“ออมสิน” เข้าร่วมสมาชิก “UNEP FI” เดินหน้าสู่การเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” เต็มรูปแบบ ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำแบงก์รัฐขับเคลื่อน SDGs
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ลงนามรับ “หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน (UNEP Finance Initiative: UNEP FI) ถือเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่ร่วมรับหลักการดังกล่าวกับทาง UNEP FI ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลของธนาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตอกย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม หรือ “social bank” เต็มรูปแบบ โดยวางเป้าหมายที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 2 ด้าน คือ ลดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นายวิทัยกล่าวว่า จากปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะความเสียหายต่อทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และปัญหาการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใสในองค์กร ส่งผลให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจ ตามแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพ และคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว โดยธนาคารออมสินได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (environment social and governance: ESG) เพื่อที่จะก้าวสู่การเป็นธนาคารที่ยั่งยืน จึงเข้าร่วมเป็นสมาชิก “สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน หรือ UNEP FI” เพื่อเข้าร่วมรับใน “หลักการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” หรือ “principles for responsible banking: PRB” โดยถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งแรกของไทยที่เข้ารับหลักการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 6 หลักการ ดังนี้
-
1. การดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (alignment)
2. การกำหนดเป้าหมายที่เพิ่มผลกระทบเชิงบวก หรือลดผลกระทบเชิงลบ (impact & target setting)
3. การให้บริการลูกค้าด้วยความรับผิดชอบ (clients & customers)
4. การร่วมดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียด้วยความรับผิดชอบ (stakeholders)
5. การมีธรรมาภิบาล และการปลูกฝังวัฒนธรรมการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (governance & culture)
6. เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ (transparency & accountability)
“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ที่ผ่านมาธนาคารออมสินเราทำทุกข้อ แต่เน้นหลักๆ มี 2 ข้อ คือ เป้าหมายที่ 1: ลดความยากจน กับ เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เหตุที่เน้น 2 ข้อเพราะเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของธนาคารในการเป็นธนาคารเพื่อสังคม หรือ social bank เต็มรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “Making POSITIVE Impact on Society” คือทำอะไรแล้วต้องเกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ต้องช่วยคนได้จริงๆ” นายวิทัยกล่าว
สำหรับการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ธนาคารจะเข้าไปดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน โดยการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม, สนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก, พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนอย่างครบวงจร และส่งเสริมการออมและพัฒนาทักษะทางการเงิน ทั้งนี้ เพื่อที่จะยกระดับรายได้ของประชาชนและต่อยอดการเจริญเติบโตให้กับผู้ประกอบการรายย่อย อันเป็นภารกิจสำคัญที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ที่ได้ดูแลกลุ่มลูกค้านี้มาเป็นเวลายาวนาน
“การลงนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก UNEP FI ครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ครั้งสำคัญของธนาคารออมสินว่าในการดำเนินงานต่างๆ ของธนาคารจะยึดมั่นตาม “หลักการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” ของ UNEP FI จากนั้นทางธนาคารออมสินก็จะนำหลักการทั้ง 6 ด้าน มากำหนดเป็นนโยบายและหลักเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจทุกด้านให้สอดคล้องกับการเป็นธนาคารเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การร่วมลงทุนในธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ, การร่วมมือกับสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้ธุรกิจเพื่อสังคมประสบความสำเร็จในการประกอบกิจการ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ตัวองค์กรเองก็ต้องมีความความเข้มแข็ง เน้นการเติบโตที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ การทำธุรกิจปกติของธนาคาร ก็ทำไป ได้กำไรมา ก็เอามาอุดหนุนภารกิจด้านสังคม โดยธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำแบงก์รัฐในการขับเคลื่อนเรื่องนี้” นายวิทัยกล่าวทิ้งท้าย