ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > Man Group-Amundi-HSBC ใช้สิทธิผู้ถือหุ้นยื่นวาระ ESG กดดัน J-Power ลดคาร์บอน ปกป้องมูลค่าระยะยาว

Man Group-Amundi-HSBC ใช้สิทธิผู้ถือหุ้นยื่นวาระ ESG กดดัน J-Power ลดคาร์บอน ปกป้องมูลค่าระยะยาว

26 พฤษภาคม 2022


ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”)ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

Shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

สามผู้จัดการกองทุนระดับโลกยื่นวาระ ESG ที่ประชุมผู้ถือหุ้น กดดัน J-Power ลดคาร์บอนเพื่อปกป้องมูลค่าระยะยาว

ในสหราชอาณาจักร ยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย นับเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ที่ผู้ถือหุ้นใช้กลไกการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น ผลักดันให้มีการลงมติเกี่ยวกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของบริษัทน้ำมันและก๊าซที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับในเอเชีย การเสนอเรื่อง ESG เพื่อบรรจุเข้าวาระที่ประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนน ก็เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดใหญ่ระดับโลก

บริษัทญี่ปุ่น 48 แห่งได้รับข้อเสนอจากผู้ถือหุ้น สำหรับการประชุมสามัญเดือนมิถุนายน 2021 (รวมข้อเสนอทั้งหมด 162 รายการ) ลดลงเล็กน้อยจาก 55 บริษัทในปีก่อนหน้าซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์[1]

สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับ ESG ได้รับความสนใจมากในปี 2021

ล่าสุดได้มีกลุ่มนักลงทุนสถาบันเรียกร้องให้บริษัทผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน เปิดเผยแผนธุรกิจว่าจะรับมือกับเศรษฐกิจคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างไร และนำแผนนั้นมาผสมผสานกับกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทอย่างไร

Electric Power Development Co., Ltd หรือรู้จักในชื่อ J-Power ธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินรายใหญสุดของญี่ปุ่น ได้รับข้อเสนอที่ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่จากยุโรป 3 รายได้ร่วมกันยื่นเข้ามา เรียกร้องให้บริษัทจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนเป็นศูนย์ ที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (science-based target) ทั้งเป้าหมายระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว

นักลงทุนทั้งสามรายที่เป็นแกนนำได้แก่ Man Group Plc, Amundi SA ผู้จัดการกองทุนที่ใหญ่สุดของยุโรป และ HSBC Asset Management เรียกร้องให้บริษัทจัดทำกลยุทธ์การลดการปล่อยคาร์บอน ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน

รู้จัก 3 นักลงทุนสถาบันแกนนำ

  • Man Group
  • Man Group [2] ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1783 ปัจจุบันผู้จัดการกองทุนของบริษัทบริหารเงินลงทุนให้ลูกค้าทั่วโลกรวมมูลค่า 151.4 พันล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันราว 79% ของเงินทุนที่บริหารทั้งหมด

    Man Group มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานให้น้อยที่สุด และมีความสม่ำเสมอและโปร่งใส

    Man Group ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate change พลิกโฉมโลกอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่เป็นผู้จัดการกองทุน ก็เชื่อว่าต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นและยั่งยืนสำหรับนักลงทุนและสังคม

    นอกจากนี้ยังยึดมั่นในการลงทุนอย่างรับผิดชอบ ตามหลักการ UN-PRI (UN-supported Principles for Responsible Investment) ที่ได้ลงนามไว้ และเชื่อว่าด้วยสิ่งที่สะสมมาและวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลทำให้อยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างในการช่วยลูกค้าให้ลดความเสี่ยงอย่างเป็นระบบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

    Man Group มีแนวทางที่หลากหลายในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบในเครื่องมือการลงทุน และตระหนักถึงความสำคัญของแนวทางที่รับผิดชอบในสินทรัพย์ทุกประเภทและกลยุทธ์การลงทุน แต่ละเครื่องมือการลงทุนได้นำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบมาใช้ ส่งผลให้ทรัพย์สินของ Man Group ภายใต้การบริหารที่ผสาน ESG เข้ากับกระบวนการลงทุน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2021 มี มูลค่า 55 พันล้านดอลลาร์

    อีกทั้งยังเน้นใช้การมีส่วนร่วมกับบริษัทที่เข้าไปลงทุน ด้วยการพัฒนาการออกเสียงลงคะแนนแทนลูกค้าด้วยกรอบ ESG หรือ Global Proxy Voting Policy ที่เหนือกว่านโยบายทั่วไป และการมีส่วนร่วมร่วมกับองค์กรชั้นนำเกี่ยวกับความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็น ESG

  • Amundi
  • Amundi เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ชั้นนำของยุโรป ยึดหลัก ESG มาตั้งแต่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2010 [3] อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มและผู้นำการลงทุนอย่างรับผิดชอบ การลงทุนอย่างรับผิดชอบเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของการก่อตั้งองค์กร และยังคงเป็นหลักยึดในการพัฒนา ดังเห็นได้จากแผน 2025 ESG Ambition Plan

    ความมุ่งมั่นนี้สะท้อนให้เห็นทั้งในกระบวนการลงทุนที่รับผิดชอบของ Amundi (การวิเคราะห์ ESG, การนำ ESG มาใส่ในกระบวนการลงทุน, นโยบายการไม่ลงทุน, การมีส่วนร่วมและการออกเสียงลงคะแนน) และยังพัฒนาโซลูชันที่ช่วยให้ลูกค้ากำหนดและใช้แนวทางของตนเองในการลงทุนอย่างรับผิดชอบอีกด้วย

    PRI ยังจัดอันดับ Amundi ไว้ที่ A+ ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดของทุกหมวดของหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบในปี 2020 จากการใช้เกณฑ์ ESG กับตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ประเภทไพรเวตอีควิตี้ แสดงถึงการยอมรับในระดับสากลเกี่ยวกับแนวทางความรับผิดชอบของ Amundi และความสามารถในการใช้เกณฑ์ ESG ในกลุ่มตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ประเภทไพรเวตอีควิตี้

    แม้ไม่ใช่ shareholder activist แต่ Amundi จัดว่าเป็นนักลงทุนที่มีอิทธิพล[4] (influential investor) ด้วยขนาดสินทรัพย์ที่บริหาร ดังตัวอย่างจากกรณีที่เกิดขึ้นกับธนาคารบาร์เคลส์ (Barclays) ธนาคารรายใหญ่แห่งสหราชอาณาจักรในปี 2020

    บาร์เคลส์เป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่สุดของยุโรป โดย Amundi ซึ่งถือหุ้นธนาคารบาร์เคลย์เพียง 0.2% ได้สนับสนุนการลงมติของผู้ถือหุ้นเรียกร้องให้ธนาคารใหญ่รายนี้หยุดการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส

    Amundi มีทีมงาน ESG โดยเฉพาะและมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ที่รายงานตรงต่อซีอีโอ เพื่อตอบสนองความต้องการลงทุนอย่างยั่งยืนของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น

    สำหรับการผนวกความเสี่ยงและโอกาส ESG เข้ากับกระบวนการวิเคราะห์และการลงทุน Amundi อิงตามวิธีการให้คะแนน ESG ที่พัฒนาเองโดยตรง การให้คะแนน ESG ของบริษัทที่ได้รับการลงทุนจาก Amundi คำนวณโดยใช้เกณฑ์และน้ำหนัก ESG เชิงปริมาณ 38 รายการ ที่กำหนดโดยนักวิเคราะห์ และผสมกับคะแนน ESG จากผู้ให้บริการข้อมูลภายนอก

    นอกจากนี้ยึดหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดจากทั้งหมด โดยคัดเลือกผู้ออกตราสารที่มีแนวปฏิบัติ ESG ที่ดีที่สุดในแต่ละภาคธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ปฏิบัติตามนโยบายการไม่เข้าลงทุนในบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ ESG ที่แย่สุด รวมทั้งไม่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่มีประเด็นขัดแย้ง (เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้ถ่านหิน และยาสูบ)

    Amundi ทบทวนอันดับ ESG ที่พัฒนาเองเป็นประจำทุกเดือน โดยอันดับมีตั้งแต่ A (ดีที่สุด) ไปจนถึง G (แย่ที่สุด)ปัจจุบันใช้กับผู้ออกตราสารแล้ว 35,000 ราย ส่วนการให้คะแนน ESG ที่ใช้ตัวแปร 38 ตัวนั้นจะมีการทบทวนแต่ละภาคธุรกิจเป็นประจำรายปีทุกปี

    ปัจจุบัน ESG มีความสำคัญต่อกลยุทธ์มากกว่าที่เคย Amundi เชื่อว่า การวิเคราะห์ตัวบริษัทรอบด้านด้วย ESG จะช่วยลดความเสี่ยง และในขณะเดียวกันก็บ่งชี้ถึงโอกาส

    ในปี 2018 Amundi ได้จัดทำแผน ESG Action Plan เป็นแนวทางในการเกณฑ์การลงทุนที่ใช้ ESG 100% ในกองทุนรวมเปิดที่มีการบริหารแบบเชิงรุกหรือ active ซึ่งปรากฎว่าปี 2021 ทุกเป้าหมายทำได้ดีกว่าที่วางแผนไว้ ได้รับผลประโยชน์จากการผนวก ESG เข้าไว้ในทุกแพลตฟอร์มการลงทุน

    ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 Amundi เปิดตัว ESG Ambition Plan ฉบับใหม่ สำหรับปี 2022-2025 เร่งการเปลี่ยนผ่านเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม เนื่องจากแรงกดดันความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น การสร้างความตระหนักรู้ยังมีความจำเป็นสำหรับทุกภาคส่วนและทุกบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส ควบคู่กับการสมานฉันท์ทางสังคม

    ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม 2021 Amundi ได้ลงนามเข้าร่วม Net Zero coalition of Asset Managers

    ที่มาภาพ: https://int.media.amundi.com/news/?page=2

  • HSBC Asset Management

  • HSBC Asset Management (HSBC AM) เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ระดับโลกที่มีประวัติอันยาวนานกว่า 150 ปี[5] ในการเชื่อมโยงลูกค้าเข้ากับโอกาสการลงทุนระดับโลก โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 640 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2021 ให้บริการใน 25 ประเทศและเขตปกครอง

    HSBC AM ได้ผนวกการลงทุนที่รับผิดชอบอย่างเต็มรูปแบบเข้าไว้ในวัฒนธรรมและกระบวนการการลงทุน ซึ่งในกระบวนการลงทุนได้นำ การวิเคราะห์ Environmental, Social, Governance (ESG) รวมเข้ากับการวิเคราะห์ทางการเงินเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและผลตอบแทนในระยะยาว

    HSBC AM ใช้กรอบ ESG ในการทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ ที่กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากขึ้น โดยที่การหาระดับความยั่งยืนของบริษัทมีการใช้ข้อมูลอิสระและการวิจัยของบริษัท และที่สำคัญพอร์ตโฟลิโอของ HSBC AM ให้น้ำหนักกับบริษัทที่พยายามทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

    พอร์ตโฟลิโอยั่งยืนของ HSBC AM มาจากการลงทุนทั่วโลกที่คัดสรรโดยทีมบริหารการลงทุน โดยเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีค่าเฉลี่ย ESG score สูง และปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ ดังนั้น เงินที่ลงทุนไปจะสร้างผลการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน

    เปิด 3 ข้อเสนอปกป้องมูลค่าระยะยาว

    ทั้งสามนักลงทุนเป็นนักลงทุนสถาบันกลุ่มแรก[6]ที่เป็นแกนนำในการยื่นเสนอให้มีการลงมติผู้ถือหุ้นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในญี่ปุ่น

    โดยข้อเสนอของนักลงทุนสถาบันทั้งสามรายที่มีต่อ J-Power ได้แก่

    • กำหนดและเปิดเผยแผนธุรกิจโดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะสั้นและระยะกลางตามหลัก science-based ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีส และรายงานความคืบหน้าตามเป้าหมายเหล่านี้เป็นประจำทุกปี
    • เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินความสอดคล้องของรายจ่ายกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรายงานประจำปี
    • เปิดเผยรายละเอียดว่า นโยบายค่าตอบแทนของบริษัทจูงใจผู้บริหารให้ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ J-Power อย่างไร ในรายงานประจำปี

    ข้อเสนอนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานที่นักลงทุนสถาบันมองว่ามูลค่าองค์กรของ J-Power ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น่าเชื่อถือด้วยเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวตามหลัก science-based ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีสและความคาดหวังของนักลงทุน

    ข้อเสนอของผู้ถือหุ้นต่อ J-POwer ยังมี Australasian Center for Corporate Responsibility (ACCR) ร่วมด้วย โดยในเอกสารข่าว[7]ของ ACCR ระบุว่า

    ข้อเสนอที่ยื่นโดยนักลงทุนสถาบันกลุ่มแรกนี้ก็เพื่อปกป้องมูลค่าระยะยาวของ J-Power อันเป็นผลจากความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการลดและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากทั่วโลก และนับเป็นก้าวสำคัญในการมีส่วนร่วมของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในญี่ปุ่น

    ข้อเสนอนี้มาจากการมีส่วนร่วมที่ใช้เวลานานหลายเดือนระหว่าง J-Power และกลุ่มนักลงทุน ด้วยความกังวลเกี่ยวกับกลยุทธ์การลดคาร์บอนของ J-Power กลยุทธ์ที่เรียกว่า Blue Mission 2050 ว่าจะส่งผลให้บริษัทสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากญี่ปุ่นเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050

    แม้ J-Power มีแผนเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 แต่เป้าหมายปัจจุบันยังต่ำกว่าข้อตกลงปารีส และไม่ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำธุรกิจในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น

    นอกจากนี้ ยังกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้และต้นทุนในการใช้เทคโนโลยีถ่านหินที่ J-Power มีแผนจะนำมาใช้ โดย ACCR ชี้ไปที่การวิเคราะห์ของ TransitionZero ประกอบกับญี่ปุ่นเองประสบกับภาวะพลังงานตึงตัว ก็ยิ่งตอกย้ำว่าต้องเลิกพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลและหันไปใช้แหล่งพลงงานหมุนเวียนในประเทศ

    J-Power Blue Mission 2050 ที่มาภาพ: https://www.jpower.co.jp/english/ir/pdf/2021.pdf

    เจสัน มิตเชลล์ Head of Responsible Investment Research จาก Man Group กล่าวว่า “ในฐานะธุรกิจพลังงานถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น J-Power เหมาะที่จะเป็นผู้นำภาคธุรกิจนี้ในการกำหนดกลยุทธ์การลดคาร์บอนที่ชัดเจนโดยมีเป้าหมายทั่วทั้งบริษัทที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส เราดีใจที่บริษัทมีแผนลดการปล่อยคาร์บอนในปี 2050

    “แต่ในฐานะผู้ถือหุ้น เราตระหนักดีถึงความจำเป็นในการกำหนดเป้าหมายในระยะสั้นที่น่าเชื่อถือและให้ความมั่นใจว่าการลงทุนในอนาคตจะสอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านั้น และจะไม่พึ่งพาเทคโนโลยีที่ใช้ถ่านหินมากเกินไปซึ่งมีความเสี่ยงที่จะชะงักงัน”

    ด้าน ซาชิ ซูซูกิ Senior Stewardship Specialist จาก HSBC Asset Management กล่าวว่า นักลงทุนระยะยาวใน J-Power มองว่ามูลค่าองค์กรขึ้นอยู่กับแผนการลดคาร์บอนที่เชื่อถือได้ และกังวลกับการที่บริษัทมุ่งไปที่การใช้ถ่านหินที่มีต้นทุนสูง การพึ่งพาและฝากความหวังไว้ที่เทคโนโลยี โดยไม่มีแผนที่ชัดเจนที่จะเลิกใช้ถ่านหิน แทนที่จะดำเนินการระยะสั้นให้วางใจได้

    แคโรลีน เล โม Head of Engagement, Voting Policy and ESG Research จาก Amundi ระบุว่า การที่ธุรกิจพลังงานถ่านหินของ J-Power ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง และความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและทางเทคนิคในระดับต่ำ ของเทคโนโลยีที่บริษัทให้รายละเอียดไว้ใน Blue Mission 2050 จึงมีความกังวลต่อทิศทางของบริษัทอย่างมาก และควรให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    “เราเห็นว่ามูลค่าองค์กรจะได้รับการปกป้องที่ดีขึ้นด้วยการเปิดเผยที่มากขึ้นว่าบริษัทซึ่งเราถืออยู่ในกองทุนที่มีการลงทุนแบบ passive บางกองทุน จะปรับแผนธุรกิจและรายจ่ายการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอนตามข้อตกลงปารีสอย่างไร”

    บรินน์ โอไบรอัน Executive Director จาก ACCR กล่าวว่า คณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทชุดปัจจุบันต้องตัดสินใจเพื่อให้บริษัทรุ่งเรืองในโลกที่ปราศจากคาร์บอน ไม่ใช่โยนให้ผู้นำในอนาคต ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ทุกรายในทุกระบบเศรษฐกิจต้องมีแผนธุรกิจที่น่าเชื่อถือและมีรายละเอียดที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

    “กลยุทธ์ปัจจุบันของ J-Power จะทำให้เงินทุนของผู้ถือหุ้นสูญเปล่าไปกับการยืดอายุธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของบริษัท การสนับสนุนวาระนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตที่แข็งแกร่งสำหรับ J-Power”

    ข้อเสนอของผู้ถือหุ้น J-Power เกิดขึ้นจากแรงผลักดันที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นของผู้ถือหุ้น นับตั้งแต่มีการยื่นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศครั้งแรกในปี 2020 ต่อธนาคารมิซูโฮ

    แม้การยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะไม่มากเท่ากับที่พบในยุโรป สหราชอาณาจักร หรือสหรัฐอเมริกา แต่บริษัทญี่ปุ่นก็ได้รับข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับ ESG จากนักลงทุนมากขึ้น

    ในเดือนมีนาคม 2020 เครือข่าย NGO Kiko ของญี่ปุ่นได้ส่งข้อเสนอผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกให้กับ Mizuho Financial Group โดยเรียกร้องให้เปิดเผยความเสี่ยงด้านสภาพอากาศและเผยแพร่แผนเพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนสอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

    ในเดือนมีนาคม 2021 Sumitomo Corporation และ Mitsubishi UFJ Financial Group ก็ได้รับข้อเสนอ (ที่คล้ายๆ กัน) เรียกร้องให้ปรับใช้และเปิดเผยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส โดยมุ่งเน้นเฉพาะที่ความเสี่ยงต่อสินทรัพย์กลุ่มถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ และแม้แต่ละมติเหล่านี้จะไม่ผ่านที่ประชุมถือหุ้น แต่ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก (35%, 20% และ 23% ตามลำดับ)

    เมื่อเดือนที่แล้ว Sumitomo Mitsui Financial Group, Tokyo Electric Power (Tepco), Mitsubishi Corp และ Utility Chubu Electric Power ได้รับวาระเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาพอากาศจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ (รวมถึง Kiko Network และ Market Forces )

    กฎหมายของญี่ปุ่นกำหนดให้นำข้อเสนอของผู้ถือหุ้น เข้าสู่การแก้ไขข้อบังคับของบริษัท (เฉพาะเรื่องที่จะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเท่านั้น อาจเป็นเรื่องของการเสนอต่อผู้ถือหุ้น)

    ข้อเสนอของผู้ถือหุ้นอาจส่งผลให้มีการเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักมากขึ้น และในบางกรณี นำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายโดยสมัครใจ เช่น ปีที่แล้ว ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ได้ปรับนโยบายเพื่อรวมแผนไม่เพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ และยุติธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมดในช่วงปลายปี 2040

    อ้างอิง
    [1] Whitecase 2021.Shareholders’ General Meetings: The trend of shareholders’ viewing ESG as important is steadily increasing.https://www.whitecase.com/publications/alert/shareholders-general-meetings-trend-shareholders-viewing-esg-important-steadily
    [2] Man Group.https://www.man.com
    [3] Amnundi 2022: Vote Results https://about.amundi.com/article/agm-2022-vote-results
    [4] The guradian 2020.Influential shareholder adds to pressure on Barclays over fossil fuel loans. https://www.theguardian.com/business/2020/feb/12/barclays-pressure-fossil-fuel-loans-asset-manager-amundi
    [5] HSBC Asset Managment. https://www.assetmanagement.hsbc.com/about-us
    [6] Linklaters 2022. Japan: First institutional investor group-led climate shareholder proposals received by J-Power https://sustainablefutures.linklaters.com/post/102howk/japan-first-institutional-investor-group-led-climate-shareholder-proposals-recei
    [7]ACCR 2022. First institutional investor group-led climate shareholder proposals filed in Japan. https://www.accr.org.au/news/first-institutional-investor-group-led-climate-shareholder-proposals-filed-in-japan/