ๆ ก็คือเจ้าหนี้ขาดข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ เพราะ SMEs มักเป็นธุรกิจเกิดใหม่ อาจไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบหรือเป็นมาตรฐาน ไม่มีประวัติที่ยาวนานเพียงพอกับธนาคารนั้น ๆ
นอกจากการประเมินเครดิตจะทำได้ยากแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูงจากความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรที่มักต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ อีกทั้งต้นทุนต่อธนาคารในการพิจารณาสินเชื่อ การเตรียมเอกสาร การติดตามต่าง ๆ ของ SMEs แต่ละรายก็สูงกว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหญ่เมื่อเทียบกับรายได้ที่ธนาคารได้รับ ทางออกของธนาคารในการลดความเสี่ยงจึงเป็นการปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (collateralized loans) และการกำหนดดอกเบี้ยสูงกว่ารายใหญ่เพื่อชดเชยความเสี่ยงต่อการขาดทุนจากการปล่อยกู้ให้กับ SMEs
ดังนั้น ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จึงถูกจำกัดด้วยหลักทรัพย์ที่มีเพื่อมาค้ำประกัน มากกว่าการถูกกำหนดด้วยความสามารถในการประกอบธุรกิจและชำระคืนหนี้
ที่สำคัญ ปัญหา Information asymmetry นี้ทำให้ SMEs คุณภาพดี ที่จริง ๆ แล้วควรได้รับสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ กลับกลายเป็นมีต้นทุนทางการเงินที่สูงเกินที่ควรจะเป็นไปด้วย บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันอีกทางหนึ่ง
บทบาทภาครัฐในการแก้ไขความล้มเหลวของตลาด
ความยากและต้นทุนที่แพงในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs โดยเฉพาะ SMEs ที่มีศักยภาพสูงนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความล้มเหลวของกลไกตลาด (market failure) ที่เกิดจากการมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอในการประเมินความเสี่ยงเครดิต ต้นทุนต่อธนาคารในการให้บริการสินเชื่อกับ SMEs ที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดสินเชื่อ และอาจรวมไปถึงการแข่งขันในภาคธนาคารที่ไม่มากพอ ซึ่งทำให้อำนาจต่อรองไม่ได้อยู่ที่ SMEs
ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของ SMEs ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานไทย และตระหนักถึงปัญหาที่ SMEs ต้องเผชิญ จึงออกนโยบายและมาตรการสนับสนุน SMEs หลายรูปแบบเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงทางการเงิน เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft loans การเพิ่มบทบาทของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank เพื่อสนับสนุนการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ในรูปแบบ Portfolio Guarantee โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ
การค้ำประกันสินเชื่อแบบเหมาเข่ง …
อันที่จริงแล้ว กลไกการค้ำประกันสินเชื่อ (credit guarantee) ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือการแทรกแซงของภาครัฐเพื่อเข้าแก้ปัญหาความล้มเหลวของตลาด ที่สามารถออกแบบให้อิงกับกลไกตลาด (market-based intervention) ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับการอุดหนุนของภาครัฐรูปแบบอื่นๆ
หลักการกว้าง ๆ ของการค้ำประกันสินเชื่อ คือ รัฐจะชดเชยความสูญเสียทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับธนาคารผู้ให้สินเชื่อในกรณีที่สินเชื่อนั้นกลายเป็นหนี้เสีย แนวทางดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงต่อธนาคารลง เนื่องจากเป็นการถ่ายเทความเสี่ยง (risk transfer) ไปที่ภาครัฐ และทำให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิมได้ แม้ SMEs นั้นจะไม่มีประวัติกับธนาคาร หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ
อย่างไรก็ดี โครงการค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ Portfolio guarantee scheme (PGS) ที่ใช้กันอยู่ในไทย มีข้อจำกัดหลายประการ และไม่ยืดหยุ่นพอ โดยการค้ำประกันแบบ PGS นี้ เป็นการกำหนดระดับความชดเชยความเสียหายสูงสุดจากกรณีเกิดหนี้สูญ (NPL) ในพอร์ตสินเชื่อ SMEs ของแต่ละธนาคารที่ส่งเข้าร่วมโครงการ เช่น ชดเชยสูงสุด (max claim) 30% ต่อทั้งพอร์ต ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้คัดเลือกลูกหนี้เข้าโครงการเอง และลูกหนี้ SMEs จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในอัตราเดียวกันทุกราย ปัจจุบันค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1.75% ต่อปี หากลูกหนี้ในพอร์ตบางรายไม่สามารถจ่ายหนี้ได้จนกลายเป็น NPL ธนาคารจะได้รับการชดเชยจากรัฐ แต่เคลมสูงสุดได้ไม่เกินระดับชดเชยสูงสุดที่กำหนดต่อพอร์ตสินเชื่อ
… บิดเบือนแรงจูงใจ?
เมื่อค้ำประกันสินเชื่อแบบเหมาเข่ง ไม่ได้พิจารณาค้ำประกันเป็นราย ๆ ไป ธนาคารก็มีแนวโน้มที่จะคัดเลือกลูกหนี้เพื่อให้ค่าเฉลี่ยความเสี่ยงหนี้เสียอยู่ในระดับการชดเชยความเสียหายสูงสุดของภาครัฐ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการค้ำประกันมากที่สุด และอาจมีแรงจูงใจให้เอา SMEs ด้อยคุณภาพมาไว้ภายใต้โครงการนี้ด้วย เพราะไม่ต้องรับความเสี่ยงเองในกรณีกลายเป็นหนี้เสีย
ผลที่ตามมาก็คือ อัตราการเกิด NPL ของ SMEs ภายใต้โครงการนี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง สร้างต้นทุนและภาระชดเชยให้กับภาครัฐ ในขณะที่ธนาคารเองก็ไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะคัดกรองคุณภาพลูกหนี้ภายใต้โครงการนี้อย่างเหมาะสมพอ รวมถึงบริหารจัดการหรือช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อลดการผิดนัดชำระหนี้ให้ได้มากที่สุด ลูกหนี้ SMEs ภายใต้โครงการนี้เอง หลังจากจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันไปแล้ว ก็ไม่มีแรงจูงใจที่ต้องพัฒนาเพื่อรักษาคุณภาพเครดิตของตัวเอง
กลไกการค้ำประกันสินเชื่อที่ตอบโจทย์กว่า
ในต่างประเทศ ภาครัฐมีการใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสนับสนุน SMEs อย่างแพร่หลาย ในรูปแบบต่างกันไปiii ตัวอย่างของประเทศในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย ไม่ได้ทำในลักษณะของ Portfolio guarantee แต่เป็น Direct guarantee หรือ Individual guarantee นั่นคือ การให้การค้ำประกันเป็นราย ๆ ไปตามการประเมินคุณภาพเครดิตและคุณสมบัติอื่น ๆ ของ SME แต่ละราย ซึ่งนับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะกองทุนการค้ำประกันสินเชื่อของเกาหลีใต้ที่มีชื่อว่า Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) ซึ่งจัดตั้งมายาวนานกว่า 40 ปี มีรูปแบบและองค์ประกอบสำคัญที่อิงกับกลไกตลาดมากกว่า Portfolio guarantee ของไทย ดังนี้iv
-
(1) มีฐานข้อมูลเครดิตของ SMEs ที่เป็นระบบ ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงเครดิตของ SME แต่ละรายได้ จากโมเดล credit scoring ของตัวเอง เพื่อสามารถกำหนดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ อัตราค่าธรรมเนียม ที่แตกต่างกันได้ตามระดับความเสี่ยงของ SME แต่ละราย นอกจากนี้ การที่ KODIT สามารถประเมินเครดิตได้เอง และออกจดหมายค้ำประกันให้กับ SMEs แต่ละรายเพื่อไปยื่นขอสินเชื่อกับแบงก์ต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารมากขึ้น สร้างอำนาจการต่อรองให้อยู่ที่ลูกหนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติยาวนานกับธนาคารที่เสนอสินเชื่อและไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
(2) ใช้ระบบการค้ำประกันบางส่วน (Partial guarantee system) นั่นคือ กำหนดสัดส่วนการค้ำประกัน (coverage ratio) ที่ผูกโยงกับระดับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อ ไม่ค้ำประกันเต็มจำนวน ทำให้ธนาคารต้องรับภาระความเสี่ยงบางส่วนด้วยถึงแม้จะลดลงมามากแล้วก็ตาม เป็นการสร้างแรงจูงใจในการติดตามและบริหารจัดการความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หลังการปล่อยกู้ไปแล้ว
(3) มีหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจและการบริหารจัดการให้กับ SMEs อย่างครบวงจร ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่เพียงรับประกันและชดเชยความเสียหายสินเชื่อเท่านั้น ทำให้ SMEs มีโอกาสพัฒนาศักยภาพและลดความเสี่ยงของความล้มเหลวทางธุรกิจ
(4) มีความยืดหยุ่นทั้งในมิติของผู้ได้รับการค้ำประกัน รูปแบบของแหล่งเงินทุน และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการค้ำประกันได้ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดย KODIT สามารถให้การค้ำประกันธุรกิจหลายประเภทไม่จำกัดเฉพาะ SMEs เท่านั้น เช่น ธุรกิจ start up ที่ภาครัฐต้องการสนับสนุน หรือแม้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ในยามจำเป็นจากวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสามารถให้การค้ำประกันการออกหลักทรัพย์ เช่น การออกพันธบัตร หรือการทำ securitization ได้อีกด้วย ในขณะที่ในปัจจุบันการค้ำประกันของไทยภายใต้โครงการ PGS ยังคงค้ำประกันได้เฉพาะ SMEs ตามนิยามที่กำหนดและได้เฉพาะสินเชื่อจากสถาบันการเงินเท่านั้น
KODIT ของเกาหลีใต้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนา SMEs และเป็นต้นแบบสำหรับหลายประเทศ โดยอัตราส่วนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ในเกาหลีใต้สูงถึงกว่า 80% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งหมด และอัตราส่วน NPL ของ SMEs ภายใต้โครงการค้ำประกันอยู่ที่เพียงไม่ถึง 1% เท่านั้น5,6 นอกจากนี้ เนื่องจากกลไกมีความยืดหยุ่น ทำให้เครื่องมือการค้ำประกันของ KODIT ยังสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจดังเช่นสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กุญแจดอกสำคัญคือการสร้างฐานข้อมูลเครดิต SMEs
โครงการค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ Portfolio guarantee scheme ที่ใช้อยู่ในไทยในปัจจุบัน อันที่จริงแล้วก็มีข้อดี คือสามารถดำเนินการออกโครงการได้เร็วเพราะไม่ต้องมีขั้นตอนการพิจารณาเครดิตรายตัวเหมือนในรูปแบบ Individual guarantee scheme และอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว (second-best solution) ภายใต้ข้อจำกัดในบริบทไทย ที่องค์กรภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการประเมินความเสี่ยงเครดิตเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่หากประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จก็จะช่วยแก้ปัญหาที่สาเหตุได้อย่างตรงจุดมากกว่า
…เพราะจะสามารถสร้างเครื่องมือรัฐที่อิงกับกลไกตลาดมากขึ้นได้ ด้วยการกำหนดให้อัตราการค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม และการมีส่วนร่วมรับความเสี่ยงของผู้ให้สินเชื่อ สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงอย่างเหมาะสมตามหลักการ risk-based pricing
ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดที่นำไปสู่ความสำเร็จของกลไกค้ำประกันสินเชื่อในต่างประเทศ คือ การมีฐานข้อมูลเครดิตที่ถูกต้องและเพียงพอ ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ ข้อมูลทางการเงิน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของธุรกิจ เพื่อให้สามารถประเมินศักยภาพของธุรกิจและความเสี่ยงได้
ซึ่งในกรณีของเกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย องค์กรการค้ำประกันสินเชื่อต่างได้รับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเครดิตกับเครดิตบูโรของภาครัฐและเอกชน รวมถึงมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเองจากการตรวจสอบและสัมภาษณ์ธุรกิจโดยตรง
ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นบันไดขั้นแรกและเป็นกุญแจสำคัญที่ประเทศไทยควรเริ่มดำเนินการ เพื่อให้สามารถสร้างกลไกค้ำประกันสินเชื่อและการประเมินความเสี่ยง SMEs ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรต้องเริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูลเครดิตของ SMEs ที่รวมศูนย์และมีความครอบคลุมเพียงพอ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา แต่หากไม่เริ่มก้าวแรกตั้งแต่วันนี้ ก็ยากที่จะคาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมสำหรับ SMEs ในการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน
แรงจูงใจที่ถูกต้อง…หัวใจของการออกแบบเครื่องมือนโยบายรัฐ
หัวใจสำคัญของการออกแบบเครื่องมือนโยบายของภาครัฐ คือการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมด้านเครดิตที่ดี (credit culture) ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคาร และทำให้ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังต้องจูงใจให้ SMEs เปิดเผยข้อมูลและเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง (formalization) เพื่อได้รับประโยชน์จากกลไกภาครัฐได้อย่างเต็มที่
เมื่อมีระบบฐานข้อมูล SMEs ที่เพียงพอต่อการประเมินเครดิตได้อย่างแม่นยำขึ้น และ SMEs ยกระดับศักยภาพได้ดีขึ้น มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจมากขึ้น ความจำเป็นของกลไกให้ความช่วยเหลือโดยภาครัฐก็จะลดลงตามลำดับ ลดภาระอุดหนุนของภาครัฐ อีกทั้งการที่ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้องโปร่งใสก็ทำให้ภาครัฐเองสามารถเก็บรายได้ภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
ในทางตรงกันข้าม กลไกภาครัฐที่บิดเบือนแรงจูงใจ นอกจากจะทำให้ธุรกิจหรือครัวเรือนติดกับดักการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐและสร้างภาระทางการคลังแล้ว ยังอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยติดหล่ม ไม่สามารถเติบโตและพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
อ่านต่อ…พลิกไทยสู้โลกเดือด อยู่ให้รอดด้วยความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
หมายเหตุ:
1 ณชา อนันต์โชติกุล และวรดา ลิ้มเจริญรัตน์ (2018), “Finance & Firms เจาะลึกวัฏจักรสินเชื่อไทย จากข้อมูลการกู้ยืมราย สัญญา ” PIER Discussion Paper.
วรดา ลิ้มเจริญรัตน์ (2016),<“ปัญหาการลงทุนไทย มุมมองจากงบการเงินบริษัททั่วประเทศ ”/a> PIER Discussion Paper.
2 นฎา วะสี และคณะ (2019), “นโยบายส่งเสริม SMEs: เราไปถึงสิ่งที่คาดหวังหรือยัง ” PIER aBRIDGEd.
3 OECD “Facilitating Access to Finance: Discussion Paper on Credit Guarantee Scheme”
4 Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) website
5 OECD Finance SMEs and Entrepreneurs 2022: An OECD Scoreboard – Korea
6 ในช่วงก่อนโควิด -19 ณ สิ้นปี 2019 สินเชื่อ SMEs ไทยคิดเป็นเพียง 47% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งระบบ และอัตราส่วน หนี้เสีย (NPL ratio) ของ SMEs โดยรวมอยู่ที่ 4.6%
