ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > อ็อกแฟม – องค์กรภาคี ส่งจม.เปิดผนึกเรียกร้องซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ชู 6 ข้อ ป้องกันเอาเปรียบ “คนต้นทาง”

อ็อกแฟม – องค์กรภาคี ส่งจม.เปิดผนึกเรียกร้องซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ชู 6 ข้อ ป้องกันเอาเปรียบ “คนต้นทาง”

5 กันยายน 2018


นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนกินเปลี่ยนโลก ผู้แทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์การอ็อกแฟม ในประเทศไทย ร่วมแถลงข้อเสนอเชิงนโยบายต่อซูเปอร์มาร์เก็ตในไทย ในงาน “Confessions of Shoppers” เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ซึ่งจัดขึ้นที่สยามสมาคม กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ในงาน “Confession of Shoppers” ซึ่งจัดขึ้นที่สยามสมาคม กรุงทพฯ ทีม “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์การอ็อกแฟม ในประเทศไทย กินเปลี่ยนโลกและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยการสนับสุนนจากสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ SWITH-Asia ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายอาหารในประเทศไทย

ได้แถลงเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย เปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะ เพื่อรับประกันว่าของที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเอาเปรียบ “คนต้นทาง” “ผู้ผลิตอาหาร” โดยเฉพาะเกษตกรรายย่อยและแรงงาน

หลังจากผลการประเมินในรายงาน ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม (Supermarket Policy Scorecard in Thailand) ที่เปิดเผยไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาพบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังเปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะน้อยมาก และในบางประเด็น เช่น สิทธิสตรี แทบจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเลย

โดยระบุปัญหาว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นข่าวจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และกดขี่ผู้คนที่เป็นต้นทางในการผลิตอาหารของเรา เช่น การบังคับใช้แรงงานในภาคประมง การซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สารเคมีตกค้าง และอื่นๆ จนผู้บริโภคอย่างเราเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าสินค้าที่เราซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตทุกวันนี้ปนเปื้อนคราบน้ำตาของใครมาบ้างหรือเปล่า

ผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยที่เปิดเผยไปเมื่อ เดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่มา: รายงานซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม

งานวิจัยระดับโลกยังพบด้วยว่าธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ส่วนแบ่งที่ “คนต้นทาง” อาหารอย่างเกษตรกรรายย่อยและแรงงานได้รับกลับลดลง ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางอาหารให้ดีทั้งต่อผู้บริโภคและคนต้นทาง โดยเราเชื่อว่าซูเปอร์มาร์เก็ตมีพลังมากพอที่จะช่วยให้เส้นทางอาหารมีความเป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่ ทีม “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ระบุใน “จดหมายเปิดผนึก: ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อซูเปอร์มาร์เก็ตไทยในกรอบเวลา 1 ปี” โดยระบุข้อเสนอเชิงนโยบายต่อซูเปอร์มาร์เก็ต ดังนี้

    1. เปิดเผยนโยบายด้านสังคม รวมถึงแนวทางการทำงานกับคู่ค้า ที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรรายย่อยและแรงงาน ให้ผู้บริโภคได้ทราบผ่านทางสาธารณะ

    2. แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงที่ขอบเขตของงานครอบคลุมความรับผิดชอบด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน และการมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

    3. มีกลไกการร้องทุกข์และการเยียวยาที่สอดคล้องกับหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGP) โดยต้องเป็นช่องทางที่เกษตรกรรายย่อย แรงงาน และผู้บริโภค สามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมในการพัฒนากลไกดังกล่าว

    4. จัดทำและเปิดเผย “นโยบายด้านสิทธิแรงงานสำหรับคู่ค้า” ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานขององค์กรระหว่างประเทศ

    5. สนับสนุนคู่ค้าในการปรับปรุงมาตรฐานสิทธิแรงงาน และสิ่งจูงใจเชิงบวกแก่ผู้ที่สามารถปรับปรุงมาตรฐานด้านแรงงานอย่างต่อเนื่อง (เช่น การให้เงื่อนไขทางการค้าที่ดีขึ้น) และหากพบว่าแรงงานหรือเกษตรกรรายย่อยถูกเอาเปรียบ ซูเปอร์มาร์เก็ตจะลงไปช่วยคู่ค้าในการจัดการปัญหาดังกล่าว ตลอดจนให้เวลาที่เหมาะสมแก่คู่ค้าในการปรับตัว

    6. ลงนามสนับสนุนหลักการส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ (UN Woman’s Empowerment Principles) ซึ่งมุ่งเน้นการเป็นผู้นำของสตรี การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม การเคารพสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพสำหรับสตรี เป็นต้น

โดยก่อนหน้านี้องค์การอ็อกแฟม ในประเทศไทย และทีมงานรณรงค์ “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวไปยังธุรกิจค้าปลีก โดยระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยต่อยอดให้ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถพัฒนานโยบายด้านความโปร่งใสและสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกรอบในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันในเวลา 1 ปี  ทั้งนี้เป็นไปตาม Workers’ Rights Recommendations to Food Retailers ขององค์การอ็อกแฟมในระดับโลก

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนกินเปลี่ยนโลก หนึ่งในคณะทำงานรณรงค์ “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” กล่าวว่า การที่คณะทำงานรณรงค์ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะ เพราะถือเป็นการยกระดับการ่ทำงานที่จะทำให้ประเด็นต่างๆ ที่องค์กรทำเป็นประเด็นของสาธารณะ สามารถตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน เราเชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลนโยบายสังคมและคู่ค้าจะเป็นการยกระดับการทำงานไปอีกขั้น

“เราคิดว่าเขาอาจจะไม่ได้อยากปกปิด แต่ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นเรื่องสาธารณะ ที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกแค่อยากทำอะไรก็ทำเป็นแบบสไตล์ไทยๆ แต่การยกระดับเป็นสาธารณะก็หมายถึงการที่คุณอยู่ในสายตาคน จะทำดีไม่ดีก็อยู่ในสายตาคน คนสามารถไปตรวจสอบไปชื่นชม ไปเสนอแนะให้คนปรับปรุงแก้ไขได้ แต่ถ้าคุณทำของคุณอยู่เงียบๆ ไม่มีใครรู้ คุณจะพูดอะไรก็ได้ แน่นอนว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้เล่นที่มีอำนาจการต่อรองสูง เขาสามารถใช้พลังตรงนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มตั้งแต่เปิดเผยและพัฒนานโยบายตัวเองให้ดี ดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และที่สำคัญคือคนต้นทางอย่างเกษตรกรและแรงงานแล้วขยายไปสู่การส่งเสริมบริษัทคู่ค้าด้วยในอนาคต” นางสาวกิ่งกรกล่าว

นายจักรชัย โฉมทองดี ตัวแทนจากองค์การอ็อกแฟม ประเทศอังกฤษ

ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ตัวแทนจากองค์การอ็อกแฟม ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า  ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวเป็นข้อเสนอในกรอบเวลา 1 ปี ที่เป็นความพยายามของเราที่พยายามจะทำอย่างไรหรือมีวิธีการใดที่จะเป็นวิธีที่จะทำให้ “ต้นทาง” การผลิตอยู่ในความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยนอกจากการเปิดเผยข้อมูลแล้วสิ่งสำคัญที่ตามมาที่เราต้องการคือ การตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) โดยอาจจะยังไม่จำเป็นต้องทำในทุกรายการสินค้า แต่เลือกทำในสินค้าที่ห่วงโซ่อุปทาน (supply Chain) มีความเสี่ยง

อย่างในอุตสาหกรรมประมง ที่ต้องพยายามแก้ปัญหาตั้งแต่จากต้นทางถึงปลายทางคือผู้บริโภค เพราะเชื่อว่า การทำให้ผู้บริโภคเห็นว่า เส้นทางอาหารนั้นมาอย่างไร จะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหามีความยั่งยืน ในต่างประเทศเคยมีความสำเร็จแล้วให้เราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจากปลายทางคือฝั่งผู้บริโภคและซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่างๆ ไปมากมาย กรณีการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมประมง IUU ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากปลายทาง ก่อนจะเคลื่อนไปสู่การแก้ปัญหาในระดับภาครัฐต่อภาครัฐ

“ตราบใดที่ปัญหายังอยู่ในลักษณะที่เราเรียกว่า hidden supply chain  การแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นไม่ได้ มันจะเกิดขึ้นมาในลักษณะของโปรเจกต์เฉพาะ  และก็ประชาสัมพันธ์ แต่ตัววิธีจริงๆ ไม่เกิด และปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไปเรื่อยๆ วันนี้เราเห็นหลายบริษัทต้นทางที่เอาจริงเอาจัง แต่เรามองว่ามันจะยั่งยืนไม่ได้ถ้าปลายทางไม่เข้าใจด้วย” นายจักรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อซูเปอร์มาร์เก็ตไทย และผลักดันที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับธุรกิจค้าปลีก ขณะเดียวกัน จะมีการพัฒนาเครื่องมือที่ชัดในการประเมินนโยบายสาธารรณะของซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ (supermarket policy scorecard) ในมิติด้านสังคมและความโปร่งใส  โดยจะเพิ่มมิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติสวัสดิภาพของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบการประเมินที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นสำหรับบริบทสังคมไทย