ThaiPublica > สู่อาเซียน > GEN Z-Millennials สิงคโปร์บอก “ลงทุน ESG ไม่ต้องคิดเยอะ” เพื่อโลกที่เป็นธรรม

GEN Z-Millennials สิงคโปร์บอก “ลงทุน ESG ไม่ต้องคิดเยอะ” เพื่อโลกที่เป็นธรรม

6 สิงหาคม 2022


ที่มาภาพ: https://about.amundi.com

เหตุการณ์สำคัญของโลก ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจการเงิน สงครามและโรคระบาดแต่ละรอบมีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย การลงทุน การออมของผู้คน ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นมาตั้งแต่ The Great Depressions ที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1930 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลต่อการใช้จ่าย การลงทุน และการออมของคน GEN X/Baby Boomer หรือคนที่มีอายุ 45 ปีขึ้น จากนั้นวิกฤติเศรษฐกิจการเงินสหรัฐฯ หรือ Hamburger crisis ในปี 2008 เราได้เห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายการลงทุน การออมที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นมิลเลเนียล Millennials หรือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา และล่าสุดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2020 ก็มีผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายการลงทุน การออมของคน GEN Z หรือคนที่เกิดในปี 1981-1996 เปลี่ยนแปลงไป

แนวคิดและรูปแบบการลงทุนของคนแต่ละรุ่นแตกต่างกัน เพราะแต่ละรุ่นมีทัศนคติที่แตกต่างกัน ผลการสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยบริษัทจัดการสินทรัพย์ Amundi ร่วมกับ The Business Times จากสิงคโปร์ พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว Gen Z และนักลงทุนรุ่นมิลเลนเนียลอายุระหว่าง 21-34 ปีในปีนี้ ลงทุนในสินทรัพย์ ESG ในสัดส่วนที่สูงกว่านักลงทุนในกลุ่มอายุอื่น

รายงานการสำรวจครั้งแรกนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Amundi และ The Business Times รวบรวมความคิดเห็นของบุคคล 1,046 คนในสิงคโปร์ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป มีรายได้ส่วนบุคคลอย่างน้อย 5,000 สิงคโปร์ดอลลาร์ต่อเดือนและมีการลงทุนในปัจจุบัน รวมทั้งตั้งใจที่จะลงทุนในอนาคต เกี่ยวกับทัศนคติและการการดำเนินการต่อการลงทุน ESG ผ่านการสำรวจออนไลน์ที่ดำเนินการโดย Kantar Profiles ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2022

โดยGen Z: อายุ 21-24 ปี ชาวมิลเลนเนียลอายุน้อย: 25-34 ปี ชาวมิลเลนเนียลอายุ: 35-44 ปี และ
Gen X / Baby Boomers: 45 ปีขึ้นไป
แล้วคนหนุ่มสาวในสิงคโปร์ลงทุนอย่างไร? สนใจอะไร? การสำรวจได้เจาะลึกถึงสิ่งที่ขับเคลื่อนนักลงทุนรุ่นใหม่

ที่มาภาพ: https://static.businesstimes.com.sg/s3fs-public/graphics/2022/06/23/Amundi-EndowusESG_1.pdf

GEN Z มีส่วนร่วมมากสุด

ผลการสำรวจ แสดงให้เห็นภาพทัศนคติต่อการลงทุน ESG [1]ในหมู่นักลงทุนอายุน้อยในสิงคโปร์ (อายุ 21 ถึง 34 ปี)ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 8 ใน 10 รายจัดว่าเป็นนักลงทุน ESG ที่ “มีส่วนร่วม” Engaged (76%) ซึ่งแสดงถึงความสนใจและความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าต่อสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในแต่ละวัน และจากการขยายการตัดสินใจลงทุนของพวกเขา การมีส่วนร่วมสูงไปอีกอย่างมากในกลุ่ม Gen Z อายุ 21-24 ปี (93%) และชาวมิลเลนเนียลอายุน้อย Young Millennials อายุ 25-34 ปี (82%) โดยเฉพาะ Gen Z มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อประเด็นทางสังคม เช่น ‘ความยากจน’ และ Young Millennials ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใส่ใจ ‘ความเหลื่อมล้ำและการแบ่งแยก’

  • ช่องว่างระหว่างวัย
  • ผลสำรวจพบความแตกต่างระหว่างรุ่นในทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ESG โดยมีความสนใจและการดำเนินการมากกว่าในหมู่นักลงทุนรายย่อยที่อายุน้อยกว่า นักลงทุนเหล่านี้ซึ่งอยู่ในกลุ่มอายุ Gen Z และ Young Millennials มีความสนใจในการลงทุน ESG มากขึ้น (Gen Z: 82%, Young Millennials: 72%, เฉลี่ย: 69%) และมองว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงกว่าในขณะนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ ก่อนเกิดโรคระบาด (Gen Z: 79%, Young Millennials: 68%, เฉลี่ย 61%)

    นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างระหว่างความรู้สึกและการลงมือทำ 4 ใน 10 ของนักลงทุน เพิ่มการลงทุนในการลงทุน ESG ‘อย่างมีนัยสำคัญ’ หรือ ‘ปานกลาง’ เป็นผลมาจากการรับรู้ความสำคัญและความสนใจที่สูงขึ้น โดยที่นักลงทุน Gen Z ลงทุนมากขึ้น (55%) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย

    ในแง่ของแรงผลักดันที่กระตุ้นให้นักลงทุนลงทุน ESG นั้น 73% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าภาวะโลกร้อนเป็น 1 ใน 3 ประเด็นหลัก

    นอกจากนี้ Gen Z ยังให้ความสำคัญกับ ‘ความยากจนทั่วโลก’ อย่างมีนัยสำคัญ (56%) ในขณะที่ Young Millennials มองว่า ‘ความไม่เท่าเทียมกันและการแบ่งแยก’ (45%) และ Gen X/Baby Boomers (อายุ 45 ปีขึ้นไป) เห็นว่า’การจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ’ (60%) มีความสำคัญมากกว่า

    Gen Z และ Young Millennials ยังตระหนักถึงการลงทุน ESG และบทบาทของภาคการเงินในการลงทุนอย่างรับผิดชอบมากกว่าเมื่อเทียบกับอีก 2 กลุ่มอายุที่ได้สำรวจ คือ ชาวมิลเลนเนียลอายุมาก Older Millennials (35-44 ปี) และ Gen X/Baby Boomers

    โดยพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจ Gen Z และ Young Millennials ได้ดำเนินการเชิงรุกมากขึ้นในการเชื่อมโยงความร็สึกอารมณ์และการลงมือทำ รวมถึงการสอบถามเจาะจงเกี่ยวกับการลงทุน ESG (Gen Z: 67%, Young Millennials: 59%, เฉลี่ย: 49%) และจัดสรรการลงทุนส่วนใหญ่ในการลงทุน ESG (Gen Z: 35%, Young Millennials: 34%, เฉลี่ย: 31%)

  • ความรู้สึกกับการลงมือทำ

  • รายงานยังชี้ให้เห็นช่องว่างของการ ‘พูด-ทำ’ ที่ชัดเจนระหว่างความรู้สึกและการลงมือทำของนักลงทุนรายย่อยในสิงคโปร์เมื่อต้องลงทุน ESG

    นอกจากเสียงส่วนใหญ่ที่ชัดเจนว่าการลงทุน ESG มีความสำคัญในลำดับต้น (61%) และให้ความสนใจสูงขึ้น (69%) เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาด นักลงทุนมากกว่า 8 ใน 10 รายตระหนักถึงความสำคัญของประเด็น ESG สำหรับโซลูชันการลงทุนและบริษัทต่างๆ ที่ต้องพิจารณา และเมื่อถึงเวลาลงทุนจริง นักลงทุนเต็มใจที่จะจัดพอร์ตการลงทุนเพียง 1 ใน 3 (ประมาณ 34%) ให้กับการลงทุน ESG และมีเพียง 4 ใน 10ของนักลงทุนที่เพิ่มการลงทุน ESG จริง ๆ ตั้งแต่เกิดโรคระบาด

    นอกจากนี้ นักลงทุนรายย่อยในสิงคโปร์ยังคงมองว่าการลงทุนทางการเงินเป็นแนวทางในการเพิ่มเงินออม (70%) และมีเพียง 8% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่มองว่าการลงทุนนี้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างต่อเนื่อง

    ที่มาภาพ: https://static.businesstimes.com.sg/s3fs-public/graphics/2022/06/23/Amundi-EndowusESG_1.pdf

    ลงทุน ESG ไม่ต้องคิดเยอะ

    Gen Z และเยาวชนรุ่นมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม และมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีการลงทุนที่ยั่งยืน

    “การลงทุนในสินทรัพย์ที่ยั่งยืนไม่เห็นต้องคิดมากเลย” ไมเคิล แทน อายุ 29 ปีกล่าว

    “ถ้าผมได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกันและหวังว่าจะทำให้เกิดผลดี แล้วทำไมจะไม่ทำล่ะ” นักลงทุนรุ่นมิลเลนเนียลที่ยังอายุน้อย ซึ่งเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้ความเห็น

    ไมเคิล แทน ซึ่งเป็น digital native(คนที่เกิดในยุคดิจิทัล)เตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วและสภาพอากาศเลวร้าย บอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากมาก

    “สำหรับคนวัยหนุ่มสาวอย่างผม ภัยคุกคามนั้นเป็นของจริง เราไม่สามารถเลือกที่จะเพิกเฉยต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศ” เขากล่าว “ผมใส่ใจต่ออนาคตของผม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะสนใจเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม”

    ความเห็นของไมเคิล สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อการลงทุน ESG ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

    นายอัลเบิร์ต เซ ซีอีโอ ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ของ Amundi กล่าวว่า “เราเริ่มทำแบบสำรวจนี้เพื่อสำรวจทัศนคติและความชอบของนักลงทุนรายย่อยที่มีต่อการลงทุนอย่างยั่งยืน และแต่ละกลุ่มอายุแตกต่างกันอย่างไร”

    “โดยเฉพาะการเจาะลึกลงไปในความชอบของหมู่นักลงทุนอายุน้อยในสิงคโปร์ที่เดินหน้าตามเป้าประสงค์มากกว่าแค่ผลกำไร”

    โดยเฉลี่ยแล้ว Gen Z และนักลงทุนรุ่นมิลเลนเนียลอายุระหว่าง 21-34 ปีในปีนี้ ลงทุนในสินทรัพย์ ESG ในสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับนักลงทุนที่มีอายุมากกว่า

    “นักลงทุนอายุน้อยไม่เพียงแต่ให้ความสนใจกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำมากขึ้นจัดอยู่ในแถวหน้าด้วย” ซิลเวีย เฉิน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความยั่งยืนของ Amundi กล่าว

    ต้องการโลกที่เป็นธรรมมากขึ้น

    นอกเหนือจากสิ่งแวดล้อมแล้ว นักลงทุนอายุน้อยต่างแข็งขันในการติดตามประเด็นทางสังคม[2] เช่น ความยากจนทั่วโลก ความเหลื่อมล้ำและการแบ่งแยก

    ตัวอย่างของประเด็นที่มองว่าเป็นเรื่องทางสังคมใน ESG ได้แก่ การดำเนินการด้านความหลากหลายและความทั่วถึงของบริษัท และผลกระทบที่มีต่อชุมชนท้องถิ่น เช่น ผ่านการสร้างงาน

    ซิลเวีย เฉินเชื่อว่าความสนใจที่เพิ่มขึ้นในประเด็นทางสังคมในกลุ่มคนอายุน้อยนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ “นักลงทุนอายุน้อยจำนวนมากตระหนักดีว่าการระบาดใหญ่ได้ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้ว โดยส่งผลกระทบต่อการศึกษา รายได้ และสุขภาพถึงสามเท่า”

    ในเดือนมีนาคมปีนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียคาดการณ์ว่าการระบาดใหญ่ได้ผลักดันให้ผู้คน 4.7 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ภาวะยากจนขั้นรุนแรงในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ความยากจนขั้นสุดขีดหมายถึงการดำรงชีวิตด้วยเงินน้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน

    ไมเคิล แทน ยกตัวอย่างจากรายงานที่ว่านักเรียนในสิงคโปร์ต้องประสบปัญหาเมื่อโรงเรียนปรับเปลี่ยนไปสู่การเรียนรู้แบบออนไลน์ นักเรียนต้องเรียนจากที่บ้านในปี 2563 เพราะไม่มีแล็ปท็อปและแท็บเล็ต “สำหรับผม นั่นเป็นการตอกย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่ซึ่งบางครั้งเรามองไม่เห็น”

    ในขณะที่นักลงทุนอายุน้อยอย่างไมเคิลเริ่มที่จะผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกัน ด้วยการเลี่ยงบริษัทที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขา ภูมิทัศน์ ESG อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

    “การรายงานผลกระทบทางสังคมที่วัดได้และจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวตามนิยามเดียวกัน (taxonomy) จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ” ซิลเวีย เฉินกล่าว

    “ผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจและความตระหนักในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักลงทุนในสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยผลที่บ่งชี้ความไม่สอดคล้องกันระหว่างการรับรู้ถึงความสำคัญของการลงทุน ESG เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และการให้คุณค่าแก่นักลงทุน จึงยังต้องทำอีกมากขึ้นเพื่อจุดประกายการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม” อัลเบิร์ต เซ กล่าว

    “ถึงเวลาแล้วที่การลงทุน ESG ถือเป็นเครื่องมือที่แท้จริงในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่กำลังเกิดขึ้น”

    [1] Amundi. 2022. Amundi releases Singapore’s first Sustainability Profiler Investor Report
    https://www.amundi.com.sg/retail/ESG/A-Tidal-Shift-Purpose-Beyond-Profit-An-ESG-Report
    [2] The Strait Times.2022. Young ESG investors want a fairer, greener future: Survey.
    https://www.straitstimes.com/business/invest/young-esg-investors-want-a-fairer-greener-future-survey