
“เราใช้เวลา 100 ปี ในการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดท็อป 100 มหาวิทยาลัยโลก” ดร.เอกก์ ภทรธนกุล รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีด้านแบรนด์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถาม “ไทยพับลิก้า” ในงาน “อธิการบดีชวนสื่อจิบน้ำชายามบ่าย เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2563 ที่เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อถูกถามคำถามว่า “จุฬาฯใช้เวลานานเท่าไหร่ในการก้าวขึ้นสู่ 100 อันดันแรกของมหาวิทยาลัยโลก”
งานพบสื่อมวลชนนี้เป็นงานที่จัดขึ้นสดๆร้อนๆ หลังจาก 7 โมงเช้าของวันพุธที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาQS World University Rankings 2021 ได้ประกาศผลการจัดอันดับล่าสุด โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 96 ของโลกในด้านมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ที่ มีสถาบันอุดมศึกษาร่วมการจัดอันดับ 1,604 แห่งจากทั่วโลก โดยมีอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีที่แล้วถึง 39 อันดับ
ถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเคยได้รับการจัดอันดับที่ผ่านมา จุฬาฯ ยังครองอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยไทยเป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน และอยู่ในอันดับที่ 46 ของมหาวิทยาลัยระดับเอเชีย
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของคนไทยขึ้นสู่ Top 100 ของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ จากการจัดอันดับโดย QS World University Rankings 2021 เป็นผลจากการพัฒนาการเรียนการสอนและงานวิชาการอย่างไม่หยุดนิ่งโดยประชาคมจุฬาฯ เพื่อพัฒนาคนไปพร้อมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยนำพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้วันนี้ จุฬาฯ เป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยนวัตกรรม เพื่อสังคม ซึ่ง 3 แกนหลักที่จุฬาฯ มุ่งผลักดันพัฒนาให้ถึงขีดสุด คือ คน นวัตกรรม และความยั่งยืนทางสังคม
“เราทำเพื่อพยายามนำความรู้มาเพื่อให้สามารถสร้างประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม จึงกลายเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม และทำให้จุฬาฯ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เราหวังว่าเมื่อเราไปถึงท็อป100 แล้วในอนาคตจะมีมหาวิทยาลัยอื่นๆในไทยเช่นเดียวกัน เราหวังว่าสิ่งดีๆจะเกิดขึ้นในสังคมและจะเป็นสติปัญญาที่นำไปสู่การพัฒนาบ้านเมืองในอนาคต”
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย QS World University Rankings 2021 พิจารณาจากตัวชี้วัด 6 ด้าน ประกอบด้วยความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (40%) การเป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง (10%) สัดส่วนของอาจารย์ต่อนิสิต (20%) ผลงานวิชาการต่ออาจารย์ (20%) สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาติ (5%) และสัดส่วนของนิสิตชาวต่างชาติ (5%) ซึ่งความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS สะท้อนความเชื่อมั่นผ่านการแสดงความคิดเห็นจากตัวแทนนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษากว่า 100,000 คนทั่วโลก
“ในกระบวนการจัดอันดับเขาเชิญคนระดับศาตราจารย์ คณบดี ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก โหวตมหาวิทยาลัย 40 รายชื่อ คะแนนที่จุฬาฯได้รับส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ซึ่งในแง่บวกนั่นหมายความว่าการยอมรับของต่างประเทศที่มีต่อไทยสูงมาก”
ในภาษาทางการตลาด สิ่งนี้คือ “ Top of Mind” ในฐานะรักษาการผู้ช่วยอธิการบดีด้านแบรนด์ ดร.เอกก์ ประเมินว่า หัวใจสำคัญที่ทำ จุฬาฯ เป็น Top of Mind ของตัวแทนนักวิชาการ ผู้ประกอบการทั่วโลก 1. นิสิตจุฬาฯเก่งเมื่อไปเรียนต่อต่างประเทศคนจะจดจำได้ 2. มี Brand Sponsorship ที่สร้างการจดจำผ่านโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น โครงการร่วมมือสาขาการตลาดของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ความร่วมมือของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับเคลล็อค หรือสุดยอดสาขาธุรกิจวอลตัน บิสซิเนส สคูล 3. จุฬาฯมี Brand Endorsement เป็นผู้นำสำคัญในระดับโลกทำให้เป็นที่จดจำ เช่น การเดินทางมาไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ที่ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ

3 เป้าหมายในการพัฒนา คน – นวัตกรรม- ความยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ในฐานะอธิการบดีที่กำลังเข้าสู่วาระที่ 2 อธิบายว่า จุฬาฯมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้านได้แก่ การพัฒนาคน (Building human capital) เพราะ “คน” คือ ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ จุฬาฯ จึงเสริมสร้างและพัฒนาบัณฑิตทุกคน (Educating future leader) ให้มีคุณสมบัติพร้อมเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศและโลก บัณฑิตจุฬาฯ จะต้องมีความสามารถด้านวิชาการ มีทักษะทันสมัยของศตวรรษที่ 21 มีจิตสาธารณะ และมีความเป็นผู้นำ
การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Boosting innovations and knowledge) นวัตกรรมของจุฬาฯ จะไม่เป็นเพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ในห้องเรียน แต่นวัตกรรมของจุฬาฯ จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ แก้ปัญหาจริง เป็นที่นิยมของผู้ใช้งาน และที่สำคัญคือ ขายได้ หรือมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ด้วย ผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมของจุฬาฯ เช่น การพัฒนาต้นแบบ “วัคซีน COVID-19” โดยทดลองในลิงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย จุฬาฯ ผนึกกำลังพันธมิตรเปิดตัว“ปัตตานีโมเดล”ด้วยการปูพรมตรวจภูมิคุ้มกันก่อนคลายล็อกดาวน์ให้ชาวปัตตานีนับหมื่นรายด้วยชุดตรวจว่องไว “Chula Baiya Strip Test” จุฬาฯ สร้างรากฐานนวัตกรไทยด้วยการเปิดพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ SID หรือ Siam Innovation District ให้เป็นศูนย์รวมการประยุกต์ใช้ องค์ความรู้และนวัตกรรมของประเทศ และเป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง

ในแง่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Brightening and leading glocal society) จุฬาฯ กำหนดให้ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นหลักคิดในการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา เราไม่เพียงยกระดับการบริหารงานมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเท่านั้น แต่จุฬาฯ คิดได้ไกลขึ้น ไม่ใช่แค่ 5 ปี หรือ 10 ปี แต่มองไกลถึงคุณภาพชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ชุมชนโดยรวม รวมไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย โดยจุฬาฯ ได้เริ่มต้นการพัฒนาอย่างยั่นยืนด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และได้ขยายขอบเขตการทำงานไปสู่การยกระดับงานวิจัยให้สอดคล้องกับหลัก SDGs อีกทั้งยังทำงานในเชิงโครงสร้างนโยบายของมหาวิทยาลัยด้วย โดยเฉพาะในด้านเมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (SDG 11) มหาวิทยาลัยได้มอบอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เพื่อเป็นปอดกลางกรุงแก่ชุมชน อีกทั้งยังปลูกจิตสำนึกด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (SDG 12) ให้เกิดขึ้นในหัวใจของประชาคมจุฬาฯ ทุกคน ผ่านโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งผลการรณรงค์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาสามารถช่วยลดการเกิดขยะไปแล้วกว่า 100 ตัน

“คณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ ได้สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศ สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) นวัตกรรมต่างๆ ล้วนเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ตอบสนองบทบาทของจุฬาฯ ในการเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม” รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ กล่าว