สกพอ. จับมือ ปตท.- กนอ. ผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) นำร่องระบบห้องเย็นเก็บรักษาคุณภาพทุเรียน ขายได้ตลอดปี ไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา เพิ่มรายได้ดีให้เกษตรกรในพื้นที่ EEC
หลังจากที่สำนักคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกันจัดทำห้องเย็นระบบ Blast freezer & Cold storage ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) โดยนำพลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “LNG” มาใช้ประโยชน์ในการเก็บรักษาคุณภาพของผลไม้ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ ให้มีสภาพสดใหม่ และรสชาติคงเดิมได้ยาวนานมายิ่งขึ้น ทำให้เกษตรกรไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ซึ่งจะช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากขายผลิตผลทางการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงที่มาของโครงการ EFC ว่า ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เป็นโครงการหลักที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาภาคเกษตรในเขตพื้นที่ EEC โดยเฟสแรกของโครงการ จะนำร่องกับผลิตภัณฑ์ประเภทผลไม้ เช่น ทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ก่อน จากนั้นจะต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น อาหารทะเลต่อไป
สำหรับเหตุผลในการดำเนินโครงการ เพราะว่าในช่วงเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคมของทุก ๆปี จะมีผลิตผลทุเรียนออกเข้าสู่ตลาดปีละประมาณ 600,000 ตัน และจะมีพ่อค้าคนกลางเข้าไปรับซื้อผลไม้ถึงในสวนมีการกดราคาจากเกษตรกร หากไม่รีบตัด-รีบขาย ปล่อยทิ้งไว้ผลไม้ก็จะสุกงอมเสียหาย เกษตรกรก็จะขาดทุน ตรงนี้เป็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี
ทาง สกพอ.จึงหารือกับผู้บริหารของบริษัท ปตท. และ กนอ. เพื่อจัดทำระบบห้องเย็นช่วยเกษตรกร จนได้ข้อสรุปว่า บริษัท ปตท.จะลงทุนก่อสร้างห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน โดยใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กลับมาเป็นก๊าซ สามารถเก็บรักษาผลไม้ให้อยู่ในสภาพคงเดิมได้นานที่สุด 12 เดือน ส่วน กนอ.จะจัดพื้นที่ขนาด 40 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park เตรียมไว้ให้ บริษัท ปตท.ลงทุนก่อสร้างห้องเย็น นี่คือ ที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้
ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า หลังจากก่อสร้างห้องเย็นเสร็จเรียบร้อย สกพอ.ได้จัดเตรียมแผนการบริหารห้องเย็น โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง , สหกรณ์การเกษตร (ทุเรียน) และผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า ร่วมกันส่งตัวแทนเข้าไปบริหารห้องเย็นเพื่อเปิดให้บริการแก่เกษตรกรต่อไป ห้องเย็นนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีทุเรียนขายได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาอีกต่อไป

“ปกติเกษตรกรจะขายทุเรียนกิโลกรัมละ 80-100 บาท หากคิดค่าบริการแช่แข็ง 5% ของราคาทุเรียนที่ขายตามท้องตลาด ค่าบริการจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 4-5 บาทต่อเดือน แช่เก็บไว้ในห้องเย็น 5 เดือน ต้นทุนชาวสวนทุเรียนเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม แต่มีรายได้จากการขายทุเรียนตลอดทั้งปี ซึ่งทุเรียนที่ขายนอกฤดูกาลกิโลกรัมละ 180-200 บาท ถามว่าเกษตรกรจะเอาแบบนี้หรือไม่” ดร.คณิศ กล่าว
“โครงการนี้มีหลักการคล้าย ๆกับโครงการรับจำนำข้าวที่ยุ้งฉาง คือ ชะลอผลิตผลทางการเกษตรไม่ให้ไหลเข้าสู่ตลาดเร็วและมากเกินไป จนทำให้ล้นตลาด ราคาตกต่ำ ส่วนที่แตกต่างกัน คือ โครงการนี้ภาคเอกชนดำเนินการกันเองโดยไม่ต้องขอการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยโครงการนี้จะลดบทบาทของพ่อค้าคนกลางลง และไม่ได้จำกัดแค่การดูแลผลิตผลทางการเกษตรแช่แข็งเพียงอย่างเดียว แต่โครงการยังดูแลให้ตลอดสายการผลิต ทั้งช่วยเกษตรกรศึกษาตลาด เตรียมห้องเย็นที่ทันสมัย วางระบบการค้าขายผ่าน e-commerce หรือ e-auction พัฒนาบรรจุภัณฑ์ จัดระบบโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าไปส่งที่ท่าเรือ หรือ สนามบิน เพื่อส่งไปขายในตลาดโลกด้วย” ดร.คณิศ กล่าว
ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการขับเคลื่อน “โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก” ภายใต้แผนพัฒนาภาคเกษตรในเขตพื้นที่ EEC ของ สกพอ.แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
-
1.ศึกษาความต้องการตลาด เน้นศึกษาความต้องการ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ภาคตะวันออก สำรวจตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงรสนิยมผู้บริโภค โดย สกพอ. อยู่ระหว่างศึกษาความต้องการตลาดทุเรียน เริ่มจากผู้บริโภคชาวจีน
-
2.วางระบบการค้าสมัยใหม่ ผ่าน e-commerce และ e-Auction พัฒนา และลงทุนบรรจุภัณฑ์ ผลไม้จากภาคตะวันออก เพื่อส่งขึ้นเครื่องบินออกไปขายในตลาดโลกได้เป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
-
3.จัดทำระบบห้องเย็นที่ทันสมัย เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้สดใหม่เหมือนเก็บจากสวน ส่งขายได้ตลอดปี และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการระยะแรกได้ภายใน 12 เดือน
-
4. จัดระบบสมาชิก โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ช่วยรวบรวมสมาชิกชาวสวนทุเรียน เพื่อนำร่องโครงการ โดยสมาชิกที่ร่วมโครงการ จะต้องใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการตลาด

นายวิทวัส สวัสดิ์ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการห้องเย็น เพื่อเก็บรักษาผลิตผลทางการเกษตรให้อยู่ในสภาพคงเดิมให้ได้นานที่สุด เป็นโครงการที่มีการพูดถึงกันมานาน แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนทำสำเร็จ ซึ่งการลงนามใน MOU ครั้งนี้ ทางบริษัท ปตท.ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยนำพลังงานความเย็นที่เหลือจากการเปลี่ยน “LNG” ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลวกลับไปเป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปกติจะมีพลังงานความเย็นบางส่วนถูกปล่อยทิ้งไปกับน้ำทะเล แต่ตอนนี้กำลังจะถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ซึ่ง ปตท.มีองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม สามารถออกแบบการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกรูปแบบ และครบวงจร
นายวิทวัส กล่าวต่อว่า ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2562 คงจะจำกันได้ บริษัท ปตท.ร่วมทุนกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส (BIG) จัดตั้งบริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ เพื่อทำธุรกิจแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะ LNG กลับมาเป็นก๊าซธรรมชาติ ผลิตก๊าซต่าง ๆส่งขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ก๊าซออกซิเจน , ฮีเลียม , ไนโตรเจนเหลว , คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น สำหรับตัวไนโตรเจนเหลวนี้เราจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมห้องเย็น ซึ่งจะทำให้น้ำในเซลกลายเป็นน้ำแข็งได้อย่างรวดเร็ว หรือ ที่เรียกว่า “Blast Freezer” โดยไม่ทำให้เซลของผลไม้ได้รับความเสียหาย
“การนำไนโตรเจนเหลวมาใช้ในการฟรีซ หรือ แช่แข็งผลไม้จะแตกต่างจากระบบการทำความเย็นทั่ว ๆไป ซึ่งจะค่อย ๆเย็น ทำให้น้ำในเซลกลายเป็นแท่งผลึกแหลมทิ่มแทงเซลจนได้รับความเสียหาย แต่ถ้าใช้ไนโตรเจนเหลวมาใช้ในการฟรีซผลไม้ มันจะทำให้น้ำในเซลกลายเป็นผลึกน้ำแข็งทรงกลมได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ทำให้เซลผลไม้เสียหาย สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน คุณภาพ และรสชาติยังคงเดิม หลังจากที่นำผลไม้ออกจากห้องฟรีซแล้ว ก็ต้องเอาไปเก็บไว้ในห้องเย็นต่อ หรือที่เรียกว่า Cold storage เพื่อรักษาน้ำในเซลผลไม้ให้อยู่ในสภาพคงเดิม คือ เป็นผนึกทรงกลม ซึ่งปตท.จะต้องเข้าดูแลในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ด้วย การขนส่งก็ต้องใช้รถตู้แช่ ส่งขึ้นเรือ หรือ เครื่องบินก็ต้องมีตู้เย็น เพื่อรักษาคุณภาพสินค้าก่อนที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค ตอนนี้เราก็ส่งทีมวิศวกรลงไปดูพื้นที่ เพื่อออกแบบและดีไซน์ห้องเย็น ส่วนอีกทีมกำลังศึกษาเรื่องระบบโลจิสติกส์” นายวิทวัส กล่าว

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในส่วนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park เบื้องต้นประมาณ 40 ไร่ เตรียมไว้ให้บริษัท ปตท.ดำเนินการก่อสร้างโรงงานห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน เพื่อเก็บรักษาผลไม้ให้เกษตรกรภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โดยนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,383 ไร่ ตั้งอยู่ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ภายในโครงการจะมีระบบสาธารณูปโภคพร้อม ไม่ว่าจะถนน ไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และศูนย์ข้อมูล Data Center ทั้งนี้ เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล และศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างสมบูรณ์แบบ คาดว่าจะเริ่มลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆได้ภายในปี 2564
“การจัดทำห้องเย็นภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเก็บรักษาคุณภาพของผลไม้ให้มีความสดและใหม่ได้นานขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของ กนอ. ในเรื่องการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ECO Center) ที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรสามารถเติบโตควบคู่ไปด้วยกัน” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว
ทั้งหมดเป็น ความคืบหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) คาดว่า ปตท.จะเริ่มลงมือก่อสร้างโรงงานห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน บนพื้นที่ 40 ไร่ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ภายใน12 เดือนนับจากนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเกษตรกรให้มีรายได้มั่นคงสามารถส่งผลไม้ไทยออกไปแข่งขันได้ทั่วโลก และพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางตลาดผลไม้ของโลกได้ในอนาคต…