ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 13-19 มิ.ย. 2563
นายกฯ เผย ในหลวงทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้ ม.112
“สิ่งที่อยากจะบอกคนไทยทุกคน มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะอะไรรู้มั้ย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว แล้วคุณก็ละเมิดกันไปเรื่อยเปื่อยแบบนี้ หมายความว่ายังไง ต้องการอะไรกัน วันนี้ผมจำเป็นต้องพูด เพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบ”
ข้อความข้างต้น เป็นคำกล่าวของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กล่าวถึงเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 ระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2563 โดยเป็นการกล่าวต่อเนื่องจากการแสดงความกังวลถึงการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ทุกคนสังเกตว่า ช่วง 2-3 ปีมานี้ ไม่มีใครถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย ด้วยเหตุผลตามข้อความข้างต้น
และในวันเดียวกันกัน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาบอกว่าตอนนี้มีการจับตาดูกลุ่มที่มีพฤติกรรมหมิ่นสถาบัน ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคงกำลังจับตาดูอยู่ หากพร้อมแล้วก็จะมีการแจ้งความดำเนินคดี แต่ก็ยืนยันว่า จะไม่มีการดำเนินคดีโดยใช้มาตรา 112
ต่อมา วันที่ 16 มิ.ย. 2563 พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ยืนยันว่า ทาง ตร.มีคณะทำงานเรื่องนี้ ซึ่งหากการกระทำผิดเกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ การดำเนินคดีก็จะใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ในมาตราที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 14 ซึ่งเป็นเรื่องของการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
ทั้งหมดนี้คือการยืนยันจากทางภาครัฐอันน่าจะเป็นที่ชัดเจนว่า ปัจจุบันไม่มีการดำเนินคดีด้วย ม.112 แต่หันไปดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คอมพ์ฯ แทน
การยืนยันนี้สอดคล้องกับทางภาคประชาชนอย่างโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะไม่มีการดำเนินคดีด้วย ม.112 จริง แต่ผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คอมพ์ฯ หรือกระทั่ง ม.116 ของประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น
อนึ่ง เรื่องการใช้ ม.116 นี้ รองโฆษก ตร. ระบุว่ามีองค์ประกอบที่กว้าง ต้องดูรายละเอียดพฤติกรรม แต่กฎหมายหลักที่ใช้กับกรณีเหล่านี้จะเป็น พ.ร.บ.คอมพ์ฯ
รื้อ “บอมเบย์เบอร์มา” โบราณสถานอายุ 131 ปี

สวนรุกขชาติเชตวัน อ.เมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เป็นที่ตั้งของอาคารเรือนไม้ประยุกต์ (สถาปัตยกรรมโคโลเนียล) ซึ่งก่อสร้างในปี พ.ศ. 2432 เพื่อเป็นสำนักงานของบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง บริษัทต่างชาติที่ได้สัมปทานป่าไม้ในไทยในสมัยนั้น และเมื่อหมดสัมปทาน ทางบริษัทจึงมอบอาคารดังกล่าวให้กับรัฐบาลไทย ทำให้ในปัจจุบัน อาคารดังกล่าวเป็นโบราณสถานที่มีอายุถึง 131 ปี
ทว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาคารโบราณสถานดังกล่าวกลับถูกรื้อจนเหลือแต่ซาก ทั้งที่งบประมาณที่ทางจังหวัดได้เสนอขอไปนั้นเป็นไปเพื่อการปรับปรุงซ่อมแซม นอกจากนี้ยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ จึงทำให้ชาวแพร่หลายภาคส่วนรวมตัวกันเพื่อถามหาคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ต่อเรื่องดังกล่าว เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า จากรายงานที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้รับจากนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช การรื้อดังกล่าวเป็นไปเพื่อซ่อมแซม เนื่องจากฐานคอนกรีตของอาคารเสื่อมสภาพ จึงต้องรื้อไม้ออกเพื่อทุบฐานเดิมแล้วสร้างฐานใหม่ ก่อนจะนำไม้ที่รื้อออกมากลับไปประกอบดังเดิม
ด้านนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กล่าวถึงกรณีที่ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ว่า พื้นที่ของอาคารบอมเบย์เบอร์มาอยู่นอกเขตเมือง จึงไม่ถูกระบุว่าจะต้องทำตามขั้นตอนการประชาพิจารณ์ความเห็นของพื้นที่
อย่างไรก็ดี วันที่ 19 มิ.ย. 2563 ชาวแพร่หลายภาคส่วนได้รวมตัวกันไปขอคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ยอมรับว่าเป็นคนเซ็นอนุมัติโครงการจริง แต่ไม่ได้ให้รื้อ ให้ทำการปรับปรุงซ่อมแซม พร้อมสัญญาว่าจะเร่งฟื้นฟูให้เหมือนเดิม
ทว่า ฝั่งประชาชนผู้มาขอคำชี้แจงก็แย้งว่า เอกสารที่ใช้ทำทีโออาร์นั้นมีค่ารื้อถอนอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดว่ารื้อถอนอะไรบ้างแล้วก็เท่ากับรื้อทั้งหลัง ทั้งทีโออาร์บางข้อยังดูไม่ชอบมาพากลว่าอาจมีการทุจริต เช่น การใช้วัสดุใหม่ทั้งหมด มีราคาชัดเจน แต่การชี้แจงกลับบอกว่าจะใช้ของเก่าทั้งหมด ซึ่งก็ไม่มีใครให้ความชัดเจนได้แต่อย่างใด ซึ่งตามรายงานข่าวนั้น หลังจากที่ผู้ว่าฯชี้แจงแล้ว ก็ไม่มีการชี้แจงในรายละเอียดที่ชาวบ้านสอบถาม ยืนยันอย่างเดียวว่าจะยืนเคียงข้างพี่น้องชาวแพร่ และจะเร่งให้การฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนที่สุด

ปักกิ่งล็อกดาวน์ 28 ชุมชน-นิวซีแลนด์หยุดสถิติปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว
เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พบกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อีกครั้ง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 137 ราย หลังจากไม่พบการติดเชื้อในท้องถิ่นมานานถึง 57 วัน
เชื่อว่าการระบาดครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในตลาดอาหารขนาดใหญ่ซินฟาตี้ ซึ่งเป็นแหล่งค้าส่งเนื้อสัตว์และพืชผักราว 80% ที่ประชาชนในเมืองหลวงแห่งนี้บริโภคกัน
การระบาดรอบนี้ทำให้ทางการกำหนดชุมชน 27 แห่งเป็นพื้นที่เสี่ยงปานกลาง และ 1 แห่งใกล้ตลาดซินฟาตี้เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนทั้ง 28 แห่งนี้ถูกห้ามเดินทางออกนอกกรุงปักกิ่ง ส่วนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ หากจะเดินทางออกนอกกรุงปักกิ่ง ต้องผ่านการตรวจเชื้อแล้วมีผลเป็นลบเสียก่อน
นอกจากนี้ ยังมีการลดเที่ยวบินเข้า-ออกกรุงปักกิ่งกว่า 2,000 เที่ยว และลดบริการเดินรถไฟไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2563 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ยังระงับการสอนของโรงเรียนในระดับต่างๆ รวมทั้งงดการเล่นกีฬาเป็นทีม และปิดบริการสถานที่เล่นกี่ฬาที่มีคนเข้าไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงยิม
ขณะเดียวกัน ทางด้านนิวซีแลนด์ ที่เพิ่งประกาศปลอดไวรัสไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ก็กลับต้องหยุดสถิติดังกล่าวลงที่ 24 วัน เมื่อพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 รายซึ่งเดินทางมาจากสหราชอาณาจักร และเป็นการเข้าประเทศโดยได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากมาร่วมพิธีศพบุพการี
การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากกรณีดังกล่าว ทำให้ต่อไปหากมีใครเดินทางเข้านิวซีแลนด์ด้วยเหตุผลด้านมนุษย์ธรรมเช่นนี้ออก จะต้องได้รับการตรวจเชื้อมีผลเป็นลบก่อนจึงจะปล่อยจากการกักตัว