
วันนี้ (17 กันยายน 2562) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไทย โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.ไทย และนาย Sou Socheat เลขาธิการ ก.ล.ต.กัมพูชา ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเสนอขายหุ้นและการออกตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Memorandum of Understanding concerning cooperation and Exchange of Information on Cross-Border Equity offering and the issuance of Depository Receipt)
นาย Sou Socheat กล่าวว่า การลงนามใน MoU ฉบับนี้ ครอบคลุมแนวทางการออกและเสนอขายตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชาร่วมกัน ถือเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองประเทศที่ได้วางรากฐานการเข้าถึงตลาดทุน เพิ่มสภาพคล่องของตลาด และขยายกลุ่มนักลงทุนในวงกว้างมากขึ้น
“ผมเชื่อว่า การลงนามใน MoU ของทั้งไทยและกัมพูชาในวันนี้ จะเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างตลาดทุนและสร้างแรงกระตุ้นให้กับประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้ร่วมมือกันมากขึ้น” นาย Sou Socheat กล่าว
“สิ่งที่ต้องการจะย้ำคือ การลงนามใน MoU ครั้งนี้เป็นสัญญาณว่าทั้งสองประเทศจะเติบโตไปด้วยกัน เป็นความร่วมมือกันอย่างแท้จริง อีกทั้งการลงนามใน MoU ฉบับนี้จะเป็นต้นแบบให้กับประเทศอาเซียนรายอื่นๆ และเราเองต้องการที่จะแสดงให้ประเทศอาเซียนอื่นได้เห็น ว่าผู้กำกับดูแลต้องเปิดทางเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า เราเป็นผู้กำกับดูแล หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ต้องร่วมมือกันแก้ไข”
นาย Sou Socheat กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นการเปิดประตูให้บริษัทจดทะเบียนทั้งสองประเทศ การดำเนินการจากผู้กำกับดูแล ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจทั้งกัมพูชาและไทยให้ขยายได้มากขึ้น และคาดว่าจะได้เห็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ในทั้งสองประเทศ ที่สำคัญผู้กำกับดูแลต้องเปิดทาง ขจัดหรือลดอุปสรรคเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำเสนอได้ง่ายที่สุด
สำหรับการจดทะเบียนแบบ dual-listing ของบริษัทจดทะเบียนไทยและกัมพูชาคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ เท่าที่ได้รับข้อมูลจากตลาด บริษัทจดทะเบียนกัมพูชามีความสนใจที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ซึ่งคงจะได้เห็นข่าวดีในเร็วๆ นี้ ดังนันหลังจากการลงนามใน MoU วันนี้ทั้งสองประเทศจะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกัน เรื่อง secondary-listing ซึ่งจะทำให้บริษัทจดทะเบียนกัมพูชามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ด้วย
ส่วนการเสนอขาย DR นั้นจะได้มีการกำหนดคุณสมบัติร่วมกันหลังจากการลงนามใน MoU วันนี้ ก.ล.ต.ไทย และ ก.ล.ต.กัมพูชาก็จะหารือร่วมกันต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแนวทางร่วมกัน บริษัทจดทะเบียนกัมพูชาสามารถเสนอขาย DR ในประเทศไทย และเช่นเดียวกันกับบริษัทจดทะเบียนไทยที่จะไปเสนอ DR ในกัมพูชา แต่ DR นี้ก็ต้องเหมือนกันเพื่อให้สามารถซื้อขายกันได้
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เปิดเผยว่า การลงในบันทึกความเข้าใจกับสำนักงาน ก.ล.ต.กัมพูชานี้เป็นฉบับที่ 2 เป็นการขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นจากที่ได้ลงนามฉบับแรกไปในปี 2014 ที่เน้นไปในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการบังคับใช้กฎหมาย เสริมสร้างศักยภาพ ได้รับความร่วมมือที่ดีมาตลอดจาก ก.ล.ต.กัมพูชา
นางสาวรื่นวดีกล่าวถึงความเป็นมาของการลงนามใน MoU ฉบับนี้ว่า “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเรื่อง DR ได้มีการหยิบยกมาหารือนานแล้ว แต่ยังไม่เกิดผล ได้มีโอกาสพูดคุยกับเลขาธิการ ก.ล.ต.กัมพูชาในช่วงที่มารับตำแหน่งใหม่เดือนพฤษภาคม ในระหว่างการเข้าร่วมประชุม IOSCO ที่ออสเตรเลีย”
ในการหารือครั้งนั้นได้นำเสนอว่าไทยกับกัมพูชาน่าจะร่วมมือกันสร้างศักยภาพระดับหนึ่ง เพราะต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตยิ่งขึ้น ต้องการเห็นผลิตภัณฑ์สองประเทศมีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ พร้อมกับสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการลงนามใน MoU เพื่อเป็นแนวทางในการนำสินค้าซึ่งกันและกัน ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้มีการหารือกับ ก.ล.ต.กัมพูชามาตลอด แต่เกณฑ์ในตลาดแรกที่ ก.ล.ต.ต้องลงตัวก่อน และด้วยวิสัยทัศน์ของเลขาธิการ ก.ล.ต.กัมพูชาก็ตอบรับในทันที
สิ่งที่อยากเห็นคือการทำงานในลักษณะยึดการดำเนินงาน (action base) และการนำไปปฏิบัติ (implementation base) ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกที่มีโครงการให้ความร่วมมือในกรอบประเทศ CLMV เป็นเรื่องที่จะปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกัน (harmonize) และถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่วันนี้ทั้งสองประเทศมาลงนามใน MoU เพื่อผลักดันการเสนอขายหุ้นและการออกตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศระหว่างกันได้
เดือนสิงหาคมได้เดินทางไปเยือนสำนักงงาน ก.ล.ต.ที่กัมพูชา เพื่อเดินหน้าความร่วมมือต่อจากการหารือที่ออสเตรเลีย และจากการทำงานของทั้งสองฝ่าย ทำให้สามารถตกลงกันในวันนี้ได้ ลงนาม MoU ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะเปิดทางให้ทั้งสองประเทศไปเสนอขายแก่กันและกัน และเชื่อว่าธุรกิจในกัมพูชามีศักยภาพด้าน cross-border listing ในประเทศไทย บริษัทไทยก็มีศักยภาพที่จะไป list ในส่วนนั้น
ทั้งสองประเทศจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเพิ่มสภาพคล่องของหลักทรัพย์ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต.ในฐานะที่เป็นผู้พัฒนา จะต้องทำให้เกิดความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ ปีนี้เป็นปีสำคัญที่ไทยเป็นประธานอาเซียน การลงนามใน MoU ถือว่าสำคัญประสบความสำเร็จในกรอบ ASEAN Capital Market Forum (ACMF) ภายใต้กรอบ ASEAN Community Blueprint ที่จะทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอาเซียนด้วยกัน ดังนั้นในอีกไม่นานไทยจะเป็นประเทศแรกที่จะมี DR ในส่วนของกัมพูชา
การดำเนินการภายใต้กรอบ MoU ฉบับนี้ จะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ทั้งไทยและกัมพูชาก็ได้จัดทำกรอบแนวทางของตัวเอง ซึ่ง DR ของประเทศไทยก็มีกรอบการดำเนินการ ส่วนกัมพูชาก็จัดทำกรอบแนวทาง DR ขึ้นมาแยกกัน แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีการทำงานระหว่างกันต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางการเสนอขายหลักทรัพย์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชามีด้วยกัน 2 ชุด ชุดแรก Cross-Border Equity Offering หุ้นจดทะเบียนที่กัมพูชาซึ่งจะเสนอขายที่ไทยและหุ้นจดทะเบียนในไทยที่จะเสนอขายในกัมพูชาได้มีการจัดทำเรียบร้อยแล้ว ส่วนชุดที่สอง The Issuance of Depository Receipt ต้องมีการทำงานร่วมกันอีก โดยไทยได้จัดทำร่างเพื่อส่งมอบให้แสดงความเห็น ทั้งหลักทรัพย์ที่จะนำมาใช้อ้างอิง (underlying securities) แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นหุ้นหรือ ดัชนี
“การเสนอขาย DR คาดว่าน่าจะมี 1 รายภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น เพราะมีผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งธุรกิจหลักทรัพย์ ทั้งในกัมพูชาและอาเซียน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นระยะยาว” นางสาวรื่นวดีกล่าว
ดร.เบอร์กิต ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในด้านการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกันนั้นคาดว่ายังคงมีความร่วมมือระหว่างกันในระยะต่อไปกับประเทศไทย เพื่อนำแนวปฏิบัติและข้อแนะนำระดับโลกมาประยุกต์ใช้
ทั้งนี้ธนาคารโลกได้มีการให้การสนับสนุนด้านวิชาการหน่วยงานภาครัฐทุกประเทศ ทั้งไทยและกัมพูชา กรอบกติกา กฎเกณฑ์ต่างๆ และสนับสนุนโครงการต่างๆ