ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > กลุ่มมิตรผล – อบก. ผนึกพันธมิตรT-VER ลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ เป้าหมาย 7-20% ภายในปี 2563

กลุ่มมิตรผล – อบก. ผนึกพันธมิตรT-VER ลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ เป้าหมาย 7-20% ภายในปี 2563

31 ตุลาคม 2018


องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับกลุ่มมิตรผล จัด “พิธีลงนามการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประจำปี พ.ศ. 2561” ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ภายใต้โครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” หรือ T-VER เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ร่วมกับกลุ่มมิตรผลจัดแถลงข่าว “พิธีลงนามการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประจำปี พ.ศ. 2561” ภายใต้โครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีนโยบายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7-20% ภายในปี พ.ศ. 2563 และ 20-25% ภายในปี พ.ศ. 2573

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลได้พัฒนาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับ อบก. มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาโครงการ T-VER ร่วมกับ อบก. จะเป็นกิจกรรมที่จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่กลุ่มมิตรผลทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ จึงอยากเชิญชวนพันธมิตรให้เข้ามามีส่วนร่วมทำด้วยกัน

ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลเป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ของประเทศ มีความมุ่งมั่นสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ปัจจุบันมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองรวม 4.89 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งได้จากการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอเพาเวอร์ จ.สุพรรณบุรี และมีแผนขยายการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการ T-VER ของกลุ่มมิตรผลที่ผ่านมา มีหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสหกิจ ซื้อคาร์บอนเครดิตและร่วมทำกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 26 องค์กร เช่น ธนาคารกสิกรไทย, การบินไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทซ์ เฟิร์สท์ จำกัด  มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 1.9 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า โครงการ T-VER  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของประเทศมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ ซึ่งมีวิวัฒนการมาจากการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 12 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การทำโครงการ T-VER  จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้า ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทั้งการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานเรื่องนี้ในประเทศไทยเป็นไปด้วยความสมัครใจ เพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับว่าใครจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันมีโครการที่ขึ้นทะเบียนเป็น T-VER ในประเทศทั้งสิ้น 129 โครงการ เกิดมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 6 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 3.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในจำนวนนี้มี 55 โครงการ หรือประมาณ 2 ล้านตันที่จะสามารถนำมาซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว

ส่วนกิจกรรมในวันนี้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตรวมทั้งสิ้นกว่า 2 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก 5 ประเภทโครงการ ได้แก่ ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้  ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ทางอ้อมให้กับผู้ประกอบการที่ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

(จากซ้ายไปขวา): นายประวิทย์ ประกฤตศรี, นางประเสริฐสุข จามรมาน, นายปรีดี ดาวฉาย

นางประเสริฐสุขกล่าวเพิ่มเติมว่า กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศให้ได้อย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากภาพรวมทั้งประเทศ ที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันทำ ซึ่งคาดว่ามีความสามารถที่จะทำได้ ส่วนในปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมได้ 48 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

และในอนาคต หากประเทศไทยมีการกำหนดเป้าหมายว่าอุตสาหกรรมใดบ้างที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าไหร่ แล้วมีการซื้อขายไปชดเชย คาดว่าจะเป็นการสร้างตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นตลาดภาคบังคับ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบภาคสมัครใจ

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ตัวแทนภาคเอกชนที่ร่วมลงนามซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับกลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ธนาคารได้ซื้อคาร์บอนเครดิตครั้งนี้มากกว่า 1 แสนตัน เนื่องจากธนาคารตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีปรัชญาการดำเนินธุรกิจบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม มีธรรมาภิบาล สร้างความสมดุลทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังพร้อมสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทุกโครงการที่ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อจะต้องผ่านการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS  ซึ่งจะช่วยลดการเดินทาง และลดการใช้กระดาษ เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ภายในปี 2563 โดยขณะนี้ปัจจุบันสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 8% และจะพยายามจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้