ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > พิษโควิดฯ ทำผลประกอบการปตท. Q1/63 ขาดทุนสต็อกน้ำมัน 35,695 ล้าน

พิษโควิดฯ ทำผลประกอบการปตท. Q1/63 ขาดทุนสต็อกน้ำมัน 35,695 ล้าน

11 พฤษภาคม 2020


ข่าวประชาสัมพันธ์

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

พิษโควิดฯกระทบกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น Q1/63 ปตท.ขาดทุนสต็อกน้ำมัน 35,695 ล้าน เข็นมาตรการ “ลด ละ เลื่อน” คุมค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการของบริษัทปตท.ไตรมาส 1/2563ว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ประกอบกับกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตด้วย จนทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงจาก 67.3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในช่วงต้นไตรมาสแรกของปี 2563 มาอยู่ที่ 23.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2563 ทำให้กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีผลประกอบการลดลง จากการขาดทุนสต็อกน้ำมันอยู่ที่ 35,695 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมากอย่างรวดเร็ว และจากส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์กับวัตถุดิบที่ลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจพลังงาน จึงทำให้ผลประกอบการโดยรวมของ ปตท.ในไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปตท.เชื่อมั่นว่า จะสามารถรับมือช่วงสถานการณ์วิกฤต ด้วยการบริหารจัดการการทำธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ พร้อมปรับรูปแบบการดำเนินงานอย่างเหมาะสม

สรุปผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2563 ปตท.และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 483,567 ล้านบาท ลดลง 67,307 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2562 และมีกำไรจากการดำเนินงาน EBITDA อยู่ที่ 32,385 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 ลดลงร้อยละ 59.8 สาเหตุหลักจากผลประกอบการที่ลดลงของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ได้รับผลกระทบสูงจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันตามที่กล่าวข้างต้น สำหรับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง เป็นผลจากราคาและปริมาณการขายของโรงแยกก๊าซฯ และราคาขายที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตาในกลุ่มอุตสาหกรรมลดลง ส่วนผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจน้ำมันก็ลดลงจากการขาดทุนของสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและปริมาณขายที่ลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันของอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันในการเดินทาง และการขนส่ง

ในขณะที่การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมกลับมีปัจจัยเชิงบวก จากการเข้าซื้อบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) รวมถึงธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากรายได้การขายที่เพิ่มขึ้นของบริษัท Murphy Oil Corporation และบริษัท Partex Holding B.V. ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยภายนอกจะส่งผลให้ผลประกอบการ ปตท. ในช่วงไตรมาสแรกลดลง กลุ่ม ปตท. ยังเชื่อมั่นถึงศักยภาพความรวดเร็วขององค์กรในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน โดยมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายตามนโยบาย “ลด ละ เลื่อน” ในการบริหารจัดการการทำธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน บริหารความเสี่ยงด้านราคา ด้านอุปสงค์ อุปทาน สินค้าคงคลัง รวมถึงบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและงบประมาณองค์กรอย่างเคร่งครัด

นอกจากนั้น ยังได้ทำการทดสอบความสามารถการรับวิกฤตและความท้าทายในรูปแบบต่างๆ (Stress Test) และ แผนการบรรเทาผลกระทบ (Mitigation Plans) รวมถึงจัดตั้งทีม PTT Group Vital Center เพื่อวางแผนและบริหารจัดการภาพรวมของกลุ่ม รับมือช่วงสถานการณ์วิกฤต พร้อมปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อให้กลุ่ม ปตท. สามารถเตรียมรับทุกสถานการณ์ในอนาคต และให้ทุกภาคส่วนมั่นใจในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน