สกพอ.ปรับแผนยุทธศาสตร์ EEC ดึงดูดการลงทุน รับ “โจ ไบเดน” เตรียมเสนอรองนายกรัฐมนตรีพิจารณาปลายพ.ย.นี้ ชู 3 เรื่อง “Go Green-เพิ่มความร่วมมือการค้า-สิทธิประโยชน์” มั่นใจปี 65 จัดงบฯบูรณาการลงพื้นที่อีอีซี 2 หมื่นล้าน ดึงเอกชนร่วมลงทุนได้กว่า 3 แสนล้าน
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สพกอ.) บรรยายพิเศษ “แนวทางการขับเคลื่อนแผนบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประจำปีงบประมาณ 2565” ณ ห้องประชุมแกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล
ดร.คณิศ เปิดเผยว่า หลังจากที่สหรัฐได้ประธานาธิบดีคนใหม่ “โจ ไบเดน” ซึ่งเป็นผู้นำที่มีท่าทีด้านความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศมากกว่าประธานาธิบดีคนเก่า โดยเฉพาะนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งอีอีซีก็จะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ให้สอดรับกับนโยบายผู้นำสหรัฐคนใหม่ เพื่อดึงดูดนักลงทุนสหรัฐเข้าประเทศไทยมากขึ้น โดยขณะนี้กำลังจัดทำแผนใหม่ เพื่อเสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีภายใน 2 สัปดาห์หลังเลือกตั้ง หรือ ประมาณช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
“จากความเชื่อมั่นทั่วโลกที่มีมากขึ้นต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยเห็นได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งผมคิดว่าประเทศไทยก็น่าจะมีแนวทางความร่วมมือมากขึ้นเมื่อเทียบกับยุคโดนัลด์ ทรัมป์ และจะมี solution มากขึ้น และคาดการณ์ทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศได้มากขึ้น” ดร.คณิศ กล่าว

ดร.คณิศ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่จะต้องพิจารณามี 3 เรื่อง คือ1. Go Green ที่โจ ไบเดนเน้นเรื่องนี้จะกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ ซึ่งอีอีซีก็จะเน้น Go Green ด้วย เพื่อดึงดูดนักลงทุนสหรัฐเข้ามาได้มากขึ้น 2. ด้านความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น CPTPP (ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่ประเทศเวียดนามเข้าร่วม แต่ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วม นอกจากนี้ยังมี FTA ไทย-EU ซึ่งประเด็นเหล่านี้ อีอีซีทำเองไม่ได้จะต้องเสนอขอกับทางรัฐบาล เพราะขณะนี้ สหรัฐและจีนยังตึงเครียดกันอยู่ เพราะฉะนั้น ไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายความร่วมมือดังกล่าว เพื่อให้สินค้าส่งออกไทยสามารถแข่งขันได้ และ3.การปรับสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุน ที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอีอีซีต้องการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน เช่น การวางโครงข่าย 5G , การสร้างเมืองอัจฉริยะให้ครอบครัวของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน และเตรียมบุคลากรแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งอีอีซีได้เริ่มต้นไปแล้ว
สำหรับเป้าหมายและแนวทางการจัดทำงบประมาณ แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประจำปีงบประมาณ 2565 ดร.คณิศ กล่าวว่า จะดำเนินการภายใต้งบฯบูรณาการ 2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนตามมาปีละเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งตั้งใจว่าจะดึงดูดการลงทุนให้เข้ามามาก เพื่อชดเชยผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การลงทุนลดลง โดยงบฯบูรณาการปี 2564 คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนได้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และปีงบ 2565 จะดึงดูดได้ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท สำหรับแผนดังกล่าว คาดว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จช่วงปลายปีนี้ถึงเดือนมกราคมปีหน้า
โดยอีอีซีจะเน้นการลงทุนใน 4 ด้านสำคัญ คือ
-
1.ด้านการศึกษา ที่มุ่งเน้นสร้างคนตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งทำต่อเนื่องมาแล้ว 3ปี
-
2.ด้านการสาธารณสุข เพื่อรองรับเมืองใหม่และชุมชนที่พัฒนาในพื้นที่อีอีซี
-
3.ด้านพัฒนาการท่องเที่ยวและชุมชน
-
4.ด้านเกษตรทิศทางใหม่ “ตลาดนำการเกษตร” คือ เน้นตามความต้องการของตลาดทั้งตลาดสด และตลาดแปรรูป ซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สนับสนุน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมตลอดทั้งปี
สำหรับบรรยากาศการประชุมในวันนี้ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงให้กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการ อีอีซี ปี 2565 เดินหน้าต่อเนื่อง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน” ร่วมกับ ม.ร.ว.รณจักร จักรพันธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยมีตัวแทน 22 กระทรวง 120 หน่วยงานราชการ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนภาพรวมของแผนการพัฒนา EEC ซึ่งดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งชี้แจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเป้าหมาย และแนวทางขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำข้อเสนอโครงการ และขอรับจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตลอดจน เตรียมกำหนดเป้าหมาย แนวทาง ตัวชี้วัด ให้มีประสิทธิภาพบรรลุเป้าหมายของแผนงานบูรณาการฯ ในการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป
ที่ผ่านมา สกพอ. และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมขับเคลื่อนแผนบูรณาการ EEC ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานจากส่วนกลางและท้องถิ่น ภาคเอกชนและภาคประชาชนในทุกๆ ด้าน มาแล้ว 3 ปี ให้มีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ และพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการชักชวนนักลงทุนแล้ว สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนงานบูรณาการ EEC ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ยังคงสานต่อการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการมีรายได้สูง ยกระดับคุณภาพระบบสาธารณสุขให้ได้มาตรฐาน เพียงพอต่อการให้บริการ รวมถึงมีระบบเฝ้าระวังโรคที่ได้มาตรฐาน ควบคู่ไปกับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ นอกจากนั้น ในปีนี้จะเริ่มการยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร พร้อมทั้งประเมินกำลังการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด “ตลาดนำการผลิต” เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมตลอดทั้งปี
เป้าหมายสำคัญต้องเร่งผลักดันในปีนี้คือ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งเป็นที่ประจักษ์ของนักลงทุนทั่วโลก กลายเป็นโอกาสให้ประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการแพทย์
โดย สกพอ. ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการฯ ให้มีความต่อเนื่อง ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างสมดุล ด้วยการดำเนินงาน 5 แนวทางตามภารกิจสำคัญ ดังนี้
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนบูรณาการ EEC เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง และจะส่งผลสัมฤทธิ์ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ส่งผลต่อการต่อการเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน