
เยียวยาโควิด-19 รอบ 2 ลดค่าเช่าร้านค้า-สายการบิน 50% กรณีปิดชั่วคราวงดเก็บ 9 เดือน พร้อมปรับปรุงวิธีจัดเก็บ-กำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจากผู้รับสัมปทาน หลังมาตรการเยียวยารอบแรกสิ้นสุด 31 มี.ค.65
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ครั้งที่ 5/2563 ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท.เป็นประธานฯ ได้มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท. เพิ่มเติมจากมติคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและสายการบินจากการลดลงของเที่ยวบินและผู้โดยสาร และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินเกี่ยวกับค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร และค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือน
-
1.1 กรณีผู้ประกอบการและสายการบินมีหนังสือ ขอยกเลิกการประกอบกิจการชั่วคราว หรือ ท่าอากาศยานของ ทอท. ปิดให้บริการชั่วคราว ทอท. จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร และค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือน ให้กับผู้ประกอบการและสายการบิน มีกำหนดระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563 หรือวันที่ผู้ประกอบการ และสายการบินแจ้ง ขอกลับเข้ามาประกอบกิจการ แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน
1.2 กรณีผู้ประกอบการและสายการบินที่ยังประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท.
-
1.2.1 ปรับลดค่าเช่าพื้นที่ในอัตราร้อยละ 50 ให้แก่ผู้เช่าทุกราย มีกำหนดระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563
1.2.2 เรียกเก็บค่าบริการการใช้บริการในอาคารในอัตราร้อยละ 15 ของค่าเช่าพื้นที่ที่ปรับลดลงร้อยละ 50
1.2.3 ให้ใช้อัตราค่าเช่าพื้นที่และค่าบริการการใช้บริการในอาคารตามบัญชีอัตราค่าภาระการใช้ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการและความสะดวกต่างๆ ในกิจการของ ทอท. ฉบับปี 2559 สำหรับการคิดส่วนลดตามข้อ 1.2.1 และ 1.2.2
2. มาตรการช่วยเหลือสายการบินในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
-
2.1 กรณีสายการบินขอหยุดให้บริการชั่วคราวหรือท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ปิดให้บริการชั่วคราว ทอท. จะยกเว้นค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) มีกำหนดระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563 โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องได้รับอนุมัติการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราดังกล่าวจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
2.2 ให้ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charges) ในอัตราร้อยละ 50 และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) สำหรับสายการบินที่ยังคงมีเส้นทางบินในอัตราร้อยละ 50 สำหรับทุกเส้นทางการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นระยะเวลา 9 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563
2.3 กรณีเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ให้มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
2.4 สายการบินที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการตลาดด้านการบิน (Incentive Scheme) หรือมาตรการช่วยเหลือของ ทอท. จะได้รับประโยชน์ในรายการสนับสนุนประเภทเดียวกันได้เพียงรายการเดียวที่สายการบินได้รับประโยชน์สูงสุด
3. ให้สิทธิ์เลื่อนการชำระค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charges) ให้กับผู้ประกอบการและสายการบินที่ร้องขอจำนวน 9 งวด ตั้งแต่งวดเดือนเมษายน – ธันวาคม 2563 โดยในแต่ละงวดให้ขยายระยะเวลาการชำระออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากวันครบกำหนดชำระตามระยะเวลาปกติ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการและสายการบินร้องขอ
4. ขยายระยะเวลาการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ ตามมติคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 จากเดิมจำนวน 6 งวด (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2563)เป็น 11 งวด (กุมภาพันธ์ – ธันวาคม 2563) โดยให้ขยายระยะเวลาการชำระของแต่ละงวดออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากวันครบกำหนดชำระตามระยะเวลาปกติ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการและสายการบินร้องขอ
5. ปรับอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่และอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจากการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ภายหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการตามมติคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 (วันที่ 31 มีนาคม 2565) ดังนี้
-
5.1 สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นลายลักษณ์อักษรจาก ทอท. หรือที่มีการลงนามในสัญญาและเข้าพื้นที่ประกอบกิจการก่อนหรือภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 หรือ ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีการต่อสัญญากับ ทอท. ในระหว่างที่มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ มีผลอยู่ ให้นำอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรืออัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปีก่อนหน้ามีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ (ปี 2562) มาใช้กำหนดเป็นอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรืออัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ
5.2 สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นลายลักษณ์อักษรจาก ทอท. หรือ ที่มีการลงนามในสัญญาแล้ว แต่ยังไม่เข้าพื้นที่ประกอบกิจการก่อน หรือ ภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ให้นำอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรือ อัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอในการประมูล หรือ การเจรจาตกลงค่าตอบแทน มาใช้กำหนดเป็นอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรือ อัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ
5.3 ในการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากผู้ประกอบการตามข้อ 5.1 และ 5.2 สำหรับปีถัดจากปีแรกของรอบสัญญา หลังจากสิ้นสุดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ให้ฝ่ายบริหาร ทอท. พิจารณาเปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสาร ณ ปีนั้น กับ ปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 (ปี 2562) หากน้อยกว่า ให้ใช้อัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และ/หรือ ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 (ปี 2562) ของแต่ละท่าอากาศยานมาใช้กำหนดเป็นอัตราเรียกเก็บ แต่หากปรากฏว่า จำนวนผู้โดยสาร ณ ปีนั้น มากกว่าปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 (ปี 2562) ให้ใช้อัตราการเติบโตจากจำนวนผู้โดยสาร ณ ปีนั้น เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่า MAGi เป็นต้นไป
ทั้งนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินข้างต้น ใช้กับผู้ประกอบการและสายการบิน เฉพาะที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีนิติสัมพันธ์กับ ทอท.อยู่ก่อนแล้วในวันที่คณะกรรมการ ทอท. มีมติ (วันที่ 22 เมษายน 2563) และ ทอท. สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ และสายการบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19