ThaiPublica > คอลัมน์ > “กับดัก” ของคนหนุ่มสาว

“กับดัก” ของคนหนุ่มสาว

19 มกราคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

คาถา “ของมันต้องมี” “ใคร ๆ เขาก็เป็นอย่างนี้” ของคนวัยหนุ่มวัยสาวในปัจจุบันทำให้หนี้สินส่วนตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากลัวจนเป็นสาเหตุของสารพัดปัญหา และในบางกรณีจบลงด้วยโศกนาฏกรรม เราลองมาดูกันสิว่าถ้าคนเหล่านี้ต้องกระทำตนตามคาถาดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะมีคำแนะนำอย่างไรบ้างเพื่อให้ความเดือดร้อนอันรุนแรงไม่เกิดขึ้น

การบริโภคมากมายของคนวัย 25 ถึง 40 ปีกว่าซึ่งเป็นยุคเริ่มสร้างครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นกันทั่วโลกและพอเข้าใจได้ อย่างไรก็ดีบางสังคมดังเช่นบ้านเรามันหนักเป็นพิเศษจนทำให้หนี้ครัวเรือนท่วมหัวจนผลิตภาพ (productivity) ในการทำงานซึ่งเป็นหัวใจของความกินดีอยู่ดีของทุกสังคมถดถอยเพราะชักหน้าไม่ถึงหลังในแต่ละเดือน มีความสุขตอนใช้เงินที่มาจากการก่อหนี้ผ่านการใช้บัตรเครดิต แต่ต้องเจ็บปวดตอนใช้คืน วัน ๆ ครุ่นคิดว่าจะหมุนเงินอย่างไรให้อยู่ต่อไปได้ในเดือนต่อไป การทุ่มเททำงานเต็มที่จึงเกิดขึ้นไม่ได้ภายใต้สภาพจิตใจที่เป็นอยู่

เมื่อหันไปมองรอบตัวก็มีแต่การโฆษณาสินค้าด้วยวิธีแยบยลจากวิชาการตลาดที่ ล้ำหน้า ไม่ว่าจากโทรทัศน์ที่ทุกสถานีมีอยู่เกือบตลอดเวลา หรือจากโซเชียลมีเดียที่ถูกคั่นให้เสียอารมณ์ด้วยการโฆษณา อีกอย่างหนึ่งก็คือการสร้างหนี้นั้นแสนง่ายดาย เพียงรูดบัตรและผ่อนใช้คืนเดือนละเล็กละน้อยก็อยู่กันได้ไปเรื่อย ๆ โดยมียอดการเป็นหนี้ไม่ลดลงท่ามกลางดอกเบี้ยที่สูงมาก

ค่านิยมที่เกิดขึ้นของคนวัยนี้ผ่านอิทธิพลของโซเชียลมีเดียก็คือ “ของมันต้องมี” และ “ใคร ๆ เขาก็เป็นอย่างนี้” ทำให้สถานการณ์ยิ่งหนักขึ้น มันต้องมีการไปเที่ยวต่างประเทศ (โชว์ภาพในเฟซบุ๊ก / IG หรือ Vlog) มีนาฬิกา เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ที่เป็นแบรนเนมใช้ พร้อมด้วยเครื่องประดับ อีกทั้งต้องมีการบริโภคกาแฟที่มีแบรนด์ มีสไตล์การกินอยู่ที่หรูหราถึงแม้หนี้จะท่วมตัวก็ไม่เป็นไรเพราะ “ใคร ๆ เขาก็เป็นอย่างนี้” กันทั้งนั้น เราต้องมีความสุขกันเยี่ยงนี้และอยู่กันไปแบบขาด ๆ วิ่น ๆ ทางการเงิน ไปตายเอาดาบหน้า ใครมีจริยธรรมไม่เข้มแข็ง มีช่องทางใดจะคดโกงหรือเบียดบังได้ หรือหาเงินได้ง่ายก็ไม่รอช้าเพราะมันเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาส่วนตัวที่ชะงัดที่สุด

สมมุติว่าคนวัยนี้ไม่อาจหลีกหนีสภาวการณ์เช่นนี้ได้ คำแนะนำในระยะสั้นที่อาจช่วยให้ไม่ตกอยู่ใน “กับดัก” ที่อันตรายมากเกินไปก็คือ

    (1) พยายามทำให้ตนเองมี mindset (ภาพฝังในใจ) เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ถ้ามนุษย์ต้องมีแนวทางบริโภคเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการเป็นทาส ใครใช้อะไร ทำอะไร บริโภคอะไรก็ต้องทำตามเขา ปีนี้บริษัทขายสินค้าหรือใช้สีอะไรเป็นแฟชั่นก็ต้องเฮโลตามกันไป อย่างนี้คือพฤติกรรมของทาสโดยแท้ เกิดมาทั้งทีจะยอมเป็นทาสเขาอย่างไม่ใคร่ครวญอะไรบ้างเชียวหรือ

    (2) ลดดีกรีของความปรารถนาในการบริโภคลงบ้างเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย ลองใคร่ครวญดูว่าถ้าใช้บัตรเครดิตรูปแพะและรูปแกะ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ มันจะจบลงที่ใด อาจคาดหวังว่าจะแก้ไขได้ด้วยการถูกหวยหรือได้สามี/ภรรยารวย (คนระดับนั้นถ้าฉลาดคงไม่มาสนใจคนมีหนี้ท่วมตัวเป็นแน่)ทำการค้ารวยอย่างรวดเร็ว ฯลฯ หนทางเหล่านี้ล้วนเป็นไปได้ยากมากหรือไม่ก็พาลงเหวทั้งนั้น ทางออกที่ง่ายที่สุดก็คือพยายามเพิ่มความรู้ความสามารถของตนเองเพื่อเพิ่มรายได้และใช้จ่ายน้อยลง พูดง่าย ๆ ก็คือมีความคิดในการเดินสายกลางมากขึ้น

    (3) หาเวลานั่งไตร่ตรองคนเดียวเงียบ ๆ ถึงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ลองคำนวณง่าย ๆ ว่าหนี้ที่ตนเองมีนั้นต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงินสูงเท่าใดในแต่ละเดือน และสิ่งที่จ่ายไปนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเราอย่างแท้จริงหรือไม่ การคิดคำนึงเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญญาและถูกทำร้ายโดยคาถาดังกล่าวน้อยลง

“ของมันต้องมี” และ “ใคร ๆ ก็เป็นอย่างนี้” เป็นสิ่งที่จริงสำหรับทุกคนหรือไม่ อย่าลืมว่าแต่ละคนมีรายได้ไม่เท่ากัน มีพื้นฐานเบื้องหลังไม่เหมือนกัน การบริโภคทันสมัยที่เห็นในโซเชียลมีเดียนั้นอาจเป็นปัญหาน้อยมากสำหรับคนอื่นก็เป็นได้ (เดาได้ว่าส่วนใหญ่ก็อยู่ในสภาพหนักหนาสาหัสเช่นเดียวกับเรา) สองคาถามันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของนักการตลาดที่สร้างขึ้นมาเพื่อ “ล้วงตับ” เรา เราจะยอมโง่เป็นทาสดักดานต่อไปอย่างไม่รู้จบหรือไร

ข้อเขียนข้างต้นมิได้เสนอให้หักดิบกับแนวการบริโภคที่กล่าวถึงเพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ของคนส่วนใหญ่ เพียงแต่เสนอแนะให้เกิดความคิดที่อาจเป็นประโยชน์ต่อตนเองและชาติด้วยการมี mindset ที่ทำให้เกิดปัญญา และมีการบริโภคในเส้นทางสายกลางคือ พอดี ๆ ไม่สุดโต่งจนเป็นปัญหาหนักขึ้นมาได้

คำแนะนำในระยะยาวก็คือ

    (1) แยกให้ออกระหว่าง needs (ความต้องการในสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต) กับ wants (ความต้องการสิ่งต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต) การรู้จักข้อแตกต่างจะทำให้ระมัดระวังการบริโภคมากขึ้น

    ความสุขจากการบริโภคนั้นให้ความพอใจขึ้นชั่ววูบหนึ่ง และก็จะปรับตัวลงมาเป็นระดับธรรมดา มันไม่อยู่สูงได้ตลอดเวลาเหมือนเมื่อตอนได้บริโภคครั้งแรก ความสุขที่แท้จริงนั้นมาจากข้างใน มาจากความนึกคิดในการพอใจสิ่งที่ตนเองมี ความสุขเช่นนี้จึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่มีปริมาณจำกัด ไม่มีวันหยุด ไม่ได้แย่งชิงจากใคร และเป็นอิสระอย่างมิได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นทาสการบริโภค

    (2) เงินมิใช่ตัวความสุข หากเป็นสะพานไปสู่ความสุขอันเกิดจากความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งความมั่นคงนี้เกิดขึ้นได้จากการมีเงินออม (ส่วนหนึ่งของรายได้ที่กันไว้จากการบริโภค) ตราบใดที่มีรายได้เท่าใดก็บริโภคหมด การออมก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความมั่นคงทางการเงินก็เกิดขึ้นไม่ได้ (ไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าคือรายจ่ายเพื่อการบริโภคสูงกว่ารายได้จนเกิดหนี้สินและต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ทำให้รายจ่ายเพื่อการบริโภคสูงขึ้น)

    (3) เงินออมที่สะสมได้มันมีแขนมีขา ออกลูกออกหลานต่อไปได้อีกนับชั่วคนเพราะสามารถแปรรูปเป็นหุ้น พันธบัตร ที่ดิน บ้าน ฯลฯ ซึ่งล้วนให้รายได้ที่ไม่ต้องออกแรง ถึงพ้นวัยเกษียณไปแล้วก็ยังมีรายได้ ที่ดินที่ซื้อไว้เดิมก็มักมีราคาสูงขึ้นตามวันเวลา เมื่อขายก็เป็นรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ เมื่อเอารายได้จากสิ่งเหล่านี้ไปลงทุนอีก มันก็จะงอกเงยขึ้นได้อีกเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

การบริโภคแบบน่ากลัวของคนหนุ่มสาวไม่ใช่เรื่องน่าตำหนิ มันเป็นเรื่องปกติตาม ยุคสมัย แต่เฉพาะคนมีปัญญาเท่านั้นที่ไม่เดินตามอย่างตาบอด หากรู้จักความพอดีและมีสติจนไม่เกิดเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและแก้ไขได้ยากในเวลาต่อไป

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 ม.ค. 2563