ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ปัดตอบ ‘สำรองชื่อแคนดิเคตนายกฯ’ ให้ถาม “บิ๊กป้อม”-มติ ครม.แจกเงินคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน

“บิ๊กตู่” ปัดตอบ ‘สำรองชื่อแคนดิเคตนายกฯ’ ให้ถาม “บิ๊กป้อม”-มติ ครม.แจกเงินคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน

26 เมษายน 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“บิ๊กตู่” ปัดตอบ ‘สำรองชื่อแคนดิเคตนายกฯ พปชร.’ ให้ถาม “บิ๊กป้อม”-สั่งทุกกระทรวงหนุน ‘Soft Power’ ดันมวยไทยสู่สากล- ‘คนละครึ่ง เฟส 5’ ยังไม่สรุป-มติ ครม.แจกเงินคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน-ตั้ง “วิษณุ” ประธานขับเคลื่อนงานสตรี แทน “จุรินทร์”

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี

ยกระดับ EECi เทียบชั้น “ซิลิคอน วัลเลย์”

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้วางแผนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวอย่าง “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ EECi ตามยุทธศาสตร์ชาติ โดย EECi ถูกวางให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของประเทศ เหมือนกับซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) กับการพัฒนา 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ โรงกลั่นชีวภาพ แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัจฉริยะ เทคโนโลยีการบิน-โดรนและอวกาศ และเครื่องมือแพทย์ เพื่อยกระดับความสามารถให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ รวมถึงชุมชนพื้นที่การเกษตร

จ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในด้านการช่วยเหลือประชาชน วันนี้ครม.อนุมัติเงินพิเศษสำหรับช่วยเหลือผู้สูงอายุรายละ 100 – 250 บาทต่อเดือนตามช่วงอายุ เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกันยายน 2565จากข้อมูลจะมีผู้ได้รับสิทธิกว่า 1 ล้านคน วงเงินมากกว่า 8 พันล้านบาท

“สรุปว่าเดือนนี้ผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคนจะได้รับเบี้ยยังชีพที่ได้รับเดิมอยู่แล้ว บวกกับเงินพิเศษโอนตรงเข้าบัญชี ตั้งแต่ 750 บาทถึง 1,250 บาทต่อเดือน นี่คือเราให้ความห่วงใยกับพี่น้องผู้สูงอายุที่เราให้ความดูแลเป็นพิเศษในช่วงสถานการณ์โควิดฯ เพื่อให้พี่น้องผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น นี่คือหลักการของผมและรัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแลพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พลเอกประยุทธ์กล่าว

วางโครงข่ายโทรคมนาคมรถไฟความเร็วสูง

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์กล่าวต่อว่า ในการประชุมครม.มีมติเห็นชอบโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพทันสมัย ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่รองงรับการทำงานของระบบรถไฟความเร็วสูง ทำให้ระบบการควบคุมการเดินรถทำได้ดีมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนขบวนรถไฟได้ รวมทั้งไม่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

กระชับความสัมพันธ์ญี่ปุ่น ชวนลงทุน’EV-แบตเตอรรี่’

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในด้านการต่างประเทศ รัฐบาลไทยได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และมีข้อตกลงระดับทวิภาคีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าไทยมีแรงดึงดูดที่มากเพียงพอสำหรับบริษัทเอกชนญี่ปุ่น และญี่ปุ่นยังแสดงความประสงค์ลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ หลายด้าน เช่น ด้านธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งแวดล้อม พลังงาน หรือ การบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูง การตั้งโรงงาน และสนับสนุน Start up ตลอดจนความร่วมมือด้านการรักษาโรค การวิจัย การผลิตยา เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์

จับมือกับภูฏาน ผลักดันอุตฯ “5F”

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลยังมีการพูดคุยถึงความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทย-ภูฏาน เช่น การส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตร และศิลปะ-วัฒนธรรม หัตถกรรม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีประเทศจอร์แดนด้วยในการจัดโครงการแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรมด้านต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม 5F ได้แก่ อาหาร (Food), ภาพยนตร์ (Film) , แฟชั่น (Fashion) , การต่อสู้ (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) ซึ่งเป็นการเสริมสร้างอิทธิพลและการแข่งขันด้าน Soft Power ให้ประเทศไทย

“ถ้าเราเร่งผลักดันแผนยุทธศาสตร์โดยโครงการต่างๆ ในทุกกระทรวงช่วยกัน จะเป็นการต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมมากมายในขณะนี้ ความหลากหลายของประเทศไทยมีชื่อเสี่ยงในหลายด้าน” พลเอกประยุทธ์กล่าว

วอน ปชช.เห็นใจรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด

พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงการลงพื้นที่ภาคใต้ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ว่า “เมื่อวานผมไปเยี่ยมเยียนพี่น้องชาวใต้ ทุกคนก็มีความสุขมากขึ้น มีความหวังจากสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะการปรับมาตรการเรื่องการท่องเที่ยวทางบก อากาศ เรือ เราได้มีการปรับจนได้รับเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และขอบคุณพี่น้องชาวสงขลาและพัทลุงที่ให้กำลังใจรัฐบาล”

“ผมได้บอกกับประชาชนว่าสิ่งที่เราทำวันนี้ จำเป็นต้องเอาอดีตมาดูว่าปัญหาอุปสรรคเกิดที่ไหนอย่างไร แล้วมาทำปัจจุบันให้คลี่คลายเดินหน้าต่อไปได้ เราต้องหาอะไรใหม่ ๆ ทำในปัจจุบัน เพื่อไปสู่อนาคตวันข้างหน้า สิ่งที่เราควรให้ความกังวลก็มีหลายเรื่อง นอกจากสุขภาพ สังคมสูงวัย เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ มันกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่เราต้องหากิจกรรมต่างๆ มาทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และงบประมาณที่เรามีอยู่ ถ้าเราใช้งบประมาณมากขึ้น ซึ่งปกติก็ใช้งบประมาณมากอยู่แล้วนะ การทำเรื่องอื่นๆ ก็จะน้อยลงเพราะเรามีงบประมาณจำกัด” พลเอกประยุทธ์กล่าว

สั่งทุกกระทรวงหนุน ‘Soft Power’ ดันมวยไทยสู่สากล

ด้าน ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงส่งเสริม Soft Power ที่เกี่ยวกับกระทรวงของตนเอง โดยนายกรัฐมนตรี กำหนดให้เป็นวาระสำคัญของ ครม. ไม่จำกัดเฉพาะอาหาร กีฬา ศิลปวัฒนธรรม แต่ความหมายของ soft power ในวงกว้างคือ ‘การขยายอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การทำให้คนมีส่วนร่วม หรือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญอย่างอำนาจเศรษฐกิจและอำนาจการทหาร ซึ่งแต่ละประเทศจะมี soft power เป็นของตัวเอง’

“รัฐบาลกำหนดเป็นยุทธ์ศาสตร์ soft power เพื่อให้ทุกคนทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งเสนอให้ใช้เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะมีการพูดคุยหรือหารือกับต่างประเทศ” ดร.ธนกรกล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังขอให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ และการกีฬาแห่งประเทศไทย หาทางสนับสนุนมวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ และเป็นมรดกวัฒนธรรมของไทยไปสากล

มอบ พณ.ตามข้อมูลส่งออกน้ำมันปาล์ม

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ชื่นชมผลไม้ไทยว่า “อร่อยที่สุดในโลก” พร้อมแนะให้โรงแรมจัดวางผลไม้ไทย พร้อมให้กระทรวงวัฒนธรรมเชิญชวนส่วนท้องถิ่น เอกชนและประชาชนในพื้นที่จัดกิจกรรม เพื่อร่วมฉลอง 250 ปี กรุงเทพฯ และมอบให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามการส่งออกน้ำมันปาล์ม สร้างความสมดุลความต้องการภายในประเทศและปริมาณการส่งออก

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเกษตรกร และตนเข้าใจปัญหาพื้นฐานของอาชีพเกษตรกรรมว่าประสบปัญหาขาดน้ำ เทคโนโลยีและเงินทุน จึงแนะส่วนราชการเพื่อส่งเสริมให้ความรู้ด้านต่างๆ

ให้กำลังใจ “จุรินทร์” ขอให้แก้ปัญหาในพรรคได้

มีคำถามจากสื่อมวลชนว่า นายกรัฐมนตรี จะให้กำลังใจนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่างไร หลังจากมีปัญหาภายในพรรค นายกรัฐมนตรี ตอบว่า “ขอให้กำลังใจ และขอให้แก้ปัญหาภายในพรรคได้”

มีคำถามต่อว่า “หากพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคจะกระทบการทำงานโดยเฉพาะการปรับครม.หรือไม่” ดร.ธนกรตอบว่า “ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังทำงานกันอยู่ต่อไป”

ปัดตอบ ‘สำรองชื่อแคนดิเคตนายกฯ พปชร.’ ต้องถาม “บิ๊กป้อม”

ดร.ธนกร ตอบคำถามหลังจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ อาจจะมีชื่อสำรอง จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าท่านยังคงเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐเพียงคนเดียวหรือไม่ ดร.ธนกร ตอบว่า “ถามหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผมไม่เคยได้ยิน”

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า มีความเห็นอย่างไรกรณีผู้นำฝ่ายค้านระบุว่ามีการดีล ส.ส. จากฝ่ายรัฐบาลได้ 30 คน เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดร.ธนกร ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี ว่า “ก็ฟังไป เขาพูดได้ทุกวันอยู่แล้ว”

ย้ำแรงงานไทยได้ค่าแรงสูงกว่าต่างด้าว

ดร.ธนกร กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่ผู้ใช้แรงงานที่เรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาททั่วประเทศตามที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ว่า “มีการประชุมคณะกรรมการสามฝ่ายอยู่แล้วว่าจะขึ้นแค่ไหนอย่างไร ในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ วันนี้แรงงานต่างด้าวได้รับค่าแรงตามมาตรฐาน แรงงานไทยได้มากกว่ามาตรฐานอยู่แล้ว”

ขณะเดียวกัน ดร.ธนกร ก็กล่าวถึงการเตรียมชุมนุมของกลุ่มผู้ใช้รถบรรทุกว่า “ก็รับเรื่องมาพิจารณาอะไรได้ อะไรไม่ได้”

‘คนละครึ่ง เฟส 5’ ยังไม่สรุป

ดร.ธนกร ตอบคำถามกรณีแนวทางแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงด้วยนโยบาย ‘คนละครึ่ง’ ว่าสามารถไปต่อหรือไม่ หรือมีนโยบายอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า “กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงบประมาณ ต้องหารือว่าจะทำอะไรได้ ทุกคนก็ทราบดีว่างบประมาณมีจำกัด”

อย่างไรก็ตาม ดร.ธนกร ให้ข้อมูลอีกว่า รัฐบาลยังไม่ได้ข้อสรุปโครงการคนละครึ่งเฟส 5 หลังมีข่าวว่าให้ประชาชนจ่าย 75% และรัฐบาลจ่ายเงิน 25%

ชี้กระบวนการยุติธรรมต้องดูว่าหลักฐาน-ข้อเท็จจริง

คำถามสุดท้าย “ตอนนี้กระแสสังคมเหมือนไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคดีสำคัญ เช่น ตำรวจขับรถชนคนบนทางม้าลาย รวมถึงการแถลงข่าวคดีแตงโม ฝากข้อคิดเตือนสังคมอย่างไร” ดร.ธนกรตอบว่า “ทุกอย่างดูตามหลักฐานข้อเท็จจริงตามกฎหมายให้ชัดเจน”

มติ ครม.มีดังนี้

ดร. ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ขยายเวลาลดหย่อนภาษีหนุนแก้ปัญหาโควิดฯ

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฏ. ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID – 19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล ออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2566 และ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจหาแอนติเจน ด้วยตนเอง จนถึง 31 ธันวาคม 65 ประกอบด้วย

    1. ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากเดิมได้สิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 65 ขยายออกไปอีก 1 ปี 10 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 65 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 66 สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร โดย 1. บุคคลธรรมดา ยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนนั้น 2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และ3. ผู้ประกอบการ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะการบริจาคสินค้าให้แก่ สปน. โดยคาดว่า รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 9 ล้านบาท
    2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 65 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 66 โดย 1. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าเพื่อบริจาค โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค COVID-19 ที่บริจาคให้แก่ สถานพยาบาล ได้แก่ สถานพยาบาลของทางราชการ / สถานพยาบาลของสถาบันการศึกษาของรัฐ / สถานพยาบาลขององค์การมหาชน / สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นองค์การของรัฐบาล หรือ หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็น เจ้าของ สถานพยาบาลของอปท. สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่น ของรัฐ หรือสถานพยาบาลของ สภากาชาดไทย (2) หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ (3) องค์การหรือสถานสาธารณกุศลหรือสถานพยาบาล 2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาค โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้โอนทรัพย์สินสำหรับการนำเข้าและการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 65- 31 ธันวาคม 66 คาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสีย รายได้ภาษีประมาณปีละ 25 ล้านบาท
    3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจหาแอนติเจน ด้วยตนเอง (COVID – 19 Antigen test self-test kits) ] ออกไปอีก 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 65 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 65 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้ร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าซื้อชุดตรวจโควิด – 19 แบบเร่งด่วน เพื่อใช้สำหรับพนักงานหรือลูกจ้างของตนเอง คาดว่า รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,715 ล้านบาท

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า แม้การขยายระยะเวลามาตรการภาษีทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษี รวมประมาณ 1,749 ล้านบาท แต่จะลดภาระภาษีแก่ผู้ประกอบการ ยังเป็นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมและช่วยสนับสนุนการป้องกัน การระงับ และการยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งจะเป็นผลดีแก่สุขภาพประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ

แจกเงินช่วยเหลือคนชราคนละ 100-250 บาท 6 เดือน

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ว่า ครม.อนุมัติหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิสวัสดิการเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2565 เฉลี่ยรายละ 100 – 200 บาท ตามช่วงอายุ จำนวน 10,896,444 ล้านคน วงเงินรวม 8,348.16 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2565 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทางรายได้คิดเป็นร้อยละ 50.7 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และรายได้ของผู้สูงอายุที่มาจากการทำงานมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 22 (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

การจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้สูงอายุในครั้งนี้ จะจ่ายเพิ่มจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนตามช่วงอายุ เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2565 ดังนี้

    1.อายุ 60 -69 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาท/เดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 100 บาท/เดือน รวมเป็น 700 บาท/เดือน
    2.อายุ 70 -79 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บาท/เดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 150 บาท/เดือน รวมเป็น 850 บาท/เดือน
    3.อายุ 80 -89 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 800 บาท/เดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 200 บาท/เดือน รวมเป็น 1,000 บาท/เดือน
    4.อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาท/เดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มอีก 250 บาท/เดือน รวมเป็น 1,250 บาท/เดือน

ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมอบหมายกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุต่อไป ส่วนกรณีผู้สูงอายุที่ถูกระงับสิทธิ เนื่องจากได้รับสวัสดิการอื่นซ้ำซ้อนจากรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้รับสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ปรับเพิ่มด้วย โดยจะได้รับเมื่อมีการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)

เห็นชอบกรอบเจรจา-ความร่วมมือทางการค้า “ไทย-ภูฏาน”

ดร.รัชดา กล่าวว่า ในวันที่ 26 – 29 เมษายนนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระหว่างไทยกับภูฏาน ครั้งที่ 4 ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางการค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏาน รวมถึงแนวทางการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ซึ่งในวันนี้ ครม.มีมติเห็นชอบท่าทีไทยในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า JTC ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 4 เพื่อให้ผู้แทนไทยโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานฝ่ายไทยใช้ท่าทีเป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายภูฏาน อาทิ

    1.ไทยจะหารือความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade agreement : PTA) ระหว่างกัน ซึ่งความตกลง PTA นี้ เป็นการให้สิทธิพิเศษทางการค้าหรือความร่วมมือเฉพาะสินค้าที่มีความสนใจร่วมกันบางส่วนเท่านั้น จะต่างจากเขตเสรีทางการค้า (FTA) ที่มีการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางการค้าในภาพรวมทั้งหมด เช่น การค้า บริการ ลงทุน และการเงิน
    2.ด้านการค้าและการลงทุน ไทยขอให้ภูฏานแจ้งความประสงค์เกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการนำเข้า เพื่อใช้ในการวางแผนขยายตลาดการค้าการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าการลงทุนให้นักธุรกิจไทยที่สนใจเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะสาขาที่ภูฏานมีความต้องการ
    3.ด้านการเกษตร ไทยพร้อมสนับสนุนด้านการเกษตรภายใต้กลไกการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรไทย-ภูฏาน รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับสินค้าเกษตรของภูฏาน
    4.ด้านหัตถกรรม ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับการทบทวนแผนการจัดกิจกรรมระหว่างกันภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านศิลปหัตถกรรมระหว่างสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์กรมหาชน) (สศท.) กับกรมอุตสาหกรรมในครัวเรือนของภูฏาน
    5.ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายจะหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับภูฏาน ภายใต้แนวคิด “Two Kingdoms One Destination” และส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกัน อาทิ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ (National Single Window: NSW) การพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) และการพัฒนา SMEs ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์

ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า การประชุม JTC ไทย-ภูฏาน ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในหลายด้านมายาวนาน เช่น เศรษฐกิจ ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์พิเศษในระดับราชวงศ์ แม้ว่าภูฏานจะเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 2.6 แต่ด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์การสหประชาชาติประกาศให้ภูฏานพ้นจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2566

ตั้ง “วิษณุ” ประธานขับเคลื่อนงานสตรี แทน “จุรินทร์”

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการ 2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ และคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ แทนรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 26 เมษายน 2565 เพิ่มเติม