
ETF Stream และอมุนดิ( Amundi) เปิดเผย ผลสำรวจว่า นักลงทุนกำลังปรับตัวให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในการจัดสรรการลงทุนบนหลัก ESG
รายงานผลสำรวจภายใต้ชื่อ ETF Scan: The Big Picture ที่ทำการสำรวจนักลงทุน 105 รายทั่วยุโรป เป็นครั้งแรก พบว่า 35% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ต้องการการลงทุน ESG ที่ทำให้เกิดผลหรือเชื่อมโยงกับ SDG ทั้ง 17 ข้อ มากที่สุดในบรรดาคำตอบทั้งหมด
คำตอบนี้แสดงให้ถึงการลงทุนใน ETF ที่มีนโยบายการลงทุนแบบธีมเมกะเทรนด์(Thematic ETFs) ในด้านต่างๆ พลังงานสะอาด สภาพภูมิอากาศ การศึกษา และน้ำสะอาด

การลงทุนที่ไหลเข้า Thematic ETF ได้เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (Assets Under Management : AUM) มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ใน ETF จำนวน 81 กอง เพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 10 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2562 ตามข้อมูลของ Global X
ขณะเดียวกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญได้เริ่มร่วมมือกับผู้ออกและผู้ให้บริการดัชนีเพื่อเปิดตัวกลยุทธ์ที่กำหนดเป้าหมาย SDG บางข้อ ที่สอดคล้องกับความเชื่อและค่านิยม
นอกจากนี้ 26% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า กำลังมองหาการลงทุนบน ESG ที่มุ่งเน้นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มล่าสุดในการลงทุน ETF โดยที่ผู้ออกเริ่มที่จะผนวกเกณฑ์มาตรฐานด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรปเข้ากับตัวชี้วัด ESG
โดยรวมแล้ว เห็นได้ชัดว่า
นักลงทุนยึดมั่นใน ESG สะท้อนจาก 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบว่า พวกเขาเชื่อว่าการลงทุน ESG เป็นแนวโน้มระยะยาว ขณะที่ 44% บอกว่า มีความสำคัญแต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีเพียง 5% เท่านั้นที่กล่าวว่าเป็นแนวโน้มที่ผ่านไปแล้ว
ข้อมูลจาก Amundi พบว่า ESG มีสัดส่วน 50% ของเงินทุนไหลเข้าสุทธิใน ETF ในยุโรปและ 46% ของเงินไหลเข้า ETF ตราสารหนี้ทั้งหมดในปี 2020
แมทธิว กีก์นาร์ด Global Head ด้าน ETF การจัดทำดัชนีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เบต้าอัจฉริยะและตลาดทุน ของ Amundi กล่าวว่า “การหันไปสู่ ESG แสดงให้เห็นว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ใช่ตามแฟชั่น การลงทุนที่ไหลเข้า ETFs ด้าน ESG และ ETF ตราสารหนี้ ESG ยังคงแข็งแกร่ง โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2021 แซงหน้าของทั้งปี 2020
“ESG เป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุน ETF หลักของเราในปี 2022 เราคาดว่าการผนวก ESG เข้าในการลงทุนจะเร่งตัวขึ้น เพราะนักลงทุนให้ความสำคัญกับอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น ควบคู่ไปกับแรงส่งที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเชิงนโยบาย โดยเฉพาะทั่วยุโรป”